โบราณสถานถ้ำเขาพรง

ประวัติโดยสังเขปโบราณสถานถ้ำเขาพรง


ถ้ำเขาพรง พื้นที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๑๕ ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ห่างจากถนนสานนครศรีธรรมราช – สุราษฎร์ธานี ประมาณ ๖ กิโลเมตร โดยมีทางเข้า ๒ ทางด้วยกัน

ทางเข้าที่ ๑ เข้าทางทิศตะวันตกของสี่แยกบ้านจอมพิบูลย์ – เขาใหญ่ ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร

ทางเข้าที่ ๒ เข้าทางทิศตะวันตกของสี่แยกบ้านต้นเหรียง – ต้นตอ ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร ซึ่งห่างจากวัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) ไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๒ กิโลเมตร

เมื่อปีประมาณ พ.ศ.๑๔๗๒-๑๕๐๑ พระเจ้าคุณาอรรณพเป็นกษัตริย์ครองกรุงตามพรลิงค์(นครศรีธรรมราช) พอมาปลายรัชสมัยจึงย้ายไปปกครองกรุงสุวรรณปุระ (ไชยา) การไปในครั้งนั้นก็วิ่งเรือเลียบตลิ่งไป เข้ามาทางทิศตะวันตกของเกาะเกียด (เขาเกียรติ) เมื่อเห็นภูเขาสวยงามมีตลิ่งลาดเล็กน้อย จึงแวะพักเพื่อหาฟืนหาน้ำเติมในลำเรือ เมื่อขึ้นไปบนภูเขาไม่สูงนักก็พบถ้ำ สำรวจข้างใน กว้างขวางมีหลายตอนลึกเข้าไปมากมาย จึงชวนพรรคพวกบริวารให้ช่วยกันสร้างพระขึ้น ๑ องค์ ไว้ที่หน้าถ้ำ จะได้แลเห็นเวลาวิ่งเรือผ่านมาทางนี้

ต่อมาพระเจ้ามาราวิโชตุง ผู้เป็นบุตรของพระเจ้าคุณาอรรณพ ได้รับคำบอกเล่าจากพระบิดา เรื่องการสร้างพระที่เขาพรงหน้าตะวันออก และรับตกลงปลงปากว่าจะมาสร้างต่อจนแล้วเสร็จ ในขณะนั้นพระองค์ครองกรงสุวรรณปุระ (ไชยา) จึงตระเตรียมผู้คน นายช่าง และเสบียงอาหารมาพร้อมสรรพ จัดเรื่อมาหลายลำ วิ่งเรือมาจนพบถ้ำที่พระบิดาทรงสร้างไว้ ก็แวะลงจัดการสร้างต่อ เป็นพระไสยาสน์ (พระนอน) ไว้ในถ้ำซึ่งจัดว่ายาวมากในสมัยนั้น ส่วนบริวารก็ชวนกันสร้างพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ สร้างกันหลายองค์ เสร็จแล้วพระองค์จึงจารึกไว้ที่หน้าถ้ำเป็นภาษาทมิฬ บอกเหตุการณ์และปีที่สร้าง นามผู้สร้าง เพื่อสนองบุญคุณพระบิดา ผู้คนที่ช่วยในการนั้นก็มาจาก เมืองละอองใส (แถวทุ่งหัวนาในปัจจุบัน)

ในปีที่สร้างพระในเขาพรงฝั่งตะวันออก พื้นที่ระหว่างเขาพรงกับเขาเกียด (เกาะเกียรติ) ยังเป็นทะเลอยู่ เรือจึงมักวิ่งหลบลมเข้าในระหว่างเขาทั้งสองได้อย่างสบาย จึงสรุปได้ว่าพระนอนในถ้ำเขาพรงหน้าฝั่งตะวันออกนี้สร้างมาไม่น้อยกว่า ๙๐๐ ปีแล้ว ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง มีผู้มาพบเห็น จึงสร้างวัดขึ้นหน้าถ้ำพระนอน ประกอบในตอนนั้นทะเลได้ตื้นเขินไปหมดแล้ว และมีผู้คนเข้ามาอาศัยในพื้นที่แถวนั้นบ้างแล้ว พออณุมาณได้ว่าตรงกับสมัยพระนารายณ์มหาราช

ในปี พ.ศ.๒๒๓๑ พระเภทราชาได้คบคิดกับลูกเลี้ยง แย่งราชสมบัติจากพระนารายณ์ได้เป็นผลสำเร็จ ในปี พ.ศ. ๒๒๓๔ พระเภทราชาได้ให้ยกทัพไปที่เมืองนครศรีธรรมราช ในข้อหาว่ากบฏ ที่เมืองนครศรีธรรมราชมีพระยารามเดโชเป็นเจ้าเมืองอยู่ ท่านมีความสามารถมาก และท่านก็เป็นเพชรเม็ดหนึ่งของพระนารายณ์ ตามหลักฐานได้บอกว่ากองทัพกรุงได้ผ่านมาทางหัวเขาเกียด กองทัพกรุงได้ร่วมสร้างพระที่หัวเขาเกียดด้วย จึงยกทัพผ่านไปในระหว่างเขาทั้งสอง คือ เขาพรง เขาเกียรติ

สถานะจดทะเบียนเป็นโบราณสถานถ้ำเขาพรง เดิมสถานที่ถ้ำเขาพรงด้านล่าง อดีตเป็นวัดมาก่อน เพราะมีหลักฐานที่ปรากฏหลงเหลืออยู่มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ เศียรพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ประดิษฐานภายในถ้ำจำนวนมาก อีกทั้งร่องรอยที่ตั้งวัด มีอิฐ ซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างเดิม เช่น สถานที่ตั้งอุโบสถ ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น มีคนเฒ่า คนแก่ เล่าให้ฟังว่าจะสร้างในสมัยสงคราม ๙ ทัพ ซึ่งน่าจะสร้างมาพร้อมกับวัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) หรือกับวัดที่ร้างทั่วๆ ไป และตอนนี้คงสถานะเป็นสำนักสงฆ์ถ้ำเขาพรงฝั่งตะวันออก

สภาพของถ้ำและสำนักสงฆ์ในปัจจุบัน เนื่องมาจากในอดีตตั้งแต่วัดสร้างมา การคมนาคมไปมาลำบาก และขาดการดูแลรักษามาเป็นเวลานานติดต่อกัน เลยทำให้สภาพของวัด – ถ้ำ – พระพุทธรูป ด้านในวัด – ด้านหน้าถ้ำ ด้านในถ้ำ ได้ถูกทำลายจากผู้คนที่ปรารถนาหาของมีค่า ตามปริศนาลายแทงของถ้ำเขาพรงที่เขียนไว้ หรือว่าไว้

“ พระเขียวโฉ่ฉาว พระขาวขวางกั้น หัวรีต่อหัวสั้น ตรงไหนตรงนั้นแหละ ”

จึงทำให้วัด – พระพุทธรูป และของมีค่าที่เป็นสมบัติสำคัญอันมีค่าของสาธารณะชนได้ถูกทำลายหายไป บางอย่างคงหลงเหลือแต่คำบอกเล่าเท่านั้น

ต่อมาในภายหลังได้มี ผู้นำ ชาวบ้าน องค์กรต่างๆ ที่เห็นความสำคัญ ได้ช่วยกันทำนุบำรุง ดูแลรักษา และช่วยกันพัฒนาสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาชม สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ ท่องเที่ยวทัศนะศึกษาของสถานที่ไปบ้างแล้วตามความสมควรเท่านั้น และคาดว่าในอนาคตข้างหน้าจะพัฒนาให้สมบูรณ์ และสะดวกให้มากขึ้นตามลำดับและตอนนี้ตำบล หมู่บ้าน ที่อยู่รอบๆ เขาพรง ได้ประกาศอนุรักษ์พันธุ์ไม้ – พันธุ์สัตว์ที่บนภูเขาพรง ซึ่งตอนนี้โอกาสดีๆ ของผู้มาท่องเที่ยวจะพบเห็นฝูงลิงนา – ฝูงค่าง พันธุ์สัตว์ – พันธุ์ไม้ที่หายากให้เห็น ซึ่งมีอยู่บนเขาพรง