เว็บข้อมูลความรู้ชุมชน

สมุนไพรกระวาน

กระวาน สมุนไพรล้ำค่า จากเทือกเขาสอยดาว

ถิ่นกำเนิดกระวาน

วงศ์ : ZINGIBERACEAE (วงศ์เดียวกับขิง ข่า)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum verum Blackw.

ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.


ชื่อสามัญ

– Cardamom

– Camphor

– Best cardamom

– Clustered cardamom

– Siam cardamom

ชื่อท้องถิ่น :

ภาคกลาง และทั่วไป

– กระวานขาว

– กระวานไทย

– กระวานดำ

– กระวานแดง

– กระวานจันทร์

– กระวานโพธิสัตว์

ภาคเหนือ

– มะอี้

ภาคอีสาน

– ข่าโคก

– หมากเนิ้ง

ภาคใต้

– ปล้าก้อ

กระวานจัดเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพงรองลงมาจากวานิลา กระวาน ที่ซื้อขายในตลาดโลกตั้งแต่อดีตแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ กระวานแท้หรือกระวานเทศ (Elettaria cardamomum) ผลมีลักษณะ แบนรี ปลูกมากในอินเดีย กัวเตมาลา ศรีลังกา และแทนซาเนีย ส่วนกระวานไทย (Amomum krevanh) ผลมีลักษณะกลม ปลูกมากใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย และในหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ส่วนในประเทศไทยนั้นมีหลักฐานยืนยันว่าประเทศไทยมีแหล่งกำเนิดกระวานไทย 2 แหล่ง ได้แก่ บนภูเขาสูงในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด โดยเฉพาะบริเวณเขาสอยดาวและป่าเขาระนาบ จังหวัดจันทบุรี เรียกว่า กระวานจันทบุรี ซึ่งคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งกระวานจันทบุรีสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม และกระวานจากภาคใต้ เช่น สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานี ตรังยะลา นราธิวาส แต่คุณภาพต่ำกว่ากระวานจันทบุรี กระวานจัดเป็นเครื่องเทศส่งออกที่ทำรายได้แก่ประเทศปีละนับล้านบาท ตลาดต่างประเทศที่สำคัญของกระวานไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และฮ่องกง ทั้งนี้ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะกระวานไทย (Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.) ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในไทยเท่านั้น

กระวาน เป็นเครื่องเทศและสมุนไพรชั้นเลิศ สามารถแปรรูปหรือนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ในวงการต่าง ๆ มากมาย เช่น ปรุงยา แต่งกลิ่นอาหาร เครื่องดื่ม ขนมปัง ผสมเครื่องสำอาง และใช้ทำน้ำหอม ซึ่งกระวานนั้นเป็นพืชผลที่มีราคาแพงมาก ถ้าเป็นกระวานป่าตามธรรมชาติที่มาจากป่าแถบเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเรียกว่ากระวานจันทบุรี เพราะเป็นพื้นที่ ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมที่สุด ผลผลิตจากที่นี่ จึงมีคุณภาพดีที่สุด ผลใหญ่ น้ำหนักดี มีกลิ่นหอมแรง สกัดน้ำมันหอมได้มาก จนเป็นที่ยอมรับ ทำให้ผลผลิตจากที่นี่แทบทั้งหมดจะถูกนำไปเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปยังจีนและฮ่องกง


ปัจจุบัน กระวานที่บริโภคในบ้านเราเอง ก็มีเพาะปลูกอยู่ในแหล่งที่ดีที่สุดคือจังหวัดจันทบุรี แถบอำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน ได้กระวานคุณภาพดีที่สุด ผลใหญ่ เมล็ดใหญ่ รสชาติ เผ็ดร้อน กลิ่นฉุนมาก เพราะพื้นที่ปลูกมีสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ เหมาะกับธรรมชาติของกระวานจันทบุรี แต่กระวานที่ออกมา ก็ยังมีราคาดี เพราะไม่ได้ปลูกได้ง่ายๆทั่วไปในทุกพื้นที่ และความต้องการในบ้านเราเองก็มีสูง ถ้าเพื่อนๆเกษตรกรสนใจปลูกเพราะคิดว่าราคาดี ก็ต้องยอมรับความจริงกันว่า กระวาน มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ปลูกนะครับ ที่ต้องมีสภาพใกล้เคียงกับธรรมชาติที่กระวานจะขึ้นได้ คือ ต้องอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ตลอดเวลา มีแดดเพียงเล็กน้อย มีอุณหภูมิต่ำ มีฝนตกชุก มีความชื้นสูงสม่ำเสมอ ดินอุดมสมบูรณ์ มีใบไม้ทับถม ซึ่งพื้นที่เหมาะสมโดยส่วนใหญ่ จะเป็นการปลูกร่วมในสวนผลไม้ หรือ สวนยางพาราในภาคตะวันออกและภาคใต้เท่านั้น ส่วนการปลูกในระบบปิด ควบคุมแสง น้ำ ความชื้น และอุณหภูมิ ยังไม่มีใครทดลอง ดังนั้นหากเพื่อนๆเกษตรกรคนไหน มีสถานที่ ที่เหมาะสมจริงๆ การปลูกกระวาน ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากครับ

กระวานที่นิยมปลูกกันคือกระวานไทย เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นจริงคือเหง้า เติบโตอยู่ใต้ดิน มีลักษณะแบ่งตัวออกเป็นแง่งหลายแง่งเชื่อมติดกัน ส่วนลำต้นเทียม งอกจากตาของแง่ง แทงโผล่ขึ้นเหนือดิน สูงกว่า 1 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับข้างกันตามความสูงลำต้นเทียม แผ่นใบเรียวยาว โค้งลงดิน ปลายใบแหลม สีเขียวเข้ม ส่วนดอกกระวานออกเป็นช่อ แทงขึ้นจากเหง้า ดอกหลักรียาว กลีบดอกสีเหลือง มีดอกย่อยเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ผลกระวานเป็นลูกกลมๆ ออกรวมกันเป็นช่อผล แต่ละช่อ มีผล10-20 ผล ขั้วผลมี 2 ด้านลักษณะเป็นจุก ผลแก่มีสีครีมหรือสีขาวนวล แบ่งออกเป็นพู เมื่อแห้งจะปริแตกออกตามแนวร่อง เมล็ดกระวานอยู่ถัดจากเปลือกผล มี 9-18 เมล็ด ต่อผล

ส่วนการขยายพันธุ์นิยมใช้ เหง้าจากกอแม่ อายุ 18 เดือน – 2 ปี เหง้าที่แยกออกมาต้องมีหน่อติดมาด้วย 2-3 หน่อ ให้สูงประมาณ 1- 2 ฟุต ไม่ควรตัดยอดออก เพราะทำให้โอกาสตายสูง กระวานจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลแก่ครั้งแรกได้ประมาณ 2-3 ปี หลังปลูก มีช่วงระยะออกดอก ถึงผลแก่ 5 เดือน หลังให้ผลแล้วต้นกระวานจะเหี่ยวแห้ง แต่ไม่ตายก่อนจะแทงต้นใหม่ในฤดูฝนถัดไป

ประโยชน์และสรรพคุณกระวาน

1. แก้อาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ

2. ช่วยขับลม และแก้แน่นจุกเสียด

3. บำรุงธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ

4. บำรุงกำลัง ขับโลหิต

5. แก้ลมในอกให้ปิดธาตุ

6. แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ

7. แก้ลมในลำไส้

8. ช่วยให้เจริญอาหาร

9. รักษาโรครำมะนาด

10. แก้ลมสันนิบาต

11. แก้สะอึก

12. แก้อัมพาต

13. รักษาอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน

14. รักษาโรคผิวหนัง

15. บำรุงโลหิต

16. แก้ไข้เซื่องซึม

17. บำรุงน้ำดี

18. แก้พิษตานซาง

ผู้เรียบเรียง นางสาวณัจฉรียา เทศนา

แหล่งที่มาข้อมูลhttps://www.disthai.com/16963273/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%99