ประเพณีแห่ช้างเผือก

ลุ่มน้ำลี้ แนวทางการอนุรักษ์น้ำตามวิถีชน


ประเภทของวัฒนธรรมประเพณี.......วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ

ประวัติความเป็นมา

แม่น้ำลี้ เป็นแม่น้ำสาขาหนึ่งของน้ำแม่ปิง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตผู้คนริมสองฟากฝั่ง ไหลหล่อเลี้ยงชุมชนน้อยใหญ่กว่า 4 อำเภอ อันได้แก่ อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอบ้านโฮ่งและอำเภอเวียงหนองล่อง ก่อนจะไหลไปรวมกับน้ำแม่ปิงที่บ้านวังสะแกง  บริเวณสบลี้ อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

ความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำลี้ ที่มีความยาวกว่า 180 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดมาจากเทือดดอยสบเทอม รอยต่อระหว่างอำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูนกับเขตอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง นับว่าเพียงพอต่อการเชื่อมร้อยวิถีชีวิตชุมชนริมฝั่งแม่น้ำลี้ในด้านขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมมาช้านาน กระทั่งเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระแสของการพัฒนาได้นำพาความคิดความเชื่อและความทันสมัยเข้าสู่ชุมชน โดยหลงลืมโครงสร้างทางสังคมของชุมชนในอดีต ขณะเดียวกันเกิดวิกฤตแม่น้ำลี้แห้งขอด เนื่อง ด้วยภัยธรรมชาติฝนแล้ง น้ำกินน้ำใช้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นหนทางเดียวก็คือการนำเอาพิธีกรรมความเชื่อเข้ามาใช้ในการอนุรักษ์น้ำ เพื่อแสดงความเคารพต่อสายน้ำ
พิธีแห่ช้างเผือก นับได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่ทำหน้าที่กระตุ้นเตือนจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำแม่ลี้ขึ้น

มหาสิงห์ใจ ปัญโญ กล่าวถึงประเพณีการแห่ช้างเผือกของคนลุ่มน้ำลี้ว่า จัดทำขึ้นเมื่อใดไม่มีใครทราบ แต่จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ทำให้ทราบว่า ถ้าปีไหนเกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ บ้านเมืองแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านก็จะจัดทำพิธีขอฝน โดย
เฉพาะในช่วงเดือนกรกฏาคม ก่อนเข้าพรรษาจะมีการแห่ช้างเผือก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่อยู่ในตำบลศรีเตี้ย ตำบลเหล่ายาว ตำบลหนองล่อง จะมีการป่าวประกาศให้มาชุมนุมกันที่ริมท่าน้ำ แล้วจัดทำพิธี ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้ในการจักสานเอาไม้ไผ่มาสานเป็นรูปช้าง ขนาดพอประมาณ หุ้มด้วยผ้าขาวหรือดอกฝ้ายขาวตกแต่งให้สวยงามนำไปตั้งไว้บนคามหามเพื่อให้แห่ เมื่อทำเสร็จแล้วจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ สวดขอฝน ถวายทานช้างเผือก จากนั้นก็จะแห่ช้างเผือกไปตามหมู่บ้านที่แม่น้ำลี้ไหลผ่าน โดยเริ่มต้นจากบ้านศรีเตี้ย  แห่ไปที่บ้านทุ่งโป่ง คนบ้านทุ่งโป่งก็จะแห่สืบต่อไปที่บ้านโฮ้ง ซึ่งจะมีพิธีแห่ช้างเผือกสืบต่อกันไปเช่นนี้จนถึงขุนแม่น้ำลี้

ความสำคัญ

ช้างเผือกที่ชาวบ้านนำมาเป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรมขอฝนนั้น กล่าวคือ ช้างเผือกเป็นช้างมงคลหากเกิดขึ้นในบ้านเมืองใด จะทำให้บ้านเมืองนั้นอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร มีฝนตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองจะชุ่มฉ่ำอยู่เย็นเป็นสุข ขณะเดียวกันในชาดกเรื่องพระเวสสันดร มีช้างเผือกมงคลชื่อ พระยานาเคน ซึ่งเป็นช้างคู่บารมีพระเวสสันดร 

ซึ่งพ่อศรีไว ตาปัญญา กล่าวถึงช้างเผือกในชาดกเรื่องพระเวสสันดรว่า เมื่อครั้งนางกุษฏีได้ให้ประสูตพระเวสสันดร ขณะนั้นได้มีนางช้างเชือกหนึ่งได้พาลูกช้างเข้ามายังโรงช้าง ลูกช้างเชือกนั้นเป็นลูกช้างเผือกที่มีลักษณะต่างจากช้างทั่วไป นับแต่วันที่ช้างเผือกได้เข้ามาอยู่ในเมืองของพระเจ้าสนชัย น้ำท่าก็อุดมสมบูรณ์ พืชพรรณธัญญาหารก็เจริญงอกงาม ประชาชนพลเมืองอยู่เย็นเป็นสุข

ครั้นวันหนึ่งมีเมืองอีกเมืองชื่อ กรินทราช ได้ส่งพราหมณ์ 8 รูปมาขอช้างเผือกมงคลนี้จากพระเวสสันดร เหตุเพราะเมืองกรินทราชเกิดภาวะแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณล้มตาย ชาวเมืองเกิดความเดือดร้อน พระเวสสันดรซึ่งขณะนั้นได้บำเพ็ญทานบารมี ก็ได้ส่งพระยานาเคน ช้างเผือกมงคลให้แก่เมืองกรินทราช เมื่อได้ช้างเผือกไปฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าอุดมสมบูรณ์

จากชาดกเรื่องพระเวสสันดร ซึ่งกายมาเป็นต้นแบบแนวคิดประเพณีแห่ช้างเผือกของคนลุ่มน้ำนี้ โดยประเพณีดังกล่าวได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 40 – 50 ปีที่แล้ว ครั้งนั้นชาวบ้านในลุ่มน้ำลี้ประสบปัญหาภัยแล้งจากการที่ฝนไม่ตก จึงมีการคิดแบบแผนที่จะนำมาใช้กับพื้นที่ลุ่มน้ำลี้โดยนำช้างเผือกในชาดกมาเข้าร่วมในพิธี

ครูบาจักร ธรรมจักโก เจ้าอาวาสวัดทุ่งโป่ง เป็นผู้ริเริ่มนำชาวบ้านประกอบพิธีแห่ช้างเผือก โดยเริ่มจากการสานไม้ไผ่เป็นรูปช้างแล้วนำฝ้ายมาทำเป็นช้างเผือก ซึ่งในปัจจุบันไม่มีใครสามารถสานช้างด้วยไม้ไผ่อีกแล้ว เพราะกรรมวิธีค่อนข้างยาก ต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญอย่างสูง หลังจากนั้นก็จะนำช้างเผือกแห่ไปตามลำน้ำลี้ โดยจะแห่ตั้งแต่ปลายน้ำไปสู่ต้นน้ำ การแห่จะส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ระหว่างชุมชนต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำลี้ ในช่วงเวลาที่ประกอบพิธีกรรมจะมีการฟังธรรมน้ำแม่ลี้ เทศนาปลาช่อน ฟังธรรมพญาคางคก ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาควบคู่ไปด้วย 

ภายหลังจากครูบาจักร ธรรมจักโก เจ้าอาวาสวัดทุ่งโป่งมรณภาพลง ก็ดูเหมือนว่าพิธีแห่ช้างเผือกได้สูญหายไปไร้การสืบทอดจากวิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นเวลาร่วม 50 ปีมาแล้ว กระทั่งปัจจุบันพิธีกรรมดังกล่าวได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง พิธีกรรมการแห่ช้างเผือก จึงเป็นเสมือนการเชื่อมโยงผู้คนให้เรียนรู้และแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน 

บทความโดย

จักรพงษ์  คำบุญเรือง 

ภาพโดย

จักรพงษ์  คำบุญเรือง 

เรียบเรียงโดย

นางสาวเบญจา ต๋าคำนวล