เกษตรกรรม

วิถีชีวิตแห่งท้องทุ่งสีเขียว

“กระดูกสันหลังของชาติ”


การทำนา ถือเป็นอาชีพของชาวไทยมาอย่างช้านาน ด้วยความที่อาหารหลักของคนไทยแต่ดั้งแต่เดิมคือข้าว เมื่อเป็นเช่นนี้อาชีพชาวนาจึงถือว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมากที่สุด เปรียบได้กับคำที่ว่า ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ก็ไม่ปาน

สมัยก่อนในฤดูการทำนาของทุกปีจะมีประเพณีที่เรียกว่าการลงแขกดำนา คือการที่คนในหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง หรือคนบ้านใกล้เรือนเคียงกันมาช่วยกันดำนาของคนใดคนหนึ่ง แล้วหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ จนเสร็จครบทุกคนในระหว่างนั้นก็ได้เห็นความสามัคคีของคนในหมู่บ้านมีการนำเรื่องราวต่างๆ ตำนานต่างๆ เรื่องผีมาเล่าสู่ลูกหลานได้ฟัง มีการทำอาหารเพื่อรับประทานกันเองซึ่งจะเป็นอาหารที่ทำง่ายหรือเป็นอาหารพื้นบ้าน เนื่องจากอยู่ท้องไร่ท้องนาไม่มีอุปกรณ์ให้ทำอาหารมากนักเมื่อเสร็จจากที่นาทุกคนก็จะมีการเลี้ยงใหญ่เพื่อเป็นการฉลองที่ทำนาเสร็จ ในระหว่างที่ข้าวเจริญเติบโตท้องทุ่งนามีความเขียวขจี เย็นสบายตา มองเข้าไปในนามีปลาเล็กปลาน้อย มีปู มีหอย มีความอุดมสมบูรณ์ของห่วงโซ่อาหาร มีเสียงนกร้อง ตกตอนเย็นก็จะมีเสียงจิ้งหลีด เสียงกบ ร้องประสานเสียงกัน เป็นภาพที่น่าจดจำและเป็นภาพที่สวยงามเป็นอย่างมาก

ทุ่งคู้ลำพัน หรือตำบลคู้ลำพัน เป็นพื้นที่ลุ่มและดอนกระจายทั่วตำบล การทำนาจึงมีทั้งนาปีและนาปรัง นาปี คือ นาข้าวที่ทำในระหว่างเดือนเมษายน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูการทำนาปกติ พันธุ์ข้าวนาปีจะออกดอกตามวันและเดือนที่ค่อนข้างตายตัว ไม่ว่าจะตกกล้าในเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม หรือสิงหาคม เมื่อถึงวันที่จะออกดอกก็ออกพร้อมกันหมด เนื่องจากช่วงของแสงต่อวันบังคับตามปกติจะแบ่งวันหนึ่งออกเป็น กลางวัน ๑๒ ชั่วโมง กลางคืน ๑๒ ชั่วโมง แต่เนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของโลก จึงทำให้แต่ละส่วนของ โลกได้รับแสงอาทิตย์ในแต่ละวันไม่เท่ากันทำให้เมื่อช่วงของวันยาวขึ้น ข้าวก็จะเจริญเติบโตทางลำต้นไม่ออกรวงหรือถ้าออกรวงได้ก็ไม่พร้อมกันในต้นเดียว บางรวงก็แก่โน้มลงบางรวงก็เพิ่งตั้งท้อง จนเมื่อช่วงของวันเริ่มสั้นลง ข้าวพวกนี้จะเจริญทางพันธุ์ (ออกรวง) ดังนั้น การทำนาล่า เช่น ปักดำในเดือนตุลาคม ต้นข้าวจะเตี้ย แตกกอน้อย รวงเล็ก เพราะยังไม่ทันเจริญทางลำต้นก็ต้องมาเจริญทางพันธุ์ นั่นคือ วันสั้นยาวมีผลต่อการออกรวงของข้าว ข้าวประเภทนี้จึงเรียกว่า “ข้าวนาปี” หรือ “ข้าวไวแสง” ซึ่งเป็นข้าวที่ออกตามฤดูกาล นาปรัง คือนาข้าวที่ต้องทำนอกฤดูทำนาเพราะในฤดูทำนาน้ำมักจะมากเกินไป ซึ่งข้าวที่ใช้ทำนาปรังจะเป็นข้าวที่แสงไม่มีอิทธิพลต่อการออกดอกซึ่งเรียกว่า “ข้าวนาปรัง” หรือ “ข้าวไม่ไวแสง” ซึ่งเป็นข้าวที่ออกตามอายุไม่ว่าจะปลูกเมื่อใด พอครบอายุก็จะเก็บเกี่ยวได้

เมื่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวมาถึง ท้องทุ่งนาที่เขียวขจีกลายเป็นสีทอง ก็จะมาการลงแขกเกี่ยวข้าวแต่การลงแขกเกี่ยวข้าวจะแตกต่างจากการลงแขกดำนาตรงที่จะมีการร้องรำทำเพลงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเนื่องจากข้าวที่ปลูกไว้กำลังจะได้เก็บผลผลิตเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จก็นำไปเก็บที่ยุ้งของใครของมัน เมื่อฤดูทำนาเสร็จสิ้นไปก็เป็นการเข้าวัดทำบุญจะมีอีกหนึ่งประเพณีคือ ประเพณีสู่ขวัญข้าว เพื่อเรียกขวัญพระแม่โพสพที่ตกหล่นตามท้องนาขึ้นสู่ยุ้งฉางบูชาพระแม่โพสพ ป้องกันศัตรูพืชและสัตว์ทำลายเพื่อให้ได้ผลผลิตมากในปีต่อไป

บทความ โดย tiwaporn chuenchom , https://sites.google.com/site/mor61grp11/

เรียบเรียงโดย : นางสาวชุติมันต์ สินพร

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นางสาวชุติมันต์ สินพร , www.gotoknow.org , สำนักงานส่งเสริมบริหารงานวิจัย บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ,

องค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ชะเลือด