เว็บข้อมูลความรู้ชุมชน

ข้อมูลอำเภอสอยดาว

ข้อมูลอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี


อำเภอสอยดาว เดิมขึ้นอยู่ในเขตการปกครองอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี แต่เนื่องจากเขตการปกครองของอำเภอโป่งน้ำร้อนกว้างขวางมาก การติดต่อราชการของราษฎรและให้บริการของทางราชการเป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่ทั่วถึง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรและอำนวยความสะดวกให้แก่ราษฎรที่อยู่ห่างไกล กระทรงมหาดไทยจึงได้ประกาศแต่งตั้งกิ่งอำเภอสอยดาวขึ้น โดยมีผลเป็นกิ่งอำเภอตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2532 ได้รับอนุมัติเงินงบประมาณจากกรมการปกครองเป็นค่าก่อสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอพร้อมบ้านพักข้าราชการ เป็นเงิน 3,818,700 บาท (สามล้านแปดแสนหนึ่งหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยบาทถ้วน) โดยก่อสร้างในที่ดินของนายย้ง ลออสิทธิ์ภิรมย์ ที่ได้บริจาคที่ดินจำนวน 78 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์ราชการกิ่งอำเภอสอยดาว ที่ดินตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลปะตง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ยังมีผู้จิตศรัทธาบริจาค เงินสมทบในการก่อสร้างอีก จำนวน 495,000 บาท (สี่แสนเก้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน) และให้เปิดให้บริการประชาชนมาตั้งแต่ วันที่ 12 มิถุนายน 2532 เป็นต้นมา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2535 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอสอยดาวตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอนที่ 45 ลงวันที่ 9 เมษายน 2535 มีฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2535


ขนาด ที่ตั้ง เขตติดต่อ

อำเภอสอยดาว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดจันทบุรี ห่างจากจังหวัดจันทบุรี 72 กิโลเมตร มีพื้นที่ 770.948 ตารางกิโลเมตร หรือ 481,842.5 ไร่ และห่างจากกรุงเทพมหานคร 300 กิโลเมตร เป็นอำเภอชายแดนติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตย มีเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอวังสมบูรณ์และอำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว

ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ประเทศสาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตย

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอแก่งหางแมว และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ

อำเภอสอยดาว มีลักษณะภูมิประเทศโดยส่วนรวม เป็นที่ราบสลับภูเขา มีเทือกเขาสอยดาวเป็นภูเขาที่สูงที่สุดของอำเภอสอยดาว อยู่ด้านทิศตะวันตกของอำเภอและลดหลั่นลงมาเป็นที่ราบสลับเนินเขาไปทางทิศตะวันออกจนจรดชายแดนไทย-กัมพูชา

ลักษณะภูมิอากาศ

อำเภอสอยดาว มีลักษณะอากาศที่เย็นสบายตลอดปี มี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน

การปกครอง

1. การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอสอยดาวมีประชากรทั้งสิ้น 62,572 คน เป็นชาย 31,683 คน เป็นหญิง 30,889 คน ส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 50 ภาคกลางร้อยละ 20 ภาคเหนือร้อยละ 10 นอกนั้นเป็นคนพื้นที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมร้อยละ 20 ภาษาที่ใช้เป็นภาษาอีสาน ภาษาไทยกลาง และภาษาเขมร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 70 หมู่บ้าน คือ

1. ตำบลปะตง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 หมู่บ้าน

2. ตำบลทรายขาว แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 หมู่บ้าน

3. ตำบลสะตอน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 หมู่บ้าน

4. ตำบลทุ่งขนาน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 หมู่บ้าน

5. ตำบลทับช้าง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 18 หมู่บ้าน

แบ่งเป็นหมู่บ้าน อพป. 47 หมู่บ้าน ปชด. 5 หมู่บ้าน หมู่บ้านปกติ 21 หมู่บ้าน

2. การปกครองส่วนท้องถิ่น

2.1 มีเทศบาล 2 แห่ง คือ

2.1.1 เทศบาลตำบลทรายขาว

2.1.2 เทศบาลตำบลทับช้าง

2.2 องค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย

2.2.1. องค์การบริหารส่วนตำบลปะตง

2.2.2. องค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว

2.2.3. องค์การบริหารส่วนตำบลสะตอน

2.2.4. องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งขนาน

การคมนาคม

อำเภอสอยดาว มีถนนสาย จันทบุรี-สระแก้ว (หมายเลข 317) เป็นถนนสายหลักใช้ระหว่างอำเภอกับจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดอื่น การคมนาคมระหว่างอำเภอ-ตำบล-หมู่บ้าน ใช้ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ถนนสายตามูล-สะตอน,ถนนสายปะตง-ทุ่งขนาน,ถนนสายตามูล-จางวาง และถนนซอย 76 และถนนเลียบชายแดนสายสวนส้ม-ทุ่งขนาน-คลองหาด เป็นถนนลาดยางที่ใช้ได้ทุกฤดูกาล นอกจากนั้นเป็นถนนลูกรังระหว่างหมู่บ้านกับหมู่บ้าน

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ

อำเภอสอยดาว มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ เทือกเขาสอยดาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เขาสอยดาวเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของอำเภอสอยดาวและของจังหวัดจันทบุรีและเป็นต้นกำเนิดน้ำตกที่สวยงามมีชื่อว่าเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของอำเภอสอยดาวและเป็นแหล่งกำเนิดน้ำตกที่สวยงามมีชื่อว่า “น้ำตกเขาสอยดาว” มีความสูงถึง 16 ชั้น ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมายหลายชนิด มีป่าไม้ที่สวยงามและสมบูรณ์แห่งหนึ่งของภาคตะวันออก บรรยากาศยามเย็นขณะพระอาทิตย์กำลังตกดินจะสวยงามมาก แสงพระอาทิตย์ส่องลับทิวเขามองจากที่ว่าการอำเภอสอยดาวเป็นภาพที่สวยงามยากที่จะลืมสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น

แหล่งน้ำ

แหล่งน้ำที่สำคัญของอำเภอสอยดาวส่วนใหญ่ มีต้นกำเนิดจากเขาสอยดาว เป็นต้นน้ำของลำคลองสายสั้นๆ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวอำเภอสอยดาว มีลำคลองที่สำคัญ ได้แก่ คลองปะตง,คลองทรายขาว,คลองพระสะทึง และคลองโตนด(คลองระโนด)


ที่ดิน

ลักษณะดินส่วนใหญ่ของอำเภอสอยดาว เป็นดินร่วนปนทราย ดินลูกรัง มีความสมบูรณ์ปานกลาง เหมาะสำหรับการเกษตรกรรมทุกชนิด พืชไร่ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดและมันสำปะหลัง สำหรับพืชสวนผลไม้ ได้แก่ ลำไย,ส้มโชกุน,ลิ้นจี่,ทุเรียน,ลองกอง,ฝรั่ง,มะม่วง,มังคุด,เงาะ,สละ,มะขามหวาน และมะละกอ


แหล่งท่องเที่ยว

อำเภอสอยดาวมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ

1. น้ำตกเขาสอยดาว เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามที่สุดในภาคตะวันออก อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสอยดาวประมาณ 12 กิโลเมตร ห่างจากถนนสายจันทบุรี-สระแก้ว ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางเข้าไปยังบริเวณน้ำตก น้ำตกแห่งนี้อยู่ในความดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

ในวันหยุดราชการจะมีประชาชนมาเที่ยวชมพักผ่อนจำนวนมาก


2.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ตั้งอยู่ตำบลทรายขาว มีพื้นที่ 465,637.5 ไร่ ห่างจากตัวจังหวัดจันทบุรีประมาณ 70 กิโลเมตร จากจังหวัดจันทบุรีเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 317 ที่มุ่งสู่จังหวัดสระแก้ว ป่าเขาสอยดาวมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่จำนวนมากมาย เช่น ยอดเขาสอยดาวมี 2 ยอด ยอดเขาสอยดาวใต้สูงประมาณ 1,675 เมตร นอกจากนี้ยังมีเขาสิบหกชั้น เขาตะพง เขางู และเขาทรายขาว ภูเขาเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดของน้ำตกและห้วยน้ำลำธารหลายสาย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดทิวทัศน์ที่สวยงามอีกด้วย


3. วัดคลองแจง หรือวัดเขาแจงเบง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลสะตอน เป็นวัดที่อยู่ในป่าเขาอันเป็นธรรมชาติที่ร่มรื่นสวยงาม สงบร่มเย็น เหมาะที่จะปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมาธิภาวนา มีประชาชนจากทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดมานมัสการกราบไว้ และพักผ่อนจำนวนมากมิได้ขาด อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสอยดาว ประมาณ 20 กิโลเมตร ไปตามถนนสายสะตอน-สวนส้ม



4. บ้านสวนส้ม หมู่ที่ 5 ตำบลสะตอน เป็นแหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้เนื้อแข็งที่สวยงามและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี และยังเป็นจุดผ่อนปรนทางการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสอยดาวประมาณ 18 กิโลเมตร


5. บ้านซับตารี หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งขนาน ซึ่งเป็นหมู่บ้านชายแดนและมีจุดผ่อนปรนทาง

การค้าระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสอยดาวประมาณ 18 กิโลเมตร


การประกอบอาชีพ

อาชีพที่สำคัญของราษฎรอำเภอสอยดาว คืออาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมีถึงร้อยละ 90 ของประชาชนที่อาศัย โดยมีพื้นที่การเกษตร 334,224 ไร่ มีการปลูกพืชไร่และพืชสวน เช่น ข้าวโพด

มันสำปะหลัง อ้อย ทุเรียน ลำไย กระท้อน เงาะ มะขามหวาน

รายได้ของประชากรอำเภอสอยดาว เฉลี่ย 21,900 บาท/คน/ปี

ด้านอุตสาหกรรมและการพาณิชย์

อำเภอสอยดาวมีโรงงานอุตสาหกรรม 1 แห่ง บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด 185 แห่ง ร้านค้า 150 แห่ง ธนาคาร 5 แห่ง

การศึกษา

อำเภอสอยดาว มีการจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ถึงระดับมัธยมศึกษา ดังนี้

1. โรงเรียนในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 21 โรงเรียน

2. โรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษา จำนวน 2 โรงเรียน

3. ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสอยดาวจำนวน 1 แห่ง

4. โรงเรียนสังกัดการศึกษาตำรวจตะเวนชายแดน จำนวน 1 โรงเรียน

5. โรงเรียนเอกชน 3 โรงเรียน นักเรียน 2,758 คน ครู 113 คน

6. วิทยาลัยการอาชีพ สังกัดคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 1 แห่ง

ศาสนา

อำเภอสอยดาวมีศาสนสถานดังนี้

1. มีวัดจำนวน 7 แห่ง

2. สำนักสงฆ์ จำนวน 22 แห่ง

3. ที่พักสงฆ์ จำนวน 31 แห่ง

4. โบสถ์คริสต์ จำนวน 1 แห่ง

5. ศาลเจ้า จำนวน 2 แห่ง

ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 98 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 1.15 และศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 0.85

การสาธารณสุข

อำเภอสอยดาวมีบริการด้านสาธารณสุขดังนี้

1. โรงพยาบาล ขนาด 60 เตียง 1 แห่ง

2. สถานีอนามัย 11 แห่ง

3. สถานบริการสาธารณสุขเอกชน เช่น คลินิก สถานบริการ จำนวน 13 แห่ง

หน่วยราชการในพื้นที่อำเภอสอยดาว

อำเภอสอยดาวที่หน่วยราชการอยู่ในพื้นที่ คือ

1. ที่ทำการปกครองอำเภอสอยดาว

2. กลุ่มส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอสอยดาว

3. สถานีตำรวจภูธรสอยดาว

4. สถานีตำรวจภูธรสะตอน

5. กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 114

6. สำนักงานเกษตรอำเภอสอยดาว

7. ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสอยดาว

8. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสอยดาว

9. สรรพากรพื้นที่จันทบุรี สาขาสอยดาว

10. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ

11. สำนักงานป่าไม้อำเภอ

12. ปศุสัตว์อำเภอสอยดาว

13. สำนักงานที่ดินอำเภอสอยดาว

14. สัสดีอำเภออำเภอสอยดาว

15. โรงพยาบาลสอยดาว

16. ชุดควบคุมทหารพรานนาวิกโยธินที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานนาวิกโยธิน

17. ชุดปฏิบัติการที่ 11

18. ชปส. 1301 กอ.รมน.

19. สำนักงานขนส่งจังหวัดจันทบุรี สาขาอำเภอสอยดาว

20. สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสอยดาว

21. สำนักงานไปรษณีย์โทรเลขอำเภอสอยดาว

22. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

23. หน่วยบริการโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

24. หน่วยตรวจคนเข้าเมือง ประจำจุดผ่อนปรนบ้านซับตารี และบ้านสวนส้ม

25. หน่วยศุลกากรประจำจุดผ่อนปรนบ้านซับตารีและบ้านสวนส้ม

26. หมวดการทางสอยดาว

27. หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 3.5.7 อำเภอสอยดาว

28. หน่วยป้องกันไฟป่าเขาสอยดาว

29. นิคมสหกรณ์โป่งน้ำร้อน

30. สถานีพัฒนาและเพาะพันธุ์สัตว์ป่าทรายขาว

31. โครงการจัดที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทหารผ่านศึกทรายขาว

32. เทศบาลตำบลทรายขาว

33. เทศบาลตำบลทับช้าง

34. องค์การบริหารส่วนตำบลปะตง

35. องค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว

36. องค์การบริหารส่วนตำบลสะตอน

37. องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งขนาน

สภาพปัญหาของอำเภอสอยดาว

1. ปัญหาราษฎรไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน

เนื่องจากพื้นที่ของอำเภอสอยดาวส่วนใหญ่ เป็นที่ดินป่าเตรียมการและป่าสงวนแห่งชาติ ราษฎรอพยพมาจากถิ่นอื่นมาจับจองถากถางป่าเพื่อทำกิน ราษฎรส่วนใหญ่จึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน โดยบางตำบล บางหมู่บ้าน เป็นพื้นที่โล่งเตียนไม่มีสภาพของป่าเหลืออยู่มีแต่พืชไร่ พืชสวนของเกษตรกรแต่ก็ยังเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนอยู่ ทำให้ราษฎรอาศัยอยู่ในตำบล หมู่บ้าน ดังกล่าวไม่ได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากทางราชการเยี่ยงประชาชนคนไทยโดยทั่วไป เช่น การสร้างถนนขยายเขตจำหน่ายระบบไฟฟ้า จัดหาแหล่งน้ำ แม้แต่การศึกษาของเด็ก ๆ ในหมู่บ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการดูแลซึ่งจะกลายเป็นปัญหาของสังคมประเทศชาติต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อราษฎรได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับน้ำอุปโภค บริโภคหรือการเกษตร ขอไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านขอให้ซ่อมบำรุงถนนเข้าหมู่บ้านทางราชการก็พยายามช่วยเท่าที่ไม่ขัดต่อระเบียบกฎหมาย

2. ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้ง

โดยสภาพทั่วไปของอำเภอสอยดาวไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีเพียงลำคลองเล็ก ๆ และลำธาร จะมีเฉพาะฤดูฝนพอถึงเดือนมากราคมหรือกุมภาพันธ์ น้ำในลำคลองเหล่านี้จะเริ่มแห้งขอดมีน้ำอยู่ในเฉพาะจุดที่มีฝายน้ำล้นหรือมีการขุดคลอง เมื่อถึงเดือนมีนาคมหรือเมษายนจะแห้งไม่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและบริโภคเช่นกัน จึงนับว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาหนักของอำเภอที่จะหาทางแก้ไขต่อไป

3. ปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด

อำเภอสอยดาว ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดตามแนวชายแดนแต่อยู่ในสภาพที่สามารถควบคุมได้

4. ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

ผลผลิตทางการเกษตรมี 2 ประเภท คือ ผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง น้อยหน่า ฝรั่ง เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง มะขามหวาน บางปีประสบปัญหาราคาตกต่ำ สำหรับผลผลิตจากการทำไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย บางปีที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาตกต่ำเช่นกัน เนื่องจากความผันผวนตามราคาตลาด

5. ปัญหาการย้ายถิ่นฐานและไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน

ประชาชนส่วนใหญ่ย้ายภูมิลำเนามาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นคนยากจนมารับจ้างทำไร่ทำสวนและจับจองที่รกร้างว่างเปล่าประกอบอาชีพ โดยไม่มีการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านให้ถูกต้องพอมีครอบครัวมีลูกไม่แจ้งเกิด จะเป็นเพราะการไม่รู้ หรือความยากจน หรือตั้งใจจะแจ้งเกิดภายหลังพอนานไปก็หลงลืมหรือไม่เห็นความสำคัญ ทำให้ราษฎรเสียสิทธิ์ในการรับบริการจากรัฐในเรื่องต่างๆ ตลอดจนทำให้ยอดจำนวนสถิติประชากรไม่เป็นปัจจุบัน จำนวนคนที่มีตัวตนมากกว่าที่มีชื่อในทะเบียนบ้านหน่วยการปกครองท้องถิ่นจึงได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อย

ผู้เรียบเรียง นางสาวณัจฉรียา เทศนา

แหล่งที่มา สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสอยดาว

เพจที่ว่าการอำเภอสอยดาว