เชิญร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านออนไลน์

เกียรติบัตรออนไลน์ วันลอยกระทง ประจำปี 2566 

พร้อมเชิญร่วมทำแบบทดสอบผ่านเกณฑ์ 70% หรือผ่าน 7 ข้อขึ้นไป จะได้รับเกียรติบัตรออนไลน์ ผ่านทาง e-mail

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เราต่างก็รู้กันดีว่าเป็นช่วงเวลาของ เทศกาลลอยกระทง เทศกาลที่ผู้คนพร้อมใจนำกระทงไปลอยตามแหล่งน้ำ เพื่อเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือขอขมาพระแม่คงคาตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา 

เมื่อก่อนไม่ได้เรียก “ลอยกระทง” 

จนถึงปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าประเพณีลอยกระทงเกิดขึ้นในยุคสมัยใด แต่พบคำว่า “ลอยกระทง” ปรากฏอยู่ในหนังสือตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ในรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์  

ในช่วงสมัยอยุธยารู้จักกันในนาม “พิธีลอยประทีป” หรือ “พิธีจองเปรียง” เดิมเป็นพิธีบูชาไฟตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ฮินดู มีไว้เพื่อสักการะพระพุทธเจ้าและพระแม่คงคา ในกฏมณเฑียรบาลในสมัยอยุธยา ระบุไว้ว่า พิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นทุกเดือน 12 ซึ่งจะมีกิจกรรมการชักโคมไฟขึ้นสู่ยอดไม้ และกิจกรรมที่ทำให้น้ำคือการลอยโคมลงน้ำ 

การแข่งขันประชันกระทงมีมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์

ในเทศกาลลอยกระทง นอกจากการประชันความงามของนางนพมาศแล้ว การประกวดประชันฝีมือการทำกระทงก็มีให้เห็นได้ในทุกปี ซึ่งถือเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระราชพงศาวดาร สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ระบุไว้ว่า เมื่อถึงพิธีจองเปรียงในรัตนโกสินทร์ยิ่งใหญ่ที่สุด พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการระดับสูง พร้อมข้าราชบริวารจะร่วมกันทำกระทงหลากหลายขนาด และทำแข่งขันกันจนหมดค่าใช้จ่ายไปมาก มีตั้งแต่กระทงสูงตลอด 10 ศอกเหมือนยอดเขาพระสุเมรุ กระทงทรงกระจาดซ้อนกันเป็นชั้น นอกจากนี้ในกระทงแต่ละใบยังมีกลไกและมีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงได้อีกด้วย  

 “ในพิธีจองเปรียง มีการประชันกระทงลอยในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่หน้าตำหนักแพท่าราชวรดิฐ ไปจนถึงวัดโพธิ์และวัดแจ้ง ทั้งสองฝั่งน้ำเต็มไปด้วยราษฏร และข้าราชการที่มาดูความยิ่งใหญ่ของกระทง” 

นางนพมาศไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง 

นางนพมาศ ถือสิ่งที่อยู่คู่กับเทศกาลลอยกระทงมาแต่ไหนแต่ไร จาก ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ในรัชกาลที่ 3 ได้มีการบรรยายถึงนางนพมาศเอาไว้ว่า 

“นางนพมาศมีคุณสมบัติงดงาม เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี บิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิต นางถวายตัวรับราชการในพระร่วงเจ้า มีความดีความชอบ เช่น ริเริ่มประดิษฐ์โคมลอยประทีปเป็นรูปดอกบัวได้”

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้หลายคนเข้าใจว่านางนพมาศเคยมีตัวตนจริง และเป็นผู้คิดค้นกระทงคนแรก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กรมศิลปากรได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า นางนพมาศไม่ตัวตนอยู่จริง และไม่ได้เป็นผู้คิดค้นกระทงในสมัยสุโขทัย อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นเพียงแค่นางในวรรณคดีจากเรื่องสมมติที่อ้างอิงเหตุการณ์ในช่วงสุโขทัยเท่านั้น  

เพลง “รำวงลอยกระทง” แต่งขึ้นในวันลอยกระทง และใช้เวลาเพียง 30 นาที 

“ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง”  

เมื่อได้ยินเสียงเพลงนี้ทีไรก็ทำให้รู้ว่าเทศกาลวันลอยกระทงมาถึงแล้ว บทเพลงในตำนานที่มีเนื้อร้องสั้น ๆ ท่วงทำนองง่าย ๆ ที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต้องร้องได้นี้ เป็นฝีมือการแต่ง โดย ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ผู้ก่อตั้งละครวิทยุคณะแก้วฟ้า และ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ หนังสือพิมพ์มติชน ได้อ้างอิง คำบอกเล่าของ อาจารย์อติพร สุนทรสนาน ทายาทของครูเอื้อไว้ว่า 

ย้อนไปเมื่อปี 2492 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานวันลอยกระทงขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสำหรับงานเทศกาลแล้ว วงดนตรีถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่นำโดยครูเอื้อ ได้รับเชิญไปเล่นดนตรีในวันนั้น

ในระหว่างที่ค่ำคืนวันลอยกระทงดำเนินไป ทางคณะจัดงานได้เอ่ยปากขอให้วงสุนทราภรณ์ แต่งบทเพลงสำหรับค่ำคืนวันลอยกระทง เมื่อได้ยินดังนั้น ครูเอื้อและครูแก้ว จึงได้ร่วมกันแต่งบทเพลงกันสด ๆ ร้อน ๆ โดยครูแก้วเป็นรับหน้าที่เขียนคำร้อง ส่วนครูเอื้อเป็นคนคิดทำนอง ใช้เวลาเพียง 30 นาทีเพลง "รำวงวันลอยกระทง" ก็ถือกำเนิดขึ้นและถูกขับร้องเป็นครั้งแรก ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคืนนั้นเอง 

ลอยกระทงทั้ง 4 ภาคแตกต่างกัน 

ภาคเหนือ

ภาคกลาง

ภาคใต้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ