เว็บข้อมูลความรู้ชุมชน

โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์

หมู่บ้านโครงการพัชราสุธา คชานุรักษ์

บ้านปะตงล่าง หมู่ 5 ตำบลทรายขาว

อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสานต่อพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าและช้าง ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ที่ทรงมีแนวพระราชดำริพระราชทานเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ต่อการจัดการความขัดแย้งคนกับช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ว่า “ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือให้ไปสร้างอาหารช้างในป่า เป็นแปลงเล็ก ๆ

และกระจายกรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออกไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ซึ่งแปลว่า “น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร” เพื่อเป็นการอนุรักษ์ป่าและช้าง รวมทั้งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การบุกรุกของช้างป่าอันสืบเนื่องมาจากขาดแคลนแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ ตลอดจนการขาดความรู้และความเข้าใจของราษฎร ในการขับไล่ช้างอย่างผิดวิธีจนทำให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวราษฎรและช้างในที่สุด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการหนึ่งในภารกิจสำคัญของ “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ได้แก่ โครงการป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว คือการฟื้นฟูแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ให้เพียงพอในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อนำช้างกลับเข้าสู่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง โดยใช้ความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่ายในการนำช้างกลับเข้าสู่ป่า ไม่ว่าจะเป็นชุมชน จิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาช่วยกันฟื้นฟูพัฒนาแหล่งอาหารของช้างให้มีความอุดมสมบูรณ์

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ของการก่อตั้งโครงการ “พัชรสุธาคชานุรักษ์” ทุกภาคส่วนต่างร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาแหล่งอาหารของช้างให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นจุดพักให้ช้างได้อาศัยไม่เข้าไปสร้างความเสียหายยังพื้นที่การเกษตรและที่พักอาศัยของชาวบ้าน ภารกิจแรกของการดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างให้กลับคืนสู่ป่าให้ได้มากที่สุด คือการสร้างแหล่งน้ำและแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จัดทำแหล่งน้ำ 4 แห่ง ฝายชะลอน้ำ 7 แห่ง โป่งเทียม 73 โป่ง ปรับปรุงทุ่งหญ้า 20 ไร่ เพื่อเพาะชำกล้าไม้ที่เป็นพืชอาหารช้างจำนวนกว่า 6,000 กล้า ซึ่งได้มีการทดลองปลูกหญ้าที่ช้างชอบ อย่างเช่น หญ้ารูซี่ หญ้ากินนีสีม่วง และหญ้าเนเปียร์

โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานคณะกรรมการฯ เสด็จมาทรงหว่านหญ้าและทำโป่งเทียมในแปลงทดลองปลูกพืชช้างป่าในพื้นที่ดำเนินการจัดทำทุ่งหญ้าและแหล่งน้ำ เพื่อเป็นอาหารสำหรับสัตว์ป่าและช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอีกหลายแห่ง เพื่อใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งอาหารของช้างอีกหนึ่งโครงการในการช่วยทั้งคนช่วยทั้งช้าง มีการสนับสนุนสร้างองค์ความรู้การอยู่รวมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้าง โดยเฉพาะการทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีอาชีพที่เหมาะสม มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน คือมีการจัดตั้ง “หมู่บ้านคชานุรักษ์” เพื่อให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเดินออกนอกเส้นทางของช้างป่ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร ได้เสริมสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมของช้างให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การประกอบอาชีพ และจัดตั้ง “กองทุนคชานุรักษ์” เพื่อให้ชุมชนมีกองทุนสำรอง และแต่ละชุมชนสามารถวางแผน เพื่อบริหารจัดการกองทุนได้ด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถทำกิจกรรมเพื่อหารายได้เข้ากองทุน อันเป็นการบริหารจัดการชุมชนเพื่อให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและปลอดภัย โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร เสด็จแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานป้ายชื่อ “หมู่บ้านคชานุรักษ์” และ พระราชทานเงินจัดตั้ง “กองทุนคชานุรักษ์” ให้แก่ตัวแทนชุมชน ในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ณ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง

ปัจจุบันมีหมู่บ้านคชานุรักษ์ทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 14 บ้านคลองมะหาด ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา, หมู่ 4 บ้านเขาใหญ่ ต.พวงทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี, หมู่ 7 บ้านเขาจันทร์ ต.ห้วยทับมอญ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง, หมู่ 3 บ้านเนินจำปา ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และหมู่ 28 บ้านสระหลวง ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว การจัดตั้งหมู่บ้านคชานุรักษ์ต้นแบบทั้ง 5 หมู่บ้านนี้ ได้ลดภาพปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างลงไปจากเมื่อก่อน เพราะคนได้เรียนรู้วิธีการขับไล่อย่างถูกวิธี มีการเฝ้าระวังเตือนภัยจากช้างป่าอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันในภาคครัวเรือนก็มีการส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านปลูกพืชผักสวนครัว หรือการเกษตรแบบผสมผสานควบคู่ไปกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว นับเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนอย่างยั่งยืน

โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ จึงเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาที่ราษฎรได้รับผลกระทบจากช้างป่า ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ เพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสมดุล มีอาชีพที่พึ่งตนเองได้และปลอดภัยมากขึ้น ส่วนช้างป่าก็สามารถกลับคืนสู่ป่าตามธรรมชาติได้ และมีแหล่งน้ำและอาหารที่เพียงพอ

วันที่ 9 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายอดิศร สุทธิเลิศ พัฒนาการจังหวัดจันทบุรี มอบหมายให้ นายสมพงษ์ จวงพันธ์ พัฒนาการอำเภอสอยดาว กล่าวขอบคุณอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าทุกคนที่เสียสละและมีจิตอาสาในการมาทำหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชนของอำเภอสอยดาว ซึ่งตำบลทรายขาวโดยเฉพาะหมู่ที่ 5 ก็เป็นหมู่บ้านโครงการพัชรสุธา คชานุรักษ์ ด้วย ซึ่งโครงการพัชรสุธา คชานุรักษ์ มีความหมายว่า น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชรโดยมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเพื่อสืบสานรักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า ด้วยการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรให้อุดมสมบูรณ์

เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ รวมทั้งพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของชุมชน ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชบายแก่คณะกรรมการโครงการฯว่า “ช้างเป็นสัตว์ที่คู่กับประเทศไทยและการที่มีช้างป่าในประเทศเราและยังอยู่ได้ ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นมงคล แต่ถ้าจะให้เป็นมงคลจริงก็เป็นอย่างที่โครงการได้ทำ คือดูแลรักษาและปฏิบัติให้ช้างป่าอยู่กับชุมชนและอยู่กับคนได้อย่างราบรื่น และปลอดภัยทั้งคนและช้าง”หนังสือการ์ตูนเรื่องเล่าชาวคชานุรักษ์ เป็นการรวบรวมพฤติกรรมของช้างป่าเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักช้าง รู้สาเหตุ เมื่อช้างป่ามาเยือน เพื่อเตรียมต้อนรับแข็งขัน ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อลดการเผชิญหน้า ลดการปะทะและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น การเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพที่เหมาะสม เพื่อให้คนได้อยู่ร่วมกันกับช้างได้อย่างสมดุล

เวลา 10.00 น. นายสมพงษ์ จวงพันธ์ พัฒนาการอำเภอสอยดาว ได้ร่วมกิจกรรมในพิธีเปิดงานโครงการโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าจังหวัดจันทบุรี รุ่นที่ 8 และโครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัดและเครือข่ายราษฎร รักษ์ช้าง รักษ์ป่า รักษ์ถิ่น โดยมีท่านสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานดังกล่าว.

วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๔ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ณ โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรีทรงมีพระปฏิสันถารกับอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่าเขาสอยดาวและราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จ และทรงให้กำลังใจในการทำงานแก่คณะทำงานหมู่บ้านคชานุรักษ์ และหมู่บ้านเครือข่าย หน่วยงาน ประชาชนที่ร่วมกันดำเนินงานจัดการปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้าง ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพื้นที่อำเภอสอยดาว และจังหวัดจันทบุรี และทรงเยี่ยมชมนิทรรศการบรรยายสรุป “การใช้งาน GIS (geographic information system) หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ในพื้นที่หมู่บ้านคชานุรักษ์ หมู่บ้านขยายผลคชานุรักษ์ และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก จำนวน 22 อำเภอ 56 ตำบล 299 หมู่บ้าน”

บ้านปะตงล่าง

“สุขทุกวันที่จันทบุรี สุขทุกวินาทีที่ทรายขาว หมู่บ้านช้างใหญ่ กระวานพันธุ์ดี น้ำตกเขาสอยดาว การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์”บ้านปะตงล่าง หมู่ ๕ ตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี

เป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอ 3 กม. เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีคนไทย จีน ขอม (เขมร) อพยพย้ายถิ่นฐานมา ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีการแบ่งพรมแดนประเทศที่ชัดเจน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีการตั้งรกรากสร้างบ้านทำการเกษตรในพื้นที่บริเวณวัดปะตง และบ้านนา ปะตง เป็นภาษาเขมรแปลว่า เที่ยงตรง โดยมีเรื่องเล่าว่า มีพระเดินธุดงค์เดินทางมาถึงบริเวณนี้ตอนเที่ยงตรงพอดีชาวบ้านทำมาหากินโดยการปลูกพืชล้มลุก ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเขียว ทำนา และการเก็บกระวานเพื่อจำหน่ายและส่งออก นอกจากนี้บ้านประตงล่างยังเป็นที่ตั้งของ น้ำตกเขาสอยดาว, ศาลาอายุ ๔,๐๐๐ ปี, ศาลเจ้าพ่อสอยดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญอีกด้วย

หมู่บ้านคชานุรักษ์ บ้านปะตงล่าง

เป็นหมู่บ้านนำร่อง ปีงบประมาณ ๒๕๖๔ มีจำนวน 898 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น 1,702 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรในพื้นที่อำเภอสอยดาว ตั้งแต่ปี 2558 – ปัจจุบัน พบว่า ช้างป่าในพื้นที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อยู่ที่ประมาณ 70 – 80 ตัว และมีอัตราการเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า จำนวน 10 หมู่บ้าน 3 ตำบล ของอำเภอสอยดาว ซึ่งมีพื้นที่ตามแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

ข้อมูลเกี่ยวกับช้างในพื้นที่ และสภาพปัญหา

ในช่วงปี 2561 – 2563 พบช้างฝูงมากกว่า 30 ตัว ในช่วงเดือนกันยายน – กุมภาพันธ์ และมีช้างประจำถิ่น ประมาณ 1 – 5 ตัว ออกหากินเป็นประจำเกือบทุกวัน

ผลกระทบ/ความเสียหาย

1. ช้างบุกรุกพื้นที่ของเกษตรกร ทำลายและกินพืชผลทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตเสียหายระบบน้ำในแปลงเกษตรเสียหายเนื่องจากท่อน้ำถูกช้างเหยียบแตกทำให้เกษตรกรขาดรายได้จากผลผลิตที่เสียหายและต้องลงทุนเพิ่มเพื่อซ่อมแซมระบบน้ำ

2. ระบบน้ำประปาหมู่บ้านเสียหาย เนื่องจากช้างเดินเหยียบ

3. ประชาชนมีความกลัวอันตรายจากการถูกช้างทำร้าย การเดินทางภายในหมู่บ้านเสี่ยงต่อการพบช้าง

ผู้เรียบเรียง นางสาวณัจฉรียา เทศนา

ที่มาข้อมูล

ภาพจาก : FB_ เรารัก สมเด็จเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา : Our Beloved HRH Princess Bajrakitiyabha

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสอยดาว

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

https://www.thairath.co.th/news/local/1950370