ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี

ประเพณีและงานประจําปี

ประเพณีกินข้าวสลาก – เป็นประเพณีสลากภัต (ตานก๋วยสลากถูกจัดขึ้นทุกปี,เว้นปีหรือทุก 3 ปี ตามแต่ความพร้อมในแต่ละพื้นที่) เป็นพิธีถวายไทยทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่งอันเป็นที่นิยมของชาวเหนือ โดยทั่วไปจะเริ่มในวันเพ็ญเดือน 12 เหนือ (กันยายน) ถึงแรม 1 คํ่า เดือนเกี๋ยงดับ (พฤศจิกายน) ประเพณีตานประทีปโคมไฟ- ประเพณีตานประทีปโคมไฟ เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของทางล้านนา ประทีปโคมไฟจะบูชารอบพระธาตุเจ้าขิงแกง ซึ่งเชื่อกันว่าการถวายประทีปโคมไฟ จะได้รับอานิสงส์หลายประการตามความเชื่อ

ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน เรื่องมีอยู่ว่ามีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียน ผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธานิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารีแก่คนทั่วไปจนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งในมิตรไมตรีของนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์/สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวาย มีทั้งของของมีราคามากและมีราคาน้อยแตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา

ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นการถวายทานโดยไม่เจาะจงผู้รับ จะทำกันตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๑๒ เหนือ(ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ใต้) จนถึงเกี๋ยงดับ (แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ใต้)


ความสำคัญ

ประเพณีตานก๋วยสลากเป็นประเพณีในพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งในล้านนาไทย ซึ่งสืบเนื่องมาจากค่านิยมที่สืบทอดมาช้านานคือ

๑. ประชาชนว่างจากภารกิจการทำนา

๒. ประชาชนหยุดพักไม่เดินทางไกลเพราะเป็นฤดูฝน

๓. พระสงฆ์จำพรรษาอยู่อย่างพรักพร้อม

๔. ผลไม้มากและกำลังสุก เช่นส้มโอ ส้มเกลี้ยง กล้วย อ้อยฯลฯ

๕. ได้โอกาสสงเคราะห์คนยากจน เป็นสังฆทาน

๖. ถือว่ามีอานิสงส์แรง คนทำบุญจะมีโชคลาภ

๗. มีโอกาสหาเงินและวัสดุบำรุงวัดก๋วยสลากแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. สลากน้อย หรือก๋วยเล็ก ใช้อุทิศแด่ผู้ตาย หรือเป็นกุศลมากขึ้น

๒. สลากก๋วยใหญ่ หรือสลากโชค หรือเป็นสลากที่บรรจุในก๋วยใหญ่ใช้เป็นมหากุศลสำหรับบุคคลที่มีกำลังศรัทธา และมีเงินทองมาก ทำถวายเพื่อเป็นปัจจัยภายหน้า ให้มีบุญกุศลมากขึ้น

พิธีกรรม

พิธีกรรมในประเพณีตานก๋วยสลากมี ๒ วัน คือ

๑. ก่อนทำพิธี"ตานก๋วยสลาก" ๑ วัน เรียกว่าวันดาเป็นวันจัดเตรียมสิ่งของเพื่อใส่ในก๋วยสลาก ผู้ชายจะตัดไม้มาจักตอกสลากก๋วย (ชะลอม) ไว้หลายๆใบตามศรัทธาและกำลังทรัพย์ ฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมสิ่งของที่จะนำมาบรรจุในก๋วย เช่นข้าวสาร พริกแห้ง หอม กระเทียม เกลือ กะปิ น้ำปลา ขนม เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ รวมทั้งเครื่องใช้ต่าง ๆ แล้วบรรจุลงในก๋วยสลากที่กรุด้วยใบตอง ใบหมากผู้หมากเมีย"ใส่ยอด" คือธนบัตร ผูกติดไม้ เสียบไว้ในก๋วยให้ส่วนยอดหรือธนบัตรโผล่มาแล้วรวบปากก๋วยสลากตกแต่งด้วยดอกไม้ "ยอด" หรือธนบัตรที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าเป็นจำนวนเท่าใด ส่วนสลากโชคหรือสลากก๋วยใหญ่ ของที่นำบรรจุในก๋วยเช่นเดียวกับสลากน้อยแต่ปริมาณมากกว่าหรือพิเศษกว่า สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือหลังเล็กมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยแกงถ้วยชาม เครื่องนอน เครื่องนุ่งห่ม อาหารสำเร็จรูปใส่ไว้ด้วย มีต้นกล้วย ต้นอ้อยผูกติดไว้ "ยอด" หรือธนบัตรจะใส่มากกว่าสลากน้อย ก๋วยสลากทุกอันต้องมี "เส้นสลาก" ซึ่งทำจากใบลานหรือปัจจุบันใช้กระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาวๆ เขียนชื่อเจ้าของไว้ และยังบอกอีกว่าจะอุทิศไปให้ใคร เช่น " สลากข้างซองนี้ หมายมีผู้ข้า นาย... นาง ขอทานไปถึงกับตนภายหน้า " หมายถึงถวายทานเพื่อเป็นกุศลแก่ตนเองเมื่อล่วงลับไป และอีกแบบหนึ่ง คือ"สลากข้าวซองนี้ หมายมีผู้ข้านาย.....นาง.....ขอทานไปถึงยังนาย/นาง....(ชื่อผู้ตาย) ผู้เป็น.......(ความเกี่ยวข้องกับผู้ให้ทาน)ที่ล่วงลับ ขอให้ไปรอดไปถึงจิมเต่อ" หมายถึงอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ในวันดาสลาก จะมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงจากหมู่บ้านต่างๆ ที่รู้จักมาร่วมทำบุญ โดยนำเงินหรือผลไม้เช่น กล้วย อ้อย ฯลฯ มาร่วมด้วยและช่วยจัดเตรียมสิ่งของใส่ก๋วยสลาก เจ้าภาพต้องเลี้ยงดูอาหาร เหล้ายาและขนม

๒. วันทานสลาก ชาวบ้านนำก๋วยสลากที่จัดทำแล้วไปวัด และเอา"เส้นสลาก" ทั้งหมดไปรวมกันที่หน้าพระประธานในวิหาร จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย ๑ กัณฑ์ ผู้รวบรวมสลากมักจะเป็นมัคทายก (แก่วัด) นำเส้นสลากทั้งหมดมารวมกันแล้วแบ่งเส้นสลากทั้งหมด เป็น ๓ ส่วน(กอง) ส่วนหนึ่งเป็นของพระเจ้า (คือของวัด)อีก ๒ ส่วนเฉลี่ยไปตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญ หากมีเศษเหลือมักเป็นของพระเจ้า (วัด) ทั้งหมดพระภิกษุสามเณรเมื่อได้ส่วนแบ่งแล้ว จะยึดเอาชัยภูมิแห่งหนึ่งในวัดและออกสลากคือ อ่านชื่อเส้นสลากดังๆ หรือให้ลูกศิษย์(ขะโยม) ที่ได้ตะโกนตามข้อความที่เขียนไว้ในเส้นสลาก หรือเปลี่ยนเป็นคำสั้นๆเช่น ศรัทธา นายแก้ว นามวงศ์ มีนี่เน้อ " บางรายจะหิ้ว "ก๋วย" ไปตามหาเส้นสลากของตนตามลานวัดเมื่อพบสลากของตนแล้วจะเอาสลากของตนถวายพระ พระจะอ่านข้อความในเส้นสลากและอนุโมทนาให้พรแล้วคืนเส้นสลากนั้นให้เจ้าของสลากไป เจ้าของสลากจะนำเส้นสลากไปรวมในวิหาร เมื่อเสร็จแล้วมัคทายกหรือแก่วัด จะนำเอาเส้นสลากนั้นไปเผาหรือทิ้งเสีย

ประเพณีและงานประจําปี

ประเพณีสรงน้ำพระธาตุขิงแกง- วัดพระธาตุขิงแกง เป็นวัดเก่าแก่ที่สําคัญ เป็นโบราณสถานที่สําคัญ และเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนในอําเภอจุนและตําบล พระธาตุขิงแกงมายาวนานซึ่งทุก ๆ ปี ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 จะมีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุขิงแกง ถือเป็นประเพณีความเชื่อดั้งเดิมมาแต่โบราณ

การสรงน้ำพระธาตุเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่สำหรับพุทธศาสนิกชนที่จัดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นและถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่นิยมกระทำสืบทอดกันมาเป็นประจำทุกปี พระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์มักจะได้รับการบรรจุอยู่ใต้ฐานของพระเจดีย์ ดังนั้นการจัดประเพณีสรงน้ำพระธาตุจึงเปรียบเสมือนกับการได้แสดงความเคารพต่อองค์พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย โดยทั่วไปแล้วจะกระทำกันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือ วันงานเทศกาลประจำปี เช่น สงกรานต์ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีวิธีการปฏิบัติในการสรงน้ำที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อและศรัทธา ซึ่งการสักการบูชาพระธาตุจะบูชาด้วยเครื่องหอม และข้าวตอกดอกไม้ ส่วนน้ำที่ใช้สรงจะเป็นน้ำสะอาดที่จะมีการเจือด้วยน้ำหอมหรือแก่นจันทน์ พระบรมธาตุที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้นในวัดของแต่ละชุมชนนั้น มีความสัมพันธ์กับการเกิดชุมชนต่างๆ อันก่อให้เกิดคติความเชื่อและวัฒนธรรมร่วมกันCRพระบรมธาตุนับเป็นศูนย์กลางแห่งจิตใจของพุทธศาสนิกชน ส่วนหนึ่งก็กลายเป็นความเชื่อในการกราบไหว้พระธาตุประจำปีเกิดและทำให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นด้วย เพราะนอกจากพุทธศาสนิกชนจะได้รับบุญกุศลจากการได้บูชาและสรงน้ำพระธาตุแล้ว ยังนับว่าเป็นโอกาสได้ชื่นชมศิลปะและสถาปัตยกรรมอันงดงามของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย

โดย: ดร.วรรณฤดี แก้วมีศรี และ นายมนัส ใจมะสิทธิ์

ประะเพณีสรงน้ำพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา โดย..รายการพากิน พาเที่ยว เผยแพร่โดย ...ยุทธภูมิ นามวงค์

แผนที่วัดพระธาตุขิงแกง ตำบลพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา