ห้องย่อยที่ 2 : เสริมพลังประชาธิปไตยด้วยศิลปวัฒนธรรม (Cultural power for revitalizing democracy)

          ห้องย่อยที่ 2 เป็นเรื่องการนำพลังทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ดนตรี รวมไปถึงการกีฬา (Culture, Arts, Craft, Tradition, Religion, Media, Music and Sport power) มาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่ใช้ดึงดูดและโน้มน้าวผู้อื่นให้เห็นพ้องด้วยวิธีการอย่างสร้างสรรค์ไร้ซึ่งอำนาจบังคับ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือเพื่อลดทอนปัญหาความขัดแย้ง เพิ่มความสมานฉันท์ ตลอดจนสร้างค่านิยมร่วมกัน (Joseph Nye, 1990) เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมประกอบขึ้นจากคุณค่าทางสังคม (value) ที่สังคมนั้นยึดถือ แฝงเร้นอย่างแนบเนียนและกลมกลืนกับวิถีชีวิต (way of life) และสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ (worldview) ที่ผู้คนในสังคมมีร่วมกัน (Amos Rapoport, 2005) การแสดงออกถึงคุณค่าทางการเมืองผ่านศิลปวัฒนธรรมจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือวิธีการสื่อสารกับคนในสังคมเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ของรัฐ ค่านิยมที่พึงประสงค์ บรรทัดฐานของสังคม และการใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เช่น Bob Marley ศิลปินแนว reggae ชาวจาเมกา ได้พยายามยุติสงครามกลางเมืองภายในประเทศด้วยดนตรี รวมไปถึงด้านการกีฬา การจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในยุคโบราณที่มีการรับรองความปลอดภัยและภาวะที่ปราศจากสงครามระหว่างประเทศในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตลอดจนกรณีกีฬามวยไทย ซึ่งเป็นศิลปะป้องกันตัวที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ทั้งในวงการกีฬาระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว และการต่อยอดทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันขณะรับชมการแข่งขันกีฬามวยระดับนานาชาติในนามทีมชาติไทย ก็จะมีสัญลักษณ์ของชาติปรากฎย้ำเตือนให้ผู้ชมระลึกถึงความเป็นชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติอยู่เสมอ เป็นต้น

        การเสริมพลังประชาธิปไตยด้วยศิลปวัฒนธรรมนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปชี้ให้เห็นว่า ศิลปวัฒนธรรมก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันของคนในสังคม และการมีส่วนร่วมของคนในกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมมีส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในด้านพฤติกรรมพลเมือง ความมีชีวิตชีวาในระบอบประชาธิปไตย และความสมานฉันท์ทางสังคม (social cohesion) (European Commission, 2023) เพราะศิลปวัฒนธรรมจะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นทุนทางสังคมที่เชื่อมโยงและยึดโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน เกิดเป็นสำนึกรักถิ่นและมีค่านิยมร่วม (shared value) ไม่ว่าจะเป็นการเคารพในคุณค่าทางวัฒนธรรม การมีจิตสาธารณะ การเปิดรับมุมมองและความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายรอบตัว การเคารพในอัตลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ในห้องย่อยที่ 2 จึงมีเป้าหมายสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนสังคมด้วยพลังอำนาจ
ที่สร้างสรรค์ผ่านศิลปวัฒนธรรมในแขนงต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยของสังคมไทยให้เกิดความเข้มแข็งต่อไปได้

ประเด็นการอภิปรายในห้องย่อยที่ 2

    1.  ศิลปวัฒนธรรมมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างประชาธิปไตยอย่างไร

2.  แนวทางสำหรับประเทศไทยควรเป็นอย่างไร ในการใช้ศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เกิดประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง