ประดิษฐ์ของชำร่วยจากวัสดุเหลือใช้

การประดิษฐ์ของชำร่วยควรประดิษฐ์ในลักษณะสวยงาม กะทัดรัด ของชำร่วย นี้อาจประดิษฐ์ด้วยดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง บุหงา พวงกุญแจ ภาชนะกระเบื้องเล็กๆ การพับผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนูเป็นตัวสัตว์ ซึ่งเป็นของที่จะต้องจัดทำ จัดหาเป็นจำนวนมาก ให้พอกับการแจกผู้ที่มาในงาน ในปัจจุบันการทำของชำร่วยประเภทดอกไม้สด เช่น มาลัยคล้องมือ มาลัยผ้าเช็ดหน้า มาลัยตุ้ม ช่อดอกไม้ติดเสื้อ ตัวกระแตจากดอกไม้สด ฯลฯ ซึ่งของสดเหล่านี้ประดิษฐ์ไว้ล่วงหน้านานไม่ได้ จะต้องประดิษฐ์ในเวลาใกล้เคียงกับเวลาใช้ ซึ่งจะต้องใช้แรงงานในเวลาจำกัด จึงไม่ค่อยนิยมใช้ อาจมีการประดิษฐ์บ้าง เฉพาะประธานในพิธีและแขกผู้ใหญ่ 2 - 3 คน ในงานเท่านั้น ฉะนั้น ของชำร่วยเป็นของแห้ง ประเภทพวงกุญแจ จานกระเบื้อง ตุ๊กตาผ้า ตุ๊กตากระเบื้อง แจกันเล็กๆ ดอกไม้แห้ง เครื่องแขวนเล็กๆ จึงนิยมกันมากในปัจจุบัน และ ผู้ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมไทยมักนิยมแจกของชำร่วยด้วยบุหงาสด บุหงาแห้ง

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำการบูรหอม

1. การบูรหอม 500 กรัม

2. พิมเสน 100 กรัม

3. ยูคาลิปตัส

4. เครื่องเย็บกระดาษ

5. กระดาษแข็ง

6. ไม้บรรทัด ดินสอ

7. ปืนยิงกาว กาวแท่ง

8. กรรไกร/กรรไทยซิกแซก

9. ตาชั่งขนาด ครึ่งกิโลกรัม

10. ถุงแก้ว

11. ช้อนสแตนเลส

12.กะละมังสแตนเลส

13. กระดาษสาชนิดอ่อน(มีลายและไม่มีลาย)

14. ด้าย

15. ไม้เนื้อแข็ง (ใช้ทุบการบูร)

16. ตะแกรงตาถี่

17. อุปกรณ์ตกแต่ง เช่น ดิ้นเงิน-ดิ้นทอง ลูกปัดเงิน-ลูกปัดทอง ดอกไม้ รูปผีเสื้อ สัตว์ต่างๆ ผลไม้

วิธีทำการบูรหอม

1. นำการบูรหอม (มีลักษณะเป็นก้อน) มาใส่ในกะละมังสะอาดที่เตรียมไว้ ใช้ไม้ทุบการบูรให้ละเอียดจนทั่วแล้วนำการบูรมาร่อนในตะแกรงตาถี่ เพื่อให้ได้การบูรหอมเนื้อละเอียด

2. นำพิมเสนมาทุบให้ละเอียดเหมือนการบูรมาผสมเคล้าให้เข้ากัน

3. นำยูคาลิปตัสมาหยดใส่เพื่อให้การบูรและพิมเสนจับตัวกันให้แน่น

4. พักทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที

5. เมื่อได้การบูรเนื้อละเอียดแล้ว นำกระดาษแข็งมาวาดแบบต่าง ๆ ตามจินตนาการ และใช้กรรไกรตัดตามรูปและขนาดที่ต้องการ

6. วัดกระดาษสาให้มีหน้ากว้าง 6 นิ้ว โดยวัดตามความยาวหน้ากระดาษพับทบไป-มาจากนั้นวัดให้มีขนาดยาว 6 – 7 นิ้ว (ขึ้นอยู่กับแบบ) แล้วนำตัวต้นแบบที่ทำด้วยกระดาษแข็งมาวางทาบลงบนกระดาษสา

7. ใช้กรรไกรธรรมดาหรือกรรไกรซิกแซกตัดตามแบบโดยให้เผื่อรอบต้นแบบไว้ประมาณ ½ นิ้ว เพื่อความสวยงามและการปรับแต่งทำแบบต่าง ๆ ได้ง่าย

8.นำกาวแท่งใส่ลงไปในช่องสำหรับใส่กาวที่ตัวปืนเสียบปลั๊กเพื่อให้เกิดความร้อน(กาวแท่งจะละลาย) นำกระดาษสาที่ตัดแล้ว 2 แผ่นมาวางประกบกันโดยให้รอยตัดเสมอกัน ค่อย ๆ ทากาวตามแบบทีละด้าน และเว้นส่วนบนไว้ประมาณ 1.5 นิ้วสำหรับใส่การบูร

9.นำการบูรกรอกใส่ถุงโดยชั่งให้ได้ถุงละ 28 กรัมจากนั้นตัดดิ้นเงินหรือดิ้นทองยาวประมาณ 10 นิ้ว แล้วหย่อนปลายดิ้นลงไปในถุงข้างละ ½ นิ้ว จากนั้นใช้ ปืนกาวป้ายกาวปิดปากถุง

10.ตกแต่งถุงการบูรให้สวยงามตามแบบที่คิดไว้โดยให้มีรูปแบบหลากหลายตามความต้องการ

ติดต่อ : นางสมลักษณ์ เชาวน์สินธุ์ วิทยากร โทร.092-5946535

ผู้บันทึกข้อมูล : นางสาวภัทร์สินี สุขจัทร์เทาะ ครู กศน.ตำบล