ทำบุญแห่เรือส่งเคราะห์ทางทะเล

ทำบุญแห่เรือส่งเคราะห์ทางทะเล

ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพประมง เป็นอาชีพที่ต้องเสี่ยงอันตรายในการประกอบอาชีพเพราะแหล่งประกอบอาชีพ คือ ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ที่จะประมาทมิได้ดังสำนวน สุภาษิตไทยที่กล่าวว่า คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล นั้นหมายถึง (สำ) ออกทะเลอย่าประมาททะเล เพราะอาจเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ อ้างอิงจาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สำนวน คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล ใช้ในการเปรียบเปรยถึง การเดินทางในทะเล ซึ่งมีความเสี่ยงมาก และหากเกิดอะไรขึ้นมากลางทะเลนั้นจะขอความช่วยเหลือได้ยาก เพราะว่าในท้องทะเลนั้นเต็มไปด้วยน้ำเค็ม ซึ่งหากตกลงไปจำเป็นต้องว่ายน้ำ ไม่เหมือนกับบนพื้นดินที่สามารถเดินและนั่งพักได้ แต่ในทะเลนั้นไม่สามารถนั่งพักได้ จำเป็นจะต้องลอยตัว หรือว่ายน้ำตลอดเวลา นิยมนำมาใช้เป็นคำเตือนสำหรับผู้ที่ต้องอยู่ในทะเลทุกคน ไม่ว่าจะมาทำงานหรือมาท่องเที่ยว เพราะทะเลที่มองดูเรียบสงบนั้น อาจแฝงอันรายเอาไว้ทุกด้าน ดังนั้นต้องไม่ประมาทและต้องเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเอาไว้ทุกเมื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนสติคนรุ่นหลังว่า อย่าได้ประมาทในการเดินทางทางทะเลเป็นอันขาด ชาวประมงในสมัยโบราณต้องอาศัยการเรียนรู้จากธรรมชาติ ในการประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำในท้องทะเล เช่น ต้องเรียนรู้ทิศทางลม เพื่อที่จะได้หลบมรสุมจากพายุร้ายที่จะเกิดขึ้น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาว เป็นเครื่องหมายบอกทิศทางแทนเข็มทิศของชาวประมงโบราณ

ประเพณีลอยเรือส่งเคราะห์เป็นการสืบสานประเพณีท้องถิ่นของชุมชนชาวประมงอำเภอแหลมงอบ ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนเป็นเวลานานแล้วเป็นการสืบสานฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ไม่ให้เลือนหายไป อีกทั้งยังเป็นการดึงชาวบ้านให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ประเพณีเก่าแก่ สร้างความรักความสามัคคี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทั้งนี้นอกจากจะเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับและเจ้ากรรมนายเวร อีกทั้งวิญญาณเร่ร่อนที่ชาวประมงมักจะพบเห็นเมื่อออกเรือไปในทะเลแล้วยังเป็นการสะสมบุญรวมทั้งการฝาก/ลอยเคราะห์ให้กับตนเอง คนในครอบครัวและญาติมิตรลงทะเลตามความเชื่อเพื่อบรรเทาเคราะห์กรรมความทุกข์โศกและสิ่งอัปมงคลให้พ้นไป โดยการบริจาคเงินทำบุญตามจิตศรัทธาใส่ในเรือลอยในทะเลซึ่งประเพณีดังกล่าวมักจัดขึ้นในช่วงเดือน 10 หรือช่วงก่อนออกเข้าพรรษา โดยทำจะแห่กันลงไปชายหาด เพื่อช่วยกันเข็นเรือที่ออกไปในทะเล

ชาวบ้านช่วยกันเข็นเรือออกไปนั้น เรียกว่า “ส่งเคราะห์” ให้ออกไปในทะเล จากนั้นจะมีเรือลากเรือส่งเคราะห์ออกไปให้ห่างจากฝั่ง ซึ่งชาวประมงจะดูระยะให้ไกลจากฝั่งพอสมควร จากนั้นจึงจมเรือลงไปใต้ทะเลซึ่งสาเหตุที่ต้องนำเรือส่งเคราะห์ไปจมให้ไกลจากฝั่งนั้นก็เพราะว่าถ้าจมเรือในระยะที่ใกล้ฝั่ง ในช่วงหน้ามรสุม หรือช่วงมีพายุ เรือที่จมไปก็จะลอยเข้าฝั่งทำให้เกิดสิ่งสกปรก และชาวบ้านมีความเชื่ออีกด้วยว่าถ้าลอยเอาสิ่งไม่ดีออกไปแล้ว ก็ไม่ควรเอากลับเข้ามา แต่หากนำเรือลอยในระยะที่ไกลจากฝั่ง เวลามีลมหรือพายุ เรือก็จะไม่สามารถลอยกลับเข้ามาในฝั่งได้ ส่วนเรือที่จมลงไปในทะเลนั้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งสกปรกแก่ท้องทะเล

ผู้ให้ข้อมูล นายรุ่งเรียง บุญเชษฐ

ผู้เรียบเรียง นางสาวสุกัญญา แสงศรี
ภาพถ่าย นายรุ่งเรือง บุญเชษฐ