เว็บข้อมูลความรู้ชุมชน

ข้อมูล กศน.อำเภอสอยดาว

การศึกษาเพื่อปวงชนศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสอยดาว ได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2536 โดยเป็นสถานศึกษาในราชการบริหารส่วนกลาง สังกัดศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดจันทบุรี โดยแต่งตั้งให้นางอาภรณ์ สวัสดี มาดำรงตำแหน่งผู้บริหารเป็นคนแรก ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2536 จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2547

เดิมศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสอยดาว อาศัยบ้านพักข้าราชการสำนักงานศึกษาธิการอำเภอสอยดาวเป็นสถานที่ทำการชั่วคราว ประมาณ 1 ปี ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่บ้านเช่าซึ่งจัดเป็นห้องสมุดชั่วคราว และเป็นที่เรียนวิชาชีพ จนถึงปี 2539 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับก่อสร้าง อาคารห้องสมุดประชาชนอำเภอ จากนายอำเภอสอยดาว(นายสมคิด ธนูวัฒนา) ต่อมาได้รับเงินสนับสนุนจากนักศึกษาศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอสอยดาวและประชาชนอำเภอสอยดาว เป็นเงินทุนในการก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานสายสามัญและสายอาชีพจนถึงปัจจุบัน

ในปีงบประมาณ 2549-2550 ผู้บริหารคณะครู และนักศึกษาได้ร่วมกันจัดหาทุนเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร โดยใช้เงิน ในการดำเนินการทั้งสิ้นจำนวน 650,000.- บาท (หกแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) รายละเอียดงบประมาณที่ดำเนินการคือ

1. ใช้เงินบำรุงการศึกษา เป็นเงิน 200,000.- บาท

2. จัดทอดผ้าป่าสร้างอาคาร เป็นเงิน 98,000.- บาท

3. จัดโต๊ะจีนงานแข่งกีฬา กศน.สานสัมพันธ์ เป็นเงิน 120,000.- บาท

4. จำหน่ายซีดีเพลงแดนสวรรค์สอยดาว เป็นเงิน 100,000.- บาท

5. ครู นักศึกษาร่วมกันบริจาค เป็นเงิน 132,000.- บาท

สร้างเสร็จเรียบร้อยใช้เป็นสำนักงานและห้องเรียนให้นักศึกษาเมื่อประมาณ 12 มีนาคม 2550

ซึ่งปัจจุบันนี้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสอยดาว ได้มีอาคารทั้งสิ้น 6 อาคาร ได้แก่

1. อาคารสำนักงาน จำนวน 1 อาคาร

2. อาคารเรียน จำนวน 1 อาคาร

3. ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ จำนวน 1 ห้อง

4. อาคารพัสดุ จำนวน 1 อาคาร

5. ศรช.ปะตง จำนวน 1 อาคาร

6. ห้องสมุดประชาชน จำนวน 1 อาคาร

ตามแนวทางปฏิบัติของสถานศึกษา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้โอนหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียนเป็นสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน โดยกำหนดเลขประจำหน่วยงานที่ ศธ 021.02209

ปัจจุบันได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นสถานศึกษา ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิกาลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2551 ชื่อ “ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสอยดาว”

ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ

จากการที่ศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เอกสารประกอบหลักสูตร และข้อมูลความต้องการพัฒนาของจังหวัด อำเภอ ชุมชน จึงนำสิ่งที่ได้ศึกษาเหล่านี้ มาพิจารณากำหนดทิศทางการจัดการศึกษานอกระบบของสถานศึกษา โดยกำหนดโครงสร้างทิศทางการจัดศึกษา ไว้ดังนี้

1. ปรัชญา

การศึกษาตลอดชีวิต คิดเป็นและพอเพียง

2. วิสัยทัศน์

การศึกษามีคุณภาพ ให้อาชีพหลากหลาย ก้าวสู่อาเซียน เพื่อชีวิตพอเพียงและยั่งยืน

3. อัตลักษณ์

ใฝ่เรียนรู้ คิดเป็น

4. เอกลักษณ์

ใฝ่เรียนรู้


5. พันธกิจ

5.1 จัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

5.2 ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและชุมชน ในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

5.3 ส่งเสริมและพัฒนาการนําเทคโนโลยีทางการศึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

5.4 พัฒนาหลักสูตร รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สื่อและนวัตกรรม การวัดและประเมินผลในทุกรูปแบบ

5.5 พัฒนาบุคลากรและระบบการบริหารจัดการเพื่อมุ่งจัดการศึกษาที่มีคุณภาพโดยยึดหลักธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วม

6. เป้าหมาย

6.1 ผู้เรียน/ผู้รับบริการ ได้รับการศึกษาที่หลากหลายรูปแบบตามความสนใจและความถนัดอย่างมีคุณภาพ

6.2 ผู้เรียน/ผู้รับบริการ ได้รับการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำอย่างยั่งยืน

6.3 ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ

6.4 สถานศึกษานำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้บริการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ

6.5 พัฒนาบุคลากรและระบบบริหารจัดการปฏิบัติงานและการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมี

คุณภาพ

หลักการของการจัดการศึกษานอกระบบ

หลักการจัดการศึกษานอกระบบ ยึดหลักการและความมุ่งหมายโดยภาพรวมตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ควบคู่กับหลักการการศึกษานอกระบบ หลักความเสมอภาค การมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบ กระบวนการเรียนรู้ ความหลากหลาย ความยืดหยุ่น การบูรณาการ การกระจายอำนาจ เพื่อให้การศึกษานอกระบบเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

ความเชื่อพื้นฐานของการจัดการศึกษานอกระบบ เป็นความเชื่อที่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า การศึกษาอาจเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น การศึกษานอกระบบอาจพิจารณาได้ 2 มิติ คือ

มิติที่ 1 เป็นการศึกษาที่จัดขึ้นนอกเหนือจากที่จัดในโรงเรียน โดยมีหลักสูตรวิธีการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลเช่นเดียวกัน แต่ก็มีความยืดหยุ่นสามารถปรับให้เหมาะสมกับสภาพของชุมชน ผู้เรียนสามารถนำเนื้อหาจากสภาพแวดล้อม หรือความต้องการของผู้เรียนมากำหนดเป็นหลักสูตรก็ได้ แนวคิดดังกล่าวให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิต จิตใจ มีอารมณ์ มีศักด์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพที่จะเลือกและตัดสินใจ สามารถรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนตัดสินใจ เป็นมนุษย์ที่พัฒนาได้ด้วยตนเอง มิใช่เครื่องจักรหรือผู้จำนนที่จะถูกใครบังคับชี้นำได้ โดยไม่ยินยอม มนุษย์เป็นผู้ที่สามารถคิดเองได้ สามารถคิดเป็น รู้จักผิดชอบชั่วดี ประเด็นสำคัญคือ มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มิใช่ถูกสอน เมื่อเขาปรารถนาที่จะเรียน ก็จะขวนขวายที่จะเรียน และสามารถเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งจนนำความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว และชุมชนของตนได้

มิติที่ 2 เป็นการศึกษาที่จัดขึ้นสำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน เป็นผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่โรงเรียนจัดให้ได้ โดยข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนทางด้านร่างกาย จิตใจ ที่สำคัญคือส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในการใช้ชีวิตและการทำงานมาระดับหนึ่ง สามารถรับผิดชอบตนเองได้ การจัดการศึกษาจึงใช้หลักการสอนผู้ใหญ่ (Andragogy) เป็นหลักการสำคัญ นั่นก็คือ เป็นการจัดการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และครูผู้สอนในการวางแผนการเรียนร่วมกัน ต้องเข้าใจเหตุผลของการเรียน มีเป้าหมายของการเรียนที่ชัดเจน ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีเรียนที่เหมาะสมกับตนเองได้ ผู้เรียนจึงเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ที่จะร่วมตัดสินใจกับกลุ่มเพื่อนและครูว่าจะเรียนอะไร อย่างไร มีส่วนร่วมในการประเมินผลการเรียนของตนเอง ผู้จัดการศึกษาสำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบโรงเรียนจะต้องเข้าใจธรรมชาติ จิตใจและอารมณ์ของกลุ่มเป้าหมายและจัดโอกาสให้เรียนด้วยตนเอง เรียนจากของจริง เอาความรู้และประสบการณ์จากการทำงานมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ด้วย การออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งด้านร่างกาย ความคิด จิตใจ สติปัญญา และสภาพแวดล้อม

ความเชื่อพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดการศึกษานอกระบบ ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นของประเทศไทย คือ ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนต้องการความสุขเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต การคิดตัดสินใจ การเลือกกระทำหรือไม่กระทำใด ๆ ล้วนใช้เหตุผล ข้อมูลประกอบการคิดอย่างรอบด้านอย่างน้อย 3 ด้าน คือ ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ทั้งด้านร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจ ฐานะความเป็นอยู่ ข้อมูลเกี่ยวกับสังคม ทั้งสังคม วัฒนธรรม ประเพณีและสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลทางวิชาการคือความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนั้น ๆ การคิดแบบคิดเป็นจึงเป็นการใช้ข้อมูลประกอบการคิดอย่างรอบด้าน นำมาสู่การตัดสินใจเลือกที่จะเชื่อ เลือกที่จะกระทำ โดยสามรถอธิบายเหตุผลของตนเองได้ ซึ่งความคิดของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป การจัดการศึกษานอกระบบ จึงต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง หัวใจสำคัญ คือการยอมรับและเคารพในการตัดสินใจของผู้เรียน ซึ่งเป็นรากฐานของความเป็นประชาธิปไตย ในระดับพื้นฐานด้วย

กลุ่มเป้าหมายการศึกษานอกระบบส่วนมากเป็นเยาวชนและผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีวุฒิภาวะ มีประสบการณ์ มีความรับผิดชอบในการประกอบอาชีพ ดูแลครอบครัว และมีข้อจำกัดมากมายในการเรียนรู้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ไม่เหมือนกับเด็ก เพราะมีอะไรที่แตกต่างกันหลายอย่าง เช่น ความคิดอ่าน ประสบการณ์ ความพร้อม การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจึงจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับความต้องการและธรรมชาติของผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม นำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง

การศึกษานอกระบบเป็นกระบวนการของการศึกษาตลอดชีวิต มีภารกิจสำคัญที่มุ่งให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการศึกษาพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตตามมาตรฐานของสังคมซึ่งเป็นสิทธิที่คนทุกคนพึงได้รับ นอกจากนั้นยังจะต้องได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่องจากการศึกษาพื้นฐานนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาชุมชนและสังคมในที่สุด

การจัดกระบวนการเรียนรู้ การศึกษานอกระบบจึงยึดหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ หลักความเสมอภาคทางการศึกษา หลักการพัฒนาตนเองและการพึ่งพาตนเอง หลักการบูรณาการการเรียนรู้และวิถีชีวิต หลักความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และหลักการเรียนรู้ร่วมกันและการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนี้(สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน.2546 : 3-4)

1. หลักความเสมอภาคทางการศึกษา กลุ่มเป้าหมายของการศึกษานอกระบบส่วนมากเป็นผู้พลาดโอกาส และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ซึ่งอาจมีความแตกต่างทางด้านสถานภาพในสังคม อาชีพเศรษฐกิจ และข้อจำกัดต่าง ๆ ในการจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้การศึกษานอกระบบต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ หากแต่สร้างความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน

2. หลักการพัฒนาตนเองและการพึ่งพาตนเอง การจัดการศึกษานอกระบบจะต้องจัดการเรียนการสอน และกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตน สามารถเรียนรู้ เกิดความสำนึกที่จะพัฒนาตนเองได้ เป็นคนคิดเป็น ปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนด้วยตนเอง พึ่งพาตนเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุขท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม

3. หลักการบูรณาการการเรียนรู้กับวิถีชีวิต หลักการนี้อยู่บนพื้นฐานของการจัดการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับสภาพปัญหา วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นของผู้เรียน ซึ่งป็นหลักการที่สำคัญในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา สิ่งดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้เป็นลักษณะของการบูรณาการจึงมีความเหมาะสม โดยบูรณาการสาระต่าง ๆ เพื่อการเรียนรู้ และบูรณาการวิธีการจัดการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการคุณภาพชีวิตของผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวม

4. หลักความสอดคล้องกับปัญหาความต้องการและความถนัดของผู้เรียน หลักการนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักความต้องการของตนเอง สามารถจัดการศึกษาให้กับตนเองได้อย่างเหมาะสม ครู กศน. มีบทบาทในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนร่วมกำหนดวัตถุประสงค์ สาระการเรียนรู้ วิธีการเรียน และการประเมินผลการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการการศึกษานอกระบบที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ

5. หลักการเรียนรู้ร่วมกันและการมีส่วนร่วมของชุมชน การเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มผู้เรียนนับว่าสำคัญ เป็นการส่งเสริมและสร้างกัลยาณมิตรในกลุ่มผู้เรียน ก่อให้เกิดความร่วมมือความผูกพัน เอื้ออาทร การช่วยกันและกัน ปลูกฝังวินัยในตนเอง ฝึกความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นสำหรับผู้เรียนที่มีวุฒิภาวะ สำหรับการมีส่วนร่วมของชุมชน ก็นับว่าเป็นหลักการสำคัญในการจัดการศึกษานอกระบบ ชุมชนสามารถเข้ามาร่วมในการจัดทำหลักสูตร สถานศึกษา การจัดสรรทรัพยากรเป็นแหล่งเรียนรู้ และสนับสนุนในเรื่องอื่น ๆ เพื่อผลิตผู้เรียนที่เป็นสมาชิกที่ดีของชุมชนต่อไป

คิดเป็น

แนวความคิดเรื่องคิดเป็นมีองค์ประกอบที่สำคัญในเชิงปรัชญา 3 ส่วน กล่าวคือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ คือ ความสุข มนุษย์จึงแสวงหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะมุ่งไปสู่ความสุขนั้น แต่เนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างกันโดยพื้นฐานทั้งทางกายภาพ อารมณ์ สังคม จิตใจและสภาวะแวดล้อม ทำให้ความต้องการของคนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การให้คุณค่าและความหมายของความสุขของมนุษย์จึงแตกต่างกัน การแสวงหาความสุขที่แตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนแต่ละคน การตัดสินใจนั้น จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ซึ่งโดยหลักการของการคิดเป็น มนุษย์ควรจะใช้ข้อมูลอย่างน้อย 3 ด้าน คือ ข้อมูลตนเอง ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ทั้งทางด้านกายภาพ สุขภาพอนามัยความพร้อมต่าง ๆ ข้อมูลสังคม ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ครอบครัว สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ค่านิยมตลอดจนกรอบคุณธรรม จริยธรรม และข้อมูลทางวิชาการ คือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องคิด ตัดสินใจนั้น ๆ ว่ามีหรือไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้หรือไม่ การใช้ข้อมูลอย่างรอบด้านนี้จะช่วยให้การคิดตัดสินใจเพื่อแสวงหาความสุขของมนุษย์เป็นไปอย่างรอบคอบ เรียกวิธีการคิดตัดสินใจนี้ว่า “คิดเป็น” และเป็นความคิดที่มีพลวัต คือ ปรับเปลี่ยนได้เสมอ เมื่อข้อมูลเปลี่ยนแปลงไป เป้าหมายชีวิตเปลี่ยนไป

กระบวนการคิดเป็น

กระบวนการคิดเป็นอาจจำแนกให้เห็นขั้นตอนต่าง ๆ ที่ประกอบกันเข้าเป็นกระบวนการคิดได้ ดังนี้(สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน.2547:31-32)

ขั้นที่ 1 การระบุปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่

ขั้นที่ 2 การศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและสถานการณ์นั้น ๆ โดยจำแนกข้อมูลออกเป็น 3 ประเภท คือ

ข้อมูลสังคม : ได้แก่ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวปัญหา สภาพสังคมของแต่ละบุคคล ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชนและสังคมทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม เป็นต้น

ข้อมูลตนเอง : ได้แก่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคล ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นข้อมูลทั้งทางด้านกายภาพ ความพร้อมทั้งทางอารมณ์ จิตใจ เป็นต้น

ข้อมูลทางวิชาการ : ได้แก่ข้อมูลด้านความรู้ในเชิงวิชาการที่จะช่วยสนับสนุนในการคิดการดำเนินงาน

ขั้นที่ 3 การสังเคราะห์ข้อมูลทั้ง 3 ด้าน เข้ามาช่วยในการคิดหาทางแก้ปัญหาภายในกรอบแห่งคุณธรรม ประเด็นเด่นของขั้นตอนนี้คือระดับของการตัดสินใจที่จะแตกต่างกันไปแต่ละคนอันเป็นผลเนื่องมาจากข้อมูลในขั้นที่ 2 ความแตกต่างของการตัดสินใจดังกล่าว มุ่งไปเพื่อความสุขของแต่ละคน

ขั้นที่ 4 การตัดสินใจ เป็นขั้นตอนสำคัญของแต่ละคนในการเลือกวิธีการหรือทางเลือกในการแก้ปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าผลของการตัดสินใจนั้นพอใจหรือไม่ หากไม่พอใจก็ต้องทบทวนใหม่

ขั้นที่ 5 เป็นการปฏิบัติตามสิ่งที่ได้คิดและตัดสินใจแล้ว

ผู้เรียบเรียง นางสาวณัจฉรียา เทศนา

แหล่งที่มา ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี