จักสานไม้ไผ่ไทเลย (นายแปลง วงษาเสนา)

บ้านเลขที่ 50 หมู่ที่ 1 บ้านกลาง ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

การจักสาน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน และเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันเฉลียวฉลาดของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ที่สามารถนำวัสดุในชุมชน มาประยุกต์ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน สะท้อนให้เห็นความรู้ที่ได้สั่งสม และปฏิบัติสืบทอดต่อเนื่องกันมา จากอดีตจวบจนปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”

นายแปลง วงษาเสนา ถือกำเนิด ณ บ้านกลาง หมู่ที่ 1 ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นผู้ที่มีความสนใจในการจักสานไม้ไผ่ โดยได้รับการสอนและฝึกทักษะจากบิดา อีกทั้งเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความตั้งใจ และชอบในงานจักสานไม้ไผ่ จึงได้ประดิษฐ์เครื่องใช้จากการจักสานไม้ไผ่ และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยใช้การรมควัน ซึ่งเป็นกรรมวิธีในการทำให้เกิดสี และป้องกันมอดหรือแมลงมากัดกิน ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดกระเป๋าหูไม้ เป็นผลิตภัณฑ์อีกชิ้นหนึ่งที่ได้ดัดแปลง และพัฒนาให้เกิดความประณีตสวยงาม

ภูมิหลังภูมิปัญญาจักสานไทเลย
นายแปลง วงษาเสนา เป็นบุตรชายคนที่ 4 มีพี่น้องร่วมบิดามาดาเดียวกัน 6 คน บิดาชื่อนายไข วงษาเสนา มารดาชื่อนางพร วงษาเสนา เกิดเมื่อวันที่ 13 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2496 จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 นายแปลง วงษาเสนา เป็นผู้ที่มีนิสัยรักการแสวงหา เรียนรู้ คิดค้น ออกแบบสร้างสรรค์ สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเองอย่างจริงจังต่อเนื่อง ทำให้มีทักษะ ความชำนาญ และมีความสามารถหลายอย่าง อาทิ การวาดภาพ การแกะสลักไม้ การจักสาน ช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ และการเกษตร ฯลฯ

จากการเป็นผู้ใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา และมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว หลังจากได้รับการฝึกทักษะเกี่ยวกับการจักสานย่านลิเภามาแล้ว นายแปลง วงษาเสนา ได้นำความรู้ที่มีอยู่มาคิดต่อยอด ดัดแปลง และออกแบบงานจักสานไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุภายในท้องถิ่น เพื่อมาทดแทนย่านลิเภา ที่ปัจจุบันเริ่มหายาก และผลิตชิ้นงานบนพื้นฐานงานจักสานย่านลิเภา นำมาประยุกต์ผสมผสานเป็นภูมิปัญญาใหม่ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และชุมชนยอมรับในแง่ของการเพิ่มมูลค่าให้กับไม้ไผ่ที่เป็นทรัพยากรชุมชนได้เป็นอย่างดี

นายแปลง วงษาเสนา ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการขยายงานจักสานไม้ไผ่ไปสู่ชุมชน โดยการจัดตั้งกลุ่มจักสานไทเลย ขึ้น ซึ่งได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดวิชาจักสานไม้ไผ่ ให้กับเยาวชน เช่น นักเรียนโรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม กลุ่มสตรีและเยาวชนสหกรณ์บ้านกลาง นอกจากนี้ ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ได้แก่ ชุมชนในพื้นที่ตำบลโคกขมิ้น ชุมชนในพื้นที่อำเภอภูเรือ ชุมชนในพื้นที่อำเภอเชียงคาน และชุมชนในพื้นที่อำเภอภูกระดึง โดย ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดส่งเสริมอาชีพมาโดยตลอด

จุดเด่นของงานจักสานไม้ไผ่ไทเลย เริ่มจากการนำไม้ไผ่มารีดเป็นตอกเส้นเล็ก ๆ จากนั้นนำไปย้อมสีด้วยวิธีธรรมชาติ โดยการนำไม้ตอกมารมควัน จนได้สีน้ำตาลเข้ม การรมควันใช้เชื้อเพลิงจากเศษวัสดุธรรมชาติ เช่น ซังข้าวโพด ใบตะไคร้ เป็นต้น จากนั้นนำมาสานเป็นแผ่น หรือขึ้นรูปทรงสามมิติต่าง ๆ

วิดีโอแหล่งเรียนรู้ กลุ่มจักสานไทเลย
โดย ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
https://www.youtube.com/watch?v=Ard8DL4GyB8&t=7s

การเดินทาง บ้านกลาง ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย อยู่ห่างจากอำเภอเมืองเลย ประมาณ 40 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางอำเภอเมืองเลย-อำเภอวังสะพุง ระยะทาง 23 กิโลเมตร จากนั้นถึงสี่แยกวังสะพุง ให้แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 210 (ทางไปจังหวัดอุดรธานี) จนถึงสี่แยกบ้านวังไห่ ให้แยกขวาไปตามถนนทางหลวงชนบท (รพช.) อีก 7 กิโลเมตร ถึงจุดหมาย

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวชัญญาพัชร์ แสนบุ่งค้อ

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวชัญญาพัชร์ แสนบุ่งค้อ และ ครู กศน.อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย