การทอผ้าฝ้ายไทลื้อ

ไทลื้อจะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในเรื่องการทอผ้า โดยเฉพาะชุดไทลื้อของอำเภอเชียงคำจะเป็นอัตลักษณ์ มีเสื้อปั๊ด ผ้าถุงลายผักแว่น น้ำไหลผักแว่นเป็นชุดที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยลื้อเชียงคำ ทอด้วยเทคนิคเกาะมีลายประกอบทอด้วยเทคนิคขิด เสื้อผ้าของชาวไทลื้อจะมีการทอลวดลายที่บ่งบอกถึงฐานะทางสังคมของผู้ส่วมใส่ โดยผ้าของไทลื้อแยกออกเป็น ๒ ประเภทคือ ผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมและผ้าสำหรับใช้ในครัวเรือนผ้าที่ใช้ในครัวเรือน เช่น“ผ้าห่มต่ำก้าว” ที่ปัจจุบันหาคนทำไม่ได้แล้ว ต่ำก้าวเป็นภาษาลื้อมี ๒ ความหมาย คือ ๑.เป็นชื่อลาย ๒.เป็นวิธีการทำ “ต่ำ” แปลว่า การทอ “ก้าว” แปลว่า การง้างไม้เพื่อที่จะใส่ลายขึ้นแล้วสอดให้เกิดลวดลาย ผ้าห่มลายตาราง เรียกกันว่า “ผ้าห่มตาแสง” หรือ “ผ้าห่มสี่แป” หรือเรียกอีกอย่างว่า “ผ้าห่มตาโก้ง” เป็นผ้าฝ้ายทอยกดอก สีที่นิยมคือ สีดำ แดงขาว ทอให้เกิดเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ลวดลายมีขนาดเล็กสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เป็นการทอที่ยากลายใหญ่ซับซ้อนราคาแพง ปัจจุบันไม่นิยมใช้ แต่ก็ยังคงมีการทออยู่บ้าง ทางศูนย์ได้นำเอาลวดลายมาประยุกต์ใช้ในผ้าแบบต่างๆ