บ้านสมุนไพรธนัญญาณ์

บ้านสมุนไพรธนัญญาณ์

แหล่งเรียนรู้ หมายถึง แหล่งข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ และประสบการณ์ ที่สนับสนุนส่งเสริม ให้ผู้เรียนใฝ่เรียน ใฝ่รู้แสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

ศูนย์การเรียนรู้บ้านสมุนไพรธนัญญาณ์ ตั้งอยู่บ้านแหลมอวน ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โดยมีนางกมลพรรณ พรศรีรัตนรักษ์ (หมออ้อย) เป็นเจ้าของแหล่งเรียนรู้ ศูนย์การศึกษาเรียนรู้ เรื่อง สมุนไพร มีแปลงสาธิตปลูกพืชสมุนไพรไว้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานสมุนไพรไทย ให้ชุมชน ชาวบ้าน เยาวชน และนักท่องเที่ยว เห็นคุณค่าของสมุนไพรไทยที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

พืชสมุนไพรเป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมาพันปี ซึ่งมีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ของแต่ละพื้นที่และรูปแบบการรักษา สมุนไพรเป็นได้ทั้งอาหารและยา อาทิ พืชผักสวนครัว เช่นขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา ยี่หร่า ใบโหระพา ใบมะขาม หัวไพร ใบและลูกมะกรูด

สมุนไพร หมายถึง "ผลิตผลธรรมชาติ ได้จาก พืช สัตว์ ที่ใช้เป็นยา หรือผสมกับสารอื่นตามตำรับยา เพื่อบำบัดโรค บำรุง ร่างกาย หรือใช้เป็นยาพิษ"หากนำเอาสมุนไพรตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสมรวมกันซึ่งจะเรียกว่า ยา ในตำรับยา นอกจากพืชสมุนไพรแล้วยังอาจประกอบด้วยสัตว์และแร่ธาตุอีกด้วย เราเรียกพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบของยานี้ว่า เภสัชวัตถุ พืชสมุนไพรบางชนิด เช่น เร่ว กระวาน กานพลู และจันทน์เทศ เป็นต้น

ศูนย์การศึกษาเรียนรู้ เรื่องสมุนไพร บ้านสมุนไพรธนัญญาณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการแปรรูปสมุนไพรต่างๆ มาใช้ในการบำรุงรักษาสุขภาพ ในเรื่องการทำอาหาร การทำลูกประคบสมุนไพร การทำน้ำมันเหลือง การทำน้ำกระชายทั้งแบบดื่มสดและแบบต้มสุกบรรจุขวด การสอนการแช่เท้าจากสมุนไพรต่างๆ

ขั้นตอนและวิธีการการแช่เท้าด้วยสมุนไพร ศูนย์การเรียนรู้บ้านสมุนไพรธนัญญาณ์ จะแนะนำสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆที่ใช้ อาทิเช่น ใบมะขามช่วยแก้คัน ลดกลิ่นเหม็นของเท้า ลูกมะกรูดและเมนทอลให้ลมหายใจสดชื่น ใบส้มป่อย ใบบัวบกลดบวม กระดูกไก่ดำ ลดปวดเมื่อย ชาปลายมือปลายเท้า หัวไพล แก้ปวดเมื่อย ชามือ ชาเท้า ขมิ้น ผิวพรรณดีลดผื่นคัน ใบหมากผู้หมากเมีย ลดไข้ การใส่เกลือป่นและการบูรลงไปประมาณ 1ช้อนชา เพื่อกระตุ้นให้สมุนไพรเข้าสู่ร่างกาย ก่อนแช่จะต้องนำสมุนไพรใส่หม้อต้มให้ร้อนจดสุกแล้วมาผสมน้ำให้อุ่น ใช้เวลา แช่เท้าประมาณ 30 นาที ซึ่งการแช่เท้าจะช่วยการดูแลระบบการไหลเวียนของเลือด การเต้นของหัวใจและกลิ่นเท้า การอนุรักษ์ภูมิปัญญาสมุนไพรที่จะทำให้คงอยู่กับสังคมได้อย่างยั่งยืนคือ การทำให้คนในสังคมรัก เข้าใจ และใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน

ผู้ให้ข้อมูล นางกมลพรรณ พรศรีรัตนรักษ์

ผู้เรียบเรียง นางสาวสุกัญญา แสงศรี

ภาพถ่ายโดย นางสาวสุกัญญา แสงศรี