สถาบันหลักของชาติ

เรื่องที่ 1 สถาบันหลักของชาติ

สถาบันหลักของชาติ ประกอบด้วย ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเสาหลักในการสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น เป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชน เป็นบ่อเกิดของความรัก ความสามัคคี นำพาประเทศชาติให้ผ่านพ้นภัยนานาประการ ไม่ว่าจะเป็นภัยรุกรานของประเทศอื่น ภัยจากการล่าอาณานิคมและการแผ่ขยายลัทธิการปกครอง อีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่ห่างไกลส่งผลให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ และเป็นรากฐานให้ประเทศชาติมีความมั่นคงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ชนชาติไทยในอดีต จึงถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันสูงสุดของชาติที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำ รวมประเทศชาติให้เป็นปึกแผ่น และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ปกครอง ดูแลและบริหารประเทศชาติโดยใช้หลักธรรม ที่เป็นคำสอนของศาสนา ด้วยความเข้มแข็งของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในสถาบันศาสนา ที่เป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้คนในชาติประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม เพราะทุกศาสนาล้วนแต่สอนให้คนประพฤติ และคอยประคับประคองจิตใจให้ดีงาม มีความศรัทธาในการบำเพ็ญตนตามรอยพระศาสดาของแต่ละศาสนา และเมื่อพระมหากษัตริย์เป็นผู้ที่ประพฤติตนอยู่ในธรรม และปกครองแผ่นดินโดยธรรมแล้ว ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ต่างอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข จึงทำให้สถาบันชาติ ที่เป็นสัญลักษณ์เปรียบเสมือนอาณาเขตผืนแผ่นดินที่เราอยู่อาศัย มีความมั่นคง พัฒนาและยืนหยัดได้อย่างเท่าเทียมอารยประเทศ ดังนั้น สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นสถาบันหลักของชาติไทย ที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจของปวงชนชาวไทยและคนในชาติมาจวบจนทุกวันนี้

“ชนชาติไทย” เป็นชนชาติที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และความเป็นมาที่ยาวนานไม่แพ้ชาติใดในโลก เรามีแผ่นดินไทยที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีภูมิอากาศ และภูมิประเทศที่เป็นชัยภูมิ อากาศไม่ร้อนมาก ไม่หนาวมากมีความหลากหลายของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีที่ราบลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก มีภูเขา มีทะเลที่มีความสมดุลและสมบูรณ์เพียบพร้อมเป็นที่หมายปองของนานาประเทศ นอกจากนี้ ชนชาติไทยยังมีขนมธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามหลากหลาย งดงาม เป็นเอกลักษณ์ของชาติที่โดดเด่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ลูกหลานไทยทุกคนควรมีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย ในแผ่นดินไทย แต่ก่อนที่จะสามารถรวมชนชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น ทำให้ลูกหลานไทยได้มีแผ่นดินอาศัยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขหลายชั่วอายุคนมาจวบจนทุกวันนี้ บรรพบุรุษของชนชาติไทยในอดีต ท่านได้สละชีพเพื่อชาติ ใช้เลือดทาแผ่นดิน ต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนไทย กอบกู้เอกราชด้วยหวังไว้ว่า ลูกหลานไทยต้องมีแผ่นดินอยู่ ไม่ต้องไปเป็นทาสของชนชาติอื่น ซึ่งการรวมตัวมาเป็นชนชาติไทยที่มีทั้งคนไทยและแผ่นดินไทยของบรรพบุรุษไทยในอดีต ก็ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้โดยง่าย ต้องอาศัยความรัก ความสามัคคี ความกล้าหาญ ความเสียสละอดทน และสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมีศูนย์รวมใจที่เป็นเสมือนพลังในการต่อสู้และผู้นำที่มีความชาญฉลาดด้านการปกครองและการรบ คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน และหากลูกหลานไทยและคนไทยทุกคนได้ศึกษาพงศาวดารและประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็จะเห็นว่า ด้วยเดชะพระบารมีและพระปรีชาสามารถของบูรพมหากษัตริย์ของไทยในอดีตที่เป็นผู้นำสามารถรวบรวมชนชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น แม้ว่าเราจะเคยเสียเอกราชและดินแดนมามากหมายหลายครั้ง บูรพมหากษัตริย์ไทยก็สามารถกอบกู้เอกราชและรวบรวมชนชาวไทยให้เป็นปึกแผ่นได้เสมอมา และเหนือสิ่งอื่นใดพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองประเทศชาติด้วยพระบารมีและทศพิธราชธรรม ใช้ธรรมะและคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวในการปกครอง ทำให้คนในชาติอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข สมกับคำที่ว่า “ประเทศไทย เป็นประเทศแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง”

แผ่นดินธรรม หมายถึง แผ่นดินที่มีผู้ปฏิบัติธรรม และการปฏิบัติธรรมนั้น หมายถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง

แผ่นดินทอง หมายถึง แผ่นดินที่ประชาชนได้รับประโยชน์ และความสุขอย่างทั่วถึงตามควรแก่อัตภาพ

ชาติ

การจะรับรู้ความเข้าใจในความเป็นชาติหรือความรู้สึกที่หวงแหนความเป็นชาติได้นั้นผู้เรียนมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจบริบทของความเป็นชาติเสียก่อน ดังนี้

ความหมาย ความสำคัญของชาติ

ชาติ หมายถึง กลุ่มคนที่มีภาษา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์เดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน มีแผ่นดิน อาณาเขตการปกครอง ที่เป็นระบบ เป็นสัดส่วน มีผู้นำหรือรัฐบาลที่ใช้อำนาจ หรือมีอำนาจอธิปไตยที่นำมาใช้ในการปกครองประชาชนตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ชาติ หมายถึง ประเทศประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกันหรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน

“ความจงรักภักดีต่อชาตินั้น คือ ความสำนึกตระหนักในคุณของแผ่นดิน

อันเป็นที่เกิดที่อาศัย ซึ่งทำให้บุคคลเกิดความภูมิใจในชาติกำเนิด

และมุ่งมั่นที่จะธำรงรักษาประเทศชาติไว้ ให้เป็นอิสระมั่นคงตลอดไป”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต 3 ธันวาคม พ.ศ. 2529

เมื่อพิจารณาคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันนั้นก็จะพบว่าคำว่า “ชาติ” นั้น ใกล้เคียงกับคำว่า“ประเทศ” หรือคำว่า “รัฐ” อยู่ไม่น้อย คือ หมายถึง ชุมนุมแห่งมนุษย์ซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน มีอำนาจอธิปไตยที่จะใช้ได้อย่างอิสระ และมีการปกครองอย่างเป็นระเบียบเพื่อประโยชน์ของบรรดามนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน

ความเป็นมาของชนชาติไทย

เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของชนชาติไทยนั้นยังไม่มีการสรุปเป็นประเด็นที่สามารถยืนยันได้ชัดเจน เพราะการพิจารณาความเป็นมาของชนชาติไทยนั้น ต้องพิจารณาจากหลักฐานหรืองานวิจัย การค้นคว้าทางวิชาการที่หลากหลายจากนักวิชาการไทยและต่างประเทศ อีกทั้งยังต้องพิจารณามิติทางเอกสาร โบราณคดี เชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม ดังนี้

1) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ข้อมูลที่ปรากฏในพระนิพนธ์เรื่อง “แสดงบรรยายพงศาวดารสยาม และลักษณะการปกครองสยามแต่โบราณ”เป็นการนำข้อมูลของนักวิชาการตะวันตกมาประกอบ สรุปว่าถิ่นดั้งเดิมของชนชาติไทยอยู่ทางตอนใต้ของจีน แถบมณฑลยูนนาน กว่างโจว กวางสี จนกระทั่งจีนแผ่อิทธิพลทางการปกครองลงมา จนทำให้ผู้คนในบริเวณนั้นต้องอพยพลงมาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน

2) หลวงวิจิตรวาทการ ข้อมูลที่เสนอผ่านผลงานเรื่อง “งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย” ได้อธิบายว่าถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่บริเวณตอนกลางของจีนแถบมณฑลเสฉวนตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายตั้งแต่แนวแม่น้ำพรหมบุตรไปจนถึงทะเลจีนใต้แถบอ่าวตังเกี๋ย

3) ข้อมูลของจิตร ภูมิศักดิ์ ผ่านผลงานเรื่อง “ความเป็นมาของคำสยามไทยลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ได้ศึกษาผ่านการวิเคราะห์ภาษา และตำนานท้องถิ่นของภาคเหนือ ได้สรุปว่า ถิ่นกำเนิดของคนไทยนั้นครอบคลุมบริเวณกว้างใหญ่ทางตอนใต้ของจีน เวียดนาม ลาว เขมร ภาคเหนือของไทย พม่า ไปจนถึงรัฐอัสสัมของอินเดีย เนื่องจากมีพื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน

4) ข้อมูลของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร นักวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย ท่านได้ศึกษาวิเคราะห์จากหลักฐานของชาวตะวันตกทั้งทางด้านภาษาศาสตร์ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยา รวมไปถึงการลงพื้นที่ด้วยตนเอง ได้สรุปไว้ว่า ถิ่นเดิมของคนไทยน่าจะอยู่บริเวณมณฑลกวางสี ทางใต้ของจีน เนื่องจากในเขตดังกล่าวเป็นพื้นที่กลุ่มชนที่มีความหลากหลายทั้งทางวัฒนธรรมและประเพณี

ข้อมูลประวัติความเป็นมาส่วนใหญ่จะอธิบายใกล้เคียงกัน ในลักษณะของการอพยพลงใต้จากจีน แล้วแผ่ขยายลงหลักปักฐานอยู่ในบริเวณกว้างทางภาคเหนือของไทยเกิดเป็นเมืองและเมืองขนาดใหญ่ที่ขยายตัวเป็นอาณาจักรตามมา กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตั้งแต่ที่สมัยไทยอพยพลงมานั้นดินแดนแหลมทองเป็นที่อยู่ของชนชาติมอญ ละว้าของขอม พวกมอญอยู่ทางตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปจรดมหาสมุทรอินเดีย พวกละว้ามีอาณาเขตอยู่ในบริเวณภาคกลาง มีเมืองนครปฐมเป็นเมืองสำคัญพอถึงพุทธศตวรรษที่ 14 ขอมซึ่งอยู่ทางตะวันออกมีอำนาจมากขึ้นเข้ายึดเอาดินแดนพวกละว้าไปไว้ในอำนาจ แล้วแบ่งการปกครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนภาคเหนือ และส่วนภาคใต้ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 16 สมดุลอำนาจในการแย่งชิงพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไป มอญกับขอมสู้รบกันจนเสื่อมอำนาจลง และในช่วงเวลานั้นสุโขทัยได้ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

จากร่องรอยหลักฐานทางเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มีการยืนยันและเชื่อว่าประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยในแหลมทอง (Golden Khersonese) เริ่มต้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 800(พุทธศตวรรษที่ 8 - 12) เป็นต้นมา โดยมีดินแดนของอาณาจักรและแคว้นต่าง ๆ เช่น อาณาจักรฟูนัน ตั้งอยู่บริเวณทางทิศตะวันตกและชายทะเลของอ่าวไทย และมีอาณาจักรหริภุญชัยทางเหนืออาณาจักรศรีวิชัยทางใต้ และมีอาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12) บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นต้น และได้รวมตัวเป็นปึกแผ่น มีพระมหากษัตริย์ได้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของชนชาติไทย ราวปี พ.ศ. 1762 โดยพ่อขุนศรีนาวนำถม พระราชบิดาของพ่อขุนผาเมืองเป็นผู้ปกครองอาณาจักรจากหลักฐานและข้อมูลข้างต้นนี้ รวมถึงสมมติฐานของแหล่งอารยธรรมต่าง ๆของโลก ซึ่งส่วนใหญ่แหล่งกำเนิดของชนชาติกลุ่มในอดีตจะอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำ อาทิ แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำไทกริส (Tigris) ทางตะวันออก และแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates) ทางตะวันตกหรืออารยธรรมอินเดียโบราณหรืออารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำ เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ชนกลุ่มต่าง ๆ ที่เคยอาศัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรือบริเวณรอบอ่าวไทย มีการรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น มีการพัฒนาเป็นชุมชน สังคม และเมืองจนกลายมาเป็นอาณาจักรต่าง ๆ ของชนชาติไทยตามพงศาวดาร

การรวมไทยเป็นปึกแผ่น

ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา ใน พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พยายามกอบกู้เอกราชและศักดิ์ศรีของอาณาจักรกลับคืนมา หลังจากการสถาปนาอาณาจักรธนบุรีขึ้น ต้องเผชิญกับสงครามภายนอกจากกองทัพพม่า และสงครามภายใน คือการปราบชุมนุมที่แย่งชิงความเป็นใหญ่แตกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ช่วงเวลาผ่านไปจนถึง พ.ศ. 2325อาณาจักรรัตนโกสินทร์เป็นแผ่นดินไทยที่พอจะเรียกได้ว่า “เป็นปึกแผ่น” ขึ้นมาบ้าง ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาจะเกิดสงครามเก้าทัพที่เป็นศึกใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ก็ถือว่าเป็นช่วงแห่งสันติสุขมาได้ยาวนาน

ความเป็นปึกแผ่นของความมั่นคงของสยามเด่นชัดมากขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม เป็น “ไทย” กล่าวอีกนัยหนึ่ง“การสร้างชาติ” ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในยุคสมัยนี้ คือ มีครบทั้งอาณาเขต ดินแดน ประชากร อำนาจอธิปไตย รัฐบาล ไปจนถึงสัญลักษณ์ของชาติที่แสดงถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย เช่น ภาษาไทย และธงชาติไทย เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนในยุคปัจจุบันจะต้องอนุรักษ์หวงแหนให้สามารถดำรงสืบไปในอนาคตแหล่งกำเนิดของชนชาติไทย จะอพยพมาจากที่ใด จะมีการพิสูจน์หรือได้รับการยอมรับหรือไม่ คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิสูจน์หาความจริง คงปล่อยให้เป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์หรือนักวิชาการ แต่ความสำคัญอยู่ที่ลูกหลานคนไทยทุกคนที่อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินไทย ต้องได้เรียนรู้และต้องยอมรับว่า การรวมชนชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น และอยู่สุขสบายจนถึงปัจจุบันนี้ คนไทยและลูกหลานไทยทุกคนต้องตระหนักถึงบุญคุณของบรรพบุรุษไทยและพระปรีชาสามารถของบูรพมหากษัตริย์ไทยในอดีตทีสามารถรวบรวมชนชาวไทย ปกป้องรักษาเอกราชและรวบรวมชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น จึงเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต ซึ่งหากจะย้อนรอยไปศึกษาพงศาวดารฉบับต่าง ๆ รวมถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่ยุคก่อนการสถาปนากรุงสุโขทัย ให้เป็นราชธานีแห่งแรกของชนชาวไทยแล้ว การสถาปนาราชธานีทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะเป็นการสถาปนากรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงการกอบกู้เอกราชหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ล้วนเป็นวีรกรรมและบทบาทอันสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยทั้งสิ้น

พระมหากษัตริย์ไทยกับการรวมชาติ

การรวมชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น เป็นบทบาทที่สำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต หากรัฐใดแคว้นใด ไม่มีผู้นำหรือพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง มีพระปรีชาสามารถทั้งด้านการรบการปกครองรวมถึงด้านการค้า เศรษฐกิจการคลัง รัฐนั้นหรือแคว้นนั้น ย่อมมีการเสื่อมอำนาจลงและถูกยึดครองไปเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชภายใต้การปกครองของชนชาติอื่น การถูกยึดครองหรือไปเป็นเมืองขึ้นภายใต้การปกครองของอาณาจักรอื่นในอดีต สามารถทำได้หลายกรณี อาทิ การยอมสิโรราบโดยดี โดยการเจริญไมตรีและส่งบรรณาการถวาย โดยไม่มีศึกสงครามและการเสียเลือดเนื้อ สถาบันพระมหากษัตริย์ ได้มีบทบาทสำคัญในการรวมชาติให้เป็นปึกแผ่น รวมถึงการปกป้องประเทศชาติและมาตุภูมิสืบไว้ให้ลูกหลานไทยได้มีแผ่นดินอยู่ ซึ่งหากชนชาติไทยในอดีต ไม่มีผู้นำหรือกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ในวันนี้อาจไม่มีชาติไทยหลงเหลืออยู่ในแผนที่โลก หรือชนชาติไทยอาจต้องตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของชาติใดชาติหนึ่ง

บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในการรวมชาติ

บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในการรวมชาติ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3หรือในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของอาณาจักรเกิดขึ้นจากการปรับปรุงการปกครอง ประมวลกฎหมายการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เกิดเป็นยุคทองของการฟื้นฟูวรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรีไทย การค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองโดยเฉพาะกับจีน เกิดเป็น “เงินถุงแดง” ที่นำมาใช้ในช่วงวิกฤตของประเทศ

ภายหลังความพ่ายแพ้ของอาณาจักรพม่า และราชวงศ์ชิงของจีนในการทำศึกกับอังกฤษ พระมหากษัตริย์ไทยในช่วงเวลานั้นได้ตระหนักถึงภัยของ “ลัทธิล่าอาณานิคม” เป็นอย่างดีและทรงตระหนักว่าสยามนี้ต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตนเองให้รอดพ้นจากภัยร้ายจากการคุกคามของชาติตะวันตกที่เด่นชัดเริ่มต้นเมื่ออังกฤษเข้ามาขอทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาเกิดวิกฤต ร.ศ. 112 ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่ง ฝรั่งเศสนำเรือปืนเข้ามาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้พระบรมมหาราชวัง บีบบังคับให้สยามยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้อยู่ใต้อาณัติของฝรั่งเศส พร้อมทั้ง เรียกร้องค่าเสียหายด้วยจำนวนเงินกว่า 2 ล้านฟรังก์ เป็นอีกครั้งที่อิสรภาพของสยามอยู่ในจุดที่อาจตกเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก

ในช่วงเวลาดังกล่าวแม้ว่าจะมีภัยรอบด้าน อริราชศัตรูเก่าอย่างพม่า หรือญวนพ่ายแพ้แก่ชาติตะวันตกไปแล้ว ถึงกระนั้นสยามกลับมีความเป็น “ปึกแผ่น” อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนผ่านการเป็น “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่อำนาจของกษัตริย์ช่วยดลบันดาลให้เกิดความผาสุกของราษฎร เกิดเป็นการ “เลิกระบบไพร่ทาส”

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ความเป็นชาติได้เด่นชัดขึ้น ชื่อของประเทศสยามได้รับการยอมรับว่าทัดเทียมกับหลายชาติตะวันตก เมื่อทรงส่งทหารอาสาชาวสยามเข้าร่วมสงครามโลก ครั้งที่ 1ในภาคพื้นยุโรป สถาบันหลักของประเทศ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็เกิดขึ้นในสมัยนี้สัญลักษณ์ของชาติ เช่น ธงไตรรงค์ก็เกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของชาติสยามในโอกาสต่าง ๆ

ศาสนา

ศาสนา เป็นลัทธิความเชื่อของมนุษย์ เกี่ยวกับการกำเนิดและสิ้นสุดของโลก หลักศีลธรรมตลอดจนลัทธิพิธีที่กระทำตามความเชื่อนั้น ๆ จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศนั้นจะยึดคำสั่งสอนของศาสนาเป็นหลักในการปกครองประเทศ และมีการกำหนดศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ นอกจากศาสนาจะมีอิทธิพลต่อการปกครองของประเทศแล้วยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของแต่ละประเทศเช่น ประเทศไทยมีการหล่อพระพุทธรูปเป็นงานศิลปะ วัฒนธรรมการไหว้ การเผาศพ วัฒนธรรมเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาเหมือนกัน ดังนั้น ศาสนาจึงเป็นสถาบันที่สำคัญต่อประเทศมาก

ศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธ ได้เผยแผ่เข้ามาในดินแดนประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยพระเถระชาวอินเดีย เมื่อประมาณ พ.ศ. 236 โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดียซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ มีอาณาเขตกว้างขวาง มีหลายประเทศรวมกันในดินแดนส่วนนี้ มีจำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชาลาว และมาเลเซีย ซึ่งพระพุทธศาสนาที่เข้ามาในครั้งนั้น เป็นนิกายหินยานหรือเถรวาทแบบดั้งเดิมมีพุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธาได้บวชเป็นพระภิกษุเป็นจำนวนมาก และได้สร้างวัด สถูปเจดีย์ไว้สักการะบูชา ต่อมาภายหลัง กษัตริย์ในสมัยศรีวิชัยทรงนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน จึงทำให้ศาสนาพุทธนิกายมหายานเผยแผ่เข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยทางตอนใต้ ซึ่งได้มีการรับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถระวาท แบบมหายาน และศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ จึงทำให้ประเทศไทยมีผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั้ง 2 แบบ มีพระสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย ได้แก่ นิกายเถรวาท และมหายาน

จากพงศาวดารและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สังคมไทยส่วนใหญ่นับถือมาตั้งแต่ในอดีต และสืบทอดกันมาเป็นช้านาน ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญของวิถีชีวิตคนไทย รวมถึงวัฒนธรรมและประเพณี จนประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาของโลกโดยมี “พุทธมณฑล” เป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลกตามมติของการประชุมองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2548 ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันศาสนา มาเป็นลำดับ

อาทิ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2489 รัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะต่อหน้าสังฆมณฑล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2494 รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีด้วยการเสด็จทรงออกผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระองค์ทรงรับการบรรพชาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ได้รับสมณนามจากพระอุปัชฌาย์จารว่า “ภูมิพโลภิกขุ” จากนั้นเสด็จประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศ โดยพระองค์ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัย ตามแบบอย่างพระภิกษุโดยเคร่งครัดรัชกาลที่ 9 ทรงอุปสมบทนาคหลวงมาตลอด โดยเริ่มปีแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมพ.ศ. 2489 ได้เสด็จฯ พระราชดำเนินไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีหม่อมเจ้าสุนทรากร วรวรรณ หม่อมเจ้าอาชวดิศดิศกุล หม่อมราชวงศ์ยันตเทพ เทวกุล และ นายเสมอ จิตรพันธ์ เป็นนาคหลวง

นอกจากนั้นรัชกาลที่ 9 ยังเสด็จฯ พระราชดำเนินไปในงานพิธีทางศาสนา ที่ประชาชนและทางราชการจัดขึ้นในที่ต่าง ๆ มิได้ขาด อีกทั้งยังทรงสร้างพระพุทธรูปขึ้น ในโอกาสสำคัญเป็นจำนวนมาก

หลังจากที่รัชกาลที่ 10 ได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่าง ๆ เป็นต้น

ศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่พัฒนาหรือปฏิรูปมาจากศาสนายูดาห์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ประมาณ 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล ชนเผ่าหนึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวยิว ตั้งถิ่นฐานอยู่ณ ดินแดนเมโสโปเตเมีย มีหัวหน้าเผ่าชื่อ “อับราฮัม” (อับราฮัม เป็นศาสดาของศาสนายูดาห์)ได้อ้างตนว่า ได้รับโองการจากพระเจ้าให้อพยพชนเผ่าไปอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า แผ่นดินคานาอัน(บริเวณประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน) โดยอับราฮัมกล่าวว่า พระเจ้ากำหนดและสัญญาให้ชนเผ่านี้เป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ต่อไป การที่พระเจ้าสัญญาจึงก่อให้เกิดพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับชนชาวยิว ดังนั้น ในเวลาต่อมาจึงเรียกคัมภีร์ของศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ว่า “พันธสัญญา”

ศาสนาคริสต์เข้ามาในประเทศไทยยุคเดียวกับการล่าอาณานิคมของลัทธิจักรวรรดินิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวโปรตุเกส ชาวสเปน และชาวดัตช์ ที่กำลังบุกเบิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งนอกจากกลุ่มที่มีจุดประสงค์ คือ ล่าเมืองขึ้นและเผยแพร่ศาสนาพร้อมกัน เช่น จักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศส มาได้เมืองขึ้นในอินโดจีน เช่น ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว โดยลักษณะเดียวกับโปรตุเกสและสเปน ในขณะที่ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะการเปิดเสรีในการเผยแพร่ศาสนา ทำให้ลดความรุนแรงทางการเมืองลง ศาสนาคริสต์ที่เผยแพร่ในไทยเป็นครั้งแรกเป็นนิกายโรมันคาทอลิก ปรากฏหลักฐานว่าในปี พ.ศ. 2110 (ค.ศ. 1567) มีมิชชันนารี คณะดอมินิกัน 2 คน เข้าสอนศาสนาให้ชาวโปรตุเกส รวมถึงชาวพื้นเมืองที่เป็นภรรยา

ศาสนาคริสต์ได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เช่นเดียวกับศาสนาอื่น โดยรัชกาลที่ 9 ทรงอุดหนุนกิจการของศาสนาคริสต์ตามวาระโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ สามารถสร้างโรงเรียนโรงพยาบาล โบสถ์และประกอบศาสนกิจได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในงานพิธีสำคัญ ๆ ของศาสนาคริสต์เป็นประจำ ที่สำคัญที่สุด คือ เสด็จพระราชดำเนินเยือนนครรัฐวาติกัน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปยุโรปเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2503 เพื่อกระชับพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยกับคริสตจักร ณ กรุงวาติกัน

เมื่อพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาธอลิก เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ เมื่อวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2527ครั้งนั้นนับว่าเป็นกรณีพิเศษอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกจะเสด็จมาเยือนประเทศไทยเช่นนี้ ได้เสด็จออกทรงรับ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอย่างสมพระเกียรติ

สำหรับรัชกาลที่ 10 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด อาคารคริสตจักร ใจสมาน เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปรับเสด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ณ ท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศ

ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลาม เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัย และช่วงกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา โดยกลุ่มพ่อค้าชาวมุสลิมในคาบสมุทรเปอร์เซียที่เข้ามาค้าขายในแหลมมลายู (อินโดนีเซียและมาเลเซีย) ได้นำศาสนาอิสลามเข้ามา ภายหลังคนพื้นเมืองจึงได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และบางคนเป็นถึงขุนนางในราชสำนัก ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีชาวมุสลิมอพยพมาจากมลายูและเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทย นอกจากนี้ยังมีชาวมุสลิมอินเดียที่เข้ามาตั้งรกรากรวมถึงชาวมุสลิมยูนนานที่หนีภัยการเบียดเบียนศาสนาหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน ศาสนาอิสลามในประเทศไทย จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสถิติระบุว่าประชากรมุสลิมมีจำนวนประมาณ 2.2 ล้านคน ถึง 7.4 ล้านคน

ก่อนปี พ.ศ. 2505 กงศุลแห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 9 เพื่อถวายคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับที่มีความหมายเป็นภาษาอังกฤษ โดยรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริว่า ควรจะมีคัมภีร์อัลกุรอานฉบับความหมายภาษาไทย ให้ปรากฏเป็นศรีสง่าแก่ประเทศชาติ เมื่อนายต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีในสมัยนั้น เป็นผู้นำผู้แทนองค์การสมาคม และกรรมการอิสลามเข้าเฝ้าถวายพระพรในนามของชาวไทยมุสลิมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้จุฬาราชมนตรี แปลความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานจากคัมภีร์ฉบับภาษาอาหรับโดยตรง สิ่งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อศาสนาอิสลาม และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกอย่างแท้จริง

ในช่วงเวลาที่จุฬาราชมนตรีแปลพระมหาคัมภีร์ถวาย ทุกครั้งที่เข้าเฝ้า รัชกาลที่ 9 จะทรงแสดงความห่วงใยตรัสถามถึงความคืบหน้า อุปสรรค ปัญหาที่เกิดขึ้น และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พิมพ์เผยแพร่ ในปี พ.ศ. 2511 อันเป็นปีครบ 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอาน ประเทศมุสลิมทุกประเทศต่างก็จัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างสมเกียรติ ประเทศไทยแม้จะไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอานขึ้น ณ สนามกีฬากิตติขจร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นวันเดียวกันกับการจัดงานเมาลิดกลาง ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และในวันนั้นเป็นวันเริ่มแรกที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับความหมายภาษาไทย ได้พิมพ์ถวายตามพระราชดำริและได้พระราชทานแก่มัสยิดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดนเน้นย้ำ ดังนี้

1. การแปลพระคัมภีร์อัลกรุอานเป็นภาษาไทย ขอให้แปลอย่างถูกต้อง

2. ขอให้ใช้สำนวนเป็นภาษาไทยที่สามัญชนทั่วไปอ่านเข้าใจได้

นอกจากนี้ในงานได้มีการพระราชทานรางวัลโล่เกียรติคุณ และเงินรางวัลแก่ผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิดต่าง ๆ และทรงมีพระราชดำริให้มีการสนับสนุนการจัดสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดขึ้น โดยให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแผ่นดินสำหรับจัดสร้าง ขณะนี้ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วใน 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในพิธีด้วยพระองค์เองรัชกาลที่ 10 หรือ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร”ในขณะนั้นได้ทรงเคยปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งเสด็จพระราชดำเนินในฐานะผู้แทนพระองค์ และในฐานะของพระองค์เอง ได้แก่ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เปิดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เสด็จพระราชดำเนินเยือนมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เพื่อพระราชทานถ้วยรางวัลการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และโดยเสด็จรัชกาลที่ 9 ไปจังหวัดนราธิวาส และพระราชทานพระคัมภีร์อัลกุรอาน และคำแปลเป็นภาษาไทยแก่คณะกรรมการอิสลาม

ศาสนาซิกข์

ชาวซิกข์ส่วนมากยึดอาชีพค้าขายอิสระ บ้างก็แยกย้ายถิ่นฐานทำมาหากินไปอยู่ต่างประเทศบ้าง และเดินทางไปมาระหว่างประเทศ ในบรรดาชาวซิกข์ดังกล่าว มีพ่อค้าชาวซิกข์ผู้หนึ่งชื่อ นายกิรปาราม มาคาน ได้เดินทางไปประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อหาซื้อสินค้าแล้วนำไปจำหน่ายยังบ้านเกิด สินค้าที่ซื้อครั้งหนึ่ง มีม้าพันธุ์ดีรวมอยู่ด้วยหนึ่งตัว เมื่อขายสินค้าหมดแล้วได้เดินทางมาแวะที่ประเทศสยาม โดยนำม้าตัวดังกล่าวมาด้วย และมาอาศัยอยู่ในพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์สยาม ได้รับความอบอุ่นใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อเขามีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เขาจึงได้กราบบังคมทูลน้อมเกล้าฯถวายม้าตัวโปรดของเขาแด่พระองค์ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเห็นในความจงรักภักดีของเขา พระองค์จึงได้พระราชทานช้างให้เขาหนึ่งเชือก ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นในระหว่างเดินทางกลับอินเดีย

เมื่อเขาเดินทางกลับมาถึงอินเดียแล้วเห็นว่า ของที่เขาได้รับพระราชทานมานั้นสูงค่าอย่างยิ่งควรที่จะเก็บรักษาให้สมพระเกียรติยศแห่งพระเจ้ากรุงสยาม จึงได้นำช้างเชือกนั้นไปถวายพระราชาแห่งแคว้นแคชเมียร์ พร้อมทั้งเล่าเรื่องที่ตนได้เดินทางไปประเทศสยาม ได้รับความสุขความสบายจากพี่น้องประชาชนชาวสยาม ซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองด้วยทศพิธราชธรรมเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของประชาชน ถวายการขนานนามของพระองค์ว่า พระปิยมหาราช

พระราชาแห่งแคว้นแคชเมียร์ได้ฟังเรื่องราวแล้วมีความพอพระทัยอย่างยิ่งทรงรับช้างเชือกดังกล่าวเอาไว้แล้วขึ้นระวางเป็นราชพาหนะ พร้อมกับมอบแก้วแหวนเงินทองให้นายกิรปารามมาดาม เป็นรางวัล จากนั้นได้เดินทางกลับบ้านเกิด ณ แคว้นปัญจาป แต่ครั้งนี้เขาได้รวบรวมเงินทอง พร้อมทั้งชักชวนเพื่อน ให้ไปตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงสยามตลอดไป

รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในงานฉลองครบรอบ 500 ปี แห่งศาสนาซิกข์ ตามคำอัญเชิญของสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา โดยในปี พ.ศ. 2550 มีศาสนิกชน ชาวซิกข์อยู่ในประเทศไทยประมาณสามหมื่นคน ทุกคนต่างมุ่งประกอบสัมมาอาชีพภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ไทย ด้วยความมั่งคั่งสุขสงบทั้งกายและใจ โดยทั่วหน้า

ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู

ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ถือเป็นอีกศาสนาหนึ่งที่มีความเก่าแก่ และอยู่คู่ประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน เข้าไปมีส่วนในพิธีสำคัญ ๆ โดยเฉพาะพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่เป็นพระราชพิธีสถาปนาพระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นสมมติเทพปกครองแผ่นดินเป็นใหญ่ในทิศทั้งแปด และเป็นการประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ตามคติพราหมณ์จะประกอบพิธีอัญเชิญพระเป็นเจ้า เพื่อทำการสถาปนาให้พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ ดำรงธรรมสิบประการ ปกครองประเทศด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการส่งเสริม และอุปถัมภ์กิจการของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูในประเทศไทยด้วยดีเสมอมา

ในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงให้การสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ของศาสนิกชนในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่เข้ามาอยู่ใต้เบื้องพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทยอีกด้วย ดังเห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยศาสนิกชนชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์และเปิดศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่สำคัญ เช่น เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2512 พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเป็นประธานในการเปิดอาคาร “เทพมณเฑียร” ณ สมาคมฮินดูสมาชถนนศิริพงษ์ แขวงเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร

รัชกาลที่ 10 หรือ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” ในขณะนั้น ได้เคยเสด็จฯ แทนรัชกาลที่ 9 ไปทรงเจิมเทวรูปพระอิศวร พระอุมา พระคเณศร์ พระนารายณ์พระพรหม และพระราชทานเงินให้แก่หัวหน้าคณะพราหมณ์ ผู้เป็นประธานในการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระมหากษัตริย์

ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศสืบเนื่องมากว่า 700 ปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ การปกครองโดยระบบกษัตริย์เป็นวัฒนธรรมที่ไทยรับมาจากอินเดีย พร้อมกับการรับวัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนา โดยได้ผสมผสานแนวคิดหลัก 3 ประการเข้าด้วยกัน คือ แนวคิดในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่เชื่อว่ากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพ แนวคิดในพุทธศาสนาที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีสถานะเปรียบประดุจพระพุทธเจ้า ทรงเป็นจักรพรรดิราช หรือธรรมราชา ที่กอปรด้วยราชธรรมหลายประการ อาทิ ทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร 12 ประการ แนวคิดทั้งสองประการดังกล่าวนี้ อยู่บนพื้นฐานของแนวคิดประการที่สาม คือ การปกครองแบบพ่อปกครองลูก ดังปรากฏมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การปกครองโดยระบบกษัตริย์ของไทย มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากประเทศอื่น (มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, 2554 : พระราชนิพนธ์คำนำ)

ตามอนุสัญญามอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (The Montevideo Convention on the Rights and Duties of State) ค.ศ. 1393 มาตรา 1 ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของรัฐเพื่อวัตถุประสงค์ในกฎหมายระหว่างประเทศว่า รัฐประกอบด้วย ประชากรที่อยู่รวมกันอย่างถาวรดินแดนที่กำหนดได้อย่างแน่ชัด ความสามารถที่สถาปนาความสัมพันธ์กับต่างรัฐได้ (อำนาจอธิปไตย) และมีรัฐบาล ซึ่งในการปกครองประเทศไม่ว่าจะเป็นระบอบใดก็ตาม เพื่อให้การปกครองเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย จะต้องมีผู้นำเป็นผู้บริหารปกครองประเทศ โดยที่ผู้นำหรือประมุขสูงสุดในการปกครองประเทศของนานาอารยประเทศนั้น จะมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับระบบการปกครอง ประเพณีนิยมและธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา หรือบางประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการปกครองของประเทศนั้น ๆ เช่น มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุด หรือมีประธานาธิบดีเป็นผู้ปกครองประเทศหรือรัฐ สำหรับประเทศไทยเรานั้นมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดในการปกครองประเทศมาตั้งแต่อดีตกาล

ความหมายของคำว่า พระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์ คือ ประมุขหรือผู้ปกครองสูงสุดของประเทศ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขปกครองประเทศ อันเกิดจากแนวความคิดที่ว่า แต่เดิมมนุษย์ยังมีน้อยดำรงชีพแบบเรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ และเมื่อมนุษย์ขยายพันธุ์มากขึ้นธรรมชาติต่าง ๆ เริ่มหมดไป เกิดการแก่งแย่งกันทำมาหากิน เกิดปัญหาสังคมขึ้น จึงต้องหาทางแก้ไขคนในสังคมจึงคิดว่าต้องพิจารณาคัดเลือกให้บุคคลที่เหมาะสมและมีความเฉลียวฉลาด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิจารณาตัดสิน เมื่อเกิดกรณีปัญหาต่าง ๆ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทำให้คนในสังคมพอใจ และยินดี ประชาชนทั้งหลายจึงเปล่งอุทานว่า “ระชะ” หรือ “รัชชะ” หรือราชา แปลว่า ผู้เป็นที่พอใจประชาชนยินดี ต่อมาเลยเรียกว่า พระราชา ด้วยเหตุที่ว่าการกระทำ

หน้าที่ดังกล่าวไม่มีเวลาไปประกอบอาชีพ ประชาชนทั้งหลายพากันบริจาคยกที่ดินให้ จึงเป็นผู้มีที่ดินมากขึ้นตามลำดับ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า เขตตะ แปลว่า ผู้มีที่ดินมาก และเขียนในรูปภาษาสันสกฤษว่า เกษตตะ หรือ เกษตร ในที่สุดเขียนเป็นพระมหากษัตริย์ แปลว่า ผู้ที่มีที่ดินมาก ดังนั้นคำว่า พระมหากษัตริย์ ความหมายโดยรวม ก็คือ ผู้ที่ยึดครอง หวงแหนและขยายผืนแผ่นดินไว้ให้แก่ประชาชนหรืออาณาประชาราษฎร์ ที่พระองค์ทรงเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตกอบกู้เอกราชบ้านเมืองไว้ให้ชนรุ่นหลัง อย่างเช่นประเทศไทยของเรานี้ ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงยึดถือครอบครองผืนแผ่นดินไทยไว้ คนไทยทุกคนจะมีผืนแผ่นดินไทยอยู่ทุกวันนี้ได้อย่างไร อนึ่งพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่เป็นประมุขของรัฐที่ได้รับตำแหน่งโดยการสืบสันตติวงศ์นั้นอาจจำแนกประเภทโดยอาศัยพระราชอำนาจ และพระราชสถานะเป็น 3 ประการ คือ

1. พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy)

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ มีพระราชอำนาจและพระบรมเดชานุภาพเด็ดขาด และล้นพ้นแต่พระองค์เดียว และในอดีตประเทศไทยเคยใช้อยู่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

2. พระมหากษัตริย์ในระบอบปรมิตาญาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) คือ

พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทุกประการ เว้นแต่จะถูกจำกัดโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

3. พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) คือ

ในระบอบนี้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ในการใช้พระราชอำนาจด้านการปกครองนั้น ถูกโอนมาเป็นของรัฐบาล พลเรือน และทหาร พระมหากษัตริย์จึงทรงใช้พระราชอำนาจผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ พระองค์มิได้ใช้พระราชอำนาจ แต่มีองค์กรหรือหน่วยงานรับผิดชอบต่าง ๆกันไป เช่น ประเทศไทย อังกฤษ และญี่ปุ่นในปัจจุบัน เป็นต้น

พระมหากษัตริย์ของไทย

หากนับย้อนอดีตประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า ”กษัตริย์” หรือนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ศึกษาได้จากในสมัยกรุงสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก จะมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก เช่น ในสมัยราชวงศ์พระร่วง กษัตริย์จะมีพระนามขึ้นต้นว่า “พ่อขุน” เรียกว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้รับคติพราหมณ์มาจากขอมเรียกว่า เทวราชา หรือ สมมติเทพ หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพมาอวตารเพื่อปกครองมวลมนุษย์ ทำให้ชนชั้นกษัตริย์มีสิทธิอำนาจมากที่สุดในอาณาจักร และห่างเหินจากชนชั้นประชาชนมาก ในสมัยราชวงศ์อู่ทอง จึงมีพระนามขึ้นต้นว่า “สมเด็จ” เรียกว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1(พระเจ้าอู่ทอง) สมเด็จพระราเมศวร หรือในสมัยรัตนโกสินทร์ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เริ่มด้วยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลปัจจุบันคือรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นการยกย่องเทิดทูลสถาบันองค์พระมหากษัตริย์ จึงมีพระนามขึ้นต้นว่า พระบาทสมเด็จ เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)ดังนั้นคำว่า “พระมหากษัตริย์ของไทย” อาจมีคำเรียกที่แตกต่างกันตามประเพณีนิยมหรือธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น เรียกว่า พระราชา เจ้ามหาชีวิต เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินพ่อเมือง พระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวง ฯลฯ และพระมหากษัตริย์เป็นได้ด้วยการสืบสันตติวงศ์ หรือโดยการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมแล้วปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ในการสืบสันตติวงศ์ต่อกันมาโดยเชื้อพระวงศ์ เรียกว่า พระราชวงศ์ เมื่อสิ้นสุดการสืบทอดโดยเชื้อพระวงศ์ ด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จะเป็นต้นพระราชวงศ์ใหม่หรือเป็นผู้สถาปนาพระราชวงศ์

พระมหากษัตริย์ไทยกับรัฐธรรมนูญ

ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของชีวิตและเจ้าแผ่นดิน กล่าวคือ ทรงพระบรมเดชานุภาพเป็นล้นพ้น โดยหลักแล้วจะโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดสิ้นชีวิตก็ย่อมกระทำได้ และทรงเป็นเจ้าชีวิตของที่ดินตลอดทั่วราชอาณาจักร แต่เมื่อภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ระบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยคือ ทรงเปลี่ยนฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทในการใช้พระราชอำนาจทั้งปวง

พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

รูปแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับอันเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุดในการปกครองประเทศ จะต้องกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะรูปแบบประมุขของประเทศไทย คือ พระมหากษัตริย์ที่สืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน ตามประเพณีการปกครองไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและตามรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จะมีพระราชสถานะและตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ มี 2 ประการ คือ

1) พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ เช่น พระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข หรือพระมหากษัตริย์เป็นอัครศาสนูปถัมภก รวมทั้งทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยดังปรากฎในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) หมวด 2 กษัตริย์ มาตรา 3 กล่าวว่า “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่น ๆซึ่งจะมีบางกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร) หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 8 กล่าวว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ซึ่งบทบัญญัติเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลมาจากรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อของคนไทย ทั้งนี้ด้วยมีความประสงค์ที่จะสำแดงพระราชสถานะอันสูงสุดของพระมหากษัตริย์ให้ประจักษ์ คติการปกครองประชาธิปไตยพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมือง จนเป็นเหตุให้เกิดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า “พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด” (The King can do no wrong) ซึ่งหมายถึงผู้ใดจะฟ้องร้องหรือกล่าวหาพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในทางคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตาม

2) พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครอง ตามหลักทั่วไป พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น คือ แต่เดิมพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาดในทุก ๆ เรื่อง และทุก ๆ กรณีแต่ผู้เดียว ต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ถ้ากรณีใดไม่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำ หนดขอบเขตหรือเงื่อนไขของการใช้พระราชอำ นาจของพระมหากษัตริย์ไว้พระมหากษัตริย์ก็จะยังคงมีพระราชอำนาจเช่นนั้นอยู่โดยผลของธรรมเนียมปฏิบัติ (Convention) ซึ่งมีค่าบังคับเป็นรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เช่น พระราชอำนาจในภาวะวิกฤต กล่าวคือ เมื่อเกิดวิกฤตร้ายแรงทางการเมืองถึงการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 17 - 20 พฤษภาคม 2535 ก็ดี จะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงเข้ามาระงับเหตุร้อนให้สงบเย็นลงได้อย่างอัศจรรย์ เป็นต้น หรือกรณีพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย กรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยหลักแล้ว ร่างกฎหมายไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องนำทูลเกล้าทูลกระหม่อม ภายใน 20 วันเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ และในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภาหรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างกฎหมายนั้นขึ้นทูลเกล้าถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน นายกรัฐมนตรีต้องนำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว (มาตรา 94) เป็นต้น

สถาบันพระมหากษัตริย์ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลต่อประเทศชาติมาตั้งแต่โบราณจวบจนปัจจุบันนี้ ทั้งในฐานะที่ก่อให้เกิดการสร้างชาติ การกู้เอกราชของชาติการรักษาและพัฒนาชาติ มีสาระสำคัญที่ควรแก่การนำมาศึกษา คือ

1) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงทำให้เกิดความสำนึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ว่าสถาบันการเมืองการปกครองจะแยกสถาบันนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่ต้องให้อำนาจของตนภายใต้พระปรมาภิไธย ทำให้ทุกสถาบันมีจุดรวมกัน อำนาจที่ได้มาจากแหล่งเดียวกัน คือ พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ยังทำให้เกิดความสำนึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างหมู่ชนภายในชาติ โดยที่ต่างเคารพสักการะและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ร่วมกัน แม้จะมีความแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนาก็มีความสมานสามัคคีกลมเกลียวกันในปวงชนทั้งหลาย ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นและเป็นพลังที่สำคัญยิ่งของชาติ กล่าวได้ว่า พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของชาติเป็นศูนย์รวมจิตใจ ก่อให้เกิดความสมานสามัคคี และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ เกิดเอกภาพทั้งในทางการเมืองการปกครองในหมู่ประชาชนอย่างดียิ่ง พระมหากษัตริย์ทรงรักใคร่ห่วงใยประชาชนอย่างยิ่งทรงโปรดประชาชนและทรงให้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดความจงรักภักดีแน่นแฟ้นมากขึ้นไม่เสื่อมคลายพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นถิ่นทุรกันดารหรือมีอันตรายเพียงไรเพื่อทรงทราบถึงทุกข์สุขของประชาชน และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์อย่างกว้างขวางโดยไม่จำกัด ฐานะ เพศ วัย ประชาชนก็มีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์อย่างลึกซึ้งกว้างขวางแน่นแฟ้นมั่นคง จนยากที่จะมีอำนาจใดมาทำให้สั่นคลอนได้

2) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความต่อเนื่องของชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันประมุขของชาติสืบต่อกันมาโดยไม่ขาดสายขาดตอนตลอดเวลา ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไปกี่ชุดกี่สมัยก็ตาม แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงอยู่เป็นความต่อเนื่องของประเทศชาติ ช่วยให้การปกครองไม่มีช่องว่างแต่มีความต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะสาเหตุที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่มิได้เปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาลด้วย

3) พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ทำให้เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างคนในชาติแม้จะมีศาสนาต่างกัน เพราะพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาแม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นพุทธมามกะ จึงก่อให้เกิดพลังความสามัคคีในชาติ ไม่บาดหมางกันด้วยการมีศาสนาต่างกัน

4) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพลังในการสร้างขวัญและกำลังใจของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติยศทั้งปวง ก่อให้เกิดความภาคภูมิ ปีติยินดี และเกิดกำลังใจในหมู่ประชาชนทั่วไปที่จะรักษาคุณงามความดี มานะพยายามกระทำความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระองค์ทรงไว้ซึ่งความดีงามตลอดเวลา ทำให้ประชาชนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีกำลังใจที่จะทำงานเสียสละต่อไป จึงเสมือนแรงดลใจผลักดันให้ผู้มีเจตนาดี ประกอบคุณงามความดีมุ่งมั่นในการปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง ทั้งในส่วนประชาชน ส่วนราชการหรือรัฐบาล

5) พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน และทำให้การบริหารงานประเทศเป็นไปด้วยดี พระมหากษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยความเห็นชอบยอมรับของประชาชน โดยมีรัฐสภาทำหน้าที่แทนพระองค์จึงได้รับการเทิดทูนยกย่องเสมือนผู้แทนอันอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนด้วย การที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะยับยั้งพระราชบัญญัติ หรือพระราชทานคำแนะนำตักเตือน คำปรึกษา และการสนับสนุนในกิจการต่าง ๆ ทั้งของรัฐบาล รัฐสภา และศาล ตามรัฐธรรมนูญจัดได้ว่าพระองค์ทรงมีส่วนร่วมอันสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและก่อให้เกิดผลดีในการบริหารการปกครองประเทศอย่างน้อยก็ช่วยให้ฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ทั้งหลายเกิดความสำนึก เกิดความระมัดระวัง รอบคอบมิให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมมากพอสมควร พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและทรงเป็นกลางทางการเมืองการกำหนดหลักการสืบสันตติวงศ์ไว้อย่างชัดเจนโดยกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องประกันว่าจะทรงเป็นกลางทางการเมืองได้อย่างแท้จริง และทำให้สามารถยับยั้ง ท้วงติงให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยสุจริตยุติธรรมเพื่อประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งต่างจากประมุขของประเทศที่มาจากการเลือกตั้งที่จะต้องยึดนโยบายของกลุ่มหรือพรรคการเมืองเป็นหลัก

6) พระมหากษัตริย์ทรงแก้ไขวิกฤตการณ์ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นกลไกสำคัญในการยับยั้งแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงในประเทศได้ ไม่ทำให้เกิดความแตกแยกภายในชาติอย่างรุนแรงจนถึงต้องต่อสู้กันเป็นสงครามกลางเมือง หรือแบ่งแยกกันเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยขจัดปัดเป่ามิให้เหตุการณ์ลุกลามและทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติได้ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นด้านประชาชน รัฐบาล หน่วยราชการ กองทัพ นิสิต - นักศึกษาปัญญาชนทั้งหลาย หรือกลุ่มต่าง ๆ แม้กระทั่งชนกลุ่มน้อยในประเทศ อันได้แก่ ชาวไทยภูเขาชาวไทยมุสลิม เป็นต้น

7) พระมหากษัตริย์ทรงส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ โดยการยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนและกองทัพ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยจึงทรงใส่พระทัยในการพัฒนากองทัพทั้งทางวัตถุและจิตใจ ทรงเยี่ยมเยียนปลอบขวัญทหาร พระราชทานของใช้ที่จำเป็นทรงช่วยเหลืออนุเคราะห์ ผู้เสียสละเพื่อชาติ ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ทหาร ข้าราชการอย่างดียิ่งพร้อมที่จะรักษาความมั่นคงและเอกราชของชาติอย่างแน่นแฟ้น

8) พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ พระมหากษัตริย์ในอดีตได้ทรงดำเนินวิเทโศบายได้อย่างดีจนสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ โดยเฉพาะสมัยการล่าเมืองขึ้นในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันก็ทรงดำเนินการให้เกิดความเข้าใจอันดี ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศต่าง ๆ กับประเทศไทย โดยเสด็จพระราชดำเนินเป็นทูตสันถวไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 31 ประเทศ ทำให้นโยบายต่างประเทศดำเนินไปอย่างสะดวกและราบรื่น นอกจากนั้นยังทรงเป็นผู้แทนประเทศไทยต้อนรับประมุขประเทศ ผู้นำประเทศ เอกอัครราชทูต และทูตสันถวไมตรีจากต่างประเทศอีกด้วย

9) พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำในการพัฒนาและปฏิรูปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ การพัฒนาและการปฏิรูปที่สำคัญ ๆ ของชาติส่วนใหญ่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปูพื้นฐานประชาธิปไตย โดยการจัดตั้งกระทรวงต่าง ๆทรงส่งเสริมการศึกษาและเลิกทาส ปัจจุบันพระมหากษัตริย์ทรงเกื้อหนุนวิทยาการสาขาต่าง ๆทรงสนับสนุนการศึกษาและศิลปวัฒนาธรรม ทรงริเริ่มกิจการอันเป็นการแก้ปัญหาหลักทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยจะเห็นว่าโครงการตามพระราชดำริส่วนใหญ่มุ่งแก้ปัญหาหลัก ทางเกษตรกรรมเพื่อชาวนา ชาวไร่ และประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาสอันเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น โครงการฝนหลวง ชลประทาน พัฒนาที่ดิน พัฒนาชาวเขา เป็นต้น

10) พระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนเกื้อหนุนระบอบประชาธิปไตย บทบาทของพระมหากษัตริย์มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากที่ทำ ให้ประชาชนบังเกิดความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพราะการที่ประชาชนเกิดความจงรักภักดีและเชื่อมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีผลส่งให้ประชาชนเกิดความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นระบอบที่เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนนั่นเอง