วนอุทยานภูบ่อบิด 

ประเภท (ข้อมูลเฉพาะ) แหล่งท่องเที่ยว : แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : วนอุทยานภูบ่อบิด 

สถานที่ตั้ง : วนอุทยานภูบ่อบิด ตำบลชัยพฤกษ์   อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย

พิกัด : https://goo.gl/maps/88BRV7k4JzUcYdSN7

เล่ากันว่า... แต่ก่อนบนภูนั้น ภายในถ้ำกว้างขวางเวิ้งว้างกว่านั้นด้วยมีเขตของพวก "บังบด" หรือ พวก ภูมิเทวดา ดูแลรักษาอยู่ด้วย มีสมบัติภายในถ้ำมากมายมหาศาลเป็นสมบัติของ "เทวดา" ผู้มีศีลธรรม มีจิตบริสุทธิ์ ได้ปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นทรัพย์สมบัติของส่วนกลาง ให้มนุษย์นำมากราบไหว้หรือมีสิทธิ์นำไปใช้สอยได้ ส่วนที่ให้นำมากราบไหว้บูชา คือ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน นาก ขนาดต่างๆ อันแสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสูงสุดของคนในสมัยโบราณ จึงได้จัดสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุมีค่าไว้สักการะบูชา ส่วนที่ให้นำไปใช้สอยก็เป็นพวกสร้อยสนิมพิมพาภรณ์ แก้วแหวนเงินทอง เช่น สร้อยตัว สร้อยคอ สร้อยสังวาล กำไลแขน กำไลข้อมือ เข็มขัด ทอง นาก สิ่งเหล่านี้กองทิ้งอยู่บนแท่นหินภายในถ้ำอย่าง ระเกะระกะ เป็นที่อนุญาตกันว่า เมื่อเข้าไปในเขตถ้ำอันเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเป็นเขตของเทวดาแล้ว ทุกคนจะสามารถนำพระพุทธรูป หรือเครื่องประดับเหล่านั้นติดตัวออกมาได้ 1 กำมือเต็ม ๆ จะเป็นสร้อยตัว สร้อยคอ เข็มขัด จี้ สร้อยปะวะหล่ำ กำไล อย่างใดก็ตามสิ่งเดียวหรือหลายสิ่ง อนุญาตให้นำออกมาได้คนละ 1 กำมือ เมื่อนำมาใช้เสร็จธุระแล้ว ก็ให้นำกลับขึ้นไปคืนยังสถานที่เดิมที่ตนไปขอยืมมา ไม่ทราบว่าจะเป็นเพราะเหตุใด เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์จึงต้องให้แสดงความบริสุทธิ์กายเช่นนั้นหรือเพราะเกรงว่า จะหยิบฉวยเกินเลย ซุกซ่อนใส่กระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือเหน็บเข็มขัดคาดผ้ามาด้วยก็ไม่ทราบ แต่ข้อกำหนดกฎเกณฑ์นั้นมีอยู่ว่า ผู้ที่จะสามารถเข้าไปในเขตถ้ำตอนที่มีสมบัติเทวดารักษาไว้นั้น จะต้องเข้าไปแต่ตัวเปล่ากล่าวคือ ต้องเปลืองเสื้อผ้าออกหมด ไม่ให้มีเครื่องนุ่งห่มชิ้นใดติดกายอยู่เลยแม้แต่ชิ้นเดียวข้อกำหนดกฎเกณฑ์นี้ใช้ทั่ถึงกัน...ไม่ว่าหญิงหรือชาย...ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ทุกคนที่ปรารถนาจะขอยืมเครื่องประดับของใช้ของเทวดามาประดับกาย หรือเชิญพระพุทธรูปมาในงานบุณย์ ก็จะต้องปฏิบัติตามนี้ มิฉะนั้นแล้ว เมื่อเข้าไปกายในถ้ำจะมองไม่เห็นทรัพย์สมบัติมีค่าเหล่านั้นเลยสักชิ้นเดียว จะเห็นเป็นผนังถ้ำแลโล่งไปหมด ดังนั้น ในสมัยโบราณถึงเวลาตรุษสงกรานต์ วันสารท วันทำการมงคล มีการแต่งงาน โกนจุก ทำบุญบ้าน ชาวบ้านก็จะพากันขึ้นเขาไปขอยืมสิ่งของเครื่องประดับมาใช้ ผู้คนสมัยนั้นต่างมีศีลธรรมอันดีเห็นว่าของเหล่านี้ไม่ใช่ของของตนเป็นสมบัติของกลาง ยืมมาใช้สอยสมประสงค์ของตน แล้วก็นำไปคืนโดยดี จวบจนภายหลัง เริ่มมีผู้โลภโมโทสัน ชักจะไม่ค่อยยอมส่งคืน ยึดถือเก็บไว้กับบ้านตนเรือนตน เท่ากับเป็นการผิดศีลข้ออทินนาทานถือเอาของที่เขาไม่ให้มาเป็นของตน สมบัติในถ้ำก็เริ่มลดน้อยลง เครื่องสนิมพิมพาภรณ์ที่เป็นทองคำสุกปลั่ง ก็เริ่มหมองลง ดำคล้ำลง คล้ายเป็นทองเหลือง เป็นที่สังเกตของผู้คนในระยะหลัง ที่ร้ายแรงที่สุด คือ ได้มีเณรน้อยคนหนึ่งตามหลังเข้าไปในถ้ำด้วย เห็น "แม่ออก" หรือหญิงชาวบ้านเดินอยู่ข้างหน้า ก็ไป "บิด" กันแม่ออก  เป็นการหยอกเอิน (หยอกล้อ) ผิดทั้งศีล ที่ไปจับต้องตัวผู้หญิง และไม่สำรวมกิริยา ผิดทั้งการไม่เคารพ ดูหมิ่นสถานที่ทำให้ปากถ้ำบริเวณมีสมบัตินั้นถล่มลงปิดทางเข้าหมด ว่ากันว่าเณรผู้ทำความผิดศีลวิบัตินั้นรอดชีวิต ตกไปในรูพญานาคไปโผล่ที่กุดป่องได้ การรอดชีวิตนั้นเพียงเพื่อมาบอกเล่าทำให้ได้ทราบสาเหตุของการที่ถ้ำถล่มทลายได้ เพราะกลายเป็นคนเสียจริตเลอะเลือน ได้แต่พร่ำเพ้อถึงกรรมไม่ดีของตน และสุดท้ายก็ตายไปจึงเรียกชื่อภูเขานี้ว่า "ภูบักบิด" ด้วยประการฉะนี้ แต่ด้วยกาลเวลา ชื่อเรียกอาจจะผิดเพี้ยนมาเป็น "ภูบ่อบิด" ในปัจจุบัน

นิตยสารเลยก๋อ.  “เปิดมุมมองใหม่ที่...ภูบ่อบิด”.  นิตยสารเลยก๋อ, ตุลาคม (ฉบับที่9) 2554 : 25.

วนอุทยานภูบ่อบิด อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูห้วยหมาก ป่าภูทอก และป่าภูบ่อบิดเป็นภูเขาสูงชัน โดดเด่น ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองเลย โครงสร้างภูเขาเป็นหิน

ยาวตลอดแนวทิศตะวันตกและทิศตะวันออก มีถ้ำหลายแห่งและป่ามีสภาพสมบูรณ์ขึ้นอยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ เหมาะแก่การชมวิวทิวทัศน์และศึกษาธรรมชาติพื้นที่เขตติดต่อกับชุมชนจังหวัดเลยระยะทางประมาณ 5 กม.

ลักษณะเด่น สภาพร่มรื่นสวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ การเดินทางสะดวกรถยนต์สามารถเข้าถึงห่างจากชุมชน

จังหวัดเลยระยะประมาณ 5 กม. เป็นภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 520 เมตรสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกในตอนเช้า มีภูเขาล้อมรอบ หน้าหนาวนี้ต้องลองมาขึ้นภูบ่อบิดสักครั้งนะคะ

วนอุทยานภูบ่อบิด เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 น. - 19.00 น. โดยจะมี 2 เส้นทางให้เลือกขึ้น

1. เส้นทางด้านวัดป่าไตรสวรรค์ บ้านภูบ่อบิด ถนนเลย-นาด้วง (ด้านหน้าวนอุทยาน)

2. เส้นทางด้านวัดป่าสุทธิสลักธรรม ถนนภูบ่อบิด-ห้วยพอด ฝั่ง ต.ชัยพฤกษ์

การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนและภาครัฐ

จังหวัดเลย เปิดฤดูกาลท่องเที่ยววนอุทยานภูบ่อบิด สบาย สบาย สไตล์เลย @ ภูบ่อบิด ที่วนอุทยานภูบ่อบิด ตำบลชัยพฤกษ์ อำเภอเมืองเลย

จังหวัดเลย นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย (ในขณะนั้น) พร้อมด้วย นายกิตติวัฒน์ เทียมเพ็ง หัวหน้าวนอุทยานภูบ่อบิด, นายธรรมนูญ ภาครูป ผู้จัดการสำนักงานฟื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดเลย, นายจริยาทร สูหู่ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย, นายณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดเลย และหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว “วนอุทยานภูบ่อบิด สบาย สบาย สไตล์เลย @ ภูบ่อบิด” ตามโครงการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน ประจำปีงบประมาณ 2564 วนอุทยานภูบ่อบิด อยู่ในท้องที่บ้านนาบอน ตำบลชัยพฤกษ์ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูห้วยหมาก ป่าภูทอก และป่าภูบ่อบิด ห่างจากตัวเทศบาลเมืองเลย 3 ก.ม. มีเนื้อที่ประมาณ 4,375 ไร่ โดยกรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2539 เป็นภูเขาที่มีความสูงประมาณ 500-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีความสวยงามไม่แพ้ที่ไหน ๆ อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง ที่นี่เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น และหมอกยามเช้าที่สวยงาม ส่วนในตอนเย็นยังสามารถชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า พร้อมกับวิวยามค่ำคืนของตัวเมืองเลยที่สว่างไสวขึ้นมาแทน โดยนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นได้ 2 ทาง คือ ใช้บริการ ที่ถนนเลย-ผาพอด บ้านนาบอน ตำบลชัยพฤกษ์ รถอีแต๊กไปจอดใกล้กับถ้ำพระภูบ่อบิดแล้วเดินขึ้นบันไดเหล็กอีก 180 เมตร และอีกเส้นทาง ถนนเลย-นาด้วง เส้นทางนี้เป็นการเดินเท้าขึ้นตั้งแต่ตีนภู โดยเส้นทางช่วงแรกจะเป็นบันไดดิน เมื่อเดินขึ้นไป 20 เมตร จะมีศาลเจ้าปู่ภูบ่อบิดอยู่ทางซ้ายมือ เดินไปอีก 430 เมตร จะมีถ้ำพระภูบ่อบิด จุดนี้มีพระพุทธรูปให้กราบสักการะและจุดชมวิวให้ได้พักเหนื่อย และเดินขึ้นบันไดเหล็กไป 180 เมตร จะเจอถ้ำลอด เป็นถ้ำที่มีความลึกประมาณ 10 เมตร และเดินไปอีก 20 เมตร สุดท้าย ก็จะถึง ยอดภูบ่อบิดใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 20-30 นาทีก็ถึง รวมระยะทาง 670 เมตร

สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดเลย กรมประชาสัมพันธ์.

                                                                                                                                      ผู้ให้ข้อมูลและผู้เรียบเรียง หรือผู้เขียน

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาววรรณพร ยอดคำ

                                                                                                                                           ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาววรรณพร ยอดคำ