1.2 หลักการอ่านในใจ

การอ่านในใจ หมายถึง การอ่านเพื่อทำความเข้าใจหรือเก็บใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านโดย ผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากการอ่านในด้านความรู้ ความคิด ความบันเทิงเพียงคนเดียวถ้าผู้อ่านในใจมิได้นำ เนื้อหาสาระที่ได้จากการอ่านไปถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับรู้รับทราบด้วย

การอ่านในใจเป็นวิธีการรับสารหรือวิธีการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ตลอดจนข้อมูลข่าวสาร เพื่อการพัฒนาความรู้ สติปัญญา ความคิด ความรู้สึกอารมณ์ตลอดจนคุณธรรมจริยธรรมอีกทางหนึ่ง

จุดมุ่งหมายของการอ่านในใจ

1. การอ่านในใจเป็นการอ่านเพื่อจับใจความสำคัญหรือเนื้อหาสาระได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

2. การอ่านในใจเป็นการอ่านเพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึกนึกคิด ให้กว้างขวางและเป็นการเพิ่มประสบการณ์ชีวิตผ่านการถ่ายทอดจากงานเขียนของผู้เขียน หรือผู้ประพันธ์ต่าง ๆ

3. การอ่านในใจเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์หรือเป็นงานอดิเรกที่สามารถสร้าง ความสุขสนุกสนานและความบันเทิงต่าง ๆ ผ่านทางตัวหนังสือหรืองานเขียน งานประพันธ์ต่าง ๆ

4. การอ่านในใจเป็นการอ่านเพื่อพัฒนาความรู้ ความจำ ความคิด ของผู้อ่าน เพื่อความเจริญ ก้าวหน้าทางด้านการศึกษา หรือหน้าที่การงาน การประกอบอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือสังคมของ ตนเอง ครอบครัว ชุมชน ได้ในกรณีที่ผู้อ่านได้นำเอาคุณประโยชน์ที่ได้จากการอ่านไปถ่ายทอดให้เป็น ความรู้ความคิดต่อบุคคลอื่นด้วยต่อ ๆ ไป

ขั้นตอนการอ่านในใจ

การอ่านในใจนั้นผู้อ่านจะมีขั้นตอนวิธีการที่เหมือนกันโดยอัตโนมัติ ดังนี้

1. ขั้นตอนการเคลื่อนสายตาหรือกวาดสายตา ผู้อ่านจะวางหนังสือที่อ่านไว้ตรงกลางระหว่าง ตาข้างซ้ายและตาข้างขวาแล้วเริ่มกวาดสายตาจากต้นบรรทัดซ้ายมือไปยังสุดบรรทัดขวามือ เลื่อนจาก บรรทัดบนลงไปบรรทัดล่างทีละบรรทัดจนจบข้อความหรือจบหน้าบรรทัด

2. ขั้นตอนการจำแนกอักษร ในขณะที่เรากวาดสายตาในการอ่านไปนั้นเมื่อสายตาพบ ตัวอักษรที่มีความแตกต่างที่ปรากฏ เช่น คำว่า การอ่าน (Reading) เมื่อผู้อ่านกวาดสายตาถึงคำนี้ประสาทตา ก็จะจำแนกว่าการอ่าน เป็นภาษาไทย (-) วงเล็บเปิดและปิดเป็นสัญลักษณ์และ Reading เป็นภาษาอังกฤษ อย่างนี้เป็นต้น

3. ขั้นตอนการรวบรวมและเชื่อมโยง ในการอ่านในใจแต่ละครั้ง แต่ละวรรค แต่ละตอน หรือ แต่ละหน้าประสาทสัมผัสของผู้อ่านจะทำหน้าที่รวบรวมความหมายของลายลักษณ์และเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ไปตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อเป็นการปะติดปะต่อตัวหนังสือ ประโยค หรือข้อความต่าง ๆ ให้สอดคล้องสัมพันธ์ และร้อยเรียงกันไปตั้งแต่ต้นจนจบ

4. ขั้นตอนการตีความหรือตีความหมาย ในการอ่านในใจขั้นตอนการตีความนั้นมีความสำคัญ มาก เพราะในขณะที่ผู้อ่านในใจกวาดสายตาไปตามตัวหนังสือทีละบรรทัด ๆ นั้นผู้อ่านจะต้องตีความหรือ ตีความหมายไปด้วยเพื่อติดตามและทำความเข้าใจต่อเรื่องที่อ่านไปพร้อม ๆ กัน ถ้ามีคำหรือข้อความใดที่ ผู้อ่านไม่สามารถตีความหรือตีความหมายได้แล้วความเข้าใจก็จะสะดุดลงตรงนั้น ทำให้ไม่สามารถทำความ เข้าใจหรือจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ

ประเภทของการอ่านในใจ

การอ่านในใจสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะการอ่านได้ 3 ประเภท คือ

1. การอ่านในชีวิตประจำวัน การอ่านประเภทนี้เป็นการอ่านแบบคร่าว ๆ พอให้รับรู้หรือ เข้าใจเรื่องที่อ่าน ไม่ได้นำผลจากการอ่านไปใช้ประโยชน์อื่นต่อไปอีก เป็นการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน อ่านเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ หรืออ่านเพื่อประดับความรู้ การอ่านประเภทนี้ได้แก่ การอ่านหนังสือพิมพ์ การอ่านโฆษณา การอ่านป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ การอ่านเรื่องสั้น การอ่านนวนิยาย เป็นต้น

2. การอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้หรือเพื่อแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม การอ่านประเภทนี้เป็นการอ่าน เพื่อความเข้าใจ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ และมีการนำผลของการอ่านไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ สืบต่อไป เช่น ประโยชน์ทางด้านการศึกษา ประโยชน์ในด้านการพัฒนาการประกอบอาชีพ หรือเพื่อประโยชน์ในการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง เพื่อยกระดับหน้าที่การงาน หรือฐานะทางสังคม ซึ่งได้แก่การอ่าน เอกสารวิชาการ ตำราเรียน เอกสารที่เกี่ยวกับการปรับปรุงวิทยฐานะ การพัฒนาบุคลิกภาพ การประกอบ อาชีพหรือพัฒนาอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น

3. การอ่านเพื่อการวิเคราะห์ การอ่านประเภทนี้เป็นการอ่านอย่างละเอียดและรอบคอบ ความหมายของคำว่า “วิเคราะห์” คือการแยกแยะออกเป็นส่วน ๆ อย่างใคร่ครวญไตร่ตรอง รอบคอบ ประกอบด้วยเหตุผล ดังนั้นการอ่านอย่างวิเคราะห์นี้จะทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจเรื่องที่อ่านได้อย่างละเอียด ลึกซึ้ง รวมไปถึงสามารถเข้าใจแนวความคิดของผู้เขียนและประเมินคุณค่าของงานเขียนนั้น ๆ ได้ด้วย

หลักการอ่านในใจ

ลักษณะสำคัญของการอ่านในใจประการหนึ่ง คือการอ่านเร็ว ซึ่งถ้าผู้อ่านสามารถอ่านในใจได้ อย่างรวดเร็วและสามารถเก็บประเด็นสำคัญ ๆ หรือเนื้อหาสาระของเรื่องที่อ่านได้อย่างครบถ้วนแล้วจึงจะ ถือว่าเป็นการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ การที่จะพัฒนาการอ่านในใจให้มีประสิทธิภาพนั้น มีหลักดังนี้

1. กำหนดจุดมุ่งหมายก่อนที่จะอ่านว่าจะอ่านเรื่องนี้เพื่ออะไร เพื่อศึกษาหาความรู้หรือเพื่อ ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ

2. ตั้งเวลาหรือจับเวลาในการอ่าน ว่าเรื่องหรือหนังสือจำนวนหน้าขนาดนี้จะใช้เวลาในการ อ่านเท่าไร เพื่อว่าครั้งต่อไปจะได้ใช้เวลาให้น้อยลง จะช่วยพัฒนาการอ่านให้เร็วขึ้น

3. มีสมาธิในการอ่าน คือมีใจจดจ่ออยู่กับเรื่องหรือหนังสือที่อ่าน ไม่หันเหความสนใจไปยังเรื่องอื่นหรือสิ่งอื่น

4. ควรอ่านเป็นหน่วยความคิด ไม่ใช่อ่านทีละคำ เพราะการกวาดสายตาไปทีละข้อความหรือ ประโยคจะทำให้เข้าใจความหมายโดยรวมได้อย่างรวดเร็ว

5. ควรอ่านในใจจริง ๆ คือไม่ต้องขยับปากหรือทำเสียงพึมพำในลำคอ เพราะจะทำให้ไม่ สามารถข้ามข้อความบางข้อความที่ไม่สำคัญไปได้

6. เมื่อเกิดความสงสัยข้องใจหรือไม่เข้าใจบางข้อความ อย่ารีบย้อนกลับมาอ่านใหม่ทันที ให้อ่านไปจนจบวรรคหรือตอนก่อน เมื่อไม่เข้าใจจริง ๆ จึงค่อยย้อนกลับมาอ่านใหม่ เพราะเมื่ออ่านต่อไป อาจจะพบคำอธิบายขยายความในสิ่งที่สงสัยหรือไม่เข้าใจอยู่ในข้อความต่อ ๆไป

7. ถ้าเป็นการอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้หรือเพื่อการวิเคราะห์เมื่ออ่านจบแล้วควรสรุป สาระสำคัญหรือบันทึกความเข้าใจไว้สั้น ๆ เป็นขั้นตอนหรือระบบที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการ อ่านต่อไปได้ทันที