ศาลปู่ตา

ศรัทธาแห่งทุ่งคู้ลำพัน

ความเชื่อ ความศรัทธาศาลปู่ตา แห่งทุ่งคู้ลำพัน

งานประจำปี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ศาลปู่ตา (ตำบลคู้ลำพัน)

ทุ่งคู้ลำพัน หรือ คู้ลำพัน คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่เล่าว่า “คู้รำพัน” นามนี้เกิดจากในอดีตสมัยพระเจ้าตากฯ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) นำกองทัพยกพลนิกายข้ามแม่น้ำขึ้นมาพำนักที่บ้านกบแจะหรือบ้านวัดกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี พระองค์ได้พาไพร่พลเหล่าทหารไทย-จีนประมาณ 1000 มุ่งหน้าลงทางใต้จุดมุ่งหมายคือหัวเมืองตะวันออกเมืองระยอง - จันทบูร หมายจะรวบรวมผู้คนและกองทัพกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึก การเดินทางลงใต้ระยะทางเกือบ 20 กิโลเมตร ใกล้ค่ำจึงมีรับสั่งให้พักแรมที่หมู่บ้านในทุ่งนาแห่งหนึ่งริมคู้คลองไผ่ชะเลือดซึ่งเป็นคู้เล็กๆ ลำคลองนี้จะไหลคดเคี้ยวประดุจข้อศอกพับที่เรียกกันว่า “คู้” บรรดาทหารหลังจากเดินทางมาไกลจากค่ายวัดพิชัย กรุงศรีอยุธยา ต้องถูกข้าศึกเข้าโจมตีหลายครั้งในระหว่างหนีจะมีการปะทะกับฝ่ายข้าศึกตลอดทางทั้งรบรุกซุ่มโจมตีโดยเฉพาะยุทธการม้าศึกรบบนหลังม้าที่บ้านพรานนกและการดักโจมตีจากฝ่ายข้าศึกที่บ้านบางคางปราจีนบุรี แต่พระองค์กับไพร่พลซึ่งกรำศึกเดินทางมาไกลก็รบชนะทุกครั้ง ความเหน็จเหนื่อยเมื่อยล้าหลังจากตั้งค่ายพักแรมแล้ว จึงพากันอาบน้ำสระผม หุงหาอาหารมื้อเย็นกินกันครั้นตกค่ำก็พากันนั่งพักผ่อนคุยกันกับเพื่อนทหารด้วยกัน รำพึงรำพันคิดถึงลูกเมีย คิดถึงพ่อแม่ที่ต้องจากมาไกลเพื่อสงครามรบกู้ชาติครั้งนี้ ไม่รู้ว่าลูกเมียพ่อแม่จะเป็นเยี่ยงใดยิ่งคิดก็ยิ่งเศร้าใจรำพึงรำพันอาลัยอาวรณ์คิดถึงคนข้างหลังอยู่ริมคู้น้ำแห่งนี้ ต่อมาภายหลังจึงได้ขนานนามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านคู้ลำพัน” ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งขึ้นกับอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี

ครั้นเวลาล่วงเลยผ่านไปมีกลุ่มชนที่เรียกว่า “คนพวน” คือ คนที่ราบสูงทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาวติดพรมแดนเวียดนาม เรียกอีกชื่อว่า “ลาวพวน” ได้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในพื้นที่อำเภอศรีมโหสถ และอำเภอศรีมหาโพธิ์ ทำให้เกิดการประสมประสานทางชาติพันธุ์มากกว่าเดิม เรียก “ไทยพวน” รวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อต่างๆ ที่สืบทอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คือ ความเชื่อโบราณของชาวไทยพวน เชื่อว่าต้นไม้ใหญ่จะมีภูผีปีศาจและเทพต่างๆ อาศัยอยู่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวคู้ลำพัน และใกล้เคียง พร้อมทั้งบนบานสานกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นไปตามที่บนไว้ จะมีร่างทรงคอยทรงดูบ้านดูเมือง และจะมีงานประจำปี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี

“เสด็จพ่อศักดิ์สิทธิ์ เสด็จพ่อปากหอม เสด็จแม่มะลิหอม เจ้าพ่อสังข์ทอง” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ศาลปู่ตา” ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านคู้ลำพัน เป็นสถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน โดยในเดือน 3 จะมีงานบุญเลี้ยงข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปิ้งไม่มีไส้) เดือน 12 งานบุญเลี้ยงข้าวเม่า และในเดือน 6 (ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6) ของทุกปีถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของบ้านคู้ลำพันมีร่างทรงในหมู่บ้านมาทำพิธี เลี้ยงไก่ เลี้ยงเหล้า แห่ใบศรีในวันขึ้น 6 ค่ำ ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าในเทคโนโลยีในงานแห่ได้มีเครื่องเสียง ดนตรีเพื่อสร้างความบันเทิงครื้นเครง


ข้อมูลเนื้อหา / เรื่องราว : หนังสือทอดน่องท่องเที่ยว

อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

เรียบเรียง โดย นางสาวชุติมันต์ สินพร

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวชุติมันต์ สินพร ,

หนังสือทอดน่องท่องเที่ยว อ.ศรีมโหสถ