ประดิษฐ์สบู่แฟนซีเพื่อจัดจำหน่าย

สบู่ เป็นสิ่งที่ใช้ในการทำความสะอาดร่างกาย เช่น การอาบน้ำ การล้างมือ สบู่จะช่วยละลายไขมัน ทำให้การชำระล้างสะอาดมากขึ้น

สบู่ก้อน คือส่วนผสมระหว่างกรด (ไขมัน) กับเบส (ด่าง) ในอัตราส่วนที่ทำให้สามารถทำความสะอาดได้ดี และไม่เป็นอันตรายต่อผิว คือมีค่า pH อยู่ระหว่าง 8-10 (ในเอกสารจดแจ้งของ อย.ให้ผู้ผลิตสบู่ก้อนระบุว่ามีค่า ph ไม่เกิน 11) กรดหรือกรดไขมัน เช่นน้ำมันพืช ไขมันสัตว์ เบส เช่นโซดาไฟ โดยทั่วไปอัตราส่วนผสมที่เหมาะสมคือเมื่อผสมกันแล้วควรจะเหลือกรดไขมันอยู่ประมาณ 5% หากไม่มีเครื่องมือในการวัดค่า pH ให้เก็บสบู่เอาไว้อย่างน้อย 15-30 วัน เพื่อให้ค่า pH ลดลง อยู่ในอัตราที่เหมาะสม

กรด (ไขมัน) และเบส (ด่าง) ที่นำมาทำสบู่ ไขมันแต่ละชนิดประกอบด้วยกรดไขมันมากกว่า 1 ชนิด ตามธรรมชาติกรดไขมันเหล่านี้จะไม่อยู่อิสระ แต่รวมตัวกับสารกลีเซอรอลในไขมันอยู่ในรูปกลีเซอไรด์ เมื่อด่างทำปฏิกิริยากับกรดไขมัน กรดไขมันจะหลุดออกจากกลีเซอไรด์ รวมตัวเป็นสบู่ สารที่เกาะอยู่กับกรดไขมันก็จะหลุดออกมาเป็นกลีเซอรีน ปฏิกิริยาของ กรดไขมันแต่ละชนิดเมื่อรวมตัวกับด่างแล้ว จะให้สบู่ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน เช่น กรดลอริก (lauric acid) มีมากในน้ำมันมะพร้าว เป็นกรดไขมันที่ทำปฏิกิริยากับด่างแล้วให้สารที่มีฟองมาก เป็นต้นคุณสมบัติของสบู่ที่ได้จากกรดไขมันต่างชนิดกัน

น้ำมันมะพร้าว สบู่ที่ผลิตได้มีเนื้อแข็ง กรอบ แตกง่าย สีขาวข้น มีฟองมากเป็นครีม ให้ฟองที่คงทนพอควร เมื่อใช้แล้วทำให้ผิวแห้ง

น้ำมันปาล์ม ให้สบู่ที่แข็งเล็กน้อย มีฟองน้อย ฟองคงทนอยู่นาน มีคุณสมบัติในการชะล้างได้ดี แต่ทำให้ผิวแห้ง

น้ำมันรำข้าว ให้วิตามินอีมาก ทำให้สบู่มีความชุ่มชื้น บำรุงผิว ช่วยลดความแห้งของผิว

น้ำมันถั่วเหลือง เป็นน้ำมันที่เข้าได้ดีกับน้ำมันอื่น ให้ความชุ่มชื้น รักษาผิว แต่เก็บไว้ได้ไม่นาน มีกลิ่นหืนง่าย

น้ำมันงา เป็นน้ำมันที่ให้วิตามินอี และให้ความชุ่มชื้น รักษาผิว แต่มีกลิ่นเฉพาะตัว

น้ำมันมะกอก ทำให้ได้สบู่ที่แข็งพอสมควร ใช้ได้นาน มีฟองเป็นครีมนุ่มนวลมาก ให้ความชุ่มชื้น ไม่ทำให้ผิวแห้ง

น้ำมันละหุ่ง ช่วยทำให้สบู่มีฟองขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้สบู่เป็นเนื้อเดียวกันดี สบู่ไม่แตก ทำให้สบู่มีความนุ่มเนียน และช่วยให้ผิวนุ่ม

น้ำมันเมล็ดทานตะวัน ทำให้สบู่นุ่มขึ้น แต่ฟองน้อย

ไขมันวัว จะได้สบู่ที่มีเนื้อแข็งสีขาวอายุการใช้งานนานมีฟองน้อย ทนนาน แต่นุ่มนวล

ไขมันหมู จะได้สบู่ที่มีเนื้อแข็ง อายุการใช้งานนาน ฟองน้อย แต่ทนนาน

ขี้ผึ้ง ได้สบู่เนื้อแข็ง อายุการใช้งานนาน ฟองน้อย แต่ทนนาน

ไขมันแพะ ได้สบู่เนื้อนุ่ม ได้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ผิวนุ่มเนียน

เบส (ด่าง) ที่ใช้มี 3 ชนิด คือ

ขี้เถ้า ใช้ในการผลิตสบู่ในสมัยโบราณ ปัจจุบันมีการพัฒนาใช้เป็นด่างแทน

โซดาไฟ หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ ทำปฏิกิริยาได้สบู่ก้อนแข้ง

โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ทำปฏิกิริยาได้สบู่เหลว

อุปกรณ์

1. กลีเซอรีน เป็นส่วนที่ช่วยให้ผิวนุ่มลื่นเหมือนมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ ปกป้องผิวไม่ให้แห้งและดูดซับความชื้นเมื่อสัมผัสกับอากาศ ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่าผิวมีความชุ่มชื้น อ่อนโยนต่อผิว และไม่อุดตันรูขุมขน

2. หัวน้ำหอมสำหรับใส่สบู่ อาจจะเลือกกลิ่นกลางๆ ที่ไม่หอมหรือฉุนจนเกินไป

3. สีใส่สบู่ สามารถเลือกได้ตามใจ หรือจะเลือกตามสีของธีมงานก็ได้

4. แอลกอฮอล์ล้างแผล ที่บรรจุไว้ในขวดแบบหัวสเปรย์

5. หม้อต้ม

6. แป้นพิมพ์สำหรับใส่สบู่ อย่าลืมหาซื้อแป้นพิมพ์น่ารักๆ นะ

7. ถ้วยสำหรับผสมสี

วิธีการทำ

-นำกลีเซอรีนมาละลาย โดยต้มลงในหม้อ (กะขนาดให้พอดีกับจำนวนที่ต้องการ)

-นำกลีเซอรีนหรือสบู่จากขั้นตอนแรกเทลงในถ้วย แล้วคนไปเรื่อยๆ ให้เย็นตัวลงนิดนึง พร้อมใส่สีและหัวน้ำหอมตามที่ต้องการ โดยอาจเลือกเฉดสีที่ตัดกันเพื่อให้เกิดความสวยงาม เช่น ชมพู-ฟ้า , เหลือง-เขียว *สาเหตุที่ต้องรอให้เย็นตัวลงเพราะความร้อนอาจจะทำให้กลิ่นและสีผิดเพี้ยนออกไป

-เทสบู่ลงแม่พิมพ์ โดยตะแคงแม่พิมพ์เล็กน้อย ให้ตัวสบู่เอียงนิดหน่อย แล้วนำแอลกอฮอล์ฉีดทับลงไป 1 รอบ จากนั้นนำสบู่อีกสีที่ตรงข้ามกันมาเททับ แล้วเติมให้เต็มช่องที่เหลือของแม่พิมพ์ เท่านี้ก็จะได้สีของสบู่ที่ไล่เฉดกันอย่างสวยงามแล้ว *แอลกอฮอล์จะช่วยให้สบู่ไม่มีฟองอากาศภายใน

- ฉีดแอลกอฮอร์ทับอีกรอบในขั้นตอนสุดท้าย

- รอจนเย็นจากนั้นแกะออกจากแม่พิมพ์

- ตกแต่งลงบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม