ประเพณีสรงน้ำพระนอน วัดบ้านทุ่ง หมู่ที่ 4 ตำบลดอนศรีชุม

ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี

ประเภท วัฒนธรรม ประเพณี

ประเพณีสรงน้ำพระนอน วัดบ้านทุ่ง หมู่ที่ 4 ตำบลดอนศรีชุม

วัดบ้านทุ่ง ตั้งอยู่เลขที่ 198 หมู่ 4 ต.ดอนศรีชุม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย หมายเลขโทรศัพท์ 054-418763 เดิมที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 6 ไร่ ปัจจุบันมีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 25 ตารางวา ตามโฉนด เลขที่ 45177 เนื่องจากกันพื้นที่ส่วนหนึ่งทำถนนรอบวัด

ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อ 30 พฤษภาคม 2522 กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อ 20 มีนาคม 2523 โดยมี นายลือ ขันคำ เป็นผู้ขออนุญาตในที่ดิน ซึ่งนางคำ ใจบุญ เป็นผู้ถวายให้สร้างวัด และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ 20 พฤษภาคม 2527 มีกำหนดวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตรยาว 80 เมตร วัดบ้านทุ่ง ได้สร้างขึ้นด้วยกำลังศรัทธาของชาวบ้าน บ้านทุ่ง โดยการนำของพระอินทร์ปั๋น (ไม่ปรากฏฉายา) ซึ่งมาจากกรุงเทพฯ (ไม่ปรากฏวัด) ร่วมด้วยนายหลาน เลิศคำ, นายหล้า ใจบุญ, นายลือ ขันคำ, นายมูล ปรารมภ์ กำนันผาย หน่อคำ, ผู้ใหญ่มูล ปัญญา พร้อมด้วยคณะศรัทธาวัดบ้านทุ่ง ในขณะนั้น ซึ่งมีประมาณ 50 หลังคาเรือน แต่เดิมสถานที่ตั้งวัดเป็น พื้นที่นา ของนายหล้า นางคำ ใจบุญ

พระอินทร์ปั๋น ได้นำศรัทธาร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อซื้อที่ดินของนายหล้า นางคำ ใจบุญ ซึ่งนายหล้า นางคำ ใจบุญ ได้ขายให้ส่วนหนึ่ง และบริจาคให้อีกส่วนหนึ่ง (ไม่ปรากฏจำนวนเงิน) จนมีจำนวนครบ 6 ไร่

ปัจจุบัน (2558) วัดบ้านทุ่งสร้างมาแล้ว 36 ปี โดยมีพระครูประสิทธิพิมล (อภิสิทธิ์ อนาลโย) อายุ 37 พรรษา 9 เป็นเจ้าอาวาส

วัดบ้านทุ่ง เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าฟ้าลั่นสนั่นเมือง (พระนอน) ซึ่งในแต่ละปี ทุกวันพระ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ทางวัดจะดำเนินการจัดประเพณี "สรงน้ำพระนอน" การสรงน้ำพระ เป็นการกระทำที่เกิดจากจิตที่เลื่อมใส ในพระรัตนตรัยแล้วต้องการถวายนน้ำอบ น้ำหอม อันเป็นอามิสบูชา อีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงมุทิตาจิตในท่านผู้เป็นที่เคารพ ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ก็จัดอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพทางด้านจิตใจ เพราะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ สืบสานหลักธรรมนำเผยแผ่ สาธุชนสำนึกในคุณงามความดีของท่านจึงถวายการเคารพบูชาด้วยการสรงน้ำ ซึ่งมีอานิสงส์ที่ท่านได้แสดงไว้ ดังนี้

เรื่องเล่าอานิสงส์ในสมัยพุทธกาล

ในกาลครั้งนั้นองค์สมเด็จพุทธเจ้า เสด็จประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร พร้อมภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป พระเจ้าปัสเสนทิโกศล พร้อมด้วยมหาอำมาตย์ทั้งหลาย ได้นำ เครื่องสักการะทั้งหลาย เข้าไปสู่พระเชตะวันมหาวิหาร ถวายอภิวาท แด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลถามว่า ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันบุคคลใดกระทำสักการะบูชาสรงเถราภิเษก แก่สงฆ์ ด้วยใจเลื่อมใสศรัทธา จะได้ผลอานิสงส์เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกรมหาราช บุคคลใด มีความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการในเมื่อปรารถนาอันใด ก็จะสม ความมุ่งมาตรปรารถนา ทุกประการ การทำเถราภิเษกนี้ได้ทำกันสืบ ๆ มาในครั้งพุทธเจ้าก่อน ๆ

แล้วพระองค์ทรงแสดงสืบต่อไปว่า ในกาลครั้งนั้นเป็นสมัยครั้งศาสนาของพุทธเจ้าเมธังกร ยังมี พระยาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าวิชัยยะ ได้เสวยสมบัติ ในเมืองสารนครประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ มีเถระองค์หนึ่งชื่อว่าอุสสา เป็นอันเตวาสิกแห่งพุทธเจ้าเมธังกร พระยาวิชัยยะ ได้ทอดพระเนตรเห็น พระมหาเถระเข้ามาในเมือง พระยาวิชัยยะก็มีใจศรัทธาเลื่อมใส ในอิริยาบถ ของพระมหาเถระเจ้าเสร็จไปต้อนรับนิมนต์ให้ไปสู่ปราสาทของพระองค์ แล้วก็จัดแจง สรงเถราภิเษกด้วยน้ำหอม เสร็จแล้วถวายภัตตาหาร ตั้งความปรารถนาว่า ปวงชนทั้งหลายที่อยู่ใน ขอบเขตขัณฑเสมา ขอจงตั้งอยู่ใน โอวาทคำสอน ของพระองค์ ทุกเมื่อ และขอให้ข้าพระองค์ได้พ้นจากทุกข์ภัยเวร ข้าศึกศัตรูทั้งหลายด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้กระทำไว้ในอนาคตกาลโน้นเทอญ พระมหาเถระเจ้า ก็ได้อนุโมทนา แห่งพระยาวิชัยยะ แล้วถวายพระพรทิพย์ ๑๐ ประการ ลากลับไปสู่ สำนักแห่งพระมหาเถระเจ้า พระยาวิชัยยะได้รับพร แห่งพระมหาเถระ แล้วมีจิตยินดีรื่นเริงบันเทิงใจ ต่อบุญกุศลของพระองค์ที่ทรงกระทำไว้ ครั้นจุติจากโลกแล้วก็ไปอุบัติ อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตพิภพ มีวิมานทองสูง ๒๒ โยชน์ มีนางเทพอัปสรแสนหนึ่งเป็นบริวาร ครั้นสิ้นชีพเทวบุตรแล้ว ได้ไปเกิดเป็นเจ้าพระสิริตะ เสริมสร้างบารมีให้แก่กล้าขึ้นไป ได้มาเกิดเป็น องค์พระตถาคต เดี๋ยวนี้แล (วัดตระพังทอง ,ม.ป.ป )

จากอานิสงส์ดังกล่าว ชาวบ้านในชุมชนบ้านทุ่ง และใกล้เคียง ได้จัดประเพณี "สรงน้ำพระนอน" ขึ้นทุกปี

ข้อมูล เรียบเรียง โดย นางวันทนา โยวัง

เนื้อหา วัดตระพังทอง

ภาพถ่าย/ ภาพประกอบ โดย นางวันทนา โยวัง

และ Facebook วัดบ้านทุ่ง พระเจ้าฟ้าลั่นสนั่นเมือง