ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ตำบลบางพึ่ง ตั้งอยู่ในอำเภอพระประแดง ในอดีตมีการขนานนามว่า “ปากลัด” ดินแดนแถบลัดโพธิ์

คำว่า ปากลัด (Paklat) นั้นเป็นชื่อที่ใช้ขนานนามดินแดนในแถบคลองลัดโพธิ์ครั้งก่อนการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์อีกทั้งยังพบหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองพระประแดงได้ให้ที่มาของคำว่า “ปากลัด” ไว้ ดังความบางตอนที่ปรากฏในหนังสือเที่ยวไปในพระประแดง ว่า

“…ด้วยเหตุที่พระประแดงมีคลองลัดที่สำคัญอยู่ 2 คลอง คือ คลองลัดโพธิ์ ซึ่งขุดในสมัยกรุงศรีอยธยา รัชกาลพระภูมินทราชา หรือเรียกกันว่าขุนหลวงท้ายสระ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง และคลองลัดหลวง ซึ่งขุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 3 โดยมีกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในพระองค์ท่าน เป็นแม่กองควบคุมงานขุดคลองนี้…”

จากหลักฐานที่ปรากฏข้างต้นพอที่จะสรุปได้ว่าคำว่า “ปากลัด” นั้นมาจากคลองลัดทั้ง 2 แห่งนั้นก็คือ “คลองลัดโพธิ์” และ “คลองลัดหลวง” แต่จากการศึกษาค้นคว้าของผู้เขียนพบว่าที่มาของคำว่า “ปากลัด” นั้นมาจากคลองลัดโพธิ์แต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นและผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประการ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง ผู้เขียนพบหลักฐานที่ปรากฏคำว่า “ปากลัด” ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินมาปิดคลองลัดโพธิ์เพื่อป้องกันน้ำเค็มไหลเข้ากรุงเทพฯดังความบางตอนที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุง รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่า

“…คลองขุดปากลัดนั้นกว้างออก น้ำทะเลขึ้นแรงเคมขึ้นมาถึงพระนคร ครั้นถึงณวันศุกรเดือนสามขึ้นสิบเอดค่ำ

จึ่งสมเดจพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์กับทั้งกรมพระราชวังหลัง แลเจ้าต่างกรมทั้งปวงพร้อมกัน เสดจโดยทางชลมาร์ค ลงไปปิดคลองปากลัด ดำรัศให้เกณฑ์ข้าราชการขนมูลดินแลอิฐหักขนถมทำนบกั้นน้ำแล้วให้เกณฑ์ข้าราชการตามจำนวนตัวเลขขึ้นไปรื้ออิฐกำแพงกรุงเก่าบันทุกเรือลงมา สานชลอมใส่อิฐหักถมทำนบจนสูงเสมอฝั่งแลน้ำเคมไหลขึ้นมาทางคลองปากลัดมิได้ไหลไปทางแม่น้ำใหญ่เปนทางอ้อม ก็มิสู้เคมขึ้นมาถึงพระนคร ราษฎรทั้งหลายได้รับพระราชทานน้ำจืดเปนศุขทั้งสิ้น…”

อีกทั้งยังพบหลักฐานที่ได้กล่าวถึงพื้นที่บริเวณปากลัดในช่วงที่เกิดเหตุการณ์องเชียงสือลักลอบหนีออกจากกรุงเทพฯ ดังความบางตอนที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่า

“…องเชียงสือคนนี้ แม้จะละไว้มิให้ติดตามเอาตัวให้ได้ นานไปภายหน้าเมื่อล่วงแผ่นดินนี้ไปแล้ว

มันจะทำความลำบากเดือดร้อนแก่ลูกหลานเราเป็นแท้อย่าสงสัยเลย เพราะองเชียงสือเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ

ก็หลายปีได้รู้ตื้นลึกหนักเบาในการบ้านเมืองของเราทุกสิ่ง ที่เมืองสมุทรปราการก็ยังไม่มีสิ่งใดรับรองข้าศึกศัตรูฝ่ายทะเล

ถ้าองเชียงสือกลับใจเป็นศัตรูแล้วจะรบยาก ถ้าไม่ทรงกรุณาโปรดให้ไปติดตามองเชียงสือแล้ว

จะขอรับพระราชทานทำเมืองขึ้นที่ปากลัด…”

ที่มา: หนังสือ “สองศตวรรษ วัดทรงธรรม” ศูนย์กลางพระพุทธศาสนารามัญนิกายแห่งเมืองนครเขื่อนขันธ์

โดย: อาจารย์กษิด์เดช เนื่องจำนงค์