การอนุรักษ์มรดกไทย

เรื่องที่ 4 การอนุรักษ์มรดกไทย

ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นทางด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์เอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรมศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ตลอดจนการดำเนินชีวิต และประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดต่อ ๆ กันมายาวนาน จนกลายเป็นมรดกไทยอันทรงคุณค่า และเป็นจุดเด่นของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันมรดกไทยได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งภายในประเทศ และจากต่างประเทศ อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ส่งผลมรดกไทยอันทรงคุณค่าของไทยบางส่วนต้องเสื่อมสูญไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงควรร่วมกันอนุรักษ์มรดกไทย ตลอดจนให้ข้อมูล ความรู้คำแนะนำแก่คนรุ่นหลังในการส่งเสริมให้รู้คุณค่าของมรดกที่ได้รับการสืบทอดต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดซึ่งนอกจากความภาคภูมิใจในมรดกไทยแล้ว ยังมีคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยา และมานุษยวิทยา อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน และประเทศผ่านทางการท่องเที่ยว ของชาติตลอดมา

ความหมาย

การอนุรักษ์มรดกไทย คือ การที่คนรุ่นหลังตระหนัก และเห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้น โดยการอนุรักษ์นั้น จะทำในเชิงปฏิบัติ คือ การดูแลรักษาและการสืบสานวัฒนธรรมนั้น ๆ ไม่ให้หายไป ซึ่งการอนุรักษ์เป็นเหมือนเครื่องช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้เกิดการหวงแหนในมรดกของตน ก่อให้เกิดเป็นความรักและความผูกพัน อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีอีกด้วย

โดยสรุปการอนุรักษ์มรดกเป็นสิ่งสำคัญที่คนรุ่นหลัง ควรใส่ใจหรือตระหนักถึงให้มากเพราะมรดกจะสื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชนชาตินั้น ๆ และยังก่อให้เกิดความผูกพันหรือความรักในชาติของตน ส่งผลไปถึงการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการรักชาติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการคงอยู่ของชาตินั้น ๆ สามารถทำได้ คือ การสะสมและการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป

ความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกไทย

มรดกไทย

คือ มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรีตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่าง ๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นมาเป็นเวลาช้านาน ศิลปวัฒนธรรมไทยนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะหล่อหลอมชาวไทยในภูมิภาคต่าง ๆให้เกิดความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้มรดกทางวัฒนธรรมในแขนงต่าง ๆ นับตั้งแต่โบราณวัตถุ โบราณสถานวรรณกรรม ศิลปกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ตลอดจนวิธีการดำเนินชีวิต ค่านิยมและระบบประเพณีต่าง ๆในท้องถิ่นได้รับผลกระทบและถูกละเลยทอดทิ้ง ประชาชนชาวไทยต้องตระหนักและนึกถึงความจำเป็นและความสำคัญในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้ทุกคนเกิดแนวคิดที่จะทำนุบำรุงรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ให้มีการสืบทอดต่อไป