แหล่งเรียนรู้ชุมชน"วัดป่าก่อ"

ประวัติวัดป่าก่อ วัดป่าก่อตั้งอยู่ที่บ้านป่าก่อ หมู่ ๑๐ ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เริ่มก่อสร้างเป็นอารามที่พำนักสงฆ์ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ โดยความร่วมมือ ร่วมรง ร่วมใจ ของชาวบ้านป่าก่อ นำโดยพระสมศักดิ์ วงศ์อ้าย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่บ้านป่าก่อ ด้วยสำนึกรักบ้านเกิด เห็นว่าหมู่บ้านป่าก่อเป็นชุมชนขนาดกลาง สมควรมีวัดเพื่อประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา จึงได้ปรึกษาหารือนายสุภา ตาแก้ว ผู้ใหย่บ้านป่าก่อในขณะนั้น ผู้เฒ่าผู้แก้อาวุโสศรัทธาพี่น้องชาวบ้าน ว่าสมควรจะสร้างอารามที่พำนักสงฆ์ขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อจะได้ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา ไม่ต้องไปทำบุญที่หมู่บ้านอื่นซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป ในลำดับแรกหลังจากที่ประชุมมีมติให้สร้างเป็นอารามที่พำนักสงฆ์ ได้รับการสนับสนุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรมจำนวน ๑ หลังจากองค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนปม ต่อมาพระสมศักดิ์ วงศ์อ้ายได้ทำโครงการเสนอไปยังสภานิสิตวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ได้รับงบประมาณสร้างกุฏิที่พำนักสงฆ์ จำนวน ๑ หลัง เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐.-บาท ในการสร้างกุฏิที่พำนักสงฆ์ งบประมาณที่ได้รับใช้จ่ายเป็นค่าวัสดุ ส่วนการก่อสร้าง ใช้แรงงานจากชาวบ้านช่วยกันจนเสร็จ และทำพิธีถวายกุฏิพำนักสงฆ์ในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยใช้ชื่อกุฏิที่พำนักสงฆ์ว่า"กุฏิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช ๘๐ พรรษา"

แผนที่แสดงที่ตั้งวัดป่าก่อ

ประวัติวัดป่าก่อ (ต่อ) พรรษาแรกหลังจากสร้างอารามที่พำนักสงฆ์ป่าก่อแล้วเสร็จ พระสมศักดิ์ วงศ์อ้าย ไม่สามารถอยู่จำพรรษาที่อารามที่พำนักสงฆ์ได้ เพราะติดศาสนกิจ จึงได้ปรึกษากับพระสหาย(เพื่อน)คือพระอาจารย์กฤษณ์ ขันติโก จำพรรษาพำนักอยู่ที่วัดช้างรอง ตำบลในเมือง จังหวัดลำพูนมาอยู่จำพรรษา เป็นประธานอารามที่พำนักสงฆ์ป่าก่อ ศรัทธาชาวบ้านจึงได้ไปกราบอาราธนานิมนต์ ขออนุญาตจากพระครูโสภิตปุญญาคม เจ้าอาวาส วัดช้างรอง อาราธนานิมนต์ พระอาจารย์กฤษณ์ ขันติโก มาจำพรรษา พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียน ไป-กลับ จากอารามที่พำนักสงฆ์ป่าก่อ ไปเรียนในจังหวัดลำพูน ระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตรจนสำเร็จในระดับปริญญาตรี พร้อมกับพัฒนาอารามที่พำนักสงฆ์ไปพร้อมกัน
ศาลาปฏิบัติธรรม (หลังใหม่) พระอาจารย์กฤษณ์ ขันติโก มีความซาบซึ้งในน้ำใจของชาวบ้านป่าก่อ ได้พำนักและปฏิบัติธรรม อยู่ที่อารามที่พำนักสงฆ์ป่าก่อ ตั้งแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ ได้ทำการสร้างศาลาปฏิบัติธรรมทรงไทย ๒ ชั้น ก่ออิฐถือปูน เพราะศาลาที่มีอยู่เป็นศาลาชั้นเดียวพื้นที่ใช้สอยค่อนข้างคับแคบโดยเฉพาะในฤดูฝน ฝนจะสาดเข้ามาในศาลา วัตถุประสงค์ของการสร้างศาลาปฏิบัติธรรมทรงไทย ๒ ชั้น เพื่อจะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ด้านบนของศาลาให้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธานของวัดใช้เป็นพื้นที่แสดงธรรมอบรมแก่พระภิกษุสามาเณรในวัด ญาติธรรม ตลอดจนเป็นที่ประชุมทำสังฆกรรมร่วมกัน ศาลาปฏิธรรมหลังใหม่วางศิลาฤกษ์เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำเดือนเกี๋ยง(ล้านนา) ทั้งนี้ศาลาปฏิบัติธรรมได้รับการสนับสนุนจากญาติโยม พุทธบริษัท มาอย่างต่อเนื่องพระอาจารย์กฤษณ์ ขันติโก ยึดวิธีการก่อสร้างในแนวคิดแบบพอเพียงโดยใช้แรงงานชาวบ้านเป็นหลัก ทำให้ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจมีความรู้สึกรักถิ่นกำเนิดมากขึ้น ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๗ ปี ๔ เดือน ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น ๕,๕๖๑,๙๗๖.-บาท (ห้าล้านห้าแสนหกหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยเจ็ดสิบหกบาทถ้วน) ปัจจุบันวัดป่าก่อมีเนื้อที่รวม ๑๕ ไร่มีศาลาปฏิบัติธรรม(เดิม) ๑ หลัง ศาลาปฏิบัติธรรม ๒ ชั้น ๑ หลัง หอระฆัง ๑ หลัง มีกุฎิพระ ๕ หลัง เรือนพักฆราวาส ๑ หลัง เรือนครัว ๑ หลัง ถังเก็บน้ำคอนกรีต ๔ ถัง ห้องน้ำ ๒๑ ห้อง (ฆาราวาส ๑๕ ห้อง พระสงฆ์ ๖ ห้อง)ใช้ระบบประปาหมู่บ้าน 

ทำพิธีมอบถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา 

วันเสาร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๐

ปัจจุบัน อารามบ้านป่าก่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวัดอย่างเป็นทางการ ตามประการศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ โดยมีพระอาจารย์กฤษณ์ ขันติโก เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าก่อ

วัดป่าก่อเป็นแหล่งจัดการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง

วัดป่าก่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ให้กับประชาชนในการประกอบศาสนกิจอย่างต่อเนื่อง

วัดป่าก่อมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันวัดป่าก่อกำลังดำเนินการก้อสร้างพระเจดีย์ขันติธนาเดชภักดีศรีหริภุณชัย
ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างพระเจดีย์ขันติธนาเดชภักดีศรีหริภุณชัย
การก่อสร้างเจดีย์ขันติธนาเดชภักดีศรีหริภุณชัย ล่าสุด ๒๗ มกราคม ๒๕๖๖

ผู้ให้ข้อมูล พระอาจารย์กฤษณ์ ขันติโก เจ้าอาวาสวัดป่าก่อ

ภาพถ่าย พระอาจารย์กฤษณ์ ขันติโก เจ้าอาวาสวัดป่าก่อ

ผู้เก็บข้อมูล นายสิทธิพงษ์  อุ่นจิตต์ ครู ศศช.บ้านป่าก่อ