เรื่องที่ 2 แชร์ลูกโซ่

แชร์ลูกโซ่เป็นภัยทางการเงินที่อาจสร้างความเสียหายได้ตั้งแต่เงินจำนวนน้อย ๆ จนไปถึงเงินหลักแสนหลักล้าน มิจฉาชีพมักใช้ “โอกาสรวย” มาหลอกล่อให้เหยื่อร่วมลงทุน โดยให้ ผลประโยชน์ตอบแทนสูงแก่ผู้ร่วมลงทุนในระยะแรก ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นให้เกิดการชักจูงให้ร่วมลงทุน แต่แท้จริงแล้วจะใช้วิธีการนำเงินลงทุนของสมาชิกใหม่หมุนเวียนมาจ่ายให้สมาชิกเก่า ไม่ได้มีการนำเงินไปลงทุนตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีกรณีการหลอกว่าขาย “สินค้าราคาถูกมาก” แล้วส่งสินค้าให้จริงตามที่เหยื่อสั่งในช่วงแรก ๆ พอเหยื่อหลงเชื่อใจ สั่งซื้อเพิ่มหรือชวนคนอื่นมาซื้อด้วยก็ไม่ส่งของให้อีกต่อไป กลโกงที่ใช้ “โอกาสรวย” และ “สินค้าราคาถูกมาก”จบลงในแบบเดียวกันคือสุดท้ายแล้วมิจฉาชีพก็เชิดเงินหนีไป

ลักษณะกลโกงแชร์ลูกโซ่

1. แชร์ลูกโซ่ในคราบธุรกิจขายตรง

มิจฉาชีพจะโฆษณาชวนเชื่อให้เหยื่อทำธุรกิจขายตรงที่มีผลตอบแทนสูง โดยที่เหยื่อไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่ชักชวนเพื่อนหรือญาติพี่น้องให้ร่วมทำธุรกิจ แต่ไม่เน้นการขาย หรือสาธิต หรือทำให้สมาชิกเข้าใจในตัวสินค้า เมื่อเหยื่อเริ่มสนใจจะให้เหยื่อเข้าร่วมฟังสัมมนา และโน้มน้าวหรือหลอกล่อให้เหยื่อจ่ายค่าสมัครสมาชิก หรือซื้อสินค้าแรกเข้าซึ่งมีมูลค่าที่ ค่อนข้างสูง (สินค้าส่วนมากมักไม่มีคุณภาพ) หรืออาจให้เหยื่อซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนโดยไม่ต้อง รับสินค้าไปขายแล้วก็รอรับเงินปันผลได้เลย

ค่าสมัครสมาชิก ค่าซื้อสินค้าแรกเข้า ค่าหุ้นหรือค่าหน่วยลงทุนของสมาชิกใหม่ จะถูกนำมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้แก่สมาชิกเก่า เมื่อใดที่ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้ แชร์ก็จะล้ม เพราะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายผลตอบแทนและเงินที่ลงทุนคืนสมาชิกได้

ปัจจุบันยังมีการโฆษณาชักชวนผ่านอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กกลุ่มต่าง ๆ ในแอปพลิเคชัน LINE อีกด้วย โดยมิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อกรอกข้อมูล ส่วนตัวในอินเทอร์เน็ต แล้วติดต่อเหยื่อเพื่อชักชวนให้เข้าร่วมทำธุรกิจโดยอ้างว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมด้วย และอาจจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมความน่าเชื่อถือ เช่น งานสัมมนาโดย เช่าห้องประชุมโรงแรมหรือหอประชุมมหาวิทยาลัย

2. แชร์ลูกโซ่หลอกลงทุน

มิจฉาชีพมักอ้างว่ามีการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและแน่นอน หรือมีสิทธิพิเศษ หรือได้โควตาซื้อสินค้าราคาถูกเป็นจำนวนมาก จึงอยากชักชวนให้เหยื่อลงทุนทำธุรกิจร่วมกัน เช่น โควตาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล (แชร์ลอตเตอรี่) อุตสาหกรรมปลูกป่าเพื่อ ส่งขายตลาดในต่างประเทศ (แชร์ไม้) เก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน (แชร์ FOREX) โดยสร้างเว็บไซต์เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ หรือบางรายก็อ้างว่ามีสาขาในต่างประเทศ และอาจจัดกิจกรรมเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกับแชร์ลูกโซ่ในคราบธุรกิจขายตรง แต่ความจริงแล้วไม่ได้มีการทำธุรกิจตามที่กล่าวอ้างจริง

มิจฉาชีพจะใช้วิธีหมุนเงินจากผู้ลงทุนรายใหม่ไปจ่ายเป็นผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนรายเก่า จึงต้องพยายามหาผู้ลงทุนรายใหม่อยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้มีเงินไปจ่ายเป็น ผลตอบแทน แต่หากไม่สามารถหาผู้ลงทุนรายใหม่ได้ ก็จะไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนคืนให้แก่รายเก่าได้

3. แชร์ลูกโซ่หลอกขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต

มิจฉาชีพจะแฝงตัวเป็นพ่อค้าหรือแม่ค้า แล้วอ้างว่าสามารถหาสินค้าหายาก หรือสินค้าที่กำลังอยู่ในความต้องการของตลาด (เช่น สินค้ารุ่นใหม่ล่าสุด หรือยังไม่มีขายใน ประเทศไทย) ได้ในราคาถูก จึงประกาศขายสินค้าดังกล่าวในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดเป็นจำนวนมากผ่านทางอินเทอร์เน็ต

เมื่อเหยื่อหลงเชื่อสั่งซื้อสินค้าและโอนเงินให้แก่มิจฉาชีพในครั้งแรก มิจฉาชีพจะส่งสินค้าให้เหยื่อตามจำนวนที่สั่งซื้อ และเมื่อเหยื่อได้สินค้าในราคาถูก ก็จะบอกต่อ ชักชวนญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงให้มาซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากแล้วโอนเงินค่าสินค้าทั้งหมดให้แก่มิจฉาชีพ หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็จะเชิดเงินนั้นหนีไปโดยไม่ส่งสินค้าใด ๆ ให้แก่เหยื่อเลย

วิธีป้องกันภัยแชร์ลูกโซ่

  1. ไม่โลภไปกับผลตอบแทนหรือสินค้าราคาถูกที่นำมาหลอกล่อ เพราะผลตอบแทนยิ่งสูง ยิ่งมีความเสี่ยงมากที่จะเป็นแชร์ลูกโซ่

  2. ไม่กรอกข้อมูล หรือให้ข้อมูลส่วนตัวในเว็บไซต์ หรือตอบกลับอีเมลที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะอาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวเราและสร้างความเสียหายให้เราได้ เช่น ส่งข้อความมาชวนเราลงทุนหรือซื้อของ แต่แท้จริงแล้วเป็นแชร์ลูกโซ่

  3. หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มธุรกิจที่ไม่แน่ใจ เพราะอาจถูก หว่านล้อมให้ร่วมลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่

  4. อย่าเกรงใจจนไม่กล้าปฏิเสธ เมื่อมีคนชักชวนทำธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายแชร์ ลูกโซ่ เพราะอาจทำให้สูญเสียเงินได้

  5. ศึกษาที่มาที่ไปของการลงทุนหรือสินค้าให้ดีก่อนการลงทุน ใช้เวลาไตร่ตรองให้ดี(หากถูกเร่งรัดให้ตอบตกลงโดยเร็ว ให้ตั้งขอสงสัยไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นธุรกิจที่ หลอกลวง) โดยเฉพาะธุรกิจหรือสินค้าที่ให้ผลตอบแทนสูงมากในเวลาอันสั้น หรือมีราคาถูกผิดปกติ

  6. ติดตามข่าวสารกลโกงเป็นประจำ

ทำอย่างไรเมื่อตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่

  1. เก็บรวบรวมเอกสารต่าง ๆ ที่ได้จากบริษัทให้มากที่สุด เช่น แผ่นพับ (โบรชัวร์) เอกสารรับ – จ่ายเงิน เอกสารการชักชวนหรือแนะนำให้สมัครสมาชิก

  2. ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ กองบังคับการปราบปราม หรือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.)

  3. ปรึกษาศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ โทร. 1359 หรือแจ้งข้อมูลที่

ส่วนป้องปรามการเงินนอกระบบ

สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม 6 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400

โทร. 1359