วัฒนธรรมชนเผ่าตองเหลือง(มลาบรี)

ชนเผ่าตองเหลืองมลาบรีบ้านห้วยฮ่อมพัฒนา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่

ข้อมูลทั่วไป ชนเผ่าตองเหลือง มลาบรี ตั้งอยู่หมู่บ้านห้วยฮ่อมพัฒนา หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ชุมชนเผ่าตองเหลืองมลาบรี บ้านห้วยฮ่อมพัฒนา อยู่ห่างจากอำเภอร้องกวาง 42 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดแพร่ 47 กิโลเมตร ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านขุนสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยฮ่อมบน อำร้องกวาง จังหวัดแพร่ ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดอุตรดิตถ์ หมู่บ้านอยู่ท่ามกลางภูเขาที่สลับซับซ้อน ในปี พ.ศ.2519 หมู่บ้านแบ่งออกเป็น 2 หย่อมบ้าน คือบ้านห้วยฮ่อมบน (บ้านผามุง) และบ้านห้วยฮ่อมล่าง (บ้านน้ำกล้า) การคมนาคมยังห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ (ผี) รองลงมานับถือศาสนาคริสต์ ส่วนชุมชนบ้านมลาบรีอยู่หย่อมบ้านห้วยฮ่อมบน (บ้านผามุง)

ในปี พ.ศ. 2528 ได้เริ่มดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูง โดยมี ครูศศช. จัดการศึกษาให้แก่เด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และก่อสร้างอาคาร โดยศูนย์การาศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแพร่ จนถึงปัจจุบัน มีศูนย์การเรียน (ศศช.) จำนวน 2 ศูนย์การเรียน มีชื่อว่าศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยฮ่อมล่าง และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยฮ่อมบน ตั้งอยู่หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านเวียง อำร้องกวาง จังหวัดแพร่ เป็นสถานศึกษาอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอร้องกวาง สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดแพร่ ให้บริการด้านการศึกษาสำหรับประชาชนที่อาศัยในชุมชนบนพื้นที่สูง

ชนเผ่ามาลาบรี (มละ) หรือ ผีตองเหลืองมาลาบรี (มละ) หรือ ผีตองเหลือง ชนกลุ่มนี้เรียก ตัวเองว่า “คนป่า” หรือ “มลาบรี” ไม่ชอบถูกเรียกว่า “ผีตองเหลือง” แต่ที่ผู้คนในที่ราบ คุ้นเคยกับคำว่า “ผีตองเหลือง” อาจเนื่องมาจากคนป่ากลุ่มนี้ มักชอบหายตัวไปอย่างว่องไว เมื่อเผชิญกับคนแปลกหน้าจะทิ้งไว้เพียงเพิงพัก ซึ่งมุงด้วยใบตองกล้วยป่าที่ผ่านการใช้งานมาหลายวัน จนใบตองเปลี่ยนจากสีเขียว จนเป็นสีเหลือง มลาบรีเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลอยด์ดั้งเดิม เป็นกลุ่มชนเร่ร่อนไม่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง เดิมมีถิ่นฐานอยู่ใน เขตจังหวัด สายะบุรี ประเทศลาว ต่อมาเริ่มอพยพไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่น แถบภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ แถบภูกระดึง จังหวัดเลย และตามดอยสูงในป่าทางภาคเหนือ ของประเทศไทย ปัจจุบันชนเผ่ามลาบรี อาศัยอยู่ในเขต อ.เวียงสา และ อ.สันติสุข จ.น่าน มลาบรีอาศัย อยู่กระจัดกระจาย ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตจังหวัดแพร่และน่านเท่านั้น

ชนเผ่ามลาบรี หรือที่คนอื่นเข้าใจในชื่อเผ่าตองเหลืองหรือ มลาบรี โดยสามารถแบ่งความหมายของชื่อของชนเผ่านี้ได้ดังนี้คือ “มละ” แปลว่า คน ( ซึ่งคำนี้ต้องอ่านควบกันทั้งสองพยางค์ทีเดียว) เป็นคำที่ชนเผ่านี้ใช้เรียกชนเผ่าของตนเอง และจะใช้เรียกชนเผ่าอื่นๆหรือ ชนชาติอื่นว่า “กวั๊ร” ส่วนคำว่า บรี นั้นหมายถึงป่า ซึ่งเป็นคำที่เพิ่งมาเพิ่มตอนหลังๆ จึงทำให้เกิดคำว่า มลาบรี “Mlabri” หมายถึง “ คนป่า ” แต่ชนเผ่านี้ไม่อยากให้เรียกพวกเขาว่า “ผีตองเหลือง” เป็นคำที่คนอื่นตั้งให้พวกเขา เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นผี เขาก็เป็นมนุษย์เสมือนเราทุกคน การไม่เรียกชื่อนี้กับพวกเขาถือเป็นการให้เกียรติ คำว่า ผีตองเหลืองมาจาก “ชนเผ่ามลาบรี” อาศัยอยู่ในป่า มีการหาของป่ากินเป็นอาหารเช่น เผือก มัน กล้วย หน่อ สัตว์ป่า ผึ้ง เป็นต้น เมื่ออยู่ได้ 2-3 วัน ก็จะมีการเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ไปเรื่อย ๆโดยมีผู้นำครอบครัวแต่ละครอบครัวมาคุยกันก่อน บางครั้งการย้ายนั้นไม่ใช่ว่าอาหารในป่าหมด แต่เป็นเพราะว่า ชนเผ่า “มลาบรี” นั้นเกรงกลัวมนุษย์ ที่จะไปรุกราน รบกวน หรือทำร้ายพวกเขา ฉะนั้นเมื่อมีคนแปลกหน้าหรือได้ยินเสียงคนก็ตามเข้าไปใกล้เขตที่พวกเขาอาศัยอยู่ พวกเขาก็จะพาครอบครัวหลบหนีอย่างว่องไว โดยทิ้งไว้แค่เพิงพักอาศัยเท่านั้น เพราะว่าเมื่อก่อนเคยมีญาติพี่น้องของพวกเขาถูกยิงตายต่อหน้าต่อตา จึงทำให้พวกเขาเกรงกลัวคนมาก ต้องย้ายไปเรื่อยๆ ไม่เป็นที่เป็นแหล่ง ไม่กล้าส่งเสียงดัง ไม่กล้าสุมไฟเป็นกองใหญ่ ขณะเดียวกัน เพิงพักที่พวกเขาอาศัยอยู่ ซึ่งมุงด้วยใบตองเขียวสดก็เริ่มเหลืองและแห้งไปในที่สุด จึงเป็นที่มาของคำว่า “ ผีตองเหลือง” ในเวลาต่อมา แต่คำที่พวกเขาภูมิใจและอยากให้คนทั่วไปเรียกมากที่สุด คือ คำว่า ชนเผ่ามลาบรี ชนเผ่ามลาบรี อาศัยอยู่ในพื้นที่ 2 จังหวัดในประเทศไทย คือ ที่หมู่บ้านห้วยหยวก อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ส่วนในจังหวัดแพร่ อาศัยอยู่ในพื้นที่ บ้านทะวะ อำเภอสอง และบ้านห้วยฮ่อมอำเภอร้องกวาง ซึ่งชุมชนแต่ละที่ก็เกิดจากการอพยพโยกย้ายไปมา จนก่อตั้งเป็นชุมชนในเวลาต่อมา






ภาษา ชนเผ่ามลาบรี มีภาษาพูดของตนเองมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ไม่เคยมีตัวอักษรใช้ แต่มาปัจจุบันเพื่อที่จะเก็บเรื่องราวของพวกเขา และไม่ให้คนรุ่นใหม่ ลืมภาษาของตนเอง เยาวชนของชนเผ่ามลาบรี จึงมีการนำตัวอักษรของไทยมาดักแปลงเป็นภาษาเขียนของชนเผ่า มลาบรี ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการคิดค้น และดักแปลง เพื่อให้สามารถปรับเข้ากับการออกเสียงของชนเผ่ามลาบรี ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้อย่างลงตัว ตัวอย่างภาษาเขียนของชนเผ่า มลาบรี เช่น คำว่า มาแล้ว เขียนว่า อา-เลฮ-แหละ อ่านว่า อ่า-เล่-แหละ หรือคำว่า เธอมา เขียนว่า โอฮ-เลฮ อ่านว่า โอ้-เล่ จากที่นี้เราจะสังเกตเห็นว่า ชนเผ่ามลาบรี มีการนำพยัญชนะของไทยบางตัวมาใช้เป็นสระ หรือกำหนดเสียงสูง เสียงต่ำ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นว่าปัจจุบันชนเผ่ามลาบรี ได้ย้ายถิ่นฐานลงมาอยู่ในพื้นราบ แต่ชนเผ่ามลาบรี เองก็ยังมีความภูมิใจในภาษาที่พวกเขาใช้กันอยู่ เมื่อมาโรงเรียนก็นำภาษาถิ่นของตนมาปรับเข้ากับบทเรียนได้

นักศึกษาบูรณาการการใช้ภาษาไทยและภาษามลาบรี

การทำโครงงานของนักศึกษา

วัสดุที่ใช้ในการทำโครงงานโดยใช้ภาษามลาบรี

โครงงานกระเป๋ารักษ์โลก(การเป๋าญอก) นักศึกษาชนเผ่ามลาบรี

วิถีชีวิต และลักษณะบ้านเรือน

วิถีชีวิตด้านการละเล่น

สมัยก่อนชนเผ่ามลาบรีไม่มีของเล่นหรือการละเล่นเป็นของตนเอง เนื่องจากกลัวว่าคนอื่นจะได้ยิน จะมีก็แต่การนำเถาวัลย์มาผูกกับต้นไม้ แล้วทำเป็นชิงช้าให้กับเด็กเล่นเท่านั้น แต่มาระยะหลังเมื่อลงมาอาศัยอยู่กับม้ง เยาวชนของชนเผ่ามลาบรี ก็เริ่มมีการนำของเล่นจากชนเผ่าม้งมาเล่น เช่น ปืนกระบอกไม้ไผ่ ไม้โกงกาง เป็นต้น

วิถีชีวิตด้านอาชีพ

ชนเผ่า มลาบรี สมัยที่อาศัยอยู่ในป่าไม่ได้มีอาชีพอะไร เพียงหาของป่ากินประทานชีวิตไปเรื่อยๆ กระทั่งภายหลังเมื่อลงมาอาศัยอยู่กับชนเผ่าม้ง ก็มีการรับจ้างทำไร่ ทำสวน โดยได้ค่าตอบแทนเป็นข้าวปลาอาหารบ้าง สัตว์เลี้ยงบ้าง แต่ปัจจุบัน ชนเผ่า มลาบรี เริ่มหันมาทำไร่ ปลูกข้าว, ข้าวโพด โดยเรียนรู้การเพาะปลูกพืชต่างๆ จากชนเผ่าม้ง นอกจากอาชีพรับจ้าง, ทำไร่ทำสวนแล้ว ยังมีการเลี้ยงสัตว์ทั้งไก่ หมู่ เพื่อไว้กินเองและขายบ้างบางครั้ง อีกทั้งยังมีอาชีพเสริมคือ งานถักเปล ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดแพร่ และคุณบุญยืน ทำหน้าที่ในการหาตลาดให้กับชาวบ้าน และมีการพัฒนาอาชีพจาภูมิปัญญา การทำกระเป๋าสานหรือกระเป๋ารักษ์โลก (กระเป๋าญอก) โดยการสนับสนุนจาก ศศช.บ้านห้วยฮ่อมล่าง กศน.อำเภอร้องกวาง

อาชีพถักเปลญวน

กระเป๋ารักษ์โลก

เชือกเถาวัลย์ย้อมสีธรรมชาติ

การถักกระเป๋ารักษ์โลก

วิถีชีวิตด้านสังคมและครอบครัว ชนเผ่ามลาบรี นิยมอยู่กันเป็นครอบครัว เมื่อลูกๆแต่งงานก็จะแยกบ้านออกไป สมัยก่อนชนเผ่ามลาบรี มีบุตรเยอะบางคนมีประมาณ 10 คน เนื่องจากไม่รู้วิธีคุมกำเนิด ชนเผ่ามลาบรี เองมีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนระหว่างชายกับหญิง เช่น ผู้ชายออกไปล่าสัตว์ หาผึ้ง ส่วนผู้หญิงก็ตัดไม้สร้างเพิงพัก หาเผือก หามัน ดูแลลูกๆ ดันไฟ หุงข้าว ตักน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้หญิงและผู้ชายชนเผ่า มลาบรี ก็ยังมีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ส่วนลูกชายเมื่อแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ก็จะย้ายออกไปสร้างบ้านใหม่อยู่อีกบ้านหลังหนึ่ง ส่วนลูกสาวเมื่อแต่งงานมีครอบครัวแล้วก็จะไปอาศัยอยู่ด้วยกันกับผู้ชาย แต่ถึงจะย้ายออกไปอยู่อีกบ้านหนึ่งก็ตาม ทั้งลูกชายและลูกสาวก็ยังมีการมาช่วยเหลือ ดูแล พ่อและแม่ของตนอยู่

การอาศัยอยู่ในบ้านเป็นครอบครัวใหญ่ของชนเผ่ามลาบรี


วิถีชีวิตด้านการศึกษา สมัยก่อนชนเผ่า มลบรี ไม่ได้รับการศึกษา เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่ในป่า แต่มาปัจจุบันเยาวชน เมื่อลงมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ข้างล่าง ชนเผ่ามลาบรี ในหมู่บ้านห้วยฮ่อม ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ต่างได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยมีโรงเรียนบ้านห้วยฮ่อมพัฒนา ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านของชนเผ่าม้ง ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านของ “ชนเผ่ามลาบรีบ้านห้วยฮ่อมพัฒนา” ประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นโรงเรียนที่เด็กชนเผ่า มลาบรี เข้าไปเรียน เด็กๆจะต้องเดินทางไปกลับโรงเรียนทุกวัน หรือถ้าคนไหนเรียนสูงขึ้นมาอีกหน่อยก็จะออกไปเรียนต่อ ยังโรงเรียนในตัวอำเภอเมืองร้องกวาง จังหวัดแพร่ และ ยังมีศูนย์การเรียน (ศศช.) จำนวน 2 ศูนย์การเรียน คือศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยฮ่อมล่าง และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยฮ่อมบนจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับประชาชน 1) จัดการเรียนการสอนหลักสูตรการรู้หนังสือไทย พุทธศักราช 2557 2) จัดการเรียนการสอนหลักสูตรการศึกษานอกระบบระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดการศึกษาต่อเนื่อง 1)จัดการศึกษาอาชีพ รูปแบบกลุ่มสนใจ และหลักสูตรอาชีพระยะสั้น 2)จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต 3) จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน 4) จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 5) จัดและส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย

นักศึกษาชนเผ่ามลาบรีเรียนการทำผ้ามัดย้อม

นักศึกษาชนเผ่ามลาบรีร่วมปฐมนิเทศ กศน.จังหวัดแพร่

นักศึกษาชนเผ่ามลาบรีเรียนอาชีพการทำไม้กวาดดอกหญ้า

นักศึกษาร่วมกิจกรรมพบกลุ่มผู้เรียนการทำโครงงาน

กิจกรรมพบกลุ่มผู้เรียนบ้านมลาบรี

นักศึกษาชนเผ่ามลาบรีร่วมพิธีรับทุนการศึกษา

นักศึกษาชนเผ่ามลาบรีร่วมรับทุนการศึกษา

ผู้เรียนชนเผ่ามลาบรีประกวดโครงงานกระเป๋ารักษ์โลก

ลักษณะบ้านเรือน การตั้งถิ่นฐานของมลาบรี ปกติจะอพยพตามลักษณะภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ โดยจะอาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่ เป็นเวลา 5-10 วัน แล้วย้ายไปที่อื่นที่มีอาหารเพียงพอ รูปแบบในการอพยพในลักษณะวนกลับมาที่เดิม ในรัศมีประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร ในแต่ละปีเมื่อถึงฤดูกาลที่ต้องเร่ร่อนเข้าป่าเพื่อตีผึ้ง ต้องอพยพไปทั้งหมู่บ้าน มลาบรีเป็นกลุ่มสังคมล่าสัตว์ พวกเขาจะสร้างที่พักชั่วคราว ลักษณะเพิงที่พักของชนเผ่ามลาบรี สร้างจากไม้ไผ่คล้ายกับเพิงหมาแหงน ขนาดของเพิงจะขึ้นอยู่กับจำนวน สมาชิกแต่ละครอบครัว ภายในไม่มีการยกพื้น ใช้พื้นดินเป็นพื้นเพิงและนำหญ้าฟางแห้งหรือใบตองมาปูบนพื้น เวลานอนจะไม่หนุนหมอน แต่ตะแคงหูแนบพื้น เพื่อให้สามารถได้ยินฝีเท้าคนหรือสัตว์ที่เข้ามาใกล้เพิงพักได้ พวกผู้หญิงและเด็กจะอยู่ในกระท่อมที่สร้างบนภูเขาสูง เมื่อพวกผู้ชายไปล่าสัตว์หาของป่า หรืออาหารได้เพียงพอแล้ว จึงจะกลับไปหาลูกเมียครั้งหนึ่ง ความเป็นอยู่ ชนเผ่านี้ เดิมอยู่ในป่าที่มีภูมิประเทศลักษณะเป็นลำห้วย หรือภูเขาที่มีป่าทึบ เพื่อจะหาอาหารง่าย เพราะในป่าจะมีต้นเผือกหรือมันตามธรรมชาติ อีกอย่างชนเผ่านี้อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ ลำห้วย เพื่อไปเอาน้ำสะดวก และมีการใช้ไม้หรือกิ่งไม้ที่หาได้ง่ายมาทำเป็นเพลิงหมาแหงน มีใบตองกล้วยมุงเป็นหลังคา เมื่อยู่ถึง 4 วัน หรือ 7 วันใบตองกล้วยกลายเป็นสีเหลือง เขาก็ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นแต่ไปไม่ไกล อาจเป็นเหนือลำห้วยหรือใต้ลำห้วย แล้วแต่การหาอาหารที่จะสะดวก เมื่อเวลาชนเผ่าพบหรือเจอกัน ให้ดูสัญลักษณ์ที่ใบหู คือมีใบหูเจาะรูไว้หรือไม่ ถ้าเจาะไว้ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน จากนั้นค่อยทักทายกัน

บ้านใบตองของชนเผ่าตองเหลือง

ผู้บริหารกศน.ร่วมอนุรักษ์บ้านมลาบรี

ชนเผ่ามลาบรีต้อนรับ ดร.อาทร

บ้านใบตองเริ่มเหลือง

บ้านชนเผ่ามลาบรีก่อปูน


บ้านชนเผ่ามลาบรีไม้ผสมไม้ไผ่


วัฒนธรรมประเพณี

ประเพณีการแต่งงาน ในสมัยก่อนชนเผ่ามลาบรี ไม่มีการทำพิธีกรรมอะไรเวลาหนุ่มสาวจะแต่งงานกัน หากว่าหนุ่มชอบสาวและสาวก็ชอบด้วย ทางฝ่ายชายก็จะพาพ่อและแม่ มาพูดคุยเจราจากับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เมื่อครอบครัวของทั้งสองฝ่ายรับรู้และ ต่างตกลงปรงใจกัน ผู้ชายก็จะพาผู้หญิงไปปลูกบ้านอยู่อีกที่หนึ่งได้เลย โดยก่อนที่ผู้ชายจะขอสาวไปอยู่กับเขานั้น พ่อและแม่ของทั้งสองฝ่ายก็จะมีการกล่าวอวยพรให้กับบ่าวสาวทั้งคู่ เมื่อทุกอย่างเสร็จทั้งสองก็จะไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ขณะเดียวกันเมื่อผู้หญิงแต่งงานแล้วต้องเปลี่ยนชื่อตามสามี เช่น สามีชื่อ อาลี ฝ่ายหญิงชื่ออะไรก็ตามแต่จะต้องเพิ่มคำว่า ยะ เข้าไปนำหน้าชื่อและตามด้วยชื่อของสามี อย่างกรณีนี้ ฝ่ายหญิงต้องเปลี่ยนชื่อตามสามีก็จะเป็น ยะอาลี เป็นต้น “คำว่า ยะ ที่เป็นคำนำหน้าชื่อของภรรยานั้นหมายความว่า ผู้เป็นภรรยานั่นเอง” ยะอาลี ก็คือ ภรรยาของอาลี เป็นต้น และหากมีลูกด้วยกันก็จะมีการตั้งชื่อตามพ่อ เช่น พ่อชื่ออาลี่ ลูกก็จะชื่อ อีลี่ อีตี้ เป็นต้น ขณะเดียวกันในการแต่งงานของชนเผ่า มลาบรี ก็มีข้อห้ามอยู่เหมือนกัน เช่น ห้ามแต่งงานกับเครือญาติเดียวกันไม่ว่ากี่ยุคหรือกี่ชั่วโครต หากรู้ว่าเป็นเครือญาติกัน ก็จะไม่มีการแต่งงานกัน อีกทั้งในสมัยก่อนชนเผ่า มลาบรี ไม่มีการส่งเสริมให้ลูกหลานของเผ่าตนไปแต่งงานกับชนเผ่าหรือเชื้อชาติอื่น เพราะกลัวเรื่องโรคใหม่ เช่น เอดส์ หรือกลัวว่าคนอื่นเขาจะรังแก หรือรังเกียจชนเผ่าของตนในปัจจุบันชนเผ่ามลาบรี ก็ยังใช้การแต่งงานแบบสมัยก่อน ไม่มีการขอสินสอดทองหมั้น ไม่มีการหมั้น หรือจัดงาน ฆ่าหมูเลี้ยงแขก แต่เป็นลักษณะง่ายๆ คือ เอาญาติของทั้งสองฝ่ายมาคุยกัน หากทั้งสองรักกันและพ่อแม่ไม่ขัดข้อง ทั้งสองก็ถือได้ว่าเป็นสามีภรรยานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม ในสมัยก่อนชนเผ่ามละเองก็เป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าภูต ผีวิญาณ ป่าเขาหรือธรรมชาติ สัตว์ป่า เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ก็จะมีการทำพิธีเรียกขวัญหรือไปทำพิธีขอขมายังที่ที่คิดว่าเขาได้ไปล่วงเกินหรือลบหลู่โดยไม่ได้ล่วงรู้มาก่อน ผู้เฒ่าผู้แก่จะทำห่วงกลมๆ โดยใช่ไม้ไผ่หลายห่วง แล้วไปทำพิธีบริเวณนั้นๆ โดยมีการกล่าวบทสวดเล็กน้อย หรือเวลามีคนไม่สบาย เป็นหนัก ลุกไปไหนไม่ไหว ก็จะมีผู้เฒ่าผู้แก่ใช้ยาสมุนไพรรักษาให้ หรือบางทีก็ใช้คาถาเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากร่าง โดยคาถาที่ใช้ก็จะเป็นภาษาของ “ชนเผ่ามลาบรี” เอง แต่ในปัจจุบันเรื่องการรักษาโดยการใช้ยาสมุนไพรยังพอมีอยู่บ้าง แต่ก็ยังน้อย เนื่องจากเข้ารับรักษายังโรงพยาบาลของรัฐ ส่วนเรื่องการใช้คาถาอาคมในการรักษา เมื่อผู้รู้คนเก่าเสียไปก็ไม่ได้มีการสอนหรือสืบทอดต่อมายังลูกหลาน ทำให้สิ่งเหล่านี้ได้เลือนหายไป

การแต่งกาย การแต่งกายของชนเผ่ามลาบรี ในสมัยก่อนจะใช้เปลือกปอปกปิดร่างกายและเพื่อความอบอุ่นของร่างกาย โดยมีวิธีการ คือ ไปลอกเปลือกจากต้นปอมาแล้วนำเปลือกของต้นปอ ไปทุบให้ละเอียด ตากให้แห้ง แล้วนำมาทำเป็นเครื่องแต่งกายของชนเผ่า มละ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งมีการทำแบบนี้มาเรื่อยๆ ชนเผ่ามละเล่าว่า ไม่มีการนำใบตองมาทำเป็น เครื่องแต่งกายอย่างที่สังคมเข้าใจในทุกวันนี้ เนื่องจากใบตองขาดง่ายและใส่ได้ไม่นาน สำหรับใบตองชนเผ่ามละจะใช้สำหรับทำเพิงพักอย่างเดียวเท่านั้น แต่มาปัจจุบันชนเผ่ามละ ก็หันไปใส่เสื้อผ้าเหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีการแต่งกายแบบดั้งเดิมให้เห็น จะมีให้เห็นก็แค่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านบางคนเท่านั้น ธรรมเนียมอย่างหนึ่งของ ผีตองเหลือง คือ ชายหญิงทุกคนต้องเจาะหูทั้งสองข้างตั้งแต่เด็ก รูหูที่เจาะมีขนาดประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร โดยใช้ไม้ไผ่เหลากลมปลายแหลม แทงลงไปบนเนื้ออ่อนบริเวณติ่งหู สมัยก่อนมักจะนำดอกไม้มาเสียบไว้ในรูหูเพื่อเป็นการประดับร่างกาย แต่ในปัจจุบันเมื่อติดต่อกับชนเผ่าอื่นๆ เช่น ม้งหรือเย้า ทำให้ธรรมเนียมนี้ลดความนิยมลงไป แต่ก็ยังมีปรากฏให้เห็นบ้างประปราย

การแต่งกายของชนเผ่ามลาบรีสมัยก่อน


การแต่งกายชนเผ่ามลาบรีปัจจุบัน


เครื่องดนตรี สมัยก่อนชนเผ่ามลาบรี มีเครื่องดนตรีที่ใช้กันอยู่ยามว่างอยู่บ้าง เช่น การเป่าใบไม้เป็นเพลง และมีการนำกระบอกไม้ไผ่มาทำเป็นกลอง แล้วตีเป็นจังหวะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในการเป่าใบไม้หรือตีกลองนั้นจะไม่ค่อยตีดังมาก หรือจะเล่นได้ก็ต่อเมื่อมีความมั่นใจว่าบริเวณนั้นห่างไกลพอที่คนอื่นจะได้ยิน แต่ปัจจุบันเครื่องดนตรีของสมัยก่อนไม่ได้มีการสอนต่อๆ กัน อีกทั้งคนรุ่นใหม่ก็เล่นไม่เป็น จึงไม่เห็นใครเล่นแล้ว จะมีก็แต่นำเครื่องดนตรีจากชนเผ่าม้งมาใช้เล่นกัน เช่น แคนน้ำเต้า และกีต้าร์ เป็นต้น

วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ) เสด็จมาที่บ้านมลาบรี บ้านห้วยฮ่อมพัฒนา ชาวเขาเผ่ามลาบรี ได้ร่วมรับเสด็จพระองค์ โดยพระองค์ทรงทรงรถ ขึ้นบ้านห้วยฮ่อมด้วยพระองค์เอง พระองค์ได้มอบของพระราชทานให้กับประชาชน และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงทุ่มเทพระหทัยและพระวรกายบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านงานการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์โดยมิได้คำนึงถึงความยากลำบากใดๆ ทรงมีความสนพระทัยและทรงทุ่มเทช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความทุกข์ยากลำบากทั่วประเทศในด้านการสาธารณสุข และสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและพลานามัยดีถ้วนหน้า และทรงรับคนป่วยชาวมลาบรี เป็นคนไข้ในพระอนุเคราะห์ด้วย





05-254-วัฒนธรรม ชนเผ่าตองเหลืองมลาบรี ห้วยฮ่อมล่าง1.pdf