สี่แผ่นดิน

สี่แผ่นดิน เป็นนวนิยายของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย เนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 สี่แผ่นดินถูกจัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน โดยวิทยากร เชียงกูล และคณะ นอกจากนี้ ในสารานุกรมบริแทนนิการะบุว่า สี่แผ่นดินอาจเป็นนวนิยายไทยที่ขายดีที่สุดตลอดกาล[1]

สี่แผ่นดิน แรกเริ่มถูกเขียนเป็นตอน ๆ ลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายวันระหว่างปี 2494–95 ติดต่อกันเป็นเวลาปีเศษ ต่อมาได้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 จัดเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ประเภทบันเทิงคดี ต่อมามีการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวทีและละครวิทยุหลายครั้ง

เนื้อหาพรรณนาครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ 4 พระองค์ เริ่มจากสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2453 จนถึงการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในปี 2489 ตัวละครเอก ชื่อ "พลอย" เป็นหญิงในตระกูลขุนนางเก่าที่มีชีวิตอยู่แต่ในรั้ววัง และใกล้ชิดกับราชสำนัก ต่อมาออกมานอกวังแต่งงานกับ "เปรม" หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ค่านิยมแบบเก่าของพลอยถูกกระทบกระเทือน และเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในบรรดาบุตรธิดาสามคน ต่อมารัฐบาลออกกฎหมายปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นแบบตะวันตก ในช่วงสงครามบ้านถูกระเบิดต้องย้ายกลับไปอยู่บ้านเกิด พลอยป่วยหนักเมื่อทราบว่าบุตรชายเสียชีวิต จนเสียชีวิตตามไปพร้อมกับรัชกาลที่ 8 นวนิยายเรื่องนี้ถือว่ามีอิทธิพลในการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกแก่สถาบันพระมหากษัตริย์

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการนิตยสารถนนหนังสือ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2528[2] เรื่องลักษณะของตัวละครว่า "แม่พลอยเป็นคนเชยมากนะครับ เป็นคนอยู่ในกรอบ ใจดี ถูกจับคลุมถุงชนแต่งงานก็หลงรักคุณเปรมได้ ตามคติโบราณนั้นไม่เป็นไรหรอก แต่งไปก่อนแล้วรักกันเองทีหลัง แม่พลอยเป็นอย่างนั้นทุกอย่าง ที่นี้คนอ่านคนไทย ปลื้มอกปลื้มใจ เห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอย ก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้น สี่แผ่นดินถึงได้ดัง"

นวนิยายนี้มุ่งสร้างภาพถวิลหาอดีตและสังคมที่เสื่อมลงหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดยนางเอกมีชีวิตสวยงามในระบอบเก่า แต่ชีวิตเผชิญความพลัดพรากและความโศกเศร้าหลังจากการปฏิวัติ และปิดเรื่องด้วยนางเอกเสียชีวิต