ประเพณีเปลี่ยนชื่อ

แนะนำประเพณีเปลี่ยนชื่อ

พิธีสู่ขวัญตั้งชื่อ (Hu plig tis npe)

ความเป็นมา

การสู่ขวัญตั้งชื่อจะทำการสู่ขวัญหลังเด็กเกิดได้สามวัน สมมุติว่าเด็กเกิดวันที่ 1 มกราคม 2546 จะมีพิธีสู่ขวัญตั้งชื่อในวันที่ 4 มกราคม 2546 โดยมากชื่อที่ตั้งขึ้นนั้น พ่อแม่เด็กจะเป็นผู้ตั้งให้เอง แต่ถ้าพ่อแม่เด็กไม่ทราบว่าจะตั้งชื่อว่าอย่างไรดี จะไพเราะจะเป็นสิริมงคล ก็จะให้ทางฝ่ายญาติที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ตั้งให้ หรือหมอขวัญตั้งให้ก็ได้ ชื่อที่ตั้งจะมีพยางค์เดียว เช่น “ตั่ว” แปลว่าคนที่หนึ่ง หรือ “เหย่อ” แปลว่า น้องคนสุดท้อง เป็นต้น

ขั้นตอน / วัสดุอุปกรณ์

ผู้เป็นพ่อและแม่ต้องเตรียมในการตั้งชื่อสู่ขวัญประกอบด้วย

1. ไก่ 3 ตัว

2. ไข่ไก่ 1 ฟอง

3. ธูป 3 ดอก

4. ข้าวสาร 1 ถ้วย

5. หมอสู่ขวัญ

พิธีกรรม

เช้าวันที่สาม ของวันเกิด

1. เตรียมไก่ 2 ตัว ให้หมอขวัญถือไว้

2. ตั้งขันที่ใส่ข้าวสาร ไข่ไก่ ธูป ตั้งไว้ที่ประตูบ้าน

3. หมอขวัญทำพิธีสู่ขวัญ

4. หลังพิธีสู่ขวัญ นำไก่ไปฆ่าถอนขนทำความสะอาด แล้วนำไปต้มพร้อมไข่

5. นำไก่ที่ต้มและไข่ไปใส่ถาดตั้งที่ประตูอีกครั้งหนึ่ง

6. หมอขวัญประกอบพิธีขวัญอีกครั้งหนึ่ง

7. หลังเสร็จพิธีสู่ขวัญ หมอขวัญจะทำนายดวงชะตาของเด็กจากไก่ โดยยึดจาก สิ่งของต่อไปนี้ - ตีนไก่ - ตาไก่ - กะโหลกไก่ - กระดูกไก่ - ลิ้นไก่

5. พิธีสร้างสะพานต้อนรับขวัญ (TuamChoj Tosplig)

ความเป็นมา

พิธีสร้างสะพานต้อนรับขวัญ สาเหตุมาจากที่เด็กมีอาการเจ็บป่วยสุขภาพร่างกายไม่ค่อยสมบูรณ์ โดยไม่มีสาเหตุหรือเจ็บป่วย ได้ทำการรักษาทางอื่นจนหมดแล้วยังไม่หาย หรือผู้หญิงไม่มีลูกหรือมีแต่แท้งลูกเป็นประจำ

ขั้นตอน / วัสดุอุปกรณ์

ผู้เป็นพ่อแม่ต้องเตรียมในการสร้างสะพานสร้างได้ 3 ลักษณะ คือสร้างสะพานข้ามลำธาร หรือการสร้างสะพานบริเวณทางสามแยก หรือการสร้างสะพานในบ้านแล้วแต่กรณี ที่หมอสีดามองเห็น และต้องใช้อุปกรณ์ดังนี้

1. หมู 1 ตัว

2. เหล้า 1 ขวด

3. ไม้สำหรับสร้างสะพาน 3 แผ่น

พิธีกรรม

เมื่อเตรียมข้าวของพร้อมแล้ว

1. ออกไปสร้างสะพาน ณ ที่หมาย

2. เมื่อสร้างสะพานเสร็จแล้วก็โยงสายสิญจน์จากหัวสะพานมาท้ายสะพาน

3. ฆ่าหมูเพื่อประกอบอาหาร

4. รอใครสักคนหนึ่งที่ต้องเดินผ่านมาจากเส้นทางนี้ คืออาจจะไปไร่มา หรือไปธุระ ที่อื่นมาก็ได้ ก็ถือว่าคนคนนั้นแหละคือคนที่นำขวัญมาให้

5. เมื่อได้บุคคลที่นำขวัญมาแล้ว ทางเจ้าภาพก็จะให้บุคคลนั้นพาเด็กคนที่จะทำพิธีต้อนรับขวัญไปอยู่ที่หัวสะพาน

6. จากนั้นพ่อแม่ที่อยู่ทางสะพานจะถามว่า “ ท่านเป็นใคร จะไปไหน “

7. คนที่นำขวัญมาจูงมือเด็กและตอบว่า “ ข้าพเจ้าเป็นนักท่องเที่ยวได้ท่องเที่ยวไปทุกหนทุกแห่งและได้พบเด็กคนนี้ร้องไห้หาพ่อแม่อยู่ทางซีกโลกโน้น ข้าพเจ้าจึงได้พามาส่ง ท่านใช่พ่อและแม่ของเด็กคนนี้หรือไม่ “

8. ทางพ่อแม่เด็กจะตอบรับว่า “ทุกข์หมดโศกแล้วจะได้สบายอยู่ดีมีสุขตลอดไป “

9. คนพาขวัญจูงมือเด็กพาเดินข้ามสะพานไป ส่งให้พ่อแม่เด็กที่อยู่ท้ายสะพาน พ่อและแม่ของเด็กกล่าวขอบคุณที่พาขวัญมาส่งให้

10. จัดอาหารกินเลี้ยงกัน ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี

6. พิธีขอพ่อบุญธรรมแม่บุญธรรม (Thov niam qhuav txiv qhuav)

ความเป็นมา

สาเหตุจากการที่เด็กชอบร้องไห้งอแง โดยไม่มีสาเหตุ หรือเจ็บป่วยโดยได้ทำการรักษาทางอื่นจนหมดแล้วก็ยังไม่หาย หรือเด็กชอบปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ

ขั้นตอน / วัสดุอุปกรณ์

ผู้เป็นพ่อและแม่ต้องเตรียมในการขอพ่อบุญธรรมแม่บุญธรรมประกอบด้วย

1. ไก่ต้มสุก จำนวน 1 ตัว

2. เหล้า จำนวน 1 ขวด

3. ย่ามใส่ของ จำนวน 1 ใบ

พิธีกรรม เมื่อเตรียมข้าวของพร้อมแล้ว

1. พ่อและแม่ของเด็กจะแต่งตัวอย่างดี

2. พ่อแม่เด็กจะเอาเด็กใส่เป้ขึ้นสะพายหลัง ออกเดินทางไปตามทางในหมู่บ้าน

3. ถ้าคนในหมู่บ้านพบเห็นและทักก่อนถือว่าคนคนนั้นคือ พ่อบุญธรรม และ แม่บุญธรรมของเด็ก

4. พ่อบุญธรรมและแม่บุญธรรม จะพาเข้าบ้านของพ่อบุญธรรมและแม่บุญธรรม

5. เมื่อเข้าถึงในบ้านของพ่อบุญธรรมและแม่บุญธรรม พ่อแม่เด็กจะจัดตั้งโต๊ะอาหารโดยมีไก่ที่ต้มสุก ใส่ย่ามมาผ่าใส่จานและรินเหล้าให้ 1 แก้ว

6. พ่อแม่ของเด็กจะแจ้งวัตถุประสงค์ที่พาเด็กมาว่า “ ด้วย (เด็กชาย.., เด็กหญิง…) มีอาการ (เล่าตามอาการเจ็บป่วย) สาเหตุมาจากเด็กจะเอาพ่อบุญธรรม และ แม่บุญธรรม จึงได้พาเด็กมา เพื่อขอให้พ่อบุญธรรมและแม่บุญธรรม ช่วยผูกแขนให้ลูกข้าพเจ้าหายจากอาการเจ็บป่วย และอยู่สุขสบายดีต่อไป”

7. จากนั้นพ่อบุญธรรมและแม่บุญธรรม จะทำการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายให้ออกไปจากเด็ก แล้วผูกแขนและกล่าวอวยพรให้เด็ก

8. หลังจากผูกแขนแล้วก็เอาไก่และเหล้ามากินกันถือว่าจบพิธี

7. พิธีสู่ขวัญตั้งชื่อสู่วัยผู้ใหญ่ (Kab ke hu npe laus)

ความเป็นมา

คนชาวม้งถือว่าพิธีสู่ขวัญตั้งชื่อสู่วัยผู้ใหญ่เป็นพิธีที่มีสิริมงคลที่ดี การเปลี่ยนชื่อนี้จะเปลี่ยนในช่วงระยะเวลากลาง ๆ ของชีวิตคนต้องเป็นผู้ชายที่แต่งงานและมีบุตรแล้วเท่านั้น เช่นชื่อเดิมว่า “ป๋อ"ว่า คนที่หนึ่ง เมื่ออายุระหว่าง 25 – 30 ปี แต่งงานและมีบุตรแล้ว จะเปลี่ยนชื่อเป็น หน่อป๋อหนึ่งพยางค์เป็นสองพยางค์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมีชื่อเดิม ผสมอยู่ด้วยเสมอไป อาจจะตั้งชื่อใหม่เลยก็ได้ แต่ที่นิยมก็คือ ต้องมีชื่อเดิมผสมอยู่ด้วย การตั้งชื่อสู่วัยผู้ใหญ่นี้ ส่วนใหญ่จะให้เกียรติแก่พ่อตา (พ่อของภรรยา) เป็นคนเลือกชื่อให้

ขั้นตอน / วัสดุอุปกรณ์

ผู้เป็นพ่อและเป็นแม่ต้องเตรียมในการตั้งชื่อสู่ขวัญ

1. หมู 2 ตัว

2. เหล้า 3 แกลลอน

พิธีกรรม

เมื่อแขกและญาติพี่น้องมาพร้อมแล้ว

1. ฆ่าหมูเพื่อทำอาหาร

2. เมื่ออาหารพร้อมแล้ว เชิญแขกและญาติขึ้นประจำโต๊ะอาหาร

3. เจ้าภาพจะรินเหล้าให้แขกและญาติที่ขึ้นนั่งประจำโต๊ะอาหารคนละ 1 แก้ว

4. เจ้าภาพจะแจ้งวัตถุประสงค์ที่ได้เชิญแขกมาในครั้งนี้ให้ทราบและขอให้แขกและญาติที่เชิญมานั้นให้ช่วยเลือกชื่อให้คนที่จะเปลี่ยนชื่อนั้น

5. แขกและญาติที่เชิญมาจะทำการปรึกษาหารือ เพื่อเลือกชื่อใหม่ให้แก่คนนั้น ถ้าคนที่จะเปลี่ยนชื่อนั้นยังมีพ่อตาอยู่ แขกและญาติที่เชิญมาจะให้เกียรติแก่พ่อตา ให้เป็นคนเลือกก่อน และส่วนใหญ่พ่อตาเลือกชื่อได้อย่างไรคนส่วนใหญ่จะเอาด้วยเสมอ

6. หลังจากเลือกชื่อได้แล้วเจ้าภาพจะเชิญแขกและญาติๆที่นั่งประจำโต๊ะอาหารให้ดื่มเหล้า 1 รอบ และในช่วงนี้เองจะทำการสู่ขวัญเรียกตามชื่อใหม่ที่เลือกได้แล้ว

7. หลังพิธีสู่ขวัญ เจ้าภาพจะเชิญแขกและญาติ ๆ ที่นั่งประจำโต๊ะอาหารดื่มเหล้าอีก 3 รอบ

8. ในกรณีที่พ่อตาเป็นคนเลือกชื่อใหม่ให้ลูกเขย หลังจากเสร็จขั้นตอน ข้อ 1-7 แล้ว จะต้องฆ่าหมูตัวที่ 2 เพื่อทำอาหารจัดเลี้ยงขอบคุณพ่อตาอีกครั้งหนึ่ง จึงจะถือว่าเสร็จพิธี

ครูและชาวบ้านร่วมมัดมือคนที่เปลี่ยนชื่อใหม่


เจ้าของชื่อ ขอบคุณแขกที่มาร่วมงาน


จัดเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงแขก