เรื่องที่ 4 แก๊งคอลเซนเตอร์

แก๊งคอลเซนเตอร์มักใช้วิธีสุ่มเบอร์โทรศัพท์เพื่อโทรไปหาเหยื่อ แล้วใช้ข้อความอัตโนมัติสร้างความตื่นเต้นหรือตกใจให้แก่เหยื่อ บางครั้งก็แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ หลอกให้เหยื่อทำรายการที่เครื่องเอทีเอ็มเป็นเมนูภาษาอังกฤษ โดยแจ้งว่าเป็นการทำรายการเพื่อล้างหนี้ หรืออาจหลอกให้เหยื่อไปโอนเงินให้หน่วยงานภาครัฐเพื่อตรวจสอบ

ลักษณะกลโกงแก๊งคอลเซนเตอร์

1. บัญชีเงินฝากถูกอายัดหรือเป็นหนี้บัตรเครดิต

มิจฉาชีพจะหลอกเหยื่อว่า บัญชีเงินฝากถูกอายัด หรือเป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวนหนึ่ง โดยเริ่มจากการใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติแจ้งเหยื่อว่าจะอายัดบัญชีเงินฝากเนื่องจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือกระทำการผิดกฎหมาย โดยอาจมีเสียงอัตโนมัติ เช่น “คุณเป็นหนี้บัตรเครดิตกับทางธนาคาร กด 0 เพื่อติดต่อพนักงาน” ซึ่งเหยื่อส่วนมากมักจะ ตกใจและรีบกด 0 เพื่อติดต่อพนักงานทันที

หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกถามฐานะทางการเงินของเหยื่อ หากเหยื่อมีเงินฝากจำนวนไม่มากนัก มิจฉาชีพอาจหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มโดยหลอกว่า เป็นการทำรายการเพื่อล้างบัญชีหนี้

2. บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน

แต่หากมิจฉาชีพพบว่า เหยื่อมีเงินฝากค่อนข้างมาก ก็จะหลอกเหยื่อให้ตกใจว่าบัญชีเงินฝากนั้นพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน และจะให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดผ่านเครื่องเอทีเอ็ม / เครื่องฝากเงินอัตโนมัติ (CDM หรือ ADM) เพื่อทำการตรวจสอบกับหน่วยงานราชการ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เหยื่อได้มีโอกาสสอบถามความจริงจากพนักงานธนาคาร

3. เงินคืนภาษี

นอกจากจะหลอกให้เหยื่อตกใจแล้ว มิจฉาชีพบางรายก็อ้างว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร หลอกให้เหยื่อตื่นเต้นดีใจว่า เหยื่อได้รับเงินคืนค่าภาษี แต่ต้องทำรายการยืนยันการรับเงินที่เครื่องเอทีเอ็ม และวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะยืนยันรับเงินคืน หากเลยกำหนดเวลาแล้ว เหยื่อจะไม่ได้รับเงินคืนค่าภาษี ด้วยความรีบเร่งและกลัวว่าจะไม่ได้เงินคืน เหยื่อก็จะรีบทำตามที่มิจฉาชีพบอก โดยไม่ได้สังเกตว่ารายการที่มิจฉาชีพให้ทำที่เครื่องเอทีเอ็มนั้น เป็นการโอนเงินให้แก่มิจฉาชีพ

4. โชคดีได้รับรางวัลใหญ่

มิจฉาชีพบางรายก็หลอกให้เหยื่อดีใจว่า เหยื่อได้รับรางวัลใหญ่ที่มีมูลค่าสูง จากการจับสลากรางวัล หรือเปิดบริษัทใหม่จึงจับสลากมอบรางวัลแก่ลูกค้า แต่ก่อนที่ลูกค้าจะรับรางวัล ลูกค้าจะต้องจ่ายค่าภาษีให้กับทางผู้แจกรางวัลก่อน จึงจะสามารถส่งของรางวัลไปให้

5. ข้อมูลส่วนตัวหาย

มิจฉาชีพประเภทนี้จะโทรศัพท์แอบหลอกถามข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อเพื่อใช้ประกอบการปลอมแปลงเอกสาร หรือใช้บริการทางการเงินในนามของเหยื่อ โดยมิจฉาชีพจะอ้างว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินที่เหยื่อใช้บริการอยู่ แต่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าสูญหาย เช่น น้ำท่วม จึงขอให้เหยื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัวเพื่อยืนยันความถูกต้อง เช่น วัน/เดือน/ปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชีเงินฝาก

เมื่อได้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อแล้ว มิจฉาชีพจะน าข้อมูลเหล่านี้ไปแอบอ้างใช้ บริการทางการเงินในนามของเหยื่อ เช่น ขอสินเชื่อ

6. โอนเงินผิด

หากมิจฉาชีพมีข้อมูลหรือเอกสารส่วนตัวของเหยื่อ มิจฉาชีพอาจใช้วิธีหลอกเหยื่อว่าโอนเงินผิดแล้วขอให้เหยื่อโอนเงินคืน โดยเริ่มจากใช้เอกสารและข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อติดต่อขอสินเชื่อ เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อ สถาบันการเงินจะโอนเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติเข้าบัญชีเงินฝากของเหยื่อ หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปแจ้งเหยื่อว่า โอนเงินผิดเข้าบัญชีของเหยื่อ และขอให้เหยื่อโอนเงินคืนให้

เมื่อเหยื่อตรวจสอบบัญชีเงินฝากของตนเองและพบว่ามีเงินโอนเงินเข้ามาในบัญชีจริง เหยื่อก็รีบโอนนั้นให้แก่มิจฉาชีพทันที โดยไม่รู้ว่าเงินนั้นเป็นเงินสินเชื่อที่มิจฉาชีพขอใน นามของเหยื่อ

วิธีป้องกันภัยแก๊งคอลเซนเตอร์

  1. คิดทบทวน ว่าเรื่องราวที่ได้ยินมามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เคยทำธุรกรรมกับหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงหรือไม่ หรือเคยเข้าร่วมชิงรางวัลกับองค์กรไหนจริงหรือเปล่า

  2. ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ไม่ให้ข้อมูล ทั้งข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขที่บัตรประชาชน วัน/เดือน/ปีเกิด และข้อมูลทางการเงิน เช่น เลขที่บัญชี รหัสกดเงิน

  3. ไม่ทำรายการที่เครื่องเอทีเอ็มตามคำบอก แม้คนที่โทรมาจะบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือสถาบันการเงิน เพราะหน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนตัวของประชาชนหรือลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์ สำหรับการคืนภาษี มีเพียง 2 วิธี เท่านั้น คือ โอนผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขประจำตัวประชาชน และส่งเป็นเช็คธนาคาร

  4. ตรวจสอบข้อมูลก่อนโอนเงิน สอบถามสถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงโดยตรง เช่น ติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า (call center) หรือสาขาของสถาบันการเงินนั้น ๆ ด้วยตนเอง

  5. หากมีคนโอนเงินผิดบัญชีมาที่บัญชีเรา

  • ไม่ต้องรีบโอนคืนทันทีหากมีคนติดต่อมาให้โอนกลับหรือโอนต่อไปอีกบัญชีหนึ่ง เพราะอาจเป็นมิจฉาชีพมาใช้บัญชีของเราเป็นทางผ่านในการกระทำผิดกฎหมาย

  • ควรสอบถาม call center หรือสาขาของธนาคารที่เรามีบัญชีอยู่ ให้ดำเนินการตรวจสอบรายละเอียด

  • หากตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ธนาคารแล้วเป็นเงินที่โอนผิดบัญชีมาจริง ให้เราไปที่ธนาคารเพื่อเซ็นยินยอมให้ธนาคารดำเนินการโอนกลับไปยังบัญชีต้นทางต่อไป (อย่าโอนกลับด้วยตนเอง)

ทำอย่างไรเมื่อตกเป็นเหยื่อภัยแก๊งคอลเซนเตอร์

  1. ติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า (call center) ของธนาคารต้นทาง (บัญชีของเราที่ ใช้โอนเงินไปให้มิจฉาชีพ) และธนาคารปลายทาง (บัญชีของมิจฉาชีพ) เพื่อระงับการโอนและถอนเงิน โดยรวบรวมเอกสารเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการขอระงับการโอนและถอนเงิน ทั้งนี้ แต่ละสถาบันการเงินมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน ควรติดต่อสอบถามขั้นตอนจากสถาบันการเงินโดยตรง

  2. แจ้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.)