ความหมาย และความสำคัญของมรดกไทย

เรื่องที่ 1 ความหมายและความสำคัญของมรดกไทย

คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ให้ความหมายคำว่า มรดกไทย หมายถึง มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์ และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่าง ๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

ประเภทของมรดกไทย

1. โบราณวัตถุและศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ

หมายถึง สิ่งของ หรือ ร่องรอยของความเจริญในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมีคุณค่าต่อคนรุ่นหลัง เช่น ศิลปะทวารวดี ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา และศิลปรัตนโกสินทร์โบราณวัตถุส่วนมากเป็นลวดลายปูนปั้นและลวดลายดินเผา เศียรพระพุทธรูปเครื่องสังคโลก ปูนปั้นรูปยักษ์เทวดา

2. ศิลปวัตถุ

เป็นผลงานสร้างสรรค์ทางทัศนศิลป์ที่ประกอบด้วย ผลงานศิลปะลักษณะต่าง ๆ เช่น ภาพเขียน รูปปั้น เครื่องลายคราม เครื่องถม เครื่องทอง และสิ่งที่ทำด้วยฝีมืออย่างประณีต มีคุณค่าสูงส่งในทางศิลปะ เป็นต้น

3. โบราณสถาน

เป็นหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสถานที่นั้น อันเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย โบราณสถานโดยทั่วไป หมายถึง อาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่มีความเก่าแก่ มีประวัติความเป็นมาที่เป็นประโยชนทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี และยังรวมถึงสถานที่หรือเนินดินที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือมีร่องรอยที่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ปรากฏอยู่

4. วรรณกรรม

หมายถึง วรรณคดีหรือศิลปะ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจินตนาการ แล้วเรียบเรียง นำมาบอกเล่า บันทึกขับร้อง หรือสื่อออกมาด้วยวิธีต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งวรรณกรรมเป็น 2 ประเภท คือ วรรณกรรมลายลักษณ์ คือ วรรณกรรมที่บันทึกเป็นตัวหนังสือ และวรรณกรรมมุขปาฐะ อันได้แก่ วรรณกรรมที่เล่าด้วยปาก ไม่ได้จดบันทึก ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมจึงมีความหมายครอบคลุมกว้างถึงประวัติ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่าขำขัน เรื่องสั้น นวนิยายบทเพลง คำคม เป็นต้น

5. ศิลปหัตถกรรม

จำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายลักษณะ เช่น การจัดประเภทของงานศิลปหัตถกรรมไทยตามประโยชน์ใช้สอย เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องมือประกอบอาชีพ อาวุธ เครื่องใช้ต่าง ๆ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ และวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ การจัดประเภทของงานศิลปหัตถกรรมไทยตามวัสดุและกรรมวิธีการผลิต เช่น การปั้นและหล่อ การทอและเย็บปักถักร้อยการแกะสลัก การก่อสร้าง การเขียนหรือการวาด การจักสาน การทำเครื่องกระดาษ และกรรมวิธีอื่น ๆการจัดประเภทของงานศิลปหัตถกรรมไทยตามสถานภาพของช่าง เช่น ศิลปหัตถกรรมฝีมือช่างหลวงศิลปหัตถกรรมฝีมือชาวบ้าน

6. นาฏศิลป์และดนตรี

“นาฏศิลป์” หมายถึง ศิลปะการฟ้อนรำ หรือความรู้แบบแผนของการฟ้อนรำเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ด้วยความประณีต งดงาม ให้ความบันเทิง โน้มน้าวอารมณ์และความรู้สึกของผู้ชมให้คล้อยตาม ศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัยการบรรเลงดนตรี และการขับร้องเข้าร่วมด้วยเพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณค่ายิ่งขึ้น

“ดนตรีไทย” สันนิษฐานว่าได้แบบอย่างมาจากอินเดียเนื่องจากอินเดียเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อารยธรรมต่าง ๆ ของอินเดียได้เข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียอย่างมาก ทั้งในด้านศาสนา ประเพณี ความเชื่อ ตลอดจนศิลปะแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านดนตรี และยังถือเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติไทยอีกด้วย

7. ประเพณีต่าง ๆ ประเพณีไทย

แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

1) ประเพณีส่วนบุคล ได้แก่ ประเพณีเกี่ยวกับการแต่งงาน ประเพณีการเกิดประเพณีการตาย ประเพณีการบวช ประเพณีการขึ้นบ้านใหม่ ประเพณีทำบุญอายุ เป็นต้น

2) ประเพณีส่วนรวม ได้แก่ ประเพณีทางศาสนาต่าง ๆ เช่น ประเพณีการทำบุญเข้าพรรษา ออกพรรษา ประเพณีตรุษ สารท ลอยกระทงประเพณีเทศกาลสงกรานต์ และประเพณีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น

ความสำคัญของมรดกไทย

มรดกไทยเป็นสิ่งที่บุคคลในชาติควรให้ความสำคัญและหวงแหน เพราะเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทย ซึ่งแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน มรดกไทยจึงมีความสำคัญในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1) แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติของเผ่าพันธุ์ท้องถิ่น

2) แสดงถึงเกียรติและความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นและของคนในชาติ ทำให้เกิดความรัก หวงแหน เห็นคุณค่า

3) ก่อให้เกิดความรู้สึก ความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติ เป็นความมั่นคงของชาติ

4) เป็นหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย (การดำเนินการทางวิชาการ) เพื่อการเผยแพร่การสืบทอดและนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันนำไปสู่การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป เช่น การประกอบอาหาร การถักทอผ้า การคิดประดิษฐ์ลายผ้า วิธีการตัดเย็บ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องเรือน การแพทย์ การผลิตยา เป็นต้น