2.1 หลักการจับใจความสำคัญของการฟังและดู

การจับใจความสำคัญ หมายความว่า เมื่อฟังและดูเรื่องใดแล้วสามารถบอกได้ว่าเรื่องนั้น มีสาระสำคัญอะไร หมายถึงแก่นของเรื่อง หรือประเด็นสำคัญของเรื่องนั่นเอง

หลักการจับใจความสำคัญของการฟังและดู

การฟังและดูเพื่อจับใจความสำคัญของเรื่องนั้น จะต้องประกอบไปด้วยหลักการ หรือขั้นตอน 3 ขั้นตอน คือ

  1. รู้จักสารหรือเรื่องที่ฟังและดู

  2. เข้าใจสารหรือเรื่องที่ฟังและดู

  3. จับประเด็นของสารหรือเรื่องที่ฟังและดูได้

  1. รู้จักสารหรือเรื่องที่ฟังและดู

การรู้จักสารจัดเป็นขั้นตอนแรกของการสื่อสาร เราจะสามารถจับใจความสำคัญของเรื่อง นั้น ๆ ได้ก็ต่อเมื่อเรารู้จักสารหรือเรื่องราวนั้น ๆ เสียก่อนว่าเป็นสารประเภทใด มีจุดมุ่งหมายในการนำเสนออย่างไร เมื่อเรารู้จักแล้วการทำความเข้าใจเรื่องราว หรือจับใจความสำคัญประเด็นต่าง ๆ ของเรื่องก็จะง่ายเข้า สามารถแยกแยะได้ว่าเรื่องใด สาระใดเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นความคิดเห็น

2. เข้าใจสารหรือเรื่องราวที่ฟังและดู

การทำความเข้าใจเป็นขั้นตอนที่มีความละเอียดลึกซึ้งเพิ่มมากขึ้น ผู้ฟังหรือผู้ดูจะต้องสามารถ แปลความและตีความของคำ และประโยคต่าง ๆ ในเรื่องราวที่ฟังและดูได้อย่างครบถ้วน จึงจะเข้าใจ ความหมายของเรื่องที่ฟังและดูได้ตลอดเรื่อง

การแปลความ หมายถึง การถ่ายความหมายจากภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง ทำให้เข้าใจ ความหมาย เช่น การแปลศัพท์ภาษาต่างประเทศมาเป็นความหมายในภาษาไทย และแปลคำราชาศัพท์หรือ คำศัพท์วิชาการมาเป็นภาษาสามัญ ไม่ว่าจะเป็นการรับสารด้วยวิธีการใดก็ตาม เป็นไปตามปกติ หรือเป็นไปโดยอัตโนมัติ เมื่อคนเราฟังหรือดูสิ่งใดก็ตาม สมองก็จะคิดตามสิ่งที่เราได้ยินหรือมองเห็นตามไปด้วย และเมื่อมีคำศัพท์เทคนิคหรือคำราชาศัพท์อยู่ในเรื่องนั้น สมองก็จะแปลความไปโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น ในการบรรยายของอาจารย์ตอนท้ายชั่วโมง เมื่ออาจารย์พูดว่า “โอเคนะวันนี้พอแค่นี้ก่อน” เมื่อนักเรียนนักศึกษาได้ยินก็จะเตรียมเก็บหนังสือ สมุด ปากกาทันทีเพราะได้แปลความหมายของคำว่า “โอเคนะ” ว่าอาจารย์จบการบรรยายสำหรับวันนี้แล้ว

การตีความ หมายความว่า เข้าใจความหมายโดยละเอียด คำหรือประโยคโดยทั่วไปจะมี ความหมายสองประเภท คือความหมายตรงกับความหมายอ้อม หรือความหมายโดยนัย (นัย - ยะ) คือ ความหมายแฝง หรือซ่อนเร้น อย่างเช่นคำว่า ไป หมายถึง อาการที่ออกห่างจากตัว มา อาการที่เข้ามาใกล้ตัว จะเป็นการตีความ ความหมายตรง แต่เมื่อนำมารวมกันเป็น ไป ๆ มา ๆ ความหมายจะเปลี่ยนไปว่า โดยสรุป แล้ว เช่น “ไป ๆ มา ๆ ลูกก็ไม่พ้นอกแม่เสียที” หมายความว่า สรุปแล้วลูกก็ยังต้องเป็นภาระของแม่อยู่ หรือไปไม่พ้นแม่เสียที ซึ่งเป็นความหมายโดยนัย

1. ความหมายตรง คำในภาษาไทยที่มีความหมายตรง ที่มีการเขียนหรืออ่านเหมือนกัน เราเรียกว่าคำพ้อง คำพ้องมีอยู่ 3 ลักษณะคือ

1.1 คำพ้องรูป คือคำที่มีรูปเหมือนกัน แต่ออกเสียงต่างกัน ขึ้นอยู่กับคำข้างเคียง เช่น หวงแหน หมายความว่า รักษาไว้ ไม่ให้ใคร จอกแหน หมายความถึงพืชชนิดหนึ่งอยู่ในน้ำ ต้นเล็กๆ ลอย ติดกันเป็นแพ

1.2 คำพ้องเสียง คือคำที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนต่างกัน และความหมายก็แตกต่างกัน เช่น

การ หมายความว่า กิจการงานต่าง ๆ

กาล หมายความว่า เวลา

กาฬ หมายความว่า ดำ

การณ์ หมายความว่า เหตุการณ์ สถานการณ์ต่าง ๆ

กานต์ หมายความว่า เป็นที่รัก

กานท์ หมายความว่า บทกลอน

กาญจน์ หมายความว่า ทองคำ

1.3 คำพ้องรูปและพ้องเสียง คือคำที่เขียนเหมือนกันและอ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่เมื่ออยู่ ในประโยค จะทำหน้าที่ต่างกันและมีความหมายแตกต่างกัน เช่น

ตัวตลกแต่งตัวน่าขัน

คนโบราณดื่มน้ำจากขัน

คุณพ่อขันน้อตให้แน่น

2. ความหมายอ้อม ความหมายโดยนัย หรือความหมายเปรียบเทียบ

ความหมายอ้อมหรือความหมายโดยนัยนี้ ส่วนใหญ่จะมีความหมายในเชิงเปรียบเทียบ โดยจะมีทั้งที่เป็นคำและสำนวน

2.1 คำ เป็นลักษณะของคำปกติที่มีใช้กันอยู่แล้ว นำไปเปรียบเทียบกับลักษณะพฤติกรรม หรือการกระทำของคน เช่น เกลือ ลักษณะของเกลือคือมีความเค็มอยู่ในตัว นำไปเปรียบเทียบกับคนที่มีความเค็ม เช่น เกลือเรียกพี่ กล้วยเป็นผลไม้ที่หากินง่ายมีอยู่ทั่วไป นำไปเปรียบเทียบกับการทำอะไรที่ง่าย เช่น งานชิ้นนี้ของกล้วย ๆ หรือหมู เป็นอาหารที่รู้จักกันดีและคนส่วนใหญ่ก็ชอบรับประทาน นำไปเปรียบ กับการทำอะไรที่ง่าย ๆ สบาย ๆ เช่น หมูมาก

2.2 สำนวน เป็นกลุ่มคำที่ใช้เปรียบเทียบลักษณะหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้าใจความหมาย โดยนัย จนเป็นที่ทราบโดยทั่วกัน เช่น

บ้านแตก หมายถึง ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่เลิกกัน หย่าร้างกัน

งูๆ ปลา ๆ หมายถึง มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ เพียงเล็กน้อย ไม่รู้จริง

เกลือเป็นหนอน หมายถึง คนของเราเองไม่ดี นำความลับไปบอกคนนอก

3. จับประเด็นของสารหรือเรื่องที่ฟังและดูได้

การจับประเด็น หมายถึงการจับใจความสำคัญของเรื่องนั่นเอง การนำเสนอสารหรือ เรื่องราวต่าง ๆ นั้น จะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนใจความและพลความ

ใจความ หมายถึง ข้อความหรือประเด็นสำคัญของเรื่อง

พลความ หมายถึง ข้อความที่ไม่สำคัญ หรือส่วนประกอบย่อย ๆ ที่เสริมความ ขยายความ ในใจความของเรื่องให้มีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นในการจับประเด็นสำคัญของสารหรือเรื่องที่ฟังและดูนั้น ผู้ฟังหรือผู้ดูจะต้องแยกให้ออกหรือบอกให้ได้ว่าข้อความใดเป็นใจความสำคัญ ข้อความใดเป็นพลความ ถ้าสามารถจัดลำดับความสำคัญได้ว่าข้อความใดเป็นใจความสำคัญหลัก ใจความสำคัญรอง และพลความ จะทำให้ผู้ฟังและผู้ดูสามารถเก็บสาระสำคัญและรายละเอียดปลีกย่อยของสารหรือเรื่องที่ฟังและดูได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์