ทำการเกษตร

พื้นที่ปลูกลำไยกว่า 5,000 ไร่ โดยรอบอ่างเก็บน้ำแม่กึม ในตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ถูกเรียกขานว่า “หุบเขามังกร นครลำไย” ที่นี่นับเป็นต้นแบบของการผลิตลำไยแปลงใหญ่ ภายใต้การดูแลของสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน กรมส่งเสริมการเกษตร ที่เข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการดูแลจัดการสวนลำไยอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไยให้มีคุณภาพดีขึ้น ควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิต เพื่อแก้ปัญหาด้านการตลาดในระยะยาว

ในอดีต เกษตรกรชาวสวนลำไยของอำเภอแม่ทามักเก็บเกี่ยวลำไยในช่วงฤดู ประมาณช่วงเดือนมิย.-ก.ย. ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1,000 ก.ก. ขายผลผลิตได้ ก.ก.ละ 20 บาท หากช่วงไหนผลผลิตล้นตลาด ก็ขายได้ราคาต่ำจนแทบขาดทุน เพราะขาดการรวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไย แถมเกษตรกรบางรายยังขาดองค์ความรู้ในการทำลำไยนอกฤดูอย่างถูกต้อง จึงได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพ

นโยบายลำไยแปลงใหญ่

เมื่อปี 2558 กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้นำ “นโยบายการผลิตลำไยแปลงใหญ่” มาใช้เป็นนวัตกรรมลดต้นทุนการผลิต เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอแม่ทาจึงได้ชักชวนเกษตรกรในท้องถิ่นที่มีสวนลำไย เฉลี่ยรายละ 9 ไร่ จำนวน 637 ราย มารวมกลุ่มทำลำไยนอกฤดูเป็นแปลงใหญ่ได้ 5,539 ไร่ โดยเกษตรอำเภอแม่ทา ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการแปลงใหญ่และประสานงานหน่วยราชการนำเทคโนโลยีความรู้ที่เหมาะสมมาถ่ายทอดแก่เกษตรกร


ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทา ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตลำไยนอกฤดู โดยสนับสนุนให้เกษตรกรแบ่งแปลง แบ่งสวน ทำลำไยนอกฤดูให้ออกสู่ตลาดหลายครั้งต่อปี ประมาณ ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. และ ช่วงเดือน ม.ค.- พ.ค. เพื่อลดความเสี่ยงทางการผลิตและการตลาด โดยเกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่าก.ก.ละ 40 บาท ภายหลังเกษตรกรมีการจัดการสวนลำไยนอกฤดูอย่างเหมาะสม ทำให้ได้ลำไยนอกฤดู เกรด AA จำนวนมาก ป้อนตลาดส่งออก รวมทั้งแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะ “ลำไยสีทอง” ออกขายได้ราคาสูง


ข้อดีของนโยบาย “ลำไยแปลงใหญ่” ก็คือ ช่วยให้เกษตรกรขายสินค้าได้ดีขึ้น โดยปกติผลผลิตลำไยเกรด AA ในช่วงฤดู ขายได้ ก.ก.ละ 11-12 บาท แต่ผลผลิตส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มลำไยเกรด A-B ขายได้แค่ก.ก.ละ 8-9 บาทเท่านั้น หลังจากชาวบ้านหันมาผลิตลำไยนอกฤดู โดยใช้เทคโนโลยีการดูแลจัดการที่เหมาะสม ทำให้ได้ลำไยลูกโต ผิวสวย เนื้อดี เกรด AA มากขึ้น ถึงร้อยละ 60 ซึ่งเป็นสินค้าคุณภาพดี ขายได้ราคาสูง เฉลี่ย ก.ก.ละ 30-70 บาท เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกนั่นเอง


นโยบายลำไยแปลงใหญ่ ช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น สารเร่งดอกลำไยออกนอกฤดู คือ โพแทสเซียมคลอเรต (KClO3) ที่เคยซื้อในราคากระสอบละ 1,500 บาท เมื่อรวมกลุ่มกันซื้อจะมีราคาถูกลง เหลือกระสอบละ1,300 บาท เท่านั้น เช่นเดียวกับสารเคมีสำหรับฉีดพ่นเปิดตาดอก จากเดิมที่เคยซื้อในราคา 600 บาท ก็เหลือแค่ 480 บาท ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้มากกว่าในอดีตแล้ว ยังกระตุ้นความสนใจให้เกษตรกรหันมาทำลำไยนอกฤดูเพิ่มมากขึ้นกว่า 61,150 ไร่