จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย และ ความเหมาะสม แต่ถ้าเป็นในวิชาหน้าที่พลเมืองจะแปลว่าสิ่งที่มนุษย์ เปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญงอกงาม และสืบต่อกันมา

วัฒนธรรมส่วนหนึ่งสามารถแสดงออกผ่าน ดนตรี วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม การละครและภาพยนตร์ แม้บางครั้งอาจมีผู้กล่าวว่าวัฒนธรรมคือเรื่องที่ว่าด้วยการบริโภคและสินค้าบริโภค เช่น วัฒนธรรมระดับสูง วัฒนธรรมระดับต่ำ วัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมนิยม เป็นต้น แต่นักมานุษยวิทยาโดยทั่วไปมักกล่าวถึงวัฒนธรรมว่า มิได้เป็นเพียงสินค้าบริโภค แต่หมายรวมถึงกระบวนการในการผลิตสินค้าและการให้ความหมายแก่สินค้านั้น ๆ ด้วย ทั้งยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคมและแนวการปฏิบัติที่ทำให้วัตถุและกระบวนการผลิตหลอมรวมอยู่ด้วยกัน ในสายตาของนักมานุษยวิทยาจึงรวมไปถึงเทคโนโลยี ศิลปะ วิทยาศาสตร์รวมทั้งระบบศีลธรรม

วัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ อาจได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับภูมิภาคอื่น เช่น การเป็นอาณานิคม การค้าขาย การย้ายถิ่นฐาน การสื่อสารมวลชนและศาสนา อีกทั้งระบบความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนามีบทบาทในวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด

คำว่า ประเพณี หมายถึง ขนบธรรมเนียม แบบแผน (พจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน, 2493 : 569)

ประเพณี (อังกฤษ: tradition) เป็นกิจกรรมที่มีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เป็นเอกลักษณ์และมีความสำคัญต่อสังคม เช่น การแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปกรรม กฎหมาย คุณธรรม ความเชื่อ ฯลฯ อันเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมของสังคมเชื้อชาติต่างๆ กลายเป็นประเพณีประจำชาติและถ่ายทอดกันมาโดยลำดับ หากประเพณีนั้นดีอยู่แล้วก็รักษาไว้เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ หากไม่ดีก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ ประเพณีล้วนได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เข้าสู่สังคม รับเอาแบบปฏิบัติที่หลากหลายเข้ามาผสมผสานในการดำเนินชีวิต ประเพณีจึงเรียกได้ว่าเป็น วิถีแห่งการดำเนินชีวิตของสังคม โดยเฉพาะศาสนาซึ่งมีอิทธิพลต่อประเพณีไทยมากที่สุด วัดวาอารามต่างๆ ในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทย และชี้ให้เห็นว่าชาวไทยให้ความสำคัญในการบำรุงพุทธศาสนาด้วยศิลปกรรมที่งดงามเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่โบราณกาล เป็นต้น

- ประเพณี คือ ความประพฤติที่หมู่ชนหมู่หนึ่งถือเป้นธรรมเนียม หรือเป็นแบบแผนสืบต่อกันมาจนเป็นพิมพ์เดียวกัน ถ้าใครในหมู่ประพฤตินอกแบบก็เป็นการผิดประเพณี (เสฐียรโกเศศ, 2500/ประเพณีไทย/บทนำ)

- ประเพณีเป็นเรื่องของพิธีปฎิบัติสืบๆ มามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขคงไว้บ้างประเพณีไทยแสดงถึงความสัญลักษณ์ของชาติ(แปลก สนธิรักษ์, 2523: 193)

- โดยเนื้อหาสาระแล้ว ประเพณี คือ สิ่งที่คนในสังคมส่วนรวมสร้างขึ้นให้เป็นมรดกที่ผู้เป็นทายาทจะต้องรับไว้และปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป รวมทั้งการเผยแพร่ แก่คนในสังคมอื่นอีกด้ว

ประเภทของประเพณี

ประเพณีนั้นเราสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. จารีตประเพณี (Mores) คือ ประเพณีที่ต้องประพฤติเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรมและจรรยาของสังคม ถือกันว่ามีคุณค่าต่อบุคคลในสังคมนั้นๆ ใครฝ่าฝืนหรือเฉยเมยถือว่าเป็นการละเมิดกฎของสังคม ผิดประเพณีของสังคม ถือเป็นความผิดความชั่วมีโทษ เช่น ประเพณีการแต่งงาน เป็นต้น

2. ขนบประเพณี (Institution) คือ ประเพณีที่วางเป็นระเบียบไว้ จะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม โดยตรง เช่น เขียนเป็นกฎหรือระเบียบให้กระทำร่วมกันมีข้ออ้างอิงเป็นตัวบทกฏเกณฑ์ โดยอ้อมหรือโดยปริยาย คือ รู้กันเอง ถือสืบๆกันมา คนในถิ่นนั้นปฎิบัติกันอย่างนั้นๆ เช่น ประเพณีทำบุณเลี้ยงพระของไทย เป็นต้น

3. ธรรมเนียมประเพณี (Convention) คือ เรื่องเกี่ยวกับธรรมดาสามัญของสามัญชน ไม่ถือเอาผิดเอาถูก ไม่มีการลงโทษ ปรับไหมเหมือนจารีตประเพณี ไม่มีระเบียบเคร่งครัดเหมือนขนบประเพณี ผู้ทำผิดประเพณีนี้ไม่ถือเป็นเรื่องเสียหายหรือมีโทษมากนัก เพียงแต่ถือว่าผู้ผิดประเพณีเป็นผู้ไร้ีการศึกษา ขาดคุณสมบัติผู้ดี เช่น การแต่งกายไม่ถูกกาลเทศะ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน อันไม่เหมาะสม เป็นต้น

ลักษณะของประเพณีไทย

ประเพณีไทยแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

1. ประเพณีส่วนบุคล ได้แก่ ประเพณีเกี่ยวกับการแต่งงาน ประเพณีการเกิด ประเพณีการตาย ประเพณีการบวช ประเพณีการขึ้นบ้านใหม่ ประเพณีทำบุญอายุ เป็นต้น

2. ประเพณีส่วนรวม ได้แก่ ประเพณีทางศาสนาต่างๆ เช่นประเพณีการทำบุญเข้าพรรษา ออกพรรษา ประเพณีตรุษ สารท ลอยกระทง ประเพณีเทศกาลสงกรานต์และประเพณีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น

ที่มา บรรเทิง พาพิจิตร.ประเพณี วัฒนธรรมไทย และคติความเชื่อ.กรุงเทพมหานคร:โอเดียนสโตร์,2532.