ประเพณีสลากภัต

ประเพณี : สลากภัต

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สลากภัต เป็นประเพณีการถวายอาหารพระภิกษุสงฆ์โดยวิธีจับสลาก เพราะเป็นการถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ทั่วไป ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง มักกระทำกันในเดือนที่มีผลไม้อุดมสมบูรณ์ หรือปีที่เศรษฐกิจดี หรือมีการก่อสร้างศาสนวัตถุ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ว่า เป็นอดิเรกลาภส่วนหนึ่งที่ภิกษุสามเณรจะได้รับถวายไม่จำกัดเวลา

งานประเพณีทำบุญสลากภัต เป็นงานประเพณีเก่าแก่ที่มีความเป็นมายาวนานกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นซึ่งมีความผูกพันกับพุทธศาสนา การทำบุญสลากภัตมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละภาคแต่ละท้องถิ่น เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์วิธีหนึ่ง โดยชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันนำภัตตาหารคาวหวาน ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ตลอดจนมีแก่นสารที่สำคัญเป็นการสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชน ได้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ให้สร้างความดี ละเว้นความชั่ว เพื่อผลบุญในชาติหน้า และให้ลูกหลานมีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับไปแล้ว

นอกจากนั้นสลากภัตยังเป็นหลักการในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เพื่อสร้างจิตสำนึกความเท่าเทียมกันและสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันแก่คณะสงฆ์การถวายโดยอุทิศให้แก่สงฆ์ โดยอุทิศให้เป็นเผดียงสงฆ์ (ไม่ระบุเฉพาะว่าจะถวายรูปไหน) เช่นการถวายสลากภัต แม้พระจะได้รับของที่ถวายแค่รูปเดียว แต่ถือได้ว่าพระสงฆ์ที่มารับถวายเป็นพระที่ได้รับมอบหมายจากสงฆ์ ก็นับเป็นสังฆทานที่สมบูรณ์เช่นกัน ในประเทศไทย มีประเพณีสลากภัต ภาคเหนือเรียกว่า ประเพณีทานก๋วยสลาก นิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน 12 ถึงเดือนยี่ของทุกปี สาเหตุที่ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ก็เพราะว่า เป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหน โดยมีการรวมตัวของคณะศรัทธาทั้งหมู่บ้านนำผลไม้และอาหารคาวหวานรวมทั้งไทยทานต่างๆไปตั้งเป็นกัณฑ์สลากถวายพระภิกษุที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ เป็นประเพณีใหญ่สำหรับหมู่บ้านและวัดนั้น ๆ โดยในแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียดการจัดประเพณีแตกต่างกันไปบ้าง

เมื่อวัดใดจะจัดให้มีการถวายสลากภัต มัคทายกผู้เป็นหัวหน้า จะกำหนดวัดและหาเจ้าภาพ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทำใบปิดไปปิดไว้หรือประกาศป่าวร้องหาเจ้าภาพร่วม ผู้ใดต้องการเป็นเจ้าภาพ ก็แจ้งชื่อไว้ ครั้นถึงวันกำหนด ผู้เป็นเจ้าภาพก็จะมีการเตรียมสำรับกับข้าว และเครื่องไทยทานตามกำลังของตน เช่น หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ หอม กระเทียม สบู่ แปรงสีฟัน ข้าวสาร น้ำตาล และน้ำอ้อย เป็นต้น ต่างก็จะนำมารวมกันไว้ในบริเวณวัด จากนั้น มัคทายกผู้เป็นหัวหน้าก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของ เจ้าภาพแต่ละรายแล้วเขียนเบอร์หมายเลขให้พระจับ เมื่อพระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพ คนใดก็ไปฉัน สำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา ส่วนใหญ่ของที่เตรียมไว้จะพอดีระหว่างเจ้าภาพและพระ ที่นิมนต์มา ข้อสำคัญในการทำบุญสลากภัต คือ เป็นการถวายทานแบบไม่เจาะจงตัวผู้รับ เมื่อพระองค์ใดจับได้เบอร์ของเจ้าภาพ เจ้าภาพไม่ควรแสดงความยินดียินร้ายในผู้รับก่อนที่จะมีการจับสลาก มีการฟังเทศน์อย่างน้อย 1 กัณฑ์ ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลาก เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็จะอนุโมทนาและให้พร เจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธี

สำหรับคนในชุมชนอำเภอบางสะพานน้อย เมื่อถึงงานประเพณีทำบุญสลากภัต ทุกหน่วยงานทุกชุมชนในอำเภอบางสะพานน้อย รวมถึงนักศึกษาจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบางสะพานน้อยก็จะร่วมงานสลากภัตประจำปีด้วยกัน โดยได้แต่งกายชุดไทย เข้าร่วมริ้วขบวนเดินจนถึงวัดเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีสลากภัตที่สืบทอดมาแต่โบราณให้คงอยู่คู่อำเภอบางสะพานน้อยสืบไป

ผู้เขียน : นางสาวเสาวภา หนูเจริญ

ที่มา : https://www.doa.go.th/pvp/wp-content/uploads/2019/10/community26.pdf

ภาพจาก : https://www.changrak.go.th/album/view.php?album_id=50

http://www.pck1.go.th/e_activity/detail.php?aid=98&school=%E0%B8%