การแต่งกายแบบไทลื้อ

วัฒนธรรมการแต่งกายแบบไทลื้อบ้านกล้วยแพะลำปาง

ไทลื้อ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มหนึ่งที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในเขตสิบสองพันนา (ปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน) ชาวไทลื้อได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานหลายต่อหลายครั้ง ในประเทศไทย ชาวไทลื้อได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน และลำปาง


การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ไทลื้อคือ ผ้าซิ่น ของผู้หญิงไทลื้อ ที่เรียกว่า “ซิ่นตา” ซึ่งเป็นผ้าซิ่นที่มี ๒ ตะเข็บ มีลักษณะโครงสร้างประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ หัวซิ่นสีแดง ตัวซิ่นลายขวางหลากสีต่อตีนซิ่นสีดำ ความเด่นอยู่ที่ตัวซิ่น ซึ่งมีริ้วลายขวางสลับสีสดใส และตรงช่วงกลางมีลวดลายที่ทอด้วยเทคนิคขิด จก เกาะหรือล้วง เป็นลายรูปสัตว์ในวรรณคดี ลายพรรณพฤกษา และลายเรขาคณิต จากการศึกษากลุ่มไทลื้อในประเทศไทย พบว่า เอกลักษณ์การทอผ้าที่สำคัญของกลุ่มชนนี้ คือ การทอผ้าด้วยเทคนิค เกาะหรือล้วง (Tapestry Weaving) หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่า “ลายน้ำไหล” ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีความยุ่งยากซับซ้อน แต่ทำให้เกิดลวดลายและสีสันที่งดงามแปลกตา และเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะกลุ่มที่แตกต่างจากผ้าซิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มอื่นๆ

ในช่วงเวลา ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดกระแสการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างแพร่หลาย ความนิยมในการใช้ผ้าทอพื้นเมืองของไทย ทำให้เกิดการฟื้นฟูการทอผ้าพื้นเมืองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ผ้าทอในยุคปัจจุบัน ตลอดจน กลไกการตลาด ในเรื่องราคาและความนิยมของผู้บริโภค ทำให้กลุ่มทอผ้าแต่ละกลุ่มเกิดการเลียนแบบรูปแบบของผ้าทอซึ่งกันและกัน จนทำให้ผ้าทอในแต่ละแห่งสูญเสียเอกลักษณ์ดั้งเดิมของตนเองไป โดยเฉพาะผ้าทอเทคนิคเกาะล้วงของไทลื้อในประเทศไทย เกิดปัญหาการที่ชุมชนไทลื้อแต่ละกลุ่มทอผ้าเป็นลวดลายที่ได้รับความนิยมของตลาด จนลืมลวดลายและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เกิดภาวะสินค้าล้นตลาดจนอาจจะต้องเลิกทอผ้าไปในที่สุด ทำให้ขาดการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมของไทลื้อแต่ละกลุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง