พระเจ้าทองทิพย์ 

         พระคูรวิธานเจติยานุกิจ (พ.ม.ณฐพจน์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาติหริภุญชัยวรมหาวิหาร เล่าว่า คำว่า “พระเจ้า” เป็นภาษาชาวบ้านทางภาคเหนือ (กลุ่มคนเมืองเหนือ)        นิยมเรียกพระพุทธรูปว่า “พระเจ้า”  ความหมายคือ  “พระพุทธเจ้า” นั่นเอง

       “ทองทิพย์” คือทองอันเป็นทิพย์ เป็นความเปล่งปลั่งของทองคำ เหตุผลที่คนโบราณเอาทองมาสร้างเป็นพระพุทธรูปหรือเป็นส่วนผสม เพราะทองคำไม่เป็นสนิม ส่วนจะผสมทองมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับเจ้าภาพหรือผู้สร้าง ในสมัยก่อนคนที่จะสร้างพระพุทธรูปจะเป็นคนมีฐานะ มีกำลังทรัพย์ และความศรัทธา และพระพุทธรูปสีทองที่เราเห็นนั้น            มีเพียงผิวด้านนอกเท่านั้น ความหนาของทองจะเป็นหุน หรือ เซนติเมตร นั้นขึ้นอยู่กับผู้สร้าง

ข้าพเจ้าถามว่า : ทำไมพระเจ้าทองทิพย์จึงมีอยู่หลายองค์ หลายสถานที่

พระคูรวิธานเจติยานุกิจ : ใครจะสร้างก็ได้ถ้ามีกำลังทรัพย์ และความศรัทธา


พระเจ้าทองพิทย์ วัดบ้านม่วงต้นผึ้ง 

พระเจ้าทองทิพย์  เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของวัดบ้านม่วงต้นผึ้ง เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนตำบลบ้านแป้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยพุทธลักษณะที่งดงามถูกต้องตาม                 อสีตยานุพยัญชนะมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ                             มีขนาดหน้าตักกว้าง 80 เซนติเมตร                                  ประดิษฐาน ณ วัดบ้านม่วงต้นผึ้ง หมู่ 8 ตำบลบ้านแป้น             อำเภอเมืองลำพูน   จังหวัดลำพูน

ประวัติการสร้างพระเจ้าทองทิพย์ (วัดบ้านม่วงต้นผึ้ง ต.บ้านแป้น)

        ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน หรือ “สามพยาฝั่งแกน” หรือ “สามแม่ใน” หรือ “เจ้าดิสกุมาร ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 (ระหว่าง พ.ศ.1945-1984) พระองค์ได้ปกครองอาณาจักรล้านนาด้วยดีมาตลอด พระเจ้าสามฝั่งแกน เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรล้านนาลำดับที่ 8 แห่งราชวงศ์เม็งราย

       ณ เมืองเชียงแสน เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปี ในช่วงสมัยนั้นเมืองเชียงแสนมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรล้านนา มีพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาในสมัยนั้นเป็นเมืองที่มีชัยภูมิที่ดี อุดมไปด้วยทรัพยากรที่มีค่าหลายอย่างและอาณาประชาราษฎร์ต่างมีความสุขสงบ                พระมหากษัตริย์ในช่วงนั้นทรงตั้งมั่นในทศพิศราชธรรม และมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะค่านิยมในการสร้างพระพุทธรูปเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพร และเป็นหน้าที่อันสำคัญอย่างยิ่งของพระมหากษัตริย์ และอาราประชาราษฎร์ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์องค์พระปฏิมากร ด้วยขนาด และวัตถุมีค่าต่าง ๆ ตามกำลังจิตศรัทธา

       พระเจ้าทองทิพย์ สร้างขึ้นในระหว่างห้วงปีพุทธศักราช 1958-2030 (ระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน ต่อเนื่องถึงรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช) จากพระราชศรัทธาของ   พระมหากษัตริย์เมืองเชียงแสน ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระยาศรีสุวรรณคำไชยสมครามล้านนาเชียงแสน (พระนามเดิมชื่อขุนแสงหรือขุนแสน เป็นราชบุตรของพระยาวังพร้าว             เจ้าเมืองเชียงแสน ได้รับพระราชทานตั้งให้เป็นเจ้าพระยาศรีสุวรรณคำไชยสงครามล้านนาเชียงแสน เพราะความชอบที่รบชนะพวกฮ่อที่เมืองยอง พระองค์ทรงครองเมืองเชียงแสน  ระหว่าง พ.ศ.1958-2030 และถึงแก่พิราลัยในปีนี้) พระองค์โปรดให้ช่วงหลวงเป็นผู้ออกแบบ ปั้นหุ่น และทำการหล่อหลอมวัตถุมีค่าต่าง ๆ ผสมผสานกัน เรียกว่า ปัญจโลหะ หรือทองคำ ทองแดง ทองเหลือง เงิน นาค และเทน้ำทองปัญจโลหะลงในแบบพิมพ์องค์พระเจ้าทองทิพย์แล้วแกะพิมพ์ออก ปรากฏว่าเนื้อทองที่หล่อหลอมนั้นไม่ติดพิมพ์มีรอยแตกเสียหายอย่างมาก จึงมีการหล่อพระอีกเป็นครั้งที่สอง แต่ก็เกิดความเสียหายเช่นครั้งแรก ในครั้งที่สาม ช่างหลวงทุกคนเหนื่อยและหยุดพัก ได้มีตาปะขาวแก่ท่านหนึ่ง ถือห่อผ้ามีทองคำจำนวนหนึ่ง          มาช่วยในการหล่อองค์พระเพียงคนเดียว เมื่อแกะพิมพ์ออก ปรากฏว่าองค์พระมีความสมบูรณ์ สวยงาม เกิดความอัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น และตาปะขาวแก่ท่านนั้น   ก็หายไปโดยที่ไม่มีใครพบเห็น จึงเกิดเป็นความเชื่อว่า ตาปะขาวแก่คนนั้นเป็นเทวดนำทองคำจากสวรรค์มาช่วยหล่อองค์พระจนเสร็จสมบูรณ์ เมื่อองค์พระเสร็จสมบูรณ์ ได้มีการขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระเจ้าทองทิพย์” เพราะเหตุที่เชื่อว่าเทวดานำทองคำจากสวรรค์มาช่วยหล่อพระ และตั้งพระนามตามพุทธลักษณะของเนื้อพระ เพราะส่วนผสมจาก

ปัญจโลหะ ที่ประกอบด้วยทองคำเป็นจำนวนมากกว่าโลหะอื่น ๆ

การเดินทางครั้งสำคัญของพระเจ้าทองทิพย์

       พระเจ้าทองพิพย์ ประดิษฐานอยู่ในเมืองเชียงแสนมาเป็นระยะเวลานาน ไม่ต่ำกว่าสองร้อยปี ประมาณตั้งแต่ พ.ศ.1958 ในรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน ต่อเนื่องถึง          สิ้นรัชสมัยของพญาเมืองแก้ว พ.ศ.2068 จนกระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าใน พ.ศ.2101 ตรงกับรัชสมัยของพระเมกุฎิสุทธิวงศ์ (ท้าวแม่กุ พ.ศ.2094-2101) กษัตริย์แห่ง        ราชวงศ์เม็งรายองค์สุดท้าย รวมระยะเวลาสมัยล้านนาเสื่อม 33 ปี ( พ.ศ.2068-2101) สภาพบ้านเมืองแตกแยกเกิดเป็นกลียุคแล้วเมืองล้านนาทั้งปวงรวมเมืองเชียงแสน                ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ก่อนที่ล้านนาจะเสียเอกราชให้แก่พม่า 1 ปีนั้นได้มีการอัญเชิญเคลื่อนย้ายองค์พระเจ้าทองพิพย์เพื่อหนีภัยสงครามในปี พ.ศ.2100 ไปในที่ต่าง ๆ ตามผู้คนที่หนีภัยสงครามและการรุกรานจากพม่า

การค้นพบพระเจ้าทองพิพย์

        รัชสมัยพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ (พระเจ้ากาวิละ) ผู้ทรงเป็นผู้นำในการขับไล่พม่าให้ออกจากล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใกล้ฝั่งแม่น้ำทาที่มีชื่อว่า “เวฬุคาม” หรือ “เวียงป่าซาง” ปัจจุบันคืออำเภอป่าซางห่างจากบ้านม่วงต้นผึ้งออกไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 1 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งแห่งกองทัพพม่า ซึ่งปัจจุบันหลงเหลือเอกลักษณ์ศิลปะของพม่าอยู่มากมาย เช่น เจดีย์วัดฉางข้าวน้อย เจดีย์วัดกองงาม(วัดสันป่าเหียงกองงาม) เป็นต้น

       พระเจ้ากาวิละ ได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2325 ในครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่มีสภาพปรักหักพัง เป็นเมืองร้างไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ เนื่องจาก          ผลสงครามที่มีต่อเนื่องยาวนานกว่า 200 ปี ได้นำไพร่พลมาตั้งมั่นที่เวียงป่าซางก่อนที่จะออกไปตีเมืองยอง เมืองสาด เมืองวะ เมืองพยาก เมืองเชียงตุงจนถึงสิบสองปันนา เกณฑ์ผู้คนมาไว้ที่เชียงใหม่อันเป็นนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” จากนั้นพระองค์ได้รวบรวมไพร่พลแล้วเสด็จเข้าประทับที่เมืองเชียงใหม่ ส่วนเมืองลำพูนได้รับการฟื้นฟูจัดตั้ง  บ้านเมืองขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2348 โดยพระยาบุรีรัตน์คำฟั่น(เจ้าหลวงคำฟั่น พ.ศ.2348-2359) เป็นอนุชาของพระเจ้ากาวิละ บุตรลำดับที่ 8 ของเจ้าชายแก้วแห่งเมืองลำปาง แม่ทัพของเชียงใหม่ในการขับไล่อิทธิพลของพม่าออกไปจากล้านนาที่เมืองเชียงแสน) นำชาวบ้านจากเชียงใหม่ 500 คน ลำปาง 500 คน และชาวยองที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองยอง      มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในลำพูน และป่าซาง บริเวณทิศตะวันออกของแม่น้ำทา ห่างจากเวียงป่าซางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นคนดงมะม่วงงาขาว คือ “บ้านม่วงต้นผึ้ง”และได้อาราธนาพระเจ้าทองพิพย์จากเมืองเชียงแสนมาประดิษฐาน ณ ที่นี้ด้วย

การเดินทางมาไหว้พระเจ้าทองทิพย์ได้ทุกวัน สามามารถเดินทางได้โดยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ 

 ให้ข้อมูล ร.ต.วิทยา อุปละ                    

ผู้เรียบเรียง  นางณัฐปาณี ราชา   ครู กศน.ตำบลบ้านแป้น

ภาพถ่ายโดย : ร.ต.วิทยา อุปละ 

วันที่สร้างบทความ   5 เมษายน 2566

อ้างอิง 

คู่มือคนไปวัด สำหรับวัดบ้านม่วงต้นผึ้ง. (ม.ป.ป.). ม.ป.ท. ม.ป.พ.                                                                                           

รวิธานเจติยานุกิจ, พระคูร, พระเจ้าทองทิพย์. (2566). สัมภาษณ์, 1 กุมภาพันธ์.