งานดอกฝ้ายบานสืบสานวัฒนธรรมไทเลย

ประเภทศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี : วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ ธรรมเนียม 

ชื่อของศิลปะ วัฒนธรรมและ(หรือ) ประเพณี : งานดอกฝ้ายบาน สืบสานวัฒนธรรมไทเลย

ประวัติความเป็นมาของศิลปะ วัฒนธรรมหรือประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชุมชน

จังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่มีแนวเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี “น้ำเหือง” และ “แม่น้ำโขง” เป็นเขตแนวธรรมชาติ

กั้นพรมแดน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนและมีที่ราบสูง จึงมีคำขวัญว่า “เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม” เมื่อ พ.ศ.2396 รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้ “พระยาท้ายน้ำ” ได้ออกสำรวจเขตแขวงต่างๆ เพื่อตั้งให้เป็นเมือง ได้พบชุมชนหนาแน่นที่ “หมู่บ้านแฮ่” ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำหมาน และอยู่ใกล้กับน้ำเลย มีภูมิประเทศเหมาะสม พลเมืองหนาแน่น พอที่จะตั้งเป็นเมืองได้ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งเป็นเมือง โดยตั้งชื่อตามลำน้ำว่า “เมืองเลย” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดการปกครองแบบใหม่ เรียกว่า “การปกครองแบบเทศาภิบาล” แบ่งเป็นมณฑลเมือง ตำบล หมู่บ้านเมืองเลยจึงเป็นเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ในเขตปกครองของมณฑลลาวพวน ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลอุดร” ครั้งแรกมี 3 อำเภอ คือ อำเภอท่าลี่ อำเภอนากอก และอำเภอกุดป่อง ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมือง (อำเภอเมืองเลยในปัจจุบัน)

ปี พ.ศ.2442-2449 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยใหม่เป็น “บริเวณลำน้ำเลย” และในปี 2449-2450 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น “บริเวณลำน้ำ

เหือง” ต่อมาวันที่ 4 มกราคม 2450 ให้ยกเลิกชื่อ “บริเวณลำน้ำเหือง” ให้คงชื่อไว้เฉพาะคำว่า “เมืองเลย” ขณะเดียวกันก็ให้เปลี่ยนชื่อ “อำเภอกุดป่อง” เป็น “อำเภอเมืองเลย” ปัจจุบันจึงถือว่า วันที่ 4 มกราคม 2450 เป็นวันสถาปนาจังหวัดเลย “ประพันธ์ พลอยพุ่ม” ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย ร่วมกับชาวเลยจัดงาน “ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย” ขึ้น เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2523 ในสมัยนายวิชิต ลักษณสมพงษ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้ชื่องานว่า “ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย และงานกาชาดจังหวัดเลย” โดยงานมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2523 ครั้งนั้นจัดขึ้นที่ด้านหลังที่ว่าการอำเภอเมืองเลยเก่า ติดกับศาลาเทศบาลเมืองเลยใน “สวนสาธารณะกุดป่อง” ที่ล้อมรอบด้วยน้ำกุดป่อง งานครั้งนั้นเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การปลูกฝ้ายในฐานะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเลย เพราะทำรายได้ให้จังหวัดเลยเป็นอันดับหนึ่ง

เลย เป็นจังหวัดเดียวของประเทศที่ปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ 1 ในสมัยนั้น และเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของจังหวัดเลยในด้านการท่องเที่ยวทาง

ธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย คือ ภูกระดึง ภูเรือ ภูหลวง ควบคู่กับการส่งเสริมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในชนบทที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ท่องเที่ยวพักผ่อน รื่นเริงสนุกสนาน โดยในช่วงฤดูหนาวถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมกับการจัดงานมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น และฝ้ายกำลังออกดอกขาวบานสะพรั่งไปทั่วจังหวัดเลย ต่อมาสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไป ฝ้ายซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัดเลย ขาดการเอาใจใส่ส่งเสริม เกษตรกรหันไปสนใจปลูกมะขามหวาน ข้าวโพด มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา อ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งมะขามหวานได้เข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจแทนฝ้าย ในสมัยนายชีวิน สุทธิสุวรรณ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการในครั้งนั้นผลักดันให้นำชื่อมะขามหวานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชื่องาน “งานกาชาดดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 มาจนถึงปัจจุบัน โดยจัดต่อมาเป็นประจำทุกปี ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดเลย มีการแสดงศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวจังหวัดเลย รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลย โยงไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่นจึงมีการแสดงสินค้าเกษตรสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์และเพื่อเป็นการส่งเสริมความรักความสามัคคีและรักหวงแหนในวัฒนธรรมพื้นบ้านอันเป็นการพัฒนาสังคมโดยผ่านกระบวนการแสดงออกร่วมกันทางสภาวัฒนธรรมจังหวัด/อำเภอ/ตำบล/เทศบาลและศูนย์วัฒนธรรม ได้ร่วมกันออกร้านในงานนี้ พร้อมทั้งจัดประกวดและสาธิตการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น

การจัดงานกาชาดดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย จะมีมหรสพสมโภชตลอด 9 วัน 9 คืน ในช่วงวันที่ 1 - 9 กุมภาพันธ์ ของทุกปี

nushjaree. (2554). เทศกาลดอกฝ้ายบานมะขามหวานเมืองเลย. สืบค้น 18 กรกฏาคม 2565, 

                                                                จาก https://shorturl.asia/3vKgF 

การสืบสาน การอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณี

การสืบสาน การอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมและประเพณี งานดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย เพื่อนำเสนอวิถีถิ่น วิถีบ้าน สืบสานวัฒนธรรม

ท้องถิ่นของชาวจังหวัดเลย ร่วมสืบสานงานดอกฝ้ายบานเมืองเลย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวชุมชนอย่างสร้างสรรค์จังหวัดเลยกำหนดจัดงาน “ดอกฝ้ายบานสืบสานวัฒนธรรมไทเลย ประจำปี 2566” ระหว่างวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจหลังจากทำงานหนักในห้วงทั้งปีที่ผ่านมา และให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน อำเภอต่างๆ 14 อำเภอ นำเสนอศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นผ่านขบวนแห่ และการออกร้านจำหน่ายสินค้า OTOP ของจังหวัดเลยจากทั่วทุกภูมิภาค การประกวดผลผลิตทางการเกษตร การแข่งขันกีฬา การแสดงบนเวทีกลาง และภายในงานสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดเลย ยังได้ออกร้านกาชาดเพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่มาเที่ยวชมงานได้ร่วมสนุกลุ้นโชคและทำบุญกับร้านมัจฉากาชาด พร้อมลุ้นรางวัลสลากกาชาดฉบับ 50 บาท โดยรายได้จากการออกร้านกาชาดนำไปใช้ในกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ดูแลประชาชนผู้ยากไร้ ขาดแคลน ทุนการศึกษาให้กับนักเรียน ผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ

ในงานดอกฝ้ายบานสืบสานวัฒนธรรมไทยเลย ประจำปี 2566 กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย

การจัดแสดงนิทรรศการ 

การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 

การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น 

การออกร้านของหน่วยงานราชการ  

ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวจ.เลย 

ตามรอยหนังที่ถ่ายทำในจ.เลย 

                                                                                                                                      ผู้ให้ข้อมูลและผู้เรียบเรียง หรือผู้เขียน

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาววรรณพร ยอดคำ

                                                                                                                                           ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาววรรณพร ยอดคำ