จุลกฐิน วัดป่าก่อ


ผ้าไตรจีวรพร้อมทั้งบริวาน ถักทอจากฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ หลังจากเสร็จกิจกรรม

ฝ้ายแก่จะถูกจัดเก็บเพื่อเตรียมปั่นฝ้าย

นำฝ้ายมาตีแยกเมล็ดฝ้าย

ปั่นฝ้ายเป็นเส้นเพื่อนำไปย้อมสี

วัตถุดิบในการย้อมสีคือเปลือกไม้แดง

สีที่ได้จากการต้มเปลือกไม้แดง

ต้องคนเพื่อให้ได้สีตามต้องการ

สีที่ได้จากการย้อม

ฝ้ายที่ย้อมเรียบร้อยใส่กระสวยรอวันทอ

กระสวยและม้วนฝ้ายสำหรับใช้ทอผ้าไตรจีวร

จัดเตรียมสถานที่สำหรับทอผ้าไตรจีวร เริ่ม 00.00น.

สมาชิกระดมกันมาทอตามเวลานัดหมาย ด้วยกี่เอวจำนวน 15 หลัง

นำผ้าไตรจีวรมาวัดขนาดและเตรียมกำหนดลายตามผ้าไตรจีวร

ตัดเย็บผ้าไตรจีวรตามแบบ

"จุลกฐิน“ หรือ ”กฐินแล่น" นั้น ชื่อกฐินเล็ก แต่อานิสงส์ยิ่งใหญ่เหลือ

เพราะเป็นพิธีทอดกฐินที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนหมู่มาก เจ้าภาพผู้ที่คิดจะทำ

จุลกฐินเพื่อทอดถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่งจะต้องมีบารมี มีพวกพ้องคอยช่วยเหลือกันเพื่อจัดทำผ้าไตรจีวรขึ้นเป็นผ้ากฐิน เริ่มตั้งแต่การนำฝ้ายแก่ที่อยู่ในฝักซึ่งมีปริมาณมากพอที่จะทำเป็นจีวรได้ผืนใดผืนหนึ่ง ทำพิธีสมมติว่าฝ้ายจำนวนนั้นได้มีการหว่านแตกงอก ออกต้น เติบโต ผลิดอก ออกฝักแก่สุก เก็บมาอิ้วเอาเมล็ดออก ดีดเป็นผง ทำเป็นเส้นด้าย เบียออกเป็นไจ กรอออกเป็นเข็ด แล้วฆ่าด้วยน้ำข้าว ตากให้แห้ง ใส่กงปั่นเส้นหลอด ใส่กระสวยเครือแล้วทอเป็นผืนผ้าตามขนาดที่ต้องการ นำไปตัดเย็บและย้อมสีตลอดจนได้ทำการทอดเป็นผ้ากฐินถวายให้แล้วเสร็จภายในวันนั้น โดยใช้เวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง   จุลกฐินนี้มักทำกันเมื่อจวนจะหมดเขตกฐินกาลแล้ว หรือสิ้นสุดช่วงการทอดกฐิน

ในโอกาสนี้ถือเป็นครั้งแรกของอำเภอทุ่งหัวช้าง โดยท่านเจ้าอาวาส #วัดป่าก่อ “พระอาจารย์กฤษณ์ ปัญญาฟู” ท่านได้ดำริที่จะฟื้นคืนวิถีพุทธดั้งเดิมและวิถีฝ้ายปั่นมือ ทอมือผ่านงานจุลกฐิน ด้วยศรัทธาของพี่น้องชุมชนปกากญอ 3 เครือข่ายของตำบลตะเคียนปม

งานจุลกฐินและยกยอดฉัตรพระเจดีย์จะมีขึ้นในวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2567 

เพื่อเป็นการร่วมกันค้ำชูพระพุทธศาสนาด้วยศรัทธาที่ผ่องใสบริสุทธิ์และรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามนี้ให้คงอยู่กับประเทศไทยต่อไป ขอเชิญเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่สนใจจะร่วมบุญครั้งนี้สามารถติดต่อเข้ามาได้ เพื่อที่จะได้ทำการรวบรวมนำส่งให้กับท่านเจ้าอาวาสวัดป่าก่อต่อไป