พระธาตุกุดเฮือคำ

"ศูนย์ประวัติศาสตร์ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2"
โรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาวตำบลทรายขาว  อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย

“บ้านทรายขาว” หมู่บ้านริมแม่น้ำเลยในตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างน้อยตั้งแต่สมัยล้านช้างหรือราวพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ดังปรากฏร่องรอยทั้งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี 

เสมาหินหน้าอุโบสถวัดกู่คำ บ้านทรายขาว พบจากการปรับพื้นดินด้านหน้าอุโบสถ 

พระธาตุเฮือคำ หรือ พระธาตุกุดเฮือคำ เฮือ หมายถึง เรือ และ คำ หมายถึง ทองคำ ตั้งอยู่ที่วัดกู่คำหมู่ที่ 5 บ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นพระธาตุก่ออิฐฉาบปูน ที่สร้างครอบเรือทองคำไว้ บ้างก็ว่าหัวเรือทองคำ การสันนิษฐานสร้างเสร็จราว พ.ศ. 1900 ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าฟ้าร่มขาว เจ้าเมืองเซไลคนแรก เพื่อบรรจุเรือหรือหัวเรือทองคำที่นำพระอัฐิของเจ้าหล้าคำแดง เจ้ามหาชีวิตแห่งหลวงพระบาง บ้างก็ว่าเป็นพระสหายของเจ้าฟ้าร่มขาว บ้างก็ว่าเป็นพระราชบิดา ล่องทวนน้ำมาแต่ลำน้ำโขงแล้ววกเข้าสู่แม่น้ำเลยทางเมืองเชียงคานตามคำอธิษฐานของเครือญาติ จนมาถึงท่าสรงน้ำของเจ้าฟ้าร่มขาว หยุดอยู่วังวนน้ำลึก เจ้าฟ้าร่มขาวรับสั่งให้เสนาอำมาตย์เสี่ยงทายและนำพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ที่หอโฮงการ ส่วนเรือหรือหัวเรือทองคำได้ก่อกู่ครอบไว้เพราะเกรงว่าจะสูญหาย กู่ หมายถึง สถูป เจดีย์ และเป็นที่มาของนามวัดกู่คำ ปัจจุบันพระธาตุเฮือคำนี้ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนหน้าวัดกู่คำ ด้านขวาของพระธาตุเป็นหอโฮงของเจ้าฟ้าร่มขาว ส่วนด้านหลังพระธาตุเป็นสะพานเจ้าฟ้าร่มขาวที่สร้างข้ามลำน้ำเลย ผู้ศรัทธาสามารถเข้าไปกราบสักการะขอพรภายในกำแพงได้ แต่มีข้อห้ามมิให้เข้าไปในองค์พระธาตุ พระธาตุเฮือคำแห่งนี้นับว่าเป็นหลักฐานสักขีพยานความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหลวงพระบาง-เลย และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่กับชาวบ้านทรายขาวมาช้านาน

กู่คำ หรือ พระธาตุเฮือคำ ประดิษฐานอยู่กลางวงเวียน นอกรั้ววัดกู่คำทางทิศใต้ ริมแม่น้ำเลย

 ศูนย์ประวัติศาสตร์พระธาตุเฮือคำ ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว หมู่ 5 ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ตรงข้ามวัดเทิง (ร้าง) โบราณสถานสมัยล้านช้าง ลักษณะอาคารของศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ  เป็นห้องก่ออิฐที่ใต้ถุนอาคารไม้ที่เป็นห้องเรียนระดับอนุบาล อาคารแห่งนี้เดิมเป็นอาคารไม้ใต้ถุนเตี้ยจนเกือบติดระดับพื้นดิน  และมีศูนย์ไอทีที่ใต้ถุนอาคาร

ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีประตูทางเข้า 2 ประตู คือประตูด้านซ้ายและขวา การจัดแสดงมีทั้งข้อมูลตัวหนังสือ ภาพถ่าย และวัตถุ โดยจัดวางเรื่องราวเป็นกลุ่มตามอายุสมัยและประเภทของวัตถุ     แต่ภายในแต่ละกลุ่มมีทั้งที่เรียงตามสมัยและไม่เรียงตามสมัย วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่ได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านในพื้นที่  การจัดแสดงเริ่มจากการนำเสนออุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ของชาวบ้านทรายขาวในอดีต ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ได้แก่ อุปกรณ์จักสานสำหรับดักปลา จับปลา และใส่ปลา เครื่องหีบอ้อย กระเดื่องตำข้าว แอก เกวียน กระติ๊บ กระด้ง หม้อดินเผา อุปกรณ์ทอผ้า เครื่องโม่เมล็ดพืชทำจากหิน เป็นต้น โดยมีป้ายคำบรรยายให้รายละเอียดวัตถุ 

ส่วนถัดไปนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์พื้นที่บ้านทรายขาวที่ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อนเป็นส่วนหนึ่งของ “เมืองทรายขาว” (เมืองซายขาว, เมืองเซเลอลิว, เมืองเซไล) เมืองโบราณสมัยล้านช้าง ผ่านทางป้ายคำบรรยายและภาพถ่าย เช่น ประวัติและภาพถ่ายพระธาตุเฮือคำ (กู่คำ) สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองทรายขาว ประวัติและภาพถ่ายพระบางเมืองทรายขาว (พระพุทธรัตนมหณีศีเมืองซายขาว) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองทรายขาว ข้อมูลของประวัติเมืองทรายขาวและบ้านทรายขาว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน ประวัติพระธาตุศรีสองรัก ประวัติโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว และประวัติบุคคลสำคัญของชุมชน โดยมีการจัดแสดงของใช้ในอดีตปะปนอยู่ในส่วนนี้ด้วย เช่น   ขันกระหย่องและร่มกระดาษ  ส่วนสุดท้ายจัดแสดงแสดงหิน แร่ ข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของชาวบ้านทรายขาว เช่น พระพุทธรูปไม้ จักรเย็บผ้า ปืน วิทยุ ธนบัตร ภาชนะทองเหลือง กระโถนโลหะ เครื่องถ้วย เตารีดถ่าน  เป็นต้น รวมถึงข้อมูลพระเถระรูปสำคัญของจังหวัดเลย 

“ศูนย์ประวัติศาสตร์พระธาตุเฮือคำ”  ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในวันและเวลาราชการ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ แต่ทั้งนี้ควรติดต่อขอเข้าชมกับทางโรงเรียนก่อน    ที่เบอร์โทรศัพท์ 042-076-119 โทรสาร 042-076-119 

การเดินทางจากตัวอำเภอวังสะพุง ใช้ทางหลวงหมายเลข 2016 มุ่งหน้าทางทิศใต้สู่ตำบลทรายขาว ประมาณ 11 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่บ้านทรายขาว (สังเกตป้ายวัดกู่คำและโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาว) ประมาณ 100 เมตร จะพบโรงเรียนชุมชนบ้านทรายขาวและโบราณสถานวัดเทิง

ข้อมูลเนื้อหา โดย โรงเรียนทรายขาววิทยา อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

                                        เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวชัญญาพัชร์  แสนบุ่งค้อ

                                        ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย กศน.ตำบลทรายขาว /โรงเรียนทรายขาววิทยา