บวชลูกแก้ว

บวชลูกแก้ว

"ปอย" เป็นภาษาพม่า แพร่เข้ามาสมัยยึดครองเมืองเชียใหม่ หมายความถึง "งาน" ที่มีคนมาช่วยกัน หรือ ชุมนุมกัน งานฉลอง งานสมโภช มหากรรม รวมเข้าไปหมด แต่มีคำว่า "หลวง" และ "น้อย" ต่อท้าย ถ้าเป็นงานฉลองใหญ่ เรียกว่า "ปอยหลวง" ส่วนปอยลูกแก้วนี้เรียกว่า "ปอยน้อย" คืองานเล็กๆนั่นเอง 

               ทางล้านนาไทยเรียกลูกที่จะบรรพชาหรืออุปสมบทว่า "ลูกแก้ว" คือลูกดีเป็นพิเศษ เป็นแก้วเป็นคุณแก่บิดามารดา เรียกว่าเป็นคำยกย่องลูกที่จะเปลี่ยนเพศ

                ล้านนาไทยนิยมบรรพชาสามเณรมาก ทั้งนี้มิใช่ว่าไม่นิยมการอุปสมบท เป็นแต่เพียงว่านิยมให้ลูกตนเข้าไปเป็นสามเณรมากกว่าเท่านั้น เด็กชายประมาณ 10 ปี บิดามารดาผู้หวังความเจริญแกลูก ย่อมจะนำลูกมาฝากเป็น "ขะยม" หรือศิษย์วัด อาจจะให้เป็นศิษย์ของพระรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ 

              ทั้งนี้เพราะวัดเป็นสถานที่ศึกษาเพียงแห่งเดียวที่เรามีอยู่ วิทยาการทุกแขนงเราไปศึกษาจากวัด วัดเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปศาสตร์ทั้งปวง เมื่อศึกษาเล่าเรียนอักษรสมัยจบแล้ว ก็เริ่มเรียนคำที่จะใช้กล่าวขอบบรรพชาเรียนสิกขาวินัย และเริ่มท่องสวดมนต์ต่างๆ หัดอ่านคัมภีร์ที่เขาจารไว้เป็นอักษรลานนาไทย            ประมาณอายุ 12 ปี จึงจะมีการจัดงานปอยลูกแก้วบรรพชาให้ ทางล้านนาไทยเชื่อว่า "การบรรพชาสามเณรนั้น ชื่อว่าตอบแทนคุณของมารดา เพราะ อายุ 12 ปี เท่ากับคุณของมารดา ส่วนคุณของบิดานั้นมี 20 ถ้าได้อุปสมบทตอนอายุ 20 ปี จึงชื่อได้ว่าตอบแทนคุณของบิดา"

             หากว่าบิดามารดาเด็กที่จะบวชเป็นคนยากจนก็จะมอบเด็กนั้นให้แก่คนที่มีเงิน มีจิตศรัทธาเป็นเจ้าภาพบวชให้ เรียกกันว่า "พ่อออก หรือแม่ออก" "เป็นพ่อแม่คนที่สองเลยทีเดียว"

             การดาปอย หรือ เตรียมงาน ไม่มีกฏเกณฑ์บังคับ ใครจะทำเพียงใดก็ได้ หากยากจนจริงๆ จะบวชเพียงมีห่อหมากแจกถวายพระก็ได้ งานปอยลูกแก้วที่จะพูดในทีนี้ ประสงค์จะพูดให้เต็มแบบฉบับของงาน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ศึกษาว่าในอดีตเขาทำกันอย่างไร 

             เบื้องแรกเมื่อตกลงกันว่า "จะดาปอยลูกแก้วแล้ว" เขาก็จะตระเตรียมสิ่งของเครื่องใช้เหมือนงานทั้งหลาย แล้วให้ลูกสาว หลานสาว หรือสาวๆเพื่อนบ้านไปแผ่นาบุญ "การแผ่นาบุญ" ก็คือการบอกให้ญาติมิตรมาทำบุญร่วมกัน เขาจะเอาผ้าเหลือง หรือผ้านิสีทนะคือผ้ารองนั่งห่ออัฐบริขารบางชิ้นแล้วใช้ลูกประคำพันที่จุกผ้านิสีทนะที่รวบรวมกันเป็นกระจุกไว้ เอาห่อผ้านี่วางบนพานอุ้มเดินไปแผ่นาบุญ เจ้าของบ้านก็จะยกพานนนั้นขึ้นจบที่หน้าผาก แล้วกล่าวว่า "สาธุ อนุโมทามิ"

            "วันดา" คือ วันสุกดิบมาถึง ในวันนีตลอดวันญาติพี่น้องจะมาช่วยกันเตรียมสิ่งของและทำกับข้าว ผู้คนจะร่วมมาอนุโมทนา ด้วยสิ่งของบ้างเงินบ้างตามเจตนา เขาจะปลูกร้านเพื่อให้ช่างซอขึ้นเล่น เป็นมหรสพ