วัฒนธรรมประเพณีของตำบลร่องเคาะ

1.ประเพณีสรงน้ำรอยพระพุทธบ่ทบ้านสบลืน

การต่อสู้ป้องกันตัวแบบโบราณ สู่การฟ้อนดาบสองมือมรดกแห่งล้านนา

การต่อสู้ป้องกันตัวแบบโบราณ สู่การฟ้อนดาบสองมือมรดกแห่งล้านนา

อาณาจักรล้านนา หมายถึงดินแดนที่มีนานับล้าน คือดินแดนที่มีนาเป็นจำนวนมากเป็นคำคู่กับล้านช้าง เป็นดินแดนที่มีช้างนับล้านตัว ก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ.๑,๘๙๘ หรือ ๖๖๗ ปี ที่แล้ว ดินแดนล้านนา เป็นดินแดนที่งดงามด้วยธรรมชาติแห่งขุนเขาและผู้คนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำใจไมตรี รวมถึงความงดงามของศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ตลอดจนมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือมีเมืองสำคัญกระจัดกระจายตามเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ ประกอบด้วยกลุ่มคนหลายเชื่อชาติ เช่น ลั๊วะ ยวน ลื้อ ยอง มอญ ม่าน หรือ พม่า เงี้ยวหรือไทยใหญ่ เขิน หรือ ขึน ครง หรือคง ยางหรือกะเหรี่ยง ถิ่น หรือ ขมุ เป็นต้น

อาณาจักรล้านนาอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ประกอบด้วยเมืองน้อยใหญ่ แบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์ออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มเมืองล้านนาตะวันตก มีเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา และกลุ่มเมืองล้านนาตะวันออก มีเมืองแพร่ น่าน ทั้งสองเมืองตั้งอยู่บนที่ราบขนาดเล็ก ในสมัยแรกต่างมีฐานะเป็นรัฐอิสระ มีราชวงศ์ของตน มีภาษา ตัวหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีเป็นของตนเอง ต่อมาถูกปกครองในฐานะเป็นรัฐบรรณาการของอาณาจักรตองอู อาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรอังวะ ประวัติศาสตร์ล้านนา มี ๔ ช่วงเวลาคือ ล้านนายุคต้น (พ.ศ.๑,๘๓๙-๑,๘๙๘) ล้านนายุครุ่งเรือง (พ.ศ.๑,๘๙๘-๒,๐๖๘) ล้านนาภายใต้การปกครองของพม่า (พ.ศ.๒,๐๖๘-๒,๑๐๑) ล้านนากับการเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม

ในสมัยโบราณดาบเป็นอาวุธสำคัญที่แม่ทัพและทหารใช้ในการต่อสู้ ปกป้องบ้านเมือง โดยถือเป็นอาวุธระยะประชิด โดยวิชาดาบเป็นวิชาที่นักรบทุกคนต้องเรียนและฝึกความชำนาญ เพื่อที่จะต่อสู้กับศัตรูที่มารุกราน นอกจากนี้ ยังต้องเรียนศาสตร์อื่นๆด้วย เช่น การขี่ม้า การขี่ช้าง การยิงปืนไฟ และ มวย ซึ่งต้องหาฤกษ์ยามในการไหว้ครูเพื่อขอฝากตัวเป็นศิษย์ร่ำเรียนวิชา โดยมักไหว้ครูในวันพฤหัสบดีและวันพญาวัน ส่วนการฟ้อนดาบเป็นศิลปะการฟ้อนรำพื้นเมืองที่ผสมเอาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวเข้ามามีส่วนในการฟ้อน เป็นการแสดงชั้นเชิง ท่วงท่า ลวดลายของการต่อสู้ร่วมกับท่าฟ้อนที่สวยงาม โดยใช้เครื่องดนตรีกลองซิ้งหม้อง กลองสะบัดชัย หรือ กลองปู่จา ฉาบและฆ้อง ซึ่งการฟ้อนดาบนั้นจะเป็นการฟ้อนที่คู่กับการฟ้อนเชิง หรือ ฟ้อนเจิง ซึ่งเป็นการฟ้อนแสดงท่าทางการต่อสู้ด้วยมือเปล่า สองอย่างนี้มักจะใช้ผู้ชายเป็นหลัก โดยดาบล้านนาที่ใช้ในการฟ้อนจะมีลักษณะแตกต่างจากดาบทั่วไป คือด้านบนนั้นจะมีทรงเหลี่ยมลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม และมีจุดที่เรียกว่า งามหงาย ตามภาษาพื้นเมือง

ครูประสิทธิ์ ณ นคร อยู่บ้านเลขที่ ๔๗ หมู่ที่ ๖ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางเกิดวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๕ ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ ครูภูมิปัญญา ผู้รักในศิลปะ วัฒนธรรมล้านนา เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ ความสามารถและทักษะในการฟ้อนดาบสองมือ ในปี พ.ศ.๒,๕๑๒ มีความสนใจในเรื่องศิลปะการป้องกันตัวแบบมวยไทย จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบุญ และ ในปี พ.ศ.๒,๕๑๕ ได้บรรจุเข้ารับราชการครู ณ โรงเรียนบ้านทุ่งตึง ตำบลแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โดยในปีนี้ได้พบกับ พ่อหนานอินถา ขณะนั้น อายุ ๗๐ ปี ปราชญ์ชาวบ้านบ้านทุ่งคา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้มีความสามารถในวิชาศิลปะการป้องกันตัวแบบโบราณที่เรียกว่า “เจิงค้อน” และ “เจิงดาบ” จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ พ่อหนานอินถา แต่เพียงผู้เดียวนับตั้งแต่นั้นมา ซึ่งท่าฟ้อนที่เรียนตอนนั้นมีทั้งหมด ๓ ท่า ครูประสิทธิ์เป็นผู้ที่มีใจรักในศิลปะการต่อสู้ จึงได้ตั้งใจเรียน ฝึกฝน พลิกแพลง ได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆด้วยตนเองจนแตกฉานทั้งวิชาเจิงค้อนและเจิงดาบ จึงได้คิดท่าฟ้อนเพิ่มเติม โดยปัจจุบันมีทั้งหมด ๑๔ ท่า

การฟ้อนดาบล้านนา มีขั้นตอนในการฟ้อน คือเริ่มจากการประกาศองค์การ (การขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งฟ้า ดิน และ บาดาล) ต่อด้วยการขึ้นกลองจะใช้กลองซิ้งหม้อง กลองสะบัดชัย หรือกลองปู่จ่า ก็ได้ จากนั้นก็ตบมะผาบ ตามด้วยการฟ้อนท่าต่างๆ และ จบด้วยท่าบิดดอกบัวนั่ง

โดยการฟ้อนดาบล้านนานอกจากจะมีความสวยงามแล้วยังแฝงศิลปะการต่อสู้ โดยในการฟ้อนผู้ฟ้อนจะแต่งตัวคล้ายการฟ้อนเชิง โดยผู้ชายจะใส่เสื้อพื้นเมือง กางเกงสะดอ ผู้หญิงใส่เสื้อพื้นเมืองและซิ่นแบบล้านนา ซึ่งครูประสิทธิ์ได้ออกแบบเสื้อให้ผู้ชายสำหรับใส่ฟ้อนดาบสองมือ คือ เสื้อยันต์ล้านนา (ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง) มีลักษณะคือ ตัดเย็บด้วยผ้าดิบ สีขาว หรือ สีแดง

ไม่มีแขน คอกลมไม่มีปก ผ่าอก ผูกเชือก และ ไม่ติดกระดุมจะขออธิบายความหมายของท่าฟ้อน ดังนี้

1.ท่าหลัก (ไขว้ดาบซ้าย และ ไขว้ดาบขวา หรือตั้งวงบน ตั้งบนล่าง) เป็นการฝึกการจับดาบที่ถูกวิธี จับให้ห่างจากกันในระยะที่เหมาะสมและการจัดท่าทาง ร่างกายให้สมดุลเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการจับและถือดาบ

2.ท่าตัดไม้ข่มนาม (ฟันข่มซ้าย-ขวา ข้ามดาบซ้าย-ขวา และ แตงหาด ซ้าย-ขวา) เป็นท่าสำหรับป้องกันการฟันของคู่ต่อสู้

3. ท่าเสือซ่อนเล็บ หน้า-หลัง มีลักษณะล่อให้ศัตรูฟัน โดยเปิดช่องว่างไว้พอศัตรูฟันดาบมาก็จะปัดป้อง

4. ท่าดาบเกี้ยวเกล้า (ดาบเกี้ยวเกล้าซ้าย ดาบเกี้ยวเกล้าขวา และ ดาบเกี้ยวเกล้าสองข้าง) เป็นท่าป้องกันศัตรูที่จะฟันศีรษะหรือฟันคอแล้วปัดดาบทิ้ง

5. ท่าบิดดอกบัวยืน (บิดดอกบัวหน้า บิดดอกบัวซ้าย และ บิดดอกบัวขวา) เป็นการตั้งวงลักษณะแบบฟ้อนเล็บ ป้องกันดาบที่เข้ามาในมุมสูง

6. ท่าบิดดอกบัวนั่ง (บิดดอกบัวหน้านั่ง บิดดอกบัวซ้ายนั่ง บิดดอกขวานั่ง และ บิดดอกบนนั่ง) เป็นการตั้งวงลักษณะแบบฟ้อนเล็บ ป้องกันดาบที่เข้ามาในมุมต่ำ

7. ท่าควงดาบมือเดียว (ซ้าย-ขวา) เป็นท่าที่แสดงถึงความชำนาญในการใช้ดาบทำให้คู่ต่อสู้เกรงขาม นอกเหนือจากการใช้ดาบใน 4 ลักษณะ คือ ฟัน แทง กระทุ้ง พุ่ง

8. ท่าควงดาบสองมือ เป็นท่าที่แสดงถึงความชำนาญในการใช้ดาบทำให้คู่ต่อสู้เกรงขาม นอกเหนือจากการใช้ดาบใน 4 ลักษณะ คือ ฟัน แทง กระทุ้ง พุ่ง

9. ท่าสลูบคมดาบ (ซ้าย-ขวา) เจ้าของดาบผู้มีคาถาอาคาจะเสกคาถาใส่คมดาบให้มีความคม สามารถฟันคนหนังเหนียวหรือมีคาถาอาคมเข้า โดยคนในสมัยโบราณนอกจากจะมีคาถาอาคมแล้ว ยังต้องเลือกดาบชั้นดีเป็นอาวุธคู่กาย เช่น ดาบเหล็กน้ำพี้

10. ท่าข่มขวัญหรือท่าคงกระพัน (งอเข่าซ้าย-ขวา กีบแฮ้ซ้าย-ขวา ปาดคอซ้าย-คอ และ

กีบแฮ้ดาบคู่) เป็นการข่มขวัญศัตรูให้เห็นว่าเราอยู่ยงคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า

11. ท่านารายณ์แผลงศร (ซ้าย-ขวา) ท่านี้จำลองมาจากท่าแผลงศรของพระนารายณ์ที่อวตาลลงมาโดยการแผลงศรเพื่อฆ่าทศกัณฑ์ มือข้างหนึ่งข้างหนึ่งจะจับดาบตั้งขึ้นลักษณะคล้ายคันศรมีหน้าที่กันดาบของศัตรู ส่วนมืออีกข้างทำท่าเหมือนลูกศรมีหน้าที่แทงศัตรู

12.ท่าเสือลากหาง ท่าป้องกันดาบศัตรูจากด้านหลัง และล่อศัตรูให้ฟันมาด้านหน้าแล้วใช้ดาบด้านหลังตวัดฟันตอบโต้

13. ท่าเสือคาบดาบ เป็นการใช้ปากคาบดาบ เป็นเทคนิคทำให้ดาบอยู่กับตัวในกรณีที่มือทำภารกิจอื่น เช่น ตอนขึ้นต้นไม้ หรือ ขึ้นบันใดยามรบ เช่น กรณีพระแสงดาบคาบค่ายของพระนเรศวร

14. ท่าป้าวปันลำ (นอนกลิ้งทับคมดาบ) ท่านี้ต้องใช้การฝึกฝนและความชำนาญสูง คือกลิ้งตัวบนดาบโดนไม่ได้รับอันตราย ดังในโบราณการยามเกิดสงครามจะมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ต้องมีเทคนิคและวิชาในการกลิ้งตัวไม่ให้ได้รับอันตรายจากคบหอกคมดาบที่เกลื่อนพื้น

ครูประสิทธิ์ ณ นคร เป็นผู้สืบสานศิลปะ วัฒนธรรมล้านนา ได้เกิดแรงบันดาลใจในการประสิทธิ์ประสาทวิชาการฟ้อนดาบสองมือให้กับลูกศิษย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒,๕๑๘ ณ โรงเรียนบ้านหัวเมือง ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ซึ่งนับได้ว่าเป็นศิษย์รุ่นแรก พ.ศ.๒,๕๒๐ ได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้านแม่สง ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง จึงได้มีศิษย์รุ่นที่ ๒ และ รุ่นต่อมาในโรงเรียนแห่งนี้ จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.๒,๕๕๑

ในการถ่ายทอดความรู้ ครูประสิทธิ์ ณ นคร ได้ชักชวน นักเรียน นักศึกษา คนหนุ่มสาว ตลอดจนผู้สนใจให้หันมาสนใจในศิลปะ วัฒนธรรมล้านนา โดยมีวิธีการถ่ายทอดความรู้ ประกอบด้วย การบรรยาย การสาธิต การฝึกปฏิบัติ ได้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการฟ้อนดาบสองมือ เผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจและแจกจ่ายให้กับโรงเรียน เป็นการสืบทอดการฟ้อนดาบสองมือให้กับคนรุ่นหลัง

ครูประสิทธิ์ ณ นคร เป็นบุคคลผู้ทรงภูมิปัญญาด้านศิลปะ วัฒนธรรมล้านนา เป็นผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทั้งการชักชวนให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาเรียน ได้เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ให้กับหน่วยงาน หรือ องค์กร อย่างหลากหลาย ตลอดจนนำลูกศิษย์การร่วมแสดงกิจกรรมทั้งของโรงเรียนและชุมชน จนเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม โดยได้รับเกียรติเชิดชูเกียรติ เช่น วิทยากรฟ้อนดาบสองมือแบบล้านนา ประจำปี ๒๕๕๓ เครือข่ายสนับสนุนงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒,๕๕๙/๒,๕๖๒ และ วิทยากรจิตอาสาโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลร่องเคาะ ประจำปี ๒,๕๖๐/๒,๕๖๑ เป็นต้น

การฟ้อนดาบสองมือแบบล้านนา นับเป็นการสืบสานทั้งศิลปวัฒนธรรมอันงดงามและการต่อสู้ของคนสมัยโบราณที่แสดงออกให้เห็นถึง ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท้องถิ่นที่มาพร้อมความเป็นมาและประวัติศาสตร์อันยาวนานของอาณาจักรล้านนา นับเป็นมรดกอันทรงคุณค่าที่ลูกหลานชาวล้านนาควรมีความรัก หวงแหน และภาคภูมิใจ ตลอดจนเห็นความสำคัญในการสืบทอด โดยการศึกษาภาษา วรรณกรรม ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อ ดนตรีและนาฎยกรรมล้านนา ภูมิปัญญาเชิงช่าง อาหารล้านนา วิถีชีวิตล้านนา และชาติพันธุ์ล้านนา ให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับบุคคล สังคม และชุมชน เพื่อการสืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาให้ยังคงอยู่ เป็นอัตลักษณ์ภูมิปัญญาคู่ชาวล้านนาต่อไป

ข้อมูลเนื้อหาโดย

ประวัติศาสตร์ล้านนา โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายประสิทธิ์ ณ นคร

เรียบเรียงโดย

นายนัทธพงศ์ ตามวงค์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบโดย

นายประสิทธิ์ ณ นคร

นายนัทธพงศ์ ตามวงค์