วัดพระธาตุแอ้ว 

ประวัติความเป็นมา ในสมัย พ.ศ.1800 คนไทยที่อยู่อาศัยอยู่ในอาณาจักรน่านเจ้าถูกศัตรูรุกรานจึงได้พากันอพยพจากที่เดิม หนีภัยข้าศึกลงมาสร้างบ้านแปลนเมืองลงมาทางใต้ แถบหลวงพระบางบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองกิตติศัพท์โด่งดังไปทั่ว จึงเป็นเหตุให้ข้าศึกศัตรูยกกองทัพเข้าตีชิงเอาเมืองเจ้าเมืองชื่อพระเจ้าคัมภีระสิ้นพระชนม์กลางสนามรบ พระราชธิดาชื่อ พระนางจามรี ราชธิดาจึงพาไพล่พลอพยพข้ามน้ำโขงมุ่งหน้าทางทิศตะวันตก ถึงเมืองฝางและล่องลงมาทางทิศใต้เรื่อยๆ ซึ่งมีราชองค์รักษ์ชื่อ ท้าวปันมหาด พร้อมไพร่พลช้างและพลม้าซึ่งมี ท้าวปูเหลือง ซึ่งเป็นขุนศึกเคียงคู่ท้าวปันมหาดล่องลงมามาตามลำน้ำปิงลงมาจากเมืองเชียงดาว ทนลำบากตรากตรำร่วมกันมาลัดเลาะขึ้นมาตามลำน้ำลี้ขึ้นมาเรื่อยๆจากนั้นจึงได้เดินทางต่อไปจนถึงบริเวณที่ราบเรียบสะอาดแห่งหนึ่งพอที่จะสร้างบ้านแปลงเมือง จึงพากันปลงข้าวของจอดพักเก็บข้าวของลงจากหลังช้างหลังม้า และต่อมาภายหลังตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า “แม่ปลง” หรือบ้านปวงในปัจจุบัน ในขณะพักไพร่พลอยู่นั้น ท้าวปันมหาดซึ่งมีนิสัยชอบออกป่าล่าสัตว์จึงได้ชวนบริวารไพล่พลออกล่าสัตว์ซึ่งไม่ไกลจากห้วยแม่ปลงนัก ท้าวปันมหาดจึงได้ประสบอุบัติเหตุถูกอสรพิษกัด  ฝ่ายพระนางจามรีและคณะบริวารที่รอคอยไม่เห็นการกลับมาของท้าวปันมหาดจึงพากันออกติดตามหาจึงได้มาพบและหาหยูกยามาโรม มาทา เสกเป่า พยาบาลรักษา แต่ก็ไม่หาย ท้าวปันมหาดทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่พิราลัย ณ ที่บ้านปวงแห่งนั้น พระนางจึงให้ข้าราชบริพารจัดการบริพารจัดการบำเพ็ญพระราชกุศลศพท้าวปันมหาดตามขัติราชประเพณีแล้วจึงได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุและวัตถุมงคลต่างๆที่ได้อาราธนาติดตามตัวมาก่อสร้างพระธาตุเจ้าเจดีย์เป็นอนุสรณ์สถานกราบไหว้จึงถวายพระนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระธาตุแอ๋ว” หรือวัดพระธาตุแอ้วในปัจจุบัน  

เวลาต่อมาวัดพระธาตุแอ้วก็มีพระภิกษุสามเณรอยู่ประจำบ้างไม่อยู่บ้างถูกทิ้งร้างบ้างเป็นบางช่วงบางตอน ลุมาถึงปี พ.ศ.2515 คณะศรัทธาผู้เฒ่าผู้แก่ได้ไปอาราธนาท่านครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี วัดพระพุทธบาทผาหนาม อ.ลี้ มาเป็นประธานในการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุให้ดีดังเดิม และได้กำหนดเอาวันที่ 16 เมษายน ของทุกๆปีซึ่งตรงกับวันปากปี ถือเป็นวันประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดพระธาตุแอ้ว ซึ่งเป็นพระธาตุเก่าแก่ของตำบลบ้านปวงภายในงานจะมีพิธีทำบุญและสรงน้ำพระธาตุตลอดทั้งวัน

ข้อมูลเนื้อหา โดย พระอนุชา อภิวณฺโณ 

เรียบเรียง โดย พระอนุชา อภิวณฺโณ  และ นายศุภวิชญ์ ศรีสอนใจ

ภาพถ่าย โดย พระอนุชา อภิวณฺโณ