ลายผ้าปักชาวเขาเผ่าม้ง

ลวดลายของผ้าปักชาวม้ง กระบวนการทำผ้าเขียนเทียน แนวคิดในการออกแบบเสื้อ

ลวดลายผ้าปักของชาวเขาเผ่าม้งที่นิยมทำการปักและสืบทอดกันมานานนั้นมีลายแม่ 8 ลาย ปัจจุบันได้ผสมผสานลวดลายได้เป็น 14 ลาย ดังนี้

1.ลายไฮ

2.ลายก้นหอย

3.ลายดาว

4.ลายดอกไม้

5.ลายเท้าช้าง

6.ลายฟันเลื่อย

7.ลายเจดีย์

8.ลายหัวใจ

9.ลายดอกไม้ผสมดาว

10.ลายก้นหอยผสมดาว

11.ลายก้นหอยผสมลายก้าน

12.ลายก้นหอยผสมใบไผ่

13.ลายก้นหอยผสมลายลูกศร

14.ลายเท้าช้างประยุกต์


ภาพที่ 2.7 ลายไฮและลายก้นหอยผสมดาว

ภาพที่ 2.8 ลายดอกไม้ผสมใบไผ่ และลายดอกไม้ผสมดาว

ภาพที่ 2.9 ลายก้นหอยผสมลายก้าน และลายก้นหอยผสมลายลูกศร

ภาพที่ 2.10 ลายดอกไม้ และลายดาว

ภาพที่ 2.11 ลายก้นหอยผสมลายลูกศรและลายเท้าช้างประยุกต์


ภาพที่ 2.12 ลายฟันเลื่อย ลายเท้าช้าง


ภาพที่ 2.13 ลายหัวใจ และลายดาว


การวิเคราะห์ลวดลายปักผ้าของชาวเขาเผ่าม้ง

ลวดลายที่ชาวเขาเผ่าม้งนำมาใช้ปักผ้านั้นเดิมทีนำต้นแบบมาจากตัวหนังสือของชาวเขาเผ่าม้งเอง เช่นลายโต้มเซียน หรือเลียนแบบธรรมชาติแวดล้อมในชีวิตประจำวันที่พบเห็นอยู่ทั่วไป เช่นลายโต้มเซียนเจ๋า ซึ่งเรียกเป็นภาษาไทยว่า ลายอุ้งตีนเสือ ลายกะยอหรือลายแมงมุม ลายฮั่วเนียงหรือลายดอกไม้ ลวดลายที่กล่าวมานี้หญิงชาวเขาเผ่าม้งแต่ละคนจะคิดขึ้นเองตามความคิดสร้างสรรค์ของตน ไม่มีการซ้ำกันเลยอาจมีคล้ายคลึงกันบ้างเพราะพื้นฐานการปักคือการปักไขว้(Cross Stitch) เหมือนกัน ศิลปะการปักผ้าและการออกแบบลวดลายนี้นับเป็นมรดกตกทอดกันมาแต่โบราณอย่างต่อเนื่องโดยการนำลักษณะ รูปร่าง และรูปทรงสีสันตามธรรมชาติรอบตัวมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ใบไม้ สัตว์น้ำ สัตว์บกขนาดใหญ่ ตลอดจนดวงดาวบนท้องฟ้า วัสดุอุปกรณ์ต่างๆนำมาประกอบกันเป็นลวดลายโดยยึดหลักของสัดส่วนที่ลงตัวได้สมมาตรตามสัดส่วน โกลเด้น มีน หรือโกลเด้น เซ็กชั่น (Golden Means / Golden Sections) ที่มีกฎจุดตัดเก้าช่อง (Rule of Thirds)

จุดตัด 9 ช่อง

“จุดตัดเก้าช่อง"เป็นหนึ่งในกฎของการสร้างองค์ประกอบทางศิลป์ (composition) เกิดจากการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วนเท่าๆกัน ทั้งด้านดิ่งและด้านขนานเรียกว่า Rule of Thirds แล้วลากเส้นจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง กับจากบนลงล่าง ก็จะได้ออกมาเก้าช่อง และก็จะเกิดจุดตัดของเส้นทั้งหมดสี่จุดด้วยกัน ศิลปินทางด้านการวาดภาพจะแบ่งผืนผ้าใบ (canvas) หรือกระดาษ เช่นนั้น และผู้ที่ถ่ายภาพก็จะแบ่งพื้นที่ในเฟรมเยี่ยงเดียวกัน เป็นกฏที่รู้จักกันดีมาเป็นร้อยปี และต่างก็จะพยายามที่จะวางจุดสนใจหรือองค์ประกอบสำคัญในบริเวณที่ใกล้เคียงกับจุดตัดนั้นๆ (ไม่จำเป็นที่จะต้องตรงจุดพอดี) เนื่องจากสายตาของคนมักจะมองไปในบริเวณส่วนนั้นๆก่อนด้วยเหตุผลที่ยังไม่มีใครสามารถตอบได้อย่างแท้จริงว่าทำไมในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่าโกลเด้นเซ็กชั่น(GoldenSection) หรือ จุดตัดเก้าช่อง (Rule of Thirds) เป็นกฏหนึ่งของการจัดองค์ประกอบของภาพที่จะทำให้ดูดี สวยงาม โดยการแบ่งเป็นสัดส่วนของเฟรมในอัตรา 1:2 หรือการไม่แบ่งภาพออกเป็นสองส่วนเท่าๆกันทางด้านแนวนอนหรือแนวตั้ง ภาพจะดูสวยงามหากเส้นขอบฟ้าจะไม่อยู่ตรงกลางภาพ แต่อยู่ที่ 1 ใน 3 ของพื้นที่ในภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านบนหรือด้านล่าง ขึ้นอยู่กับว่าความงามของท้องฟ้าหรือว่าด้านล่างซึ่งเป็นพื้นดิน หรือชายหาด หรือท้องน้ำจะมีความสำคัญกว่า หรือสวยกว่ากัน และในทางตั้งซึ่งจะทำให้ตัวขององค์ประกอบจะอยู่ตรงกลางอันจะทำให้ภาพดูแข็ง ควรจะให้ความสำคัญที่ด้านใดด้านหนึ่งมากกว่า แต่กฏทั้งหลายก็เป็นเพียงแค่จุดแนะนำเริ่มต้นให้เท่านั้นทุกคนมีสิทธิ์ในการทำในสิ่งที่ตนเห็นว่าเหมาะว่าควร

โกลเด้นเซ็กชั่น (Golden Section) คือพื้นที่ภายในกรอบของสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าของแผ่นฟิล์ม ที่ได้รับการแบ่งสัดส่วนของ 2 ใน 3 ทั้งด้านขนานและด้านดิ่ง เมื่อลากเส้นแบ่งพื้นที่ตามตำแหน่งดังกล่าวจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งและจากบนลงล่าง ก็จะได้จุดซึ่งตัดกันสี่จุดภายในสี่เหลี่ยมนั้นๆ ซึ่งเราเรียกกันว่าจุดตัดเก้าช่อง หรือ sweet spots เป็นตำแหน่งที่ศิลปินทั้งหลาย ไม่ว่าจิตรกรหรือช่างภาพมีความเห็นพ้องกันว่าเป็นตำแหน่งที่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้มากและมักจะใช้เป็นตำแหน่งในการวางองค์ประกอบสำคัญ

จากกฎดังกล่าวจึงบรรจุลวดลายลงไปซึ่งหญิงชาวเขาเผ่าม้งคงคิดออกแบบลวดลายโดยไม่ทราบกฎเกณฑ์นี้ แต่อย่างไรก็ตามลวดลายที่เกิดขึ้นนั้นก็ดูประณีต สวยงาม แสดงเอกลัษณ์ชนเผ่าม้ง และสะดุดตาแก่ผู้พบเห็นซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว และแน่นอนที่การออกแบบลวดลายและการปักผ้าของชาวม้งนี้จะมีการสืบทอดกันต่อไปชั่วลูกชั่วลาน

ในการปักผ้านี้ชาวเขาเผ่าม้งใช้ป่านป่าผ้าฝ้ายทอมือหรือผ้าใยกัญชงซึ่งชาวเขาเรียกผ้าไหม ที่ทอด้วยกี่เอว(จึงได้ผ้าหน้าแคบ)โดยมีเส้นยืนซึ่งผูกไว้กับเสาและมีเส้นพุ่งผูกไว้กับเอว การทอผ้าจะใช้การทอสลับกัน ขัดกันจึงเกิดเป็นเส้นตารางไปตลอดผืน เมื่อนำผ้ามาปักจึงต้องใช้การสอดเข็มเข้าไปตามตารางเหล่านั้น(โดยอัตโนมัติ) ก่อให้เกิดลวดลายตามต้องการ

ลวดลายผ้าปักของชาวเขาเผ่าม้งที่นิยมทำการปักและสืบทอดกันมานานนั้นมีลายแม่ 8 ลาย ปัจจุบันได้ผสมผสานลวดลายได้เป็น 14 ลาย ดังนี้ 1.ลายไฮ 2.ลายก้นหอย 3.ลายดาว 4.ลายดอกไม้ 5.ลายเท้าช้าง 6.ลายฟันเลื่อย 7.ลายเจดีย์ 8.ลายหัวใจ 9.ลายดอกไม้ผสมดาว 10.ลายก้นหอยผสมดาว 11.ลายก้นหอยผสมลายก้าน 12.ลายก้นหอยผสมใบไผ่ 13.ลายก้นหอยผสมลายลูกศร 14.ลายเท้าช้างประยุกต์


ภาพที่ 2.15 ลายไฮ

1.ลายไฮ เป็นลายปักรูปทรงเรขาคณิตเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ใช้เส้นทะแยงมุมทำเป็นตารางเหลี่ยมโย้แหลมในแต่ละสี่เหลี่ยมจะปักลายคล้ายรูปสามเหลี่ยมสองรูปหันทางด้านหัวแหลมของสามเหลี่ยมเข้าหากันและที่จุดศูนย์กลางของแต่ละสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดจะมีรูปวงรีอยู่ในรูปสามเหลี่ยมหัวกลับนั้น

ภาพที่ 2.16 ลายก้นหอย

2.ลายก้นหอย จะเป็นลายที่นำเอารูปร่าง เส้นตามธรรมชาติของสัตว์ที่หาได้ตามลำธาร หนองบึง เป็นเส้นที่เกิดจากปลายแหลมของตัวหอย เมื่อมองทางด้านบน (Top View) จะเห็นเป็นเส้นวนออกจากจุดศูนย์กลาง ซึ่งความเป็นจริงแล้วการวนของเส้นบนตัวหอยนั้นเป็นสัดส่วนตามกฎโกลเด้น เซ็กชั่น หรือกฎจุดตัดเก้าช่อง (Golden Sections or Rule of Thirds) ซึ่งจะทำให้ได้ภาพหรืองานที่สวยที่สุด เมื่อออกแบบให้งานอยู่ในหรือใกล้สัดส่วนนั้น หญิงชาวม้งได้นิยมใช้ลายก้นหอยนี้ผสมผสานกับลายต่างๆ ทำให้เกิดเป็นลวดลายอื่นๆ ได้อีก เช่น ลายก้นหอยผสมดาว ลายก้นหอยผสมลายก้าน ลายก้นหอยผสมลายลูกศร หรือผสมลายอื่นๆ ที่เรียกว่าลายลูกต่อเนื่องกันไป

ภาพที่ 2.17 ลายดาว

3.ลายดาว นำเอามาจากการมองท้องฟ้ายามค่ำคืน ที่สามารถมองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าได้ นำมาปักลงผ้าโดยมีลักษณะเป็นแฉกคล้ายแสงดาวระยิบระยับ และยังมีรูปแฉกซ้อนอีกวงหนึ่งโดยใช้ด้ายสีแตกต่างกันเพื่อแสดงรัศมีของแสงดาวยามค่ำคืนเดือนมืดดวงดาวแต่ละดวงจะอยู่ในสี่เหลี่ยมจัตุรัสโดยมีการปักรูปสามเหลี่ยมเป็นกรอบไว้แต่ละมุม ลายดาวนี้หญิงม้งมักจะไม่ปักเป็นลายโดดๆ แต่จะมีการปักลายอื่นๆ ผสมผสานกันไป ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เนื้องานมีเนื้อหาน้อยเกินไป

ภาพที่ 2.18 ลายดอกไม้

4.ลายดอกไม้ เป็นการนำความสวยงามตามธรรมชาติของดอกไม้ที่ตนได้พบเห็นมาประดิษฐ์เป็นลวดลายปักบนผืนผ้า สัณฐานของรูปโดยรวมมักจะเป็นวงกลม มีกลีบดอกทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ตามความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน ถ้าเป็นลายปักดอกไม้เล็กๆ ก็มักจะผสมกับลวดลายอื่นๆ เช่น ใช้ใบไม้ กิ่งหรือก้านมาผสมผสาน ชาวม้งคือชนชาติที่อพยพมาจากจีนซึ่งเป็นถิ่นที่มีไผ่มาก จึงมีการใช้ใบไผ่มาประกอบการออกแบบลวดลาย ทำให้เกิดเป็นลายดอกไม้ผสมไผ่ หรือลายดอกไม้ผสมลายดาว เป็นต้นการปักลายดอกไม้จะมีการเว้นจังหวะของเส้น เพื่อให้เกิดรูปร่างที่เหมือนรอยหยักของใบไม้ หรือไม่ก็ประกอบเป็นเส้นของมือจับบนต้นเถาวัลย์ที่เลื้อยไปยังต้นไม้ต่างๆ

ภาพที่ 2.19 ลายเท้าช้าง

5.ลายเท้าช้าง ช้างถือเป็นสัตว์ชั้นสูง ตัวใหญ่โต รู้ภาษามนุษย์ มีคุณเอนกอนันต์ต่อมนุษย์ตั้งแต่ครั้งโบราณมาที่เราใช้เป็นพาหนะในการศึกสงคราม และแม้ในยามสงบก็ยังช่วยเรื่องการแบกหามสิ่งของใหญ่โตมีน้ำหนักมากๆ ที่คนไม่สามารถแบกเองได้อีก เช่น การขนซุงในป่า ในเขา เป็นต้น ลายเท้าช้างนี้ถือได้ว่าเป็นลวดลายของทางภาคเหนือของประเทศไทยเพราะภาคเหนือเดิม คือ ล้านนาซึ่งเป็นอาณาจักรที่เชื่อมต่อกับอาณาจักรล้านช้าง(ลาวในปัจจุบัน) การใช้ช้างเป็นพาหนะในการเดินทาง การประกอบอาชีพทั้งการเกษตรกรรมหรือการหาของป่า หรือการทำป่าไม้ล้วนต้องอาศัยช้างทั้งสิ้น หญิงม้งคงได้แรงบันดาลใจมาจากรอยเท้าของช้างที่กดลึกลงในพื้นดิน แล้วนำมาประยุกต์ พัฒนาลวดลายโดยใช้เส้นรอบนอกของลายเท้าเป็นหลักและยังถือเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่ลวดลายนี้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำลายอื่นๆ มาผสมกับลายเท้าช้างเพื่อสร้างลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ลายเท้าช้างประยุกต์ เป็นต้น

ภาพที่ 2.20 ลายฟันเลื่อย

6.ลายฟันเลื่อย หรือลายกากบาทเป็นลายที่เกิดจากการปักไขว้ (Cross Stitch) แบบพื้นฐาน แต่ออกแบบให้มีเส้นไขว้ขนาดใหญ่ คล้ายตัวเอ็กซ์ (X) อักษรตัวที่ 24 ในภาษาอังกฤษ โดยมีการปักสี่เหลี่ยมล้อมเส้นไขว้เรียงต่อๆ กันไปเป็นกรอบรอบตัวไขว้ใหญ่นั่นเอง และเช่นเดียวกับลายอื่นๆ ที่แต่ละตัวไขว้จะตั้งอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมโดยมีการปักลายตรงกึ่งกลางของแต่ละด้าน เป็นรูปคล้ายรูปคล้ายตัวที (T) อักษรตัวที่ 20 ในภาษาอังกฤษ ด้านละหนึ่งตัว

ภาพที่ 2.21 ลายหัวใจ

7.ลายหัวใจ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมสองรูปหันด้านฐานเข้าหากัน คล้ายกับการผ่าครึ่งหัวใจออกเป็นสองแล้ววางเรียงกันไว้ หรือหัวใจสองดวงของพ่อและแม่วางไว้บนตัวลูกน้อย เพื่อปกปักรักษาลูกให้เจริญเติบโต สมบูรณ์แข็งแรง จุดกึ่งกลางของลายก็ปรากฏเป็นรูปวงกลม สื่อว่าเป็นลูกน้อยที่ต้องทนุถนอม หรือเป็นดวงใจของภรรยาที่มอบให้สามีก็ได้เช่นกันเพราะประเพณีของม้ง หญิงที่แต่งงานแล้วจะเป็นผู้ปักผ้าแล้วนำมาประดับตกแต่งเสื้อให้กับสามีลูก และตนเองเพื่อใช้ในงานปีใหม่ตามคติความเชื่อของม้งที่ว่า “ปีใหม่ม้งทุกคนจะใส่ผ้าใหม่” เพื่อความเป็นสิริมงคลนั่นเอง

ภาพที่ 2.22 การผสมผสานลวดลาย

8.ลายเจดีย์ ทางภาคเหนือได้รับอิทธิพลทางศาสนามาจากพม่า-มอญเพราะพม่าได้เข้ามาปกครองล้านนาเป็นเวลานานถึง ๗๐๐ ปี จึงมีการถ่ายทอดศิลปะวัฒนธรรมทางศาสนาและถือว่ามอญที่นับถือพุทธเป็นมอญแท้โดยมีศิลปะเป็นรูปแบบของตนเอง ถ้ากล่าวถึงเจดีย์มอญที่มีชื่อเสียงก็จะต้องนึกถึงเจดีย์“ชเวดากอง” จากศิลปะมอญคลี่คลายมาสู่ศิลปะพม่าจะเห็นได้ว่ามีการสร้างเจดีย์ไว้มากมายในพื้นถิ่นภาคเหนือ(โดยเฉพาะที่เมืองมัณฑะเลย์ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ที่ได้รับการขนานนามว่า”ทะเลเจดีย์”เหตุเพราะที่มีเจดีย์มากมายสุดลูกหูลูกตา)สร้างไว้เพื่อเก็บพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาของศาสนาพุทธเรา รูปแบบเส้นสายของลายเจดีย์จึงถูกชาวม้งนำมาปักลงบนผืนผ้า(แม้ว่าชนเผ่าม้งจะยังคงนับถือผีอยู่ก็ตาม)ในลักษณะตารางกริดซ้อนเป็นชั้นกันไปเกิดเป็นลวดลายที่คล้ายเจดีย์

เดิมงานปักผ้าของชาวเขาเผ่าม้งนั้นไม่ใช่ทำตามตลาด แต่มารดาจะเป็นผู้กระตุ้นให้เด็กไม่ลืมของเก่าไม่ลืมความดีของบรรพบุรุษด้วยลายผ้าบ่งบอกศักดิ์ศรีของชนเผ่าเด็กสาวรุ่นถัดมาควรอธิบายวิธีการปั่นฝ้าย วิธีการปักผ้า วิธีการเขียนสีผึ้งลงบนผ้าให้เป็นลวดลายให้แก่ลูกๆของตนเมื่อตนเองมีครอบครัวว่าลวดลายผ้าแต่ละลวดลายที่เกิดขึ้นจากนิ้วมือสัมผัสเข็มและเส้นด้ายนั้นมิใช่เป็นเพียงแค่ลวดลายที่มีชื่อเรียกต่างๆ เท่านั้น หากแต่รวบรวมไว้ซึ่งคุณค่าทางจิตใจ และศักดิ์ศรีของความเป็นชนเผ่าแต่ละชาติพันธุ์ที่แสดงความหมายของสิ่งที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดผ่านงานศิลปหัตถกรรมไว้ให้

กระบวนการทำผ้าวาดขี้ผึ้งหรือบาติก

ขั้นตอนที่ 1 นำขี้ผึ้งมาละลายหรือต้มให้ร้อนโดยวิธีการดังนี้นำกระป๋องที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 10 เซนติเมตร เจาะฝาข้างหนึ่งออกแล้วไม่ต้องตัดทิ้งและทำให้ฝาข้างที่เจาะขึ้นนั้นมันเรียบร้อยพร้อมกับสามารถที่จะเป็นที่หยดน้ำขี้ผึ้งได้บริเวณรอบๆขอบของกระป๋องต้องจัดให้เรียบร้อยโดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนที่ใช้จากนั้นนำขี้ผึ้งใส่ลงไปนำกระป๋องไปอุ่นกับถ่านที่ร้อนจัดจากนั้นขี้ผึ้งก็จะละลายรอจนกว่าขี้ผึ้งร้อนจัดถึงจะใช้ได้

ขั้นตอนที่ 2 นำผ้าไหมที่ทอได้เรียบร้อยมาสร้างตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดของสี่เหลี่ยมประมาณ 2-3 เซนติเมตร ตารางทุกช่องจะต้องมีขนาดเท่ากันโดยสร้างตารางให้เต็มผ้าไหมดิบต้องใช้ดินสอขีดเส้นตารางหรือปากกาน้ำเงินก็ได้ไม่ควรที่จะใช้ปากกาสีแดงเพราะปากกาสีแดงเมื่อนำมาขีดหรือสร้างตารางแล้วเวลาย้อมผ้าไหมจะเห็นเส้นตารางเป็นสีแดงอยู่ทำให้ ผ้าไหมไม่สวยจากนั้นนำปากกาเขียนขี้ผึ้งโดยนำปากกาไปจุ่มขี้ผึ้งแล้วนำมาเขียนลวดลายต่างๆ บนผ้าไหมดิบ ปากกาเขียนขี้ผึ้งนั้นเรียกว่า ดาต้ะ ซึ่งดาต้ะทำจากเหล็กหรือทองเหลือง

วิธีการทำ คือนำแผ่นทองเหลืองหรือแผ่นเหล็กมาวัดเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตรจากนั้นแล้วนำมาขัดด้านด้านหนึ่งให้เรียบเหลาไม้ไผ่ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 เซนติเมตร นำไม้ไผ่มาผ่าปลายด้านใดด้านหนึ่งแล้วนำแผ่นเหล็กที่ตัดมาเรียบร้อยมาสอดใส่ลงไปในช่องรอยผ่าแล้วมัดให้เรียบร้อยหลังจากที่เขียนลวดลายเสร็จ


ภาพที่ 2.23 กระบวนการทำผ้าวาดขี้ผึ้งหรือ


ภาพที่ 2.23 กระบวนการทำผ้าวาดขี้ผึ้งหรือ


ขั้นตอนที่ 3 จะนำผ้าบาติกไปย้อมครามให้ดำเมื่อย้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำไปล้างสีครามนั้นออกให้หมดก่อนโดยที่จะล้างสีครามออกได้นั้นจะมีวิธีการดังนี้ คือ ต้มน้ำร้อนให้เดือดจากนั้นก็นำผ้าบาติกมาแช่น้ำเย็นจากนั้นกำผ้าบาติกที่แช่น้ำเย็นออกรอให้แห้งก่อนแล้วนำผ้าบาติกมาต้มกับน้ำร้อนในกระทะที่ตั้งน้ำไว้รอสักประมาณ 3-5 นาทีพยายามล้างคราบขี้ผึ้งออกให้หมดนำไปผึ่งแดดให้แห้งแล้วก็นำผ้าบาติกไปตัดตกแต่งให้สวยงามโดยที่นำผ้าสีอื่นมาปะชุนให้เรียบร้อยดังนี้แล้วจึงนำมาจับจีบทั้งหมด

ขั้นตอนที่ 4 นำผ้าที่ปักเรียบร้อยมาต่อกับผ้าบาติก แล้วจัดกลีบให้ตรงกัน จากรอยจีบนั้นจะต้องเอาด้ายร้อยไว้ให้แน่น เพื่อให้จีบสามารถอยู่ได้นาน และจัดตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงงานเทศกาลปีใหม่จะสามารถนำมาใช้ได้เลย เพราะหากว่ากระโปรงนั้นจับจีบไม่สวย ก็ใส่ไม่สวยเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อจับจีบเรียบร้อยแล้วจะต้องเก็บไว้ ประมาณ 1 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้จีบคงทน และสวยงาม เมื่อนำมาสวมใส่

ภาพที่ 2.24 กระโปรงที่สำเร็จแล้ว


แนวคิดในการออกแบบเสื้อ

การออกแบบเสื้อมีแนวคิดหลายประการที่นักออกแบบควรศึกษาเพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องของวัตถุประสงค์ในการออกแบบเสื้อองค์ประกอบการออกแบบเสื้อหลักการใช้สีหลักการออกแบบโครงสร้างของเสื้อหลักการออกแบบตกแต่งเพิ่มเติมภายหลังคุณสมบัติของผ้าที่จะนำมาตัดเย็บ คุณสมบัติที่สำคัญของนักออกแบบจะต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นคนทันสมัยตามการเปลี่ยนแปลงในวงการแฟชั่นตลอดเวลาเพื่อให้เกิดงานออกแบบที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

วัตถุประสงค์สำคัญในการออกแบบเสื้อ

กล่าวว่าวัตถุประสงค์สำคัญในการออกแบบเสื้อมี4ประการ คือ 1.เพื่อป้องกันความร้อนหนาวจากสภาพอากาศ (Protection) ในแต่ละสถานที่แต่ละภูมิประเทศย่อมมีสภาพอากาศที่แตกต่างกัน เช่น ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ มีอากาศหนาว การออกแบบต้องมีลักษณะป้องกันความหนาวดังนั้นการออกแบบจะต้องเลือกผ้าและแบบเพื่อป้องกันความหนาวให้กับผู้สวมใส่เช่นเดียวกันกับการออกแบบเสื้อให้กับประเทศเขตร้อนจะต้องเลือกใช้ผ้าที่ระบายอากาศได้ดีและลักษณะต้องเป็นแบบที่สวมใส่สบาย

2.เพื่อประโยชน์ใช้สอย (Function) เนื่องจากสังคมแต่ละสังคมประกอบไปด้วยคนต่างฐานะต่างอาชีพต่างกิจกรรม ซึ่งลักษณะการแต่งกายของคนแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไปด้วยดังนั้นการออกแบบเสื้อจึงต้องคำนึงถึงอาชีพลักษณะของแบบเสื้อต้องออกแบบให้มีประโยชน์ใช้สอยสอดคล้องกับอาชีพด้วยเช่นช่างเทคนิคต้องการชุดทำงานที่ให้ความปลอดภัยและคล่องตัวในการทำงานนักกีฬาต้องการชุดรัดรูปไม่รุงรัง นักธุรกิจต้องการชุดภูมิฐานเพิ่มความสง่างาม เป็นต้น

3.เพื่อเป็นสื่อแห่งสัญลักษณ์(Communication)การออกแบบเสื้อโดยเฉพาะชุดทำงานชุดกีฬาบางครั้งการแต่งกายต้องการแสดงออกให้ผู้อื่นรู้ถึงหน้าที่สถาบันหรือกลุ่มเพื่อให้คนในสังคมรับรู้ดังนั้นการออกแบบเสื้อจะเป็นเสื้อเฉพาะเพื่อเป็นสื่อแห่งสัญลักษณ์นั้นๆเช่นชุดข้าราชการ ชุดตำรวจ ชุดทหาร ชุดไปรษณีย์ เสื้อคลุมของแพทย์ ชุดคลุมท้อง ชุดฟุตบอล ชุดว่ายน้ำ เป็นต้น

4.เพื่อการตกแต่งสวยงาม(Decoration)สิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบเสื้อคือความสวยงามซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีความต้องการที่สุดดังนั้นไม่ว่าเสื้อที่ใช้ในโอกาสใดนักออกแบบจะนำสิ่งต่างๆมาตกแต่งให้เกิดความสวยงามและเหมาะสมกับโอกาสสวมใส่

องค์ประกอบของการออกแบบเสื้อ

องค์ประกอบของการออกแบบเสื้อที่สำคัญ

1. เส้น

2. สี

3. ผิวสัมผัส

1. เส้น(Line) เส้นมีความสำคัญต่อการออกแบบมากเพราะรูปแบบต่างๆที่ปรากฎต่อสายตาอาศัยเส้นเป็นตัวนำเส้นมีคุณสมบัติมากต่อความรู้สึกของอารมณ์ซึ่งสามารถลวงตาและสร้างคุณค่าของแบบเสื้อได้เส้นในแบบเสื้อหมายถึงเส้นที่ทำให้เกิดเป็นรูปร่างลักษณะของตัวเสื้อเส้นที่เป็นรูปร่างรอบนอก เรียกว่า เส้นกรอบนอก เส้นที่ใช้ในการออกแบบเสื้อมีดังนี้

เส้นตรงแนวดิ่ง (Vertical Lines) ให้ความรู้สึกแข็งแรง มั่นคง เป็นเส้นที่แสดงถึงความสง่า เหมาะสำหรับคนอ้วนเตี้ย

เส้นตรงแนวนอน (Horizontal Lines) เป็นเส้นแสดงถึงความกว้าง ความสงบ ความนิ่งเฉย แบบเสื้อที่ใช้เส้นตรงแนวนอน เหมาะสำหรับคนผอมสูง ซึ่งจะพรางตาให้ดูอ้วนขึ้นหรือเตี้ยลง

เส้นเฉียงหรือเส้นทแยงมุม (Diagonal Lines) เป็นเส้นที่แสดงถึงความเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง เส้นเฉียงจะช่วยพรางตาได้หลายความรู้สึก เช่น ทำให้ดูสูงขึ้น เตี้ยลง อ้วนขึ้นหรือผอมลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยาวของเส้นและมุมของเส้นทแยงนั้นๆ กล่าวคือ

เส้นทแยงมุมยาวจะช่วยให้ดูสูงขึ้น

เส้นทแยงมุมสั้นจะทำให้บริเวณนั้นดูกว้าง

เส้นโค้ง (Curve Lines) ให้ความรู้สึกนุ่มนวลและอ่อนช้อยนิ่มนวล ร่าเริง แบบเสื้อที่ใช้เส้นโค้งเหมาะสำหรับเสื้อเด็กและเสื้อวัยรุ่น

เส้นในการออกแบบ มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะให้ตัดกันกับรูปร่างของคนได้ นักออกแบบ มองรูปร่างของคนและออกแบบได้อย่างชำนาญงาน ซึ่งให้ผลแตกต่างกันมองเห้นได้ชัด เส้นเหล่านี้มี

เส้นเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง เส้นไม่เหมือนกันหนักข้างเดียว

เส้นตรง เส้นนอน เส้นขวาง

เส้นเฉียง ทแยงมุม เส้นโค้ง

2. สี(Color) หลักการใช้สีบนเสื้อผ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความประหยัด และให้เกิดความรู้สึกตื่นตาไม่น่าเบื่อ เจียมจิต เผือกศรี. กล่าวถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสีที่ใช้บนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายดังนี้

แฟชั่น คัลเลอร์ (Fashion Color) หมายถึง สมัยนิยมของสี งานออกแบบเสื้อไม่นิยมนำสีเบื้องต้นมาใช้กับเสื้อผ้า สีเบื้องต้น ได้แก่ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีเขียว สีส้มและสีม่วงเท่านั้น ดังนั้นควรนำสีที่ลดค่าความเข้มหรือเพิ่มความเข้มของสีมาใช้จะทำให้เสื้อผ้ามีความงามยิ่งขึ้น

สเตเปิล คัลเลอร์ (Staple Color) หมายถึง สีใดๆ ก็ตามที่ใช้ร่วมกับสีต่างๆ แล้วเกิดความผสมผสานไปกันได้เสมอ (Staple Color) ของประเทศเขตหนาวคือ สีดำ สีน้ำตาลปนดำ และสีกรมท่า (Staple Color) ของประเทศเขตร้อนคือ สีขาวและสีครีม

แฟลร์ คัลเลอร์ (Flair Color) หมายถึง สีใดๆ ที่ทำหน้าที่เน้นหรือตัดเส้น

แฟลร์ แอคเสสเซอรี่ (Flair Accessories) หมายถึง ผ้าพันคอ คอปก ขอบปลายแขน เข็มขัด เครื่องประดับ หมวกทำหน้าที่เน้นให้เกิดจุดเด่นในเสื้อผ้า

สแตนดาร์ดแอคเสสเซอรี่ (Standard Accessories)

หมายถึง รองเท้า กระเป๋า ถุงมือ ถ้าทั้ง 3 สิ่ง ทำจากวัสดุชิ้นเดียวกันที่เรียกว่า ยูนิต (Unit) ของทั้ง 3 สิ่ง ไม่จำเป็นต้องทำจากวัสดุชนิดเดียวกันเสมอไป แต่ถ้าใช้รองเท้า กระเป๋าเป็น สเตเปิล คัลเลอร์ (Staple Color) จะสามารถใช้กับเสื้อผ้าได้ทุกประเภท

เพอร์ซันนอลลิตี้ (Personality Area)

หมายถึงบริเวณทั้งหมดซึ่งรวมทั้งศีรษะและลำคอเป็นบริเวณที่ควรเน้นให้เกิดจุดเด่นบนเสื้อผ้า

รีเลตเตด คัลเลอร์ (Related Color)

คือ สีร่วม เช่น เสื้อสีส้ม มีสีม่วงกับสีแดงเป็นสีร่วม สีม่วงกับสีเขียว มีสีน้ำเงินเป็นสีร่วม

อันรีเลตเตด คัลเลอร์ (Unrelated Color)

หมายถึง สีสองสีที่ไม่มีสีร่วมกัน เช่น สีเหลืองกับสีม่วงไม่มีสีร่วม สีเขียวกับสีแดงไม่มีสีร่วม

สีของแฟชั่นดีไซน์ : ทฤษฎีสี (Theory of color)

ตามทฤษฎีสีจำแนกสีแท้ตามวงจรสีธรรมชาติออกเป็น 12 สี และแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

สีขั้นที่ 1 (Primary Color)

คือ แม่สีวัตถุธาตุมี 3 สี คือ สีแดง (Crimson Lake) สีเหลือง (Gamboges Tint) และสีน้ำเงิน (Prussian blue)

สีขั้นที่ 2 (Secondary Color) คือ การนำเอาแม่สีมาผสมกัน

เช่นสีแดง ผสมกับ สีเหลือง เป็นสีส้ม (Orange)

สีเหลือง ผสมกับ สีน้ำเงิน เป็นสีเขียว (Green)

สีน้ำเงิน ผสมกับ สีแดง เป็นสีม่วง (Violet)

สีขั้นที่ 3 (Tertiary Color)

คือ การนำสีขั้นที่ 2 มาผสมกับแม่สี เช่น

สีเขียว ผสมกับ สีเหลือง เป็นสีเขียวเหลือง (Yellow Green)

สีเขียว ผสมกับ สีน้ำเงิน เป็นสีเขียวแก่ (Blue Green)

สีม่วง ผสมกับ สีน้ำเงิน เป็นสีม่วงน้ำเงิน (Ultramarine)

สีม่วง ผสมกับ สีแดง เป็นสีม่วงแดง (Purple)

สีส้ม ผสมกับ สีเหลือง เป็นสีส้มเหลือง (Yellow Orange)

สีส้ม ผสมกับ สีแดง เป็นสีส้มแดง (Vermillion)

วรรณะของสี (Tone)

ในวงจรสีทั้ง 12 สี แบ่งออกเป็น 2 วรรณะคือ

วรรณะสีร้อน (Warm Tone)

คือสีในวงจรที่มีส่วนผสมของสีแดงเป็นหลักได้แก่สีส้มเหลือง, สีส้ม, สีส้มแดง, สีแดง และสีม่วงแดง

วรรณะสีเย็น (Cool Tone)

คือ สีในวงจรสีที่มีส่วมผสมของสีน้ำเงินเป็นหลักได้แก่ สีเขียวเหลือง, สีเขียว, สีเขียวแก่, สีน้ำเงิน และสีม่วง

ส่วนสีเหลืองมีคุณสมบัติได้ทั้งวรรณะสีร้อนและวรรณะสีเย็น

ความเข้มของสี (Intensity)

คือ ความสดใสบริสุทธิ์ของสี ถ้านำไปผสมด้วยสีดำจะทำให้ความเข้มของสีหม่นลงถ้าเติมสีดำลงไปในสีใดสีหนึ่งทีละน้อยๆ จะทำให้สีค่อยๆ หม่นลงทีละน้อย

น้ำหนักของสี (Value)

คือ ความสว่างและความมืดของสี ถ้าผสมสีขาวลงไปในสีจะทำให้สีสว่างขึ้นถ้าเติมสีขาวลงไปอีกทีละน้อยๆจะได้ค่าน้ำหนักของสีจากสีแก่ที่สุดไปหาสีอ่อนที่สุด

อิทธิพลของสี (Influence of Color)

ในช่วงก่อน ค.ศ.1900 โจเฮนเนท อิทเทน (Johannes Itten)ผู้เชี่ยวชาญการใช้สีจากประเทศเยอรมันได้สังเกตุธรรมชาติของสีพบว่าสีแต่ละสีให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน หลังจากนั้นได้มีนักวิจัยหลายท่านทำการวิจัยเรื่องอิทธิพลของสีที่มีต่อผู้พบเห็นสรุปได้ดังนี้

สีแดง (Red)

ให้ความรู้สึกรุนแรง ตื่นเต้น เร้าใจ ถ้าใช้กับเสื้อผ้าทั้งชุดจะแสบตาต่อผู้พบเห็น แต่จะสะดุดตาและมองเห็นได้เมื่ออยู่ไกล มักใช้เป็นสีตกแต่ง

สีเหลือง (Yellow) เป็นสีที่มีความสว่างที่สุดให้ความรู้สึกสนุก สดชื่น ถ้าใช้ร่วมกับสีขาวจะให้ความรู้สึกอ่อนหวาน

สีน้ำเงิน (Blue) ให้ความรู้สึกเยือกเย็น สวยมีศักดิ์ศรี นิยมใช้ค่าสีอ่อนในการออกแบบเสื้อผ้า

สีม่วง (Violet) ให้ความรู้สึกขรึม ลึกลับ สีที่ใช้คู่กับสีม่วงได้ดีคือสีฟ้าและสีบานเย็น

สีม่วงแดง (Purple) ให้ความรู้สึกสง่าผ่าเผย หรูหรา

สีเขียว (Green) ให้ความรู้สึกสบายตา สดชื่น น่าไว้วางใจ

สีส้ม (Orange) ให้ความรู้สึกอบอุ่น ยินดี กระปรี้กระเปร่า เบิกบาน นิยมใช้เป็นสีเพื่อการตกแต่ง

สีชมพู (Pink) ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน ละเอียดอ่อน ประณีต

สีน้ำตาล (Brown) ให้ความรู้สึกน่าเชื่อถือไว้วางใจเหมาะกับการออกแบบวัยผู้ใหญ่

สีดำ (Black) ให้ความรู้สึกเศร้า ซ่อนเร้น เมื่อใช้กับเสื้อผ้าทั้งชุดให้ความรู้สึกมีพลัง

สีขาว (White) ให้ความรู้สึกสะอาด บริสุทธิ์ สง่า มักนิยมใช้ออกแบบเสื้อผ้าในโอกาสพิเศษ เช่น ชุดแต่งงาน สูท เป็นต้น

สีเทา (Gray) ให้ความรู้สึกสบาย อนุรักษ์นิยม เป็นสีกลางที่เข้ากับทุกสีได้ดี

ฟาริดา อาซาดุลลินา นักจิตวิทยาชาวโซเวียต ได้กล่าวถึงอิทธิพลและความสำคัญของสีในนิตยสาร “สปุตนิค” ของรัสเซียไว้ว่า

สีฟ้าอ่อน ช่วยทำให้จิตใจกระชุ่มกระชวย บรรเทาความเศร้า ช่วยกล่อมจิตใจ ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายและความดันโลหิตได้เล็กน้อย บรรเทาความเจ็บปวด ทำให้รู้สึกเย็นสบาย

สีแดง เป็นสัญลักษณ์ของพลังสร้างความตั้งมั่นในการทำกิจกรรมความเกรียงไกรและความร้อนเป็นสีที่ทำให้เมื่อยตาได้มากที่สุดและกระตุ้นประสาทได้มากที่สุดสีแดงสะดุดตาคนได้ทันที

สีชมพู คล้ายกับธรรมชาติมีความอ่อนนุ่มค่อนข้างแสดงความเป็นทารกคนที่ถือหลักประโยชน์นิยมจะไม่ชอบสีชมพู

สีเขียว ทำให้สงบคนที่ชอบสีนี้จะพยายามแสดงความสามารถ สำหรับคนที่ไม่ชอบอาจเป็นได้ว่าเป็นคนกลัวปัญหาในชีวิตประจำวัน

สีน้ำเงินแก่ หมายถึง ความสงบของจิตใจคนที่ชอบสีนี้เป็นคนสมถะถ่อมตัวและมีแนวโน้มที่จะโศกเศร้าขาดความเชื่อมั่นสีนี้ช่วยทำให้สบายตาและขจัดความเครียด

สีเหลือง เป็นสีโปรดปรานของคนขี้สงสัย และคนที่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆได้โดยง่ายสีเหลืองช่วยทำให้ระบบประสาทเข้มแข็งและปลูกฝังการมองการณ์ในด้านดี

สีม่วง คนที่ชอบสีม่วงเป็นคนที่มีลักษณะเจ้าอารมณ์อ่อนไหวง่าย

สีน้ำตาล เป็นสัญลักษณ์ของความกระวนกระวายไม่พอใจ

สีเทา เป็นสัญลักษณ์ของการประนีประนอมมีเหตุผลไม่เชื่อ อะไรง่ายๆ

สีขาว เป็นสีในอุดมคติที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญและข้อโต้แย้งใดๆ

การใช้สีใกล้เคียงหรือสีกลมกลืน (Harmony)

คือการเลือกใช้สีในวรรณะเดียวกันแต่ค่าสีต่างกัน

เช่น เลือกใช้วรรณะสีเย็น สีน้ำเงินคู่กับสีฟ้า เป็นต้น หรืออาจเลือกใช้สีที่อยู่ใกล้เคียงกันในวงจรสีก็ได้ เช่น สีเขียวกับ

สีเหลือง เป็นต้นการใช้สีกลมกลืนมักนิยมใช้ค่าสีสว่างมากกว่าสีมืดบนพื้นที่ส่วนใหญ่เราสามารถนำสองสีมาใช้คู่กันได้ในปริมาณ 50:50% แบบเสื้อที่ใช้สีกลมกลืนให้ความรู้สึกสวยเรียบสบายตา

การใช้สีตรงข้ามหรือสีตัดกัน (Contrast) แบบเสื้อที่ใช้สีตรงกันข้ามจะสวยงามต้องนำมาใช้ให้ถูกสัดส่วนซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

การใช้สีตรงกันข้ามเท่ากันในเสื้อผ้า ย่อมทำให้เสื้อผ้าไม่สวย ต้องใช้ให้สีใดสีหนึ่งมีจำนวนมากอีกสีหนึ่งมีจำนวนน้อยในอัตราส่วน 20:80%

ถ้าต้องการใช้สีตัดกัน 2 สีในเนื้อที่จำนวนเท่ากันคือ 50:50% ก็ใช้ได้ โดยลดค่าความเข้มของสีใดสีหนึ่งลง เช่น แทนที่จะใช้สีเขียวกับสีแดงให้ลดค่าความเข้มของสีแดงลงมาใช้สีเขียวกับสีชมพู หรือการระบายสีถ้าจะใช้สีเขียวคู่กับสีแดง เราอาจลดความสดใสของสีเขียวได้ โดยการนำสีแดงมาผสมลงบนสีเขียวนิดหน่อย จะทำให้สีเขียวลดค่าความสดใสลง เป็นต้น

การใช้สีตรงกันข้าม 2 สี ในแบบเสื้ออาจทำให้มองดูบาดตา แก้ไขได้โดยใช้สีดำหรือสีเข้มอื่นๆมาคั่นกลางระหว่างสีตัดกัน 2 สีจะทำให้ดูสวยงาม

ในลายผ้าที่มีลวดลายเล็กๆ ถ้าเราใช้สีตัดกัน 2 สี สลับกันไปในลายผ้านั้นๆทั้งผืนจะทำให้เกิดความสวยงามได้เช่นเดียวกัน

การใช้สีให้เหมาะกับฤดูกาล

คือต้องเลือกใช้สีให้ตัดกับสิ่งแวดล้อมในฤดูนั้น เช่น ฤดูร้อน สิ่งแวดล้อมมักเป็นสีอุ่นทำให้เกิดความรู้สึกแห้งแล้ง สีของเครื่องแต่งกายควรเป็นสีเย็นและให้ความรู้สึกสดชื่น

เช่น สีเขียวใบไม้อ่อน สีคราม สีเขียวปนเหลือง ฯลฯ ถ้าในฤดูหนาวให้เลือกใช้เสื้อผ้าสีอุ่น เช่น น้ำตาลแก่ ดำ แดงเข้ม เป็นต้น

การเลือกใช้สีให้เหมาะกับเวลาและโอกาส การเลือกใช้สีให้เหมาะกับเวลาและโอกาสไม่มีกฎตายตัวแต่จะขอยกตัวอย่างการใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมดังนี้

สีน้ำเงิน, กรมท่า เหมาะกับชุดทำงานหรือชุดพิธีการ

สีเหลือง, เหลืองแกมเขียว, สีชมพู เหมาะกับชุดในโอกาสพักผ่อน

สีส้ม, สีเหลือง, แดงชาด เหมาะกับโอกาสพบปะสังสรรค์ ความสนุกรื่นเริง

สีหางนกยูง, น้ำเงินแกมเขียว เมื่อได้รับเชิญไปเป็นเกียรติ

สีส้ม, สีเหลือง เมื่อไปเที่ยวทางเรือ

สีน้ำเงิน, สีแดงชาด, สีเลือดนก เมื่อไปเที่ยวทางบก

การใช้สีให้เหมาะกับรูปร่าง

รูปร่างอ้วนเตี้ย ผิวดำและผิวขาว

ผิวดำ ควรเลือกใช้สีค่อนข้างสว่าง เป็นกลางและสีเข้ม ถ้าจะใช้สีสด ควรใช้สีสดประมาณ 10 - 30% บนเสื้อผ้าสีอ่อน สว่างหรือขาวประมาณ 30 - 40% เหตุผลเพราะพื้นสีอ่อนจะสะท้อนสีผิวออกมาบีบตัวสีเข้มให้ดูหดตัวลงจะพรางตาให้ดูผอมลง

ผิวขาว ใช้ได้เกือบทุกสี ทั้งสีสดใส สีสดเข้ม และสีหม่น ส่วนสีอ่อนสว่างควรใช้ปริมาณน้อย เพราะจะทำให้ดูอ้วนขึ้น

รูปร่างท้วม สูง ผิวดำและผิวขาว

ผิวดำ ควรใช้สีกลางๆ ไม่ใช้สีสดหรือสีเข้มมากไป ถ้าจะใช้สีสดหรือสีอ่อนสดใสมาผสมควรใช้ปริมาณ10-30%

ผิวขาว ใช้ได้ทุกสีไม่จำกัด

รูปร่างเล็ก ผิวดำและผิวขาว

ผิวดำ ควรใช้สีกลาง สีสว่าง ถ้าจะใช้สีสดหรือสีอ่อนสดใสมาผสม ควรใช้ปริมาณ 10 - 30%

ผิวขาว ใช้ได้ทุกสีไม่จำกัด

รูปร่างผอมสูง ผิวดำและผิวขาว

ผิวดำ ควรใช้สีค่อนข้างสว่าง สีกลาง ถ้าใช้สีสด สีอ่อนประมาณ 10 - 30% ดูกระปรี้กระเปร่าขึ้น

ผิวขาว ใช้ได้ทุกสีไม่จำกัด

การใช้สีให้เหมาะกับวัย

วัยเด็ก - 12 ขวบ สีที่เหมาะคือสีอุ่น สีสดใสสะอาดตา ถ้าต้องการใช้สีที่ตัดกันควรใช้ปริมาณ 20 - 40% และควรใช้สีสดที่คล้ายคลึงธรรมชาติ เช่น สีฟ้า สีน้ำทะเล สีของดอกไม้ใบหญ้าต่างๆ

วัยรุ่น เป็นวัยที่มีความคิดเป็นอิสระไม่ชอบกฎเกณฑ์ มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย ชอบง่ายเบื่อเร็ว มีความเพ้อฝัน ชอบเลียนแบบ ชอบแต่งตัวตามแฟชั่นเพื่อให้เกิดจุดเด่น ควรเลือกใช้สีสดใสที่อยู่ในแฟชั่นรูปแบบสะดุดตาตามสมัยนิยม

วัยหนุ่มสาว (วัยทำงาน) สามารถใช้สีได้อย่างกว้างขวางตั้งแต่สีสดใสแบบวัยรุ่นหรือสีหม่น สีเข้ม สีสด โดยการนำไปใช้ จะดูจากโอกาสใช้สอยว่าเป็นชุดอะไร และให้เข้ากับผิว สวมใส่แล้วเสริมบุคลิกภาพ

วัยผู้สูงอายุ ในสมัยก่อนแฟชั่นของผู้สูงอายุมักมีไม่กี่สี เช่น ขาว ดำ น้ำเงิน น้ำตาลเทา เป็นต้น แต่ในปัจจุบันแฟชั่นผู้สูงอายุจะใช้สีเข้มขรึมแบบดั้งเดิมและใช้สีสด สีเข้ม สีหม่น มีแฟชั่นสีสันสวยงามขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุดูสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ซึ่งในปัจจุบันผู้สูงอายุจะมีตำแหน่งหน้าที่การงานในระดับผู้บริหาร การออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับผู้สูงอายุจะเน้นรูปแบบเรียบ มีการตกแต่งเล็กน้อย เพื่อให้มีความสง่างามสมวัย เครื่องแต่งกายมีฝีมือการตัดเย็บที่ประณีต

3. ผิวสัมผัส (Texture) หมายถึง ลักษณะพื้นผิวของวัสดุที่นำมาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้าซึ่งจะให้ความรู้สึกได้โดยการมองจับต้องซึ่งผิวสัมผัสเหล่านั้นมักเกิดจากเนื้อผ้าที่นำมาตัดเย็บหลังจากออกแบบเสื้อแล้ว เพราะผิวสัมผัสของผ้าจะนำมาเป็นสิ่งสำคัญเพื่อพิจารณาออกแบบเสื้อผ้าให้เหมาะกับโอกาสใช้สอย ซึ่งเนื้อผ้าแต่ละชนิดจะมีผิวสัมผัสต่างกัน เช่น ความลื่น ความมัน ความหยาบกระด้าง ความเรียบ ความละเอียด เป็นต้น ความรู้สึกเช่นนี้เกิดจากลวดลายที่ปรากฏบนผ้า สีสันของผ้า โครงสร้างของผ้า เช่น ลักษณะการทอและการพิมพ์ ดังนั้น การออกแบบเสื้อผ้าต้องพิจารณาให้เหมาะสมจึงจะทำให้แบบเสื้อนั้นมีความสวยงาม

หลักในการพิจารณามีดังนี้

ผ้าผิวสัมผัสนุ่มมาก เช่น ผ้าป่าน ผ้าชีฟอง ผ้าฝ้าย ผ้าเนื้อบาง ฯลฯ ควรออกแบบเส้นที่มีเส้นกรอบนอกทิ้งตัว ตกแต่งด้วยระบายหรือจีบรูด

ผ้าผิวสัมผัสปานกลาง เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้ายเนื้อบางปานกลางหรือผ้าอื่นๆ ที่มีความทรงตัวเหมาะสำหรับออกแบบเสื้อที่มีเส้นกรอบนอกทรงตรง

ผ้าชนิดผิวสัมผัสหยาบขรุขระ เช่น ผ้าฝ้ายเนื้อหนา ผ้ายีนส์ ผ้าลูกฟูก ผ้ากำมะหยี่ หรือผ้าที่มีเนื้อค่อนข้างหนาทรงตัวเหมาะกับการออกแบบเสื้อประเภทที่ต้องการความคงทน เช่น เสื้อแจ๊คเก็ต เสื้อเทเลอร์ เป็นต้น

ส่วนประกอบของแบบเสื้อมีดังนี้

คอเสื้อ (Neck Lines) คอเสื้อและปกเสื้อเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ใบหน้าที่สุดที่ทำหน้าที่เชิดชูใบหน้า ลำคอและไหล่ของผู้สวมใส่ให้สวยงามและสง่าผ่าเผยขึ้น

ปกเสื้อ (Collars)

ปกเสื้อมีความสำคัญช่วยเชิดชูใบหน้าเข่นเดียวกับคอเสื้อ จำแนกตามลักษณะแบบได้ 3 กลุ่ม คือ

1.ลักษณะปกแบน (Flat)

มีลักษณะปกใหญ่พับแบนติดกับเสื้อ

2.ลักษณะปกพลิกกลับ (Roll)

มีลักษณะเป็นปกเสื้อพลิกกลับออกมาจากคอเสื้อปล่อยราบ

3.ลักษณะปกตั้ง (Stand)

มีลักษณะปกที่วางตั้งรอบคอเสื้อ

แขนเสื้อ (Sleeves)

แขนเสื้อเป็นส่วนสำคัญรองลงมาจากคอเสื้อและปกเสื้อ เป็นส่วนที่ช่วยเปลี่ยนแปลงลักษณะของตัวเสื้อและมีส่วนทำให้รูปร่างของผู้สวมใส่ใหญ่ขึ้น,หรือเล็กลงก็ได้แบบของแขนเสื้อสามารถออกแบบดัดแปลงให้สั้น ยาว คับ หลวม ได้ตามความเหมาะสมลักษณะของแขนเสื้อมี 3 ชนิดคือ

1.แขนต่อที่วงแขน (Set in sleeves)

คือแขนเสื้อที่ใช้ผ้าคนละชิ้นกับตัวเสื้อมีรอยเย็บต่อกันที่วงแขน

2.แขนในตัว (Cut-in-one with bodice)

คือ แขนที่มีผ้าต่อเนื่องกับตัวเสื้อมี 2 ลักษณะ คือ

1.แขนแรกเลน (Raglan sleeves)

2.แขนกิโมโน (Kimono sleeves)

3.เสื้อไม่มีแขน (Sleeveless)

คือ เสื้อแขนกุด เสื้อไหล่ล้ำ เป็นต้น

การออกแบบเสื้อให้เหมาะสมกับโอกาส

การออกแบบเสื้อให้เหมาะสมกับโอกาสใช้สอยแบ่งเป็น

2 ประเภทคือ

1. เสื้อโอกาสปกติ

2. เสื้อโอกาสพิเศษ

เสื้อโอกาสปกติ คือแบบเสื้อที่ใส่ในเวลากลางวันและใส่ทำกิจกรรมเป็นกิจวัตรประจำวัน ได้แก่

1. ชุดลำลอง

เป็นชุดที่ออกแบบเรียบเน้นความสบายของผู้สวมใส่ใช้สวมใส่ตั้งแต่เช้าจรดเย็นจะเป็นชุดติดกันหรือคนละท่อนก็ได้ใช้ได้ทั้งกระโปรงและกางเกง

2. ชุดทำงาน

การออกแบบเสื้อชุดทำงานต้องเลือกแบบผ้าและการตกแต่งให้

เหมาะสมกับอาชีพนั้นๆ ด้วย จำแนกอาชีพบุคคลต่างๆ ดังนี้

2.1 อาชีพรับราชการ

แบบเสื้อควรเป็นแบบเรียบสีไม่ฉูดฉาดเนื้อผ้าทรงตัว

2.2 อาชีพทำงานในสำนักงาน เช่น ธนาคาร

บริษัทห้าง ร้านต่าง ๆ

งานประเภทนี้ต้องติดต่อกับบุคคลภายนอกมากมาย แบบเสื้อควรมีส่วนดึงดูดความสนใจลูกค้า สีผ้าควรใช้สีสดใสให้ความสดชื่นสบายตาต่อผู้พบเห็น

3. ชุดเดินทาง

ชุดนี้สามารถใส่ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน บางครั้งอาจใช้ชุดลำลอง

แทนชุดเดินทางได้แต่ลักษณะของชุดเดินทางการออกแบบจะเน้นการเคลื่อนไหวที่สะดวกสบายในทุกอิริยาบถเป็นแบบเรียบไม่มีการตกแต่งที่เน้นความสวยงาม เนื้อผ้าทรงตัว ไม่ยับง่าย

เสื้อโอกาสพิเศษ

คือเสื้อที่ใส่ในโอกาสพิเศษและเป็นแบบเสื้อที่ใส่เฉพาะโอกาสนั้นๆไม่สามารถใส่ไปในงานอื่นได้เลยซึ่งต่างกับเสื้อโอกาสปกติ เช่น ชุดลำลอง ชุดทำงาน ชุดเดินทาง

เราสามารถนำมาใส่ในโอกาสพิเศษได้ ยกตัวอย่างเช่น

ชุดทำงานที่ใส่ทำงานตั้งแต่เช้าถึงเย็นแต่มีความจำเป็นต้องไปงานเลี้ยง เพียงหาเครื่องประดับมาตกแต่งให้สวยงามขึ้นก็ไปงานเลี้ยงได้โดยไม่ผิดกาลเทศะ เสื้อโอกาสพิเศษมีดังนี้

1. ชุดกีฬา

การออกแบบต้องดูลักษณะแบบให้คล้อยตามการเคลื่อนไหวในอิริยาบถของกีฬาแต่ละประเภท กีฬาบางประเภทจะมีสีและแบบเฉพาะ เช่นชุดเทนนิสจะใช้สีขาวเป็นชุดกระโปรงสั้นเสื้อแขนกุดเป็นต้น

2. เสื้อกันหนาว

การออกแบบควรให้ใช้ได้ทุกฤดูหนาวจึงจะคุ้มและไม่ล้าสมัย ควรเลือกใช้ผ้าทอเนื้อแน่นมีผิวสัมผัสเรียบหรือมีขนเพียงสั้นๆเสื้อมีความยาวพอสมควรแขนยาวไม่มีขอบปลายแขน กระดุมควรเลือกชนิดอย่างดี แบบเรียบไม่มีสิ่งตกแต่ง ออกแบบให้มีกระเป๋าเจาะ สีควรใช้สีเข้ม

3. เสื้อสูท

การออกแบบเป็นแบบปกเทเลอร์(Tailor)ใช้ผ้าสีเข้มๆทึบๆผ้าที่เหมาะสมที่สุดคือผ้าทอเนื้อแน่น ผ้าขนสัตว์ ความยาวของเสื้อยาวต่ำกว่าเอว 10-15 ซม. ติดกระดุม 3 เม็ด เม็ดสุดท้ายอยู่เหนือเอว

4. ชุดค็อกเทล (Cock tail)

คือ ชุดที่ใส่ระหว่างเวลา 18.00-20.00 น.

งานเลี้ยง

ประเภทนี้เป็นงานเลี้ยงที่ให้แขกเดินพบปะสังสรรค์กันในงานจะเลี้ยงเฉพาะเครื่องดื่มและของว่างไม่มีเก้าอี้จัดให้นั่งแขกทุกคนจะยืนและเดินไปทั่วในบริเวณงานการออกแบบควรเป็นชุดที่โชว์ด้านหลัง มีการตกแต่งที่สวยงามด้านหลัง ไม่ควรตัดเป็นกระโปรงยาวลากพื้นสีผ้าควรใช้สีสันสดใสเนื้อผ้าบางเบา หรือผ้ามีน้ำหนักพริ้วไหว

5. ชุดราตรีแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

5.1 ชุดราตรีแบบเป็นทางการ เป็นชุดยาวจรดพื้น

ตกแต่งสวยงามใช้ผ้าที่มีความมันวาวใช้ในงานรัฐพิธีต่างๆ

5.2 ชุดราตรีแบบไม่เป็นทางการเป็นชุดราตรีไม่จำกัดแบบ ใช้ได้ทั้งชุดสั้นและชุดยาวใส่ได้ตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงกลางคืน เลือกใช้ผ้าได้ทุกประเภท ตกแต่งพอสมควร

6. ชุดวิวาห์ เป็นชุดที่ใช้ในโอกาสพิเศษคืองานฉลองสมรส ชุดวิวาห์ส่วนใหญ่จะออกแบบและตัดเย็บด้วยผ้าพื้นสีอ่อนมีการตกแต่งที่วิจิตรหรูหราลักษณะของผ้าเป็นผ้าเนื้อดีราคาสูง ผิวสัมผัสอ่อนนุ่ม พริ้วไหว

7. ชุดว่ายน้ำ การออกแบบชุดว่ายน้ำไม่เน้นการอำพรางรูปร่าง เนื่องจากชุดว่ายน้ำต้องกระชับพอดีตัว การตัดเย็บจะใช้ผ้ายืดที่มีคุณภาพดีเพื่อความยืดหยุ่นตามอิริยาบถ นิยมทั้งผ้าพื้นและผ้าที่มีลวดลายต่าง ๆ สวยงาม

8. ชุดไทยพระราชนิยม ถือเป็นเสื้อโอกาสพิเศษ ซึ่งในปัจจุบันมีการออกแบบตกแต่งอย่างสวยงามเพื่อใช้ในพิธีต่าง ๆ ดังนี้

8.1 ชุดไทยเรือนต้น คือชุดไทยแบบลำลอง ใช้ในตอนกลางวัน โดยทั่วไปใช้สำหรับงานที่ไม่เป็นพิธี และต้องการความสบาย เช่น งานทอดกฐิน งานสงกรานต์ หรือเจ้าสาวแต่งสำหรับทำบุญตักบาตรตอนเช้า

เสื้อเข้ารูปคอกลมชิดคอมีสาบติดกระดุมด้านหน้า 5 เม็ด แขนยาวสามส่วนตัดเย็บด้วยผ้าไหมสีเดียวกับผ้าซิ่นหรือสีตัดกันก็ได้ สวมกับผ้าซิ่นป้ายหน้า ผ้าซิ่นยาวจรดข้อเท้า ตัดด้วยผ้าไหมมีเชิง มีริ้วตามขวางหรือยาว หรือจะใช้ผ้าไหมเลี่ยนมีเชิง

เครื่องประดับติดเข็มกลัดที่ไหล่ด้านซ้ายหรือสวมสร้อยคอยาว สวมสร้อยข้อมือและต่างหูตามโอกาสที่เหมาะสม

8.2 ชุดไทยจิตรลดา คือชุดไทยสำหรับงานพิธีในเวลากลางวัน ใช้ในงานที่มีหมายกำหนดการให้ผู้ชายแต่งกายเต็มยศ เช่น รับประมุขของประเทศที่มาเยือนเป็นทางการ หญิงไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เสื้อเข้ารูปคอกลม มีขอบคอตั้ง มีสาบติดกระดุมด้านหน้า 5 เม็ด แขนยาวจรดข้อมือ ตัดด้วยผ้าไหมเลี่ยน สวมเป็นชุดกับผ้าซิ่นป้ายหน้าแบบเดียวกับผ้าซิ่นชุดไทยเรือนต้นนิยมตัดด้วยผ้าซิ่นลายเชิงหรือผ้าไหมมัดหมี่

เครื่องประดับ สวมสร้อยคอยาว ติดกระดุมทอง สวมสร้อยข้อมือและต่างหูตามโอกาสที่เหมาะสม

8.3 ชุดไทยอัมรินทร์ คือชุดไทยสำหรับงานพิธีตอนค่ำ ใช้สวมในงานพระราชพิธี เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาหรืองานเลี้ยงรับรองที่ต้องประดับด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลักษณะเช่นเดียวกับชุดไทยจิตรลดาตัดด้วยผ้าไหมเลี่ยนและยกดอกเต็มตัวด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง เสื้อแบบนี้อนุโลมใช้สำหรับสตรีสูงอายุที่รูปร่างอ้วนไม่ประสงค์จะคาดเข็มขัดแบบไทย สวมแทนเสื้อชุดไทยบรมพิมานได้และอาจเปลี่ยนคอเสื้อให้เป็นคอกลมกว้างแต่ผ้าที่นำมาตัดควรให้เหมาะสมตามที่กำหนดให้

8.4 ชุดไทยบรมพิมาน คือชุดไทยสำหรับงานพิธีตอนค่ำ ที่ระบุให้ฝ่ายชายแต่งกายเต็มยศ หรือครึ่งยศ เช่น งานอุทยานสโมสร หรืองานเลี้ยงพระราชทานอาหารอย่างเป็นทางการ เจ้าสาวใช้ในพิธีรดน้ำสังข์

เสื้อเข้ารูปคอกลมชิดคอ มีขอบคอตั้ง ติดซิปหลัง แขนยาว สวมเป็นชุดกับผ้าซิ่นจีบหน้านาง มีชายพกตัดด้วยผ้ายกดิ้นเงินดิ้นทอง หรือผ้ายกดอกด้วยไหมสลับสี มีเข็มขัดคาดทับไว้ด้านนอก จะดัดแปลงให้เป็นเสื้อชุดติดกันก็ได้

เครื่องประดับ ใช้เครื่องประดับชุดทองลวดลายไทยเช่น สร้อยคอ สร้อยสังวาลย์ เข็มขัด ต่างหู สร้อยข้อมือ และเกี้ยวประดับผม

8.5ชุดไทยศิวาลัยคือชุดไทยสำหรับงานพิธีที่มีหมายกำหนดการให้ผู้ชายแต่งกายเต็มยศเป็นชุดไทยแบบชุดไทยบรมพิมาน แต่ใช้สไบห่มทับแบบชุดไทยจักรพรรดิ โดยไม่ต้องมีแพรจับจีบรองพื้นก่อนใช้เป็นชุดพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำที่เป็นงานเต็มยศเจ้าสาวใช้แต่งตอนเช้าพีรดน้ำสังข์ และในพิธีเลี้ยงรับรองตอนค่ำ

เครื่องประดับ ใช้เครื่องประดับชุดทองลวดลายไทยฝังพลอยได้ครบชุด เช่น สร้อยคอ สร้อยสังวาลย์ เข็มขัด ต่างหู และรัดเกล้า

8.6 ชุดไทยจักรี คือชุดไทยแบบเต็มยศ สำหรับงานราตรีสโมสร หรืองานเลี้ยงพระราชทานอย่างเป็นทางการ เป็นชุดไทยแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมตลอดมาสำหรับเป็นชุดเจ้าสาวในงานเลี้ยงรับรองการสมรส

เสื้อชุดไทยจักรีตัดเป็นเสื้อเปิดไหล่แบบแขนนางชีหรือตัดเป็นเสื้อเปิดไหล่เข้ารูปตัวอยู่ชั้นใน ห่มทับด้วยสไบชายเดียวออกจากด้านข้างของเสื้อด้านขวาห่มทิ้งชายไปด้านหลัง สวยงามด้วยลวดลาย สไบอย่างไทยด้วยเลื่อม ลูกปัด ไข่มุก และพลอยหลากสี สวมเป็นชุดกับผ้าซิ่นจีบหน้านาง มีชายพก ตัดด้วยผ้ายกดิ้นทองยกดอกเต็มตัว

เครื่องประดับ ใช้เครื่องประดับไทยฝังพลอยทั้งชุด เช่น สร้อยคอ สร้อยสังวาลย์ เข็มขัด ต่างหู สร้อยข้อมือ กำไลแขน ต้นแขนและเกี้ยวประดับผม

8.7 ชุดไทยจักรพรรดิ ใช้ในโอกาสพิเศษเช่นเดียวกับชุดไทยจักรีใช้ในงานพระราชพิธีงานเลี้ยงพระราชทานอย่างเป็นทางการสตรีไทยนิยมสวมเป็นชุดเจ้าสาวในงานเลี้ยงรับรองตอนค่ำ

เสื้อชุดไทยจักรพรรดิเหมือนชุดไทยจักรี ต่างกันที่การห่มทับด้วยสไบสองชายที่ปักลวดลายไทยเป็นสไบเนื้อหนาหรือสไบกรองทองห่มทับผ้าสไบจีบทิ้งชายสไบห้อยไว้ที่เอวด้านหน้า แล้วโอบใต้แขนด้านขวาทิ้งชายสไบด้านหลัง

เครื่องประดับ ใช้เครื่องประดับชุดทองลวดลายไทยฝังพลอยได้ครบชุด เช่น สร้อยคอ สร้อยสังวาลย์ เข็มขัด ต่างหู สร้อยข้อมือ กำไลแขน ต้นแขนและเกี้ยวประดับผม

8.8 ชุดไทยดุสิต คือชุดไทยแบบเต็มยศ สำหรับงานราตรีโดยเฉพาะเหมาะสำหรับสูตรที่ช่วงไหล่งามและลำแขนกลมกลึง ได้รับความนิยมจากเจ้าสาวสวมในวันเลี้ยงรับรองตอนค่ำ

เสื้อเข้ารูปไม่มีแขน คอด้านหน้าและหลังคว้านต่ำเล็กน้อย ผ่าด้านหลังตัวเสื้อ ปักเป็นลวดลายด้วยไข่มุก ลูกปัดหรือเลื่อม สวมเป็นชุดกับผ้าซิ่นจีบหน้านาง มีชายพก ตัดด้วยผ้ายกไหมหรือยกทอง

เครื่องประดับ ใช้เครื่องประดับชุดทองลวดลายไทยฝังพลอยได้ เช่น สร้อยคอ เข็มขัด สร้อยข้อมือ ต่างหูและเกี้ยวประดับผม

ชนิดของการออกแบบเสื้อ

การออกแบบเสื้อที่ใช้ในโอกาสต่าง ๆ (เจียมจิต เผือกศรี. 2550 : 106) จำแนกตามลักษณะแบบ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. การออกแบบโครงสร้าง (Structure design)

2. การออกแบบตกแต่งเพิ่มเติมภายหลัง (Decorative design)

1. การออกแบบโครงสร้างเสื้อ จะเน้นประโยชน์ใช้สอย ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในแบบเสื้อต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง คือต้องออกแบบให้เกิดรูปทรงโดยให้มีส่วนสัมพันธ์กันกับส่วนประกอบของตัวเสื้อ เช่น แขนเสื้อ ปก ตัวเสื้อและส่วนประกอบต่างๆ ในตัวเสื้อ หลักสำคัญในการออกแบบโครงสร้าง มีดังนี้

1. แบบเสื้อต้องเหมาะสมกับรูปร่างของผู้สวมใส่

1.1เตี้ยล่ำ บุคคลที่ร่างกายเตี้ยล่ำ ควรใช้เสื้อผ้าลายเส้นแนวตั้งหรือเฉียงขึ้น เสื้อผ้าควรใช้ทรงแคบยาวคลุมสะโพกกางเกงควรเป็นแบบเรียบๆไม่มีจีบ กระโปรงแบบเรียบๆ ควรใช้ผ้าสีเข้มแบบทิ้งตัว หลีกเลี่ยงการใช้เข็มขัดเส้นใหญ่

1.2ท้วม/อ้วน บุคคลที่มีร่างกายอ้วน ควรใช้เสื้อผ้าลายเส้นแนวตั้ง หลีกเลี่ยงลายเส้นโค้งหยักหรือทรงกลม ไม่ควรใช้เสื้อรัดรูปหรือหลวมมากจนเกินไป แบบเสื้อควรเป็นแบบเรียบ ควรใช้เสื้อผ้าสีเข้มหรือโทนหม่นๆ เป็นผ้าที่มีน้ำหนัก ควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อแขนกุดและผ้าที่มันวาว

1.3ผอม บุคคลที่มีร่างกายผอม ควรสวมเสื้อผ้าลายขวางหรือเส้นโค้ง เสื้อผ้าควรมีการหนุนไหล่ ควรใช้เสื้อคอปิดเพื่อบังความผอมของลำคอ ถ้าใส่เสื้อสูทควรให้ยาวคลุมสะโพก เข็มขัดควรใช้เส้นใหญ่ ถ้าสวมกระโปรงควรเป็นกระโปรงยาวปิดขา ถ้าเป็นกางเกงควรเลือกแบบมีจีบที่เอว ควรเลือกใช้เสื้อผ้าสีสว่างหรือสีอ่อน

1.4สูงใหญ่ บุคคลที่มีร่างกายสูงใหญ่ จะแต่งตัวได้ค่อนข้างง่าย สามารถใช้เสื้อผ้าได้หลายแบบ แต่ที่สำคัญก็คือควรเลือกให้เหมาะสมกับเวลาและสถานที่

2. แบบเสื้อต้องมีลักษณะเรียบง่ายช่วยพรางตา ส่วนที่บกพร่องและช่วยเสริม

ส่วนที่เด่น

3. มีสัดส่วนที่เหมาะสมและมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

4. มีความกลมกลืนกับทุกส่วนในตัวเสื้อและเน้นประโยชน์ใช้สอย

2. การออกแบบตกแต่งเพิ่มเติมภายหลัง เป็นการออกแบบเพิ่มเติมภายหลังจากการทำตัวเสื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำให้เสื้อผ้านั้นมีความสมบูรณ์และสวยงามยิ่งขึ้นเป็นการเน้นและเสริมสร้างความสนใจให้กับผู้พบเห็น เช่น การปัก การเดินเส้น การติดปะ ติดระบาย ติดโบว์ ปักมุก ปักเลื่อม เพ้นท์สี เป็นต้น

การออกแบบตกแต่งเพิ่มเติมภายหลัง มีแนวคิดดังนี้

1. ส่วนตกแต่งช่วยแก้ไขส่วนบกพร่องของตัวเสื้อได้

2. วัสดุที่นำมาตกแต่งต้องมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวเสื้อ

3. ส่วนตกแต่งต้องมีความสัมพันธ์กับโครงสร้างอย่างเหมาะสมไม่มากหรือ น้อยจนเกินไป

4. ต้องตกแต่งเพื่อเน้นความสวยงามแต่ให้ดูเสมือนว่าส่วนตกแต่งนั้นใช้ได้ จริง

การตกแต่งเสื้อ (สาคร ชลสาคร.2548 : 99) คือการทำวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อให้เสื้อนั้นดูสวยงาม มองดูแล้วน่าสวมใส่และสามารถดึงดูดความสนใจของเพศตรงข้าม การตกแต่งเสื้อไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งด้วยมือ หรือด้วยเครื่องจักรก็มีความสำคัญทั้งสิ้น การตกแต่งด้วยเครื่องจักรมีการจีบรูด จีบระบาย การปักจักร การเดินเส้น ซึ่งจะทำให้เสื้อเกิดความสวยงามมากยิ่งขึ้น การตกแต่งสามารถช่วยเพิ่มราคาเสื้อ และบ่งบอกถึงรสนิยมของผู้สวมใส่ บางครั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาการตัดเย็บได้ เช่น จีบระบาย ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยาวเสื้อ กระโปรง หรือแก้ปัญหารูปแบบเสื้อที่แข็งกระด้าง ให้ดูอ่อนหวาน น่ารักได้เช่นกัน หรือการเดินเส้นตะเข็บ เส้นคิ้ว ช่วยให้ตะเข็บเรียบ และเพิ่มจุดเด่นน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ส่วนการปักมือด้วยเส้นไหมสีแปลกตา ปักเป็นลวดลายธรรมชาติ ลวดลายเรขาคณิต ฯลฯ สามารถช่วยให้เสื้อเกิดจุดเด่น น่ามอง เป็นเอกลักษณ์ เป็นงานฝีมือควรค่าแก่การเป็นเจ้าของและน่าสวมใส่อีกด้วย หลักการตกแต่งเสื้อผ้า มีข้อควรพิจารณา ดังนี้

1. การตกแต่งต้องกลมกลืนกัน เช่น ตัวเสื้อเป็นผ้าพื้น ก็นำผ้าที่มีลวดลายมาตกแต่ง

2. รูปทรงของการตกแต่งต้องเหมาะสมกับรูปแบบหรือโครงสร้างเสื้อผ้า

3. สีและผิวสัมผัสของผ้ากับการตกแต่งต้องให้กลมกลืนกัน

4.จุดเด่นบนเสื้อผ้า การตกแต่งเสื้อผ้าควรมีจุดเดียว เช่น ทำลวดลายรอบคอเสื้อ รอบขอบและกระเป๋า

5.ความสมดุลของการตกแต่ง ควรหลีกเลี่ยงการแบ่งสัดส่วนการตกแต่งที่มีความสมดุลเท่ากันบนตัวเสื้อ เช่น ขนาดเท่าๆ กันจะเกิดความซ้ำ ไม่น่าสนใจ

แนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือ

สิ่งที่ควรคำนึงในการออกแบบผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอจากผ้าทอมือเพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ควรพิจารณาดังนี้

1.วัตถุดิบที่ใช้ ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะของผู้ใช้ ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ราคาไม่สูง หาได้ง่ายในท้องถิ่นหรือในประเทศ

2. ขนาดมาตรฐานสากล ขนาดสัดส่วนที่สัมพันธ์กับอวัยวะของผู้ใช้สะดวกสบายต่อการใช้งาน

3.สีสันลวดลาย/ความสวยงาม/ความแปลกตาโดดเด่น บ่งบอกถึงเรื่องราว ความเป็นมา ตำนาน เอกลักษณ์และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

4.ประโยชน์ใช้สอย มีประโยชน์และสามารถบ่งบอกถึงวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้

5.ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ ผลิตง่าย เร็ว และประหยัด

6.โครงสร้างแข็งแรง ซ่อมแซมบำรุงรักษาได้ง่าย

7.บรรจุภัณฑ์เหมาะสมทั้งวัสดุ ต้นทุนต่ำ แข็งแรง ขนาด สะดวกปลอดภัย ปกป้องคุ้มครองสินค้า ฯลฯ

8.ตราสินค้า/สัญลักษณ์ (Brand Name) ที่สามารถสื่อหรือบ่งบอกถึงเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแหล่งผลิต

สรุป ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องตามหัวข้อที่ประกอบด้วย วิวัฒนาการของผ้าและเสื้อผ้า ประวัติความเป็นมาของชาวเขาเผ่าม้ง ลวดลายผ้าปักชาวเขาเผ่าม้ง วัสดุและวิธีการปักผ้าชาวเขาเผ่าม้ง การออกแบบเสื้อ รวมทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบกรอบแนวคิดในการวิจัยที่จะจัดทำรายละเอียดของการออกแบบเสื้อสำเร็จรูปสตรีด้วยผ้าปักชาวเขาเผ่าม้ง และช่วยในการตั้งข้อคำถามของแบบสอบถามให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ต่อไป