มัสยิด

ที่มาของมัสยิดในตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง

ชุมชนบ้านปากลัด เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ พี่น้องมุสลิมที่นี้แบ่งออกเป็น ๒ รุ่น คือ มุสลิมรุ่นแรกอยู่มาตั้งแต่เดิม ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นมุสลิมที่มีเชื้อสายที่มาจากมะละกา จากประเทศอินเดียซึ่งเดินทางมาค้าขายและปักหลักมาช้านาน บริเวณฝั่งตลาดพระประแดง

กระทั่งต้นรัตนโกสินทร์ในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 ทรงตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์ขึ้น ใน ปี พ.ศ.๒๓๕๘ ได้โปรดเกล้าให้บุตรชายของพระยาเชยผู้นำมอญที่เข้ามาพึ่งพระโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์สยาม เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งสืบต่อกันมาถึง ๘คน

มุสลิมชาวอินเดียส่วนหนึ่งได้รับราชการทำงานรับใช้เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ในหน้าที่ดูแลบัญชีตามความถนัดเป็นที่พออกพอใจของเจ้าเมือง ที่ทั้งเก่ง ทั้งขยัน และซื่อสัตย์ ชาวอินเดียที่มาค้าขายและทำงานเกือบทั้งหมดจะมาเฉพาะผู้ชาย เจ้าเมืองเกรงว่าไม่นานพวกนี้ก็จะต้องกลับไป เพราะไม่มีอะไรผูกมัด วันหนึ่งในขณะที่ทั้งชาวมอญ และอินเดียต่างต้องมาเล่าแจ้งแถลงไขถึงงานที่ทำไป ในแต่ละวันให้เจ้าเมืองได้รับทราบ เหล่าข้าราชบริพารมอญที่มาร่วมต่างก็พาลูกสาวมาด้วย เจ้าเมืองเลยเอ่ยปากให้ชาวอินเดียที่รับใช้อยู่นั้นเลือกพวกนางไว้เป็นคู่ครอง ซึ่งเป็นกุศโลบายมิให้พวกนี้ต้องกลับบ้านเพราะไม่มีครอบครัว จากคำบอกเล่าขานกันว่า เสียงร้องของสาวชาวมอญร้องไห้กันระงมเพราะกลัวที่ต้องไปเป็นเมียของพวกแขกที่ทั้งตัวใหญ่และดำมีหนวดยาว แต่ทุกอย่างก็ผ่านด้วยดี จึงจะเห็นได้ว่ากลุ่มมุสลิมชาวอินเดียรุ่นแรก ๆ กับชาวมอญบ้านปากลัดจะเป็นเครือญาติใกล้ชิดกัน เรื่องเหล่านี้ยังพอมีประวัติที่เชื่อถือได้ เพราะยังมีลูกหลานสืบทอดกันจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นตระกูล “ยังเจริญ” จากมะละกา หรือตระกูล ไวทยานนท์ สองตระกูลนี้ส่วนใหญ่เข้ารีตศาสนาพุทธ ส่วนตระกูลวงศ์พานิชจากอินเดีย ยังนับถือศาสนาอิสลามอยู่

ส่วนมุสลิมรุ่นที่สองนั้นมาอยู่ในราว ๒๐๐ กว่าปี ช่วงตอนต้นรัชกาล ที่ ๑ ของกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๙ ซึ่งเป็นเชลยศึก ที่ถูกจับมาจากเมืองปัตตานี เนื่องจากเจ้าเมืองปัตตานีเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เชลยศึกที่นำมาบ้านปากลัดนั้น ส่วนมากจะเป็นคนที่ค่อนข้างมีความรู้ทางด้านศาสนา จากนั้นก็ได้มีญาติพี่น้องจากปัตตานีมาเยี่ยมแต่ไม่ได้กลับไป จนกลายเป็นชุมชนมุสลิมขึ้น คู่กับชาวมอญที่หนีภัยสงครามมาอยู่ที่ปากลัด

สังคมในยุคแรกใช้ภาษามลายูเป็นหลัก เป็นสังคมเกษตร ทำนาทำสวนหาปลา พึ่งพาธรรมชาติ การเดินทางใช้แม่น้ำลำคลองเป็นทางสัญจร จากการที่เป็นเชลยจะทำกิจกรรมบางอย่างทำได้ยาก การรวมตัวกันมากๆ ก็จะถูกทางการเพ่งเล็งตลอดเวลา ด้วยกับสาเหตุที่เป็นเชลยศึกเกรงว่าถ้ารวมตัวกันจะเกิดการแข็งเมืองขึ้นมาอีก

เมื่อเวลาผ่านไปเชลยเหล่านี้เริ่มประกอบสัมมาอาชีพมีที่ทำกินบางคนที่มีความรู้ก็ได้รับราชการเป็นเก็บเบี้ยค่าที่ดินส่งเจ้าเมืองเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจและสามารถอยู่ร่วมกับชาวมอญได้เป็นอย่างดีกอปรกับมีมุสลิมเดิมที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว การรวมกลุ่มของมุสลิมจึงเกิดขึ้นเป็นชุมชน มีการสร้างมัสยิด โดยการสนับสนุนผ่านการเงินจากกลุ่มพ่อค้ามุสลิมที่มาอยู่ก่อน หรือที่เรียกกันติดปากว่าแขกเก่า ซึ่งมัสยิดหลังแรกเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวบนเนื้อที่ ๓๐๐ ตารางวา ที่ได้รับบริจาคจากฮัจยีชาอิ้ล บุตรโต๊ะวังปานา สร้างในปี พ.ศ.๒๔๒๕ และเนื่องจากเชลยส่วนใหญ่เป็นผู้รู้ทางศาสนา จึงมีญาติพี่น้องและลูกหลานจากปัตตานี และรัฐกลันตันของมลายูมาเยี่ยมและมาเล่าเรียนกันมากขึ้น บางส่วนมาแล้วก็กลับไป แต่ก็ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่มาแล้วไม่กลับ เพราะสามารถอยู่มีที่กิน ที่นา สามารถทำมาหากินได้อย่างสบาย ชุมชนมุสลิมบ้านปากลัดจึงเกิดขึ้น และจากการที่มีผู้รู้ทางศาสนา หรือที่เรียกกันว่า “โต๊ะอาเหล็ม” หลายคน จึงมีมุสลิมจากพื้นที่ต่าง ๆ มาเล่าเรียนศาสนาอิสลามกันมาก เล่ากันว่า “ถ้าพายเรือจากต้นคลองเข้าสู่หมู่บ้านแขกจะได้ยินแต่เสียงคนท่องอ่านอัลกุรอานไม่ขาดเสียงตลอดลำคลอง” ดังจะเห็นได้ว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เกือบทุกท่านต่างก็เคยได้มาเล่าเรียนกับครูบาอาจารย์ในบ้านปากลัดทั้งสิ้น

บ้านปากลัดในอดีตคือแหล่งความรู้ทางวิชาการศาสนามากมาย บุคลากรในอดีตของปากลัดหลายท่านมีความรู้ทางศาสนาดีมาก ปากลัดจึงเป็นแหล่งที่มีผู้คนแวะเวียนมาศึกษาหาความรู้อีกแห่งหนึ่งของส่วนกลางจากอีกหลายๆที่ ผู้คนมากมายได้รับความรู้จากตรงนี้ แล้วนำความรู้ไปต่อยอด ใช้ประโยชน์ในสังคมตนเอง ปากลัดจึงเป็นแหล่งสร้างคนที่มีคุณภาพในอดีตที่เราภาคภูมิใจ แต่นั้นมันคืออดีต ที่เราจะนำกลับคืนมาได้ยากมาก แต่อดีตก็เป็นบทเรียนเล่มใหญ่ให้เราได้ศึกษาว่าบรรพชนเขาสร้างกันมาได้อย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร แล้วอนาคตสิ่งเหล่านี้จะหวนกลับคือมาได้หรือไม่ มันก็อยู่ที่จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ ที่คนรุ่นนี้จะพีงสังวร

มัสยิด 2 แห่ง คือ

1. ดาเราะห์สอาดะห์

2. ซาฟีอีมาเรียม