3.1 การคัดแยกวัสดุที่ใช้แล้ว
การคัดแยกวัสดุที่ใช้แล้ว
ในการจัดการวัสดุที่ใช้แล้วแบบครบวงจร จำเป็นต้องจัดให้มีระบบการคัดแยกวัสดุ ที่ใช้แล้วประเภทต่าง ๆ ตามแต่ลักษณะองค์ประกอบโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่แหล่งกำเนิด โดยจัดวางภาชนะให้เหมาะสม ตลอดจนวางระบบการเก็บรวบรวมวัสดุที่ใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับระบบการคัดแยกวัสดุที่ใช้แล้ว พร้อมทั้งพิจารณาความจำเป็นของสถานีขนถ่ายวัสดุที่ใช้แล้วและระบบขนส่งวัสดุที่ใช้แล้วไปกำจัดต่อไป
ก่อนที่จะนำเศษวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ ต้องมีการคัดแยกประเภทวัสดุที่ใช้แล้วภายในบ้าน เพื่อเป็นการสะดวกแก่ผู้เก็บขนและสามารถนำเศษวัสดุบางชนิดไปขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว รวมทั้งง่ายต่อการนำไปกำจัดอีกด้วย โดยสามารถทำได้ ดังนี้
วิธีดำเนินการคัดแยก
การคัดแยกเศษวัสดุใช้แล้ว โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ คือ
1. ใช้สีเป็นตัวกำหนดการแยกเศษวัสดุใช้แล้วแต่ละชนิด
2. มีภาชนะสำหรับบรรจุขยะแต่ละชนิดตามสีที่กำหนด และมีเชือกผูกปากถุงเพื่อความสวยงามและเรียบร้อย
3. มีถังรองรับถุงใส่เป็นสีเดียวกัน และแข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดง่าย
4. ออกแบบถังขยะให้น่าใช้เสมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างหนึ่งภายในบ้าน ให้ใครเห็นก็อยากจะได้เป็นเจ้าของถังขยะนี้
5. ให้ผู้ร่วมคัดแยกขยะได้มีส่วนได้รับผลประโยชน์จากการคัดแยกขยะ
6. จัดหาถุงและภาชนะรองรับให้สมาชิกได้ใช้โดยทั่วถึงฟรี โดยการใช้เงินกองทุน หรืองบประมาณสนับสนุน และจะหักจากการขายวัสดุรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว ฯลฯ
7. ให้ผู้ร่วมคัดแยกขยะได้เป็นที่ยกย่องจากสังคม เช่น ป้ายแสดงการเป็นสมาชิกของการคัดแยกขยะ
8. ให้ชุมชน หมู่บ้าน ที่ให้ความร่วมมืออย่างดี ได้รับการยกย่อง และได้รับการเชิดชูเกียรติจากสังคม
ภาชนะรองรับวัสดุที่ใช้แล้ว
เพื่อให้การจัดเก็บรวบรวมวัสดุที่ใช้แล้ว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและ ลดการปนเปื้อนของวัสดุที่ใช้แล้วที่มีศักยภาพในการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ จะต้องมีการตั้งจุดรวบรวมวัสดุที่ใช้แล้ว และให้มีการแบ่งแยกประเภทของถังรองรับวัสดุที่ใช้แล้วตามสีต่าง ๆ โดยมีถุงบรรจุภายในถังเพื่อสะดวกและไม่ตกหล่น หรือแพร่กระจาย ดังนี้
1. ถังขยะ
1. สีเขียว รองรับผัก ผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ ที่เน่าเสียและย่อยสลายได้ สามารถ นำมาหมักทำปุ๋ยได้ มีสัญลักษณ์ที่ถังเป็นรูปก้างปลาหรือเศษอาหาร
2. สีเหลือง รองรับเศษวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลหรือขายได้ เช่น แก้วกระดาษ พลาสติก โลหะ มีสัญลักษณ์เป็นรูปคนทิ้งกระดาษลงถัง
3. สีแดง หรือสีเทาฝาสีส้ม รองรับเศษวัสดุที่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ขวดยา ถ่านไฟฉาย กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องยาฆ่าแมลง ภาชนะบรรจุสารอันตรายต่าง ๆ
4. สีฟ้าหรือสีน้ำเงิน รองรับเศษวัสดุทั่วไป คือ วัสดุที่ใช้แล้วประเภทอื่นนอกจากเศษวัสดุย่อยสลาย เศษวัสดุรีไซเคิล และเศษวัสดุอันตราย เศษวัสดุทั่วไปจะมีลักษณะที่ย่อยสลายยาก ไม่คุ้มค่าสำหรับการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ถุงพลาสติก โฟมและฟอล์ยที่เปื้อนอาหาร
2. เกณฑ์มาตรฐานภาชนะรองรับวัสดุที่ใช้แล้ว
1. ควรมีสัดส่วนของถังวัสดุที่ใช้แล้วจากพลาสติกที่ใช้แล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยน้ำหนัก
2. ไม่มีส่วนประกอบสารพิษ (toxic substances) หากจำเป็นควรใช้สารเติมแต่งในปริมาณที่น้อยและไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
3. มีความทนทาน แข็งแรงตามมาตรฐานสากล
4. มีขนาดพอเหมาะมีความจุเพียงพอต่อปริมาณวัสดุที่ใช้แล้ว สะดวกต่อการถ่ายเทวัสดุที่ใช้แล้วและการทำความสะอาด
5. สามารถป้องกัน แมลงวัน หนู แมว สุนัข และสัตว์อื่น ๆ มิให้สัมผัสหรือคุ้ยเขี่ยวัสดุที่ใช้แล้วได้
3. การแปรสภาพวัสดุที่ใช้แล้ว ในการจัดการวัสดุที่ใช้แล้ว
การแปรสภาพวัสดุที่ใช้แล้ว คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพลักษณะทางกายภาพเพื่อลดปริมาณเปลี่ยนรูปร่าง โดยวิธีคัดแยกเอาวัสดุที่สามารถหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ออกมา วิธีการบดให้มีขนาดเล็กลง และวิธีอัดเป็นก้อนเพื่อลดปริมาตรของวัสดุที่ใช้แล้วได้ร้อยละ 20 - 75 ของปริมาตรเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเครื่องมือและลักษณะของวัสดุที่ใช้แล้ว ตลอดจนใช้วิธีการห่อหุ้มหรือการผูกรัดก้อนวัสดุที่ใช้แล้วให้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ผลที่ได้รับจากการแปรสภาพมูลฝอยนี้ จะช่วยให้การเก็บรวบรวม ขนถ่าย และขนส่งได้สะดวกขึ้น สามารถลดจำนวนเที่ยวของการขนส่ง ช่วยให้ไม่ปลิวหล่นจากรถบรรทุกและช่วยรีดเอาน้ำออกจากวัสดุที่ใช้แล้ว ทำให้ไม่มีน้ำชะวัสดุที่ใช้แล้วรั่วไหลในขณะขนส่ง ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดวัสดุที่ใช้แล้วโดยวิธีฝังกลบ โดยสามารถจัดวางซ้อนได้อย่างเป็นระเบียบ จึงทำให้ประหยัดเวลา และค่าวัสดุในการกลบทับ และช่วยยืดอายุการใช้งานของบ่อฝังกลบ
4. หลัก 3R ในการจัดการวัสดุ
3R เป็นหลักการของการจัดการเศษวัสดุ เพื่อลดปริมาณเศษวัสดุ ได้แก่ รีดิวซ์ (Reduce) คือ การใช้น้อยหรือลดการใช้ รียูส (Reuse) คือ การใช้ซ้ำ และรีไซเคิล (Recycle) คือ การผลิตใช้ใหม่ ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการลดปริมาณเศษวัสดุในครัวเรือน โรงเรียน และชุมชน ดังนี้
1. รีดิวซ์ (Reduce) การใช้น้อยหรือลดการใช้ มีวิธีการปฏิบัติดังนี้
1) หลีกเลี่ยงการใช้อย่างฟุ่มเฟือย ลดปริมาณการใช้ให้อยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ ลดปริมาณบรรจุภัณฑ์หีบห่อที่ไม่จำเป็น ลดการขนเศษวัสดุเข้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ถุงพลาสติก ถุงกระดาษ โฟม หรือ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ
2) เลือกใช้สินค้าที่มีอายุการใช้งานสูง ใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเติม เช่นน้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ถ่านชนิดชาร์จ ได้ สบู่เหลว น้ำยารีดผ้า ฯลฯ
3) เลือกบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
4) คิดก่อนซื้อสินค้า พิจารณาว่าสิ่งนั้นมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีภายในบ้าน เช่น ยากำจัดแมลงหรือน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ ควรจะหันไปใช้วิธีการทางธรรมชาติจะดีกว่า อาทิ ใช้เปลือกส้มแห้ง นำมาเผาไล่ยุง หรือ ใช้ผลมะกรูดดับกลิ่นภายในห้องน้ำ
5) ลดการใช้กล่องโฟม หลีกเลี่ยงการใช้โฟมและพลาสติกโดยใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าในการจับจ่ายซื้อ ของใช้ปิ่นโต ใส่อาหาร
6) ลดการใช้ถุงพลาสติก ควรใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าแทน
2. รียูส (Reuse) คือ การใช้ซ้ำผลิตภัณฑ์สิ่งของต่าง ๆ เช่น
1. นำสิ่งของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น ถุงพลาสติกที่ไม่เปรอะเปื้อนก็ให้เก็บไว้ใช้ใส่ของอีกครั้งหนึ่ง หรือใช้เป็นถุงใส่เศษวัสดุในบ้าน
2. นำสิ่งของมาดัดแปลงให้ใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น การนำยางรถยนต์มาทำเก้าอี้ การนำขวดพลาสติก ก็สามารถนำมาดัดแปลงเป็นที่ใส่ของแจกัน การนำเศษผ้ามาทำเปลนอน เป็นต้น
3. ใช้กระดาษทั้งสองหน้า
4. นำสิ่งของมาดัดแปลงให้ใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น การนำยางรถยนต์มาทำเก้าอี้ การนำขวดพลาสติกก็สามารถนามาดัดแปลงเป็นที่ใส่ของ หรือแจกัน การนำเศษผ้ามาทำเปลนอน เป็นต้น
3. รีไซเคิล (Recycle) การแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่
รีไซเคิล (Recycle) หมายถึง การแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ เพื่อนำวัสดุที่ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หมุนเวียนกลับมาเข้าสู่กระบวนการผลิตตามกระบวนการของแต่ละประเภท เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดปริมาณเศษวัสดุมูลฝอยแล้ว ยังเป็นการลดการใช้พลังงานและลดมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม เศษวัสดุรีไซเคิลโดยทั่วไปแยกได้เป็น 4 ประเภท คือ แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะและอโลหะ ส่วนบรรจุภัณฑ์บางประเภทอาจจะใช้ซ้ำไม่ได้ เช่น กระป๋องอะลูมิเนียม หนังสือเก่า ขวดพลาสติก ซึ่งแทนที่จะนำไปทิ้ง ก็รวบรวมนำมาขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า เพื่อส่งไปยังโรงงานแปรรูป เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้
1) นำขวดพลาสติก มาหลอมเป็นเม็ดพลาสติก
2) นำกระดาษใช้แล้วแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษ เพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเป็นกระดาษใหม่
3) นำเศษแก้วเก่ามาหลอม เพื่อขึ้นรูปเป็นขวดแก้วใบใหม่
4) นำเศษอลูมิเนียมมาหลอมขึ้นรูปเป็นแผ่น นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม รวมทั้งกระป๋องอะลูมิเนียม