สนใจในสิ่งที่ตนเองรัก

สู่ ภูมิปัญญาด้านการเกษตร

นายอดิเรก กิตติวัชรพงศ์

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านแนวคิด หลักปฏิบัติและเทคโนโลยี

นายอดิเรก กิตติวัชรพงศ์ ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 7 หมู่ที่ 3 ตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยนเรศวร สาขารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (นโยบายสาธารณะ) อาชีพ ข้าราชการบำนาญ และเป็นเจ้าของสวนเห็ดครูตู่

ครูตู่ หนานตู่ หรือนายกตู่ เป็นชื่อที่เรารู้จักกันดีของ “นายอดิเรก กิตติวัชรพงศ์” พื้นเพเป็นคนจังหวัดพะเยาตั้งแต่กำเนิด เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ ทั้งด้านการเมืองการปกครอง ด้านการเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในสวนเห็ดครูตู่ ไม่ได้มีเพียงแค่การเพาะเห็ดเท่านั้น แต่จะมีทั้งการเลี้ยงปลานิลในบ่อ การปลูกพันธ์ข้าวมะลิ 105 การเลี้ยงหมูป่า การทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำกล้วยตากจากตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ และในปัจจุบันเป็นตัวแทนจังหวัดพะเยา ในการเป็นผู้นำแห่งยุค เพื่อความสุขที่ยั่งยืน ของมูลนิธิมั่น เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยวิถีพอเพียง โดยเริ่มต้นจากความชอบ ความสนใจในด้านเกษตรตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยการศึกษาเล่าเรียนจึงได้ลงเรียนด้านส่งเสริมเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนา ต่อยอดความรู้ด้านการเกษตร หลังจากสำเร็จการศึกษาได้เข้ารับราชการครู ในระหว่างรับราชการครูก็ได้ดำเนินการสร้างสวนเกษตรผสมผสานขึ้น เพื่อพัฒนา ต่อยอดความรู้ที่มีให้แก่บุคคลทั่วไป ผู้สนใจในด้านการเกษตร โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 การทำการเกษตรแบบผสมผสานเป็นระบบการเกษตรที่มีการเพาะปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ชนิดอยู่ในพื้นที่เดียวกันภายใต้การเกื้อกูล เอื้อประโยชน์ต่อกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยหลักการอยู่รวมกันระหว่างพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ภายในพื้นที่ได้มีการขุดบ่อเลี้ยงปลา การเพาะพันธุ์เห็ด การปลูกไม้ผล นอกจากนั้นยังสามารถเผยแพร่และถ่ายทอดให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปได้อย่างแพร่หลาย

เป็นบุคคลที่มีความสนใจในด้านของการทำเกษตรเป็นอย่างมาก เป็นบุคคลที่สนใจศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติม จนกลายมาเป็นบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถถ่ายทอด ส่งต่อความรู้ให้แก่บุคคลอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำเกษตรแบบผสมผสาน การเพาะเห็ด การทำปุ๋ยอินทรีย์

ความรู้เกี่ยวกับหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นหลักการเกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีการแบ่งพื้นที่ ในอัตราส่วน 30:30:30:10 เพื่อใช้เป็นหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ บริหารจัดการพื้นที่ให้สามารถปลูกพืชหลายชนิดให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีการเกื้อกูลกันทางธรรมชาติให้มากที่สุด

การบูรณาการจัดการพื้นที่ที่หลากหลาย จากหลักการเกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดิน ภูมิปัญญาได้ทำการเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ ทั้งด้านการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น การขุดบ่อเลี้ยงปลา การปลูกพืช ผัก ไว้ในสวนบริเวณบ้าน นอกจากนั้นแล้ว พื้นที่การเกษตรที่เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ ก็ใช้หลักการเดียวกันทำให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเกษตรแบบผสมผสาน ระบบน้ำอุดมสมบูรณ์

ความรู้เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ทำให้การเกษตรในพื้นที่เป็นเกษตรแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ


การเพาะเห็ด โดยสามารถส่งต่อความรู้ เป็นวิทยากรเผยแพร่ให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจได้

มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาศึกษาดูงานมากมาย มีการเผยแพร่ โดยการอบรม จัดกิจกรรม กลุ่มสนใจ กลุ่มชั้นเรียน ให้กับ บุคคลในชุมชน หรือแก่บุคคที่มีความสนใจในด้านเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ มีสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา ดิน น้ำ แสงแดด และอากาศอย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดความสมดุลของสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในด้านเกษตรอินทรีย์ ได้มุ่งเน้นการทำการเกษตรด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ ในพื้นที่นั้น ต้องไม่มีสารพิษ หรือสารเคมีตกค้าง หลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ การเพาะเห็ด เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน การเพาะเชื้อ การจัดเตรียมโรงเรือน ขั้นตอนการดูแล ไปจนกระทั่งขั้นตอนการเก็บผลผลิต

ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้พัฒนานวัตกรรม เพิ่มคุณค่า (มูลค่า) และ สร้างความภาคภูมิใจที่เกิดจากความสนใจในสิ่งที่ตนเองรัก ตนเองสนใจ จนพัฒนาต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ ค้นคว้า ลองปฏิบัติ จนสั่งสมมาเป็นความเชี่ยวชาญ ที่สามารถถ่ายทอดไปสู่บุคคลอื่นได้ กลายมาเป็นวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถในด้านการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น การเพาะเห็ด การทำเกษตรแบบผสมผสาน การทำปุ๋ยอินทรีย์

ชื่อภูมิปัญญา นายอดิเรก กิตติวัชรพงศ์

ภูมิปัญญา แนวคิด หลักปฏิบัติและเทคโนโลยี

ที่อยู่ปัจจุบัน 7 ม.3 ต.ดอนศรีชุม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา 56120

โทรศัพท์ 086-6586367

พิกัดทางภูมิศาสตร์ ค่า X: 609348.638E ค่า Y: 2119691.787N

ข้อมูล เนื้อหา เรียบเรียง โดย นางวันทนา โยวัง

ภาพถ่าย/ ภาพประกอบ โดย นางวันทนา โยวัง