1.1 หลักการอ่านออกเสียง

การอ่านเป็นวิธีการรับสารอย่างหนึ่งที่ผู้รับสารจะต้องอ่านหนังสือออก ซึ่งแตกต่างจากวิธีการ รับสารด้วยการฟัง เพราะการรับฟังนั้นไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือออก ถ้ามีผู้อ่านให้ฟังก็สามารถรับฟังหรือ รับสารนั้น ๆ ด้วยการฟังได้ การอ่านออกหรืออ่านได้นั้นเป็นเพียงความสามารถเบื้องต้นของการอ่านเท่านั้น ถ้าต้องการจะให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการอ่านหรือต้องการอ่านให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงแล้ว ผู้อ่านควรจะมีลักษณะของการอ่านเป็น ซึ่งเมื่อมีลักษณะของการอ่านเป็นแล้วจะพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีนิสัย รักการอ่านได้ต่อไป

ลักษณะของการอ่านเป็น

  1. เมื่ออ่านสารใดหรือเรื่องราวใดแล้วสามารถเข้าใจเรื่องราวได้ตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ตลอดจนเข้าใจจุดมุ่งหมายของสารนั้นว่าผู้เขียนต้องการจะสื่อสารหรือถ่ายทอดความรู้ความคิดใดให้แก่ ผู้อ่านได้อย่างถูกต้อง

  2. สามารถได้รับรสจากการอ่านสารหรือเรื่องราวนั้น ๆ ได้ตรงตามอารมณ์ความรู้สึกของ ผู้เขียนหรือผู้ถ่ายทอด เกิดจินตนาการหรือภาพพจน์ได้ตรงตามจุดประสงค์ของผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์

  3. สามารถพินิจพิจารณาหรือวิเคราะห์ได้ว่าสารหรือเรื่องราวที่อ่านนั้นมีคุณค่าหรือมีประโยชน์ ในด้านใดมากน้อยเพียงใด ทั้งยังรู้อีกว่าสิ่งใดเป็นข้อเท็จจริง สิ่งใดเป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน หรือผู้ประพันธ์

  4. สามารถนำสาระที่ได้จากการอ่านมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม หรือสามารถเก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประกอบการคิดพิจารณาหรือประยุกต์ ใช้อ้างอิงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม

  5. สามารถเลือกสื่อหรือหนังสือในการอ่านได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับตนเอง หรือบุคคลอื่น ทั้งในด้านสถานภาพ โอกาส ความต้องการ หรือความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นด้านเพศ วัย อาชีพ หรือความ สนใจส่วนบุคคล เป็นต้น

การอ่านโดยทั่วไปจะมี 2 ลักษณะ คือ การอ่านออกเสียงและการอ่านในใจ จะขอกล่าวถึง การอ่านออกเสียงเป็นอันดับแรก

การอ่านออกเสียง หมายถึง การอ่านเพื่อถ่ายทอดให้ผู้ฟังได้ยินหรือรับรู้ด้วยเสียง การอ่าน ออกเสียงจึงต้องใช้ศิลปะในการถ่ายทอดอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์ไปยังผู้ฟังอีกทอดหนึ่งดังนั้น การอ่านออกเสียงที่ดีนั้นผู้อ่านจึงต้องถ่ายทอดเรื่องราว อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของผู้เขียน ผู้ประพันธ์ ได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตรงตามเจตนารมณ์ของผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์ การอ่านออกเสียงแบ่งตามลักษณะหรือเหตุการณ์มี 2 อย่าง คือ

  1. การอ่านออกเสียงให้คนในครอบครัวหรือคนที่คุ้นเคยใกล้ชิดกันฟัง เช่น การอ่านข่าว การอ่านฉลากยา การอ่านจดหมาย การอ่านประกาศโฆษณา เป็นต้น

2. การอ่านออกเสียงอย่างเป็นทางการเช่น การอ่านในห้องเรียน การอ่านในที่ประชุม การประกวดอ่านร้อยแก้ว การประกวดอ่านทำนองเสนาะ เป็นต้น

หลักการอ่านออกเสียงร้อยแก้ว

  1. อ่านออกเสียงได้ถูกต้องชัดเจนตามอักขรวิธี ตัว ร ล อักษรควบกล้ำ คำพ้องรูป อ่านได้ตรงตามความหมายของเนื้อหาหรือเนื้อเรื่องนั้น ๆ

  2. อ่านให้เป็นธรรมชาติ เหมือนการพูดคุย เช่น การอ่านบทละครก็ให้อ่านเหมือนการสนทนา การอ่านข่าว การเล่าเรื่อง เป็นต้น

  3. ใส่อารมณ์ ความรู้สึกให้ถูกต้องเหมาะสมกับเรื่องราวที่ถ่ายทอด เช่น การชื่นชมยินดีควร แสดงความแจ่มใสในน้ำเสียง หรือการกล่าวคำไว้อาลัยควรแสดงความรู้สึกเศร้าใจเสียใจในข้อความและน้ำเสียงด้วย

  4. ผู้อ่านควรทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของเรื่องราวต่าง ๆ ก่อนที่จะนำไปอ่านหรือไปถ่ายทอดให้ผู้อื่นฟัง ทั้งนี้เพราะเมื่อผู้อ่านมีความเข้าใจดีแล้วย่อมจะถ่ายทอดได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึก หรือจินตนาการตามไปด้วย ทำให้สามารถเข้าใจเนื้อหาสาระของเรื่องราว

ต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนถูกต้องตรงตามจุดประสงค์ของการถ่ายทอดด้วย

หลักการอ่านออกเสียงร้อยกรอง หรือ การอ่านทำนองเสนาะ

  1. ่านออกเสียงได้ถูกต้องชัดเจนตามอักขรวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำครุ คำลหุ หรือเสียง วรรณยุกต์

  2. อ่านเว้นวรรคตอนให้ถูกต้องตรงตามลักษณะคำเดิม คำสัมผัสหรือฉันทลักษณ์ของบท ร้อยกรองแต่ละประเภท

  3. ใช้น้ำเสียง ทอดเสียง เอื้อนเสียง หรือทำนองตามจังหวะลีลาของร้อยกรองแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

  4. ใช้น้ำเสียงที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกที่สอดคล้องเหมาะสมกับเหตุการณ์หรือเรื่องราวนั้นๆ เช่น อารมณ์ร่าเริงแจ่มใส อารมณ์โกรธ หรือเศร้าเสียใจ เป็นต้น

องค์ประกอบสำคัญของการอ่านออกเสียง

การอ่านออกเสียงให้มีประสิทธิภาพจะทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ความรู้สึกคล้อยตามไปได้หรือ สามารถ “สะกด” ผู้ฟังได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประกวดอ่านร้อยแก้วและร้อยกรอง ผู้อ่านจะต้อง คำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญดังต่อไปนี้

  1. การใช้เสียง ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง ความดังของเสียง จังหวะในการอ่านและการใช้เสียงสูง เสียงต่ำให้ตรงกับความหมาย อารมณ์ และความรู้สึกในแต่ละข้อความ ประโยคหรือเรื่องราวต่าง ๆ จะทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจที่จะติดตามรับฟัง ตั้งใจและจิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องราวที่ผู้อ่านถ่ายทอดให้ฟังได้ตั้งแต่ ต้นจนจบ

  2. การใช้สายตาสีหน้าท่าทางประกอบ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้ฟังไม่เบื่อหน่าย และสามารถดึงดูดให้ผู้ฟังเฝ้าติดตามเรื่องราวที่ผู้อ่านถ่ายทอด และช่วยให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบหรือแสดงอาการ ที่มีส่วนร่วมในการรับฟังไปกับผู้อ่านด้วย

  3. บุคลิกภาพของผู้อ่าน บุคลิกภาพเป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่ผู้ฟังหรือผู้รับสารจะพบเห็นได้ด้วยสายตานับตั้งแต่การแต่งกายถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์สถานที่ วัย เพศ การยืน การเดิน การนั่ง การถือหนังสือ ตลอดจนการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นบุคลิกภาพที่ดี ของผู้อ่าน จะสามารถสร้าง ความประทับใจให้ผู้ฟังได้มากอีกส่วนหนึ่ง

  4. การเลือกเรื่อง ในการอ่านออกเสียงถ้าผู้อ่านสามารถเลือกเรื่องราวที่จะนำไปถ่ายทอดให้ผู้ฟังได้ด้วยตนเองแล้วก็ควรที่จะเลือกเรื่องที่ตนเองมีความถนัด มีความเข้าใจ เพราะเรื่องที่ผู้อ่านมีความ เข้าใจชัดเจนถูกต้องย่อมถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ดีตามไปด้วย