ตอนที่ 5 : การทำธุรกิจออนไลน์ การทำธุรกรรมออนไลน์และความปลอดภัยในการใช้งาน สำหรับผู้เรียกใช้บริการ

การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เพราะไม่ว่ากิจกรรมใดๆ ในแต่ละวัน จะพบว่ามนุษย์มีการใช้เทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เช่น การตื่นนอนด้วยเสียงนาฬิกาปลุกดิจิทัล การทำอาหารที่อยากรับประทานด้วยการเปิดเมนูและวิธีการทำอาหารจากอินเตอร์เน็ต การเดินทางออกจากบ้านโดยใช้รถยนต์ที่มีระบบ GPS นำทางและรายงานสภาพการจราจร หรือแม้กระทั่งการซื้อสินค้าออนไลน์โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า สามารถเลือกและซื้อสินค้าที่ได้จากแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนได้ทุกที่่ทุกเวลา ตัวอย่างที่ยกมานั้นเป็นเพียงเทคโนโลยีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในชีวิตประจำวันเท่านั้น ยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายรวมทั้งเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นและมีบทบาทต่อการดำเนินชีิวิตในอนาคต เช่น การเข้ามาของระบบอัตโนมัติเพื่ออำนวยความสะดวก หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่จะเข้ามาทำงานต่างๆ แทนมนุษย์

การที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็วย่อมเป็นผลดีต่อการดำเนินชีวิตที่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่การใช้เทคโนโลยีโดยไม่ระมัดระวังหรือไม่รอบคอบนั้นอาจจะส่งผลเสียหรือสร้างความเสียหายต่อตนเองได้ เช่น การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ที่ลูกค้าสามารซื้อสินค้าได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วผ่านสมาร์ตโฟนโดยไม่ต้องเดินทางไปยังร้านค้า เป็นผลให้มิจฉาชีพมีช่องทางในการหลอกลวงหรือปลอมแปลงข้อมูลด้านธุรกรรมการเงิน หรือการทำธุรกิจออนไลน์ เช่น การผลิตงานฝีมือและจัดจำหน่ายผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ซึ่งควรจะศึกษาข้อกำหนดและกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์ให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้การทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น สำหรับประเทศไทย ธุรกิจออนไลน์นี้นับได้ว่ามีการเจริญเติบโตสูงและมีมูลค่าการซื้อขายในระบบธุรกิจออนไลน์สูงมาก และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรที่จะศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ทำธุรกิจก็ตาม

ธุรกิจออนไลน์ หรือ e-commerce คือ การทำธุรกิจการค้าผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในรูปแบบอัตโนมัติ โดยผู้ซื้อซึ่งถือว่าเป็นลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าดังกล่าว และสามารถชำระค่าสินค้าได้ทันทีผ่านระบบบัตรเครดิต บัตรเดบิตหรือระบบเงินเครดิตในลักษณะอื่นๆ เช่น Rabbit Line Pay หรือสามารถดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีและแจ้งกับผู้ทำธุรกิจนั้นภายหลัง เมื่อการดำเนินธุรกรรมทางการเงินได้ถูกตรวจสอบเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ เว็บไซต์หรือแหล่งนำเสนอสินค้านัั้นจะตัดสินค้าออกจากคลังและจัดส่งสินค้าไปยังลูกค้า ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีในลักษณะของระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ มาใช้ในกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอน โดยสามารถให้บริการในการทำการค้าขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับธุรกิจออนไลน์ในปัจจุบันมีอยู่ทั่วไป และมีช่องทางในการขายหลายเทคนิค โดยมีลักษณะโดยสังเขป ดังนี้

👉 การซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ ผู้ซื้อหรือผู้สนใจจะต้องศึกษาและหาข้อมูลประกอบ ก่อนการตัดสินใจสั่งซ้ือให้รอบคอบ เพราะระบบธุรกรรมด้านการเงินของสื่อโซเซียลมีเดียนั้นยังมีการกำกับดูแลจากหน่วยงานท่่ีีเกี่ยวข้องกับกิจการเชิงพาณิชย์ไม่ทั่วถึง ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงในการถูกฉ้อโกงได้ง่ายกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ เช่น ร้านค้าออนไลน์ เว็บไซต์จากผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งจะมีระบบการทำธุรกรรมทางการเงินรองรับ เช่น ใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตได้ และมีธนาคารเป็นตัวกลางในการดำเนินการด้านการชำระเงินของทั้งสองฝ่าย

1. การทำธุรกรรมการเงินกับร้านค้าต่างๆ ที่ถูกต้องและปลอดภัย

ก่อนการตัดสินใจในการซื้อ-ชาย หรือดำเนินการด้านการชำระเงิน นักเรียนควรศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ของผู้ขาย ระบบร้านค้านั้นๆ หรือลักษณะการดำเนินการกับสินค้าด้วยหลักการ ดังนี้

1.1 ตรวจสอบว่าร้านค้านั้นๆ ได้มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกตัวตนที่เชื่อถือได้ตามระเบียบทางกฎหมาย บุคคลที่จะทำธุรกิจออนไลน์จะต้องมีการจดทะเบียนร้านค้ากับกระทรวงพาณิชย์ และมีตัวตนอยู่จริง หากร้านใดมีการจดทะเบียนมีเลขทะเบียนเรียบร้อย ร้านค้านั้นๆก็จะเชื่อถือได้

1.2 หากเป็นร้านที่ไม่ได้จดทะเบียน เป็นการค้าขายออนไลน์ทั่วๆไป ควรตรวจสอบประวัติการค้าขายที่ผ่านมา เช่น การมีตัวตนอยู่ในโลกออนไลน์ หลักฐานการค้าขายที่เคยเกิดขึ้นสืบค้นคำวิจารณ์หรือความคิดเห็นในกระทู้ต่างๆที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือชื่อของร้านค้านั้นๆ

1.3 ก่อนชำระเงินค่าสินค้าโดยวิธีการโอน หรือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจากแอปพลิเคชั่นของธนาคารต่างๆ ของเรา หรือผ่านระบบชำระเงินแบบอื่นๆ ควรตรวจสอบเลขบัญชีที่ได้มาว่ามีประวัติการฉ้อโกงหรือไม่

1.4 ใช้ระบบการเรียกเก็บเงินปลายทางเมื่อซื้อสินค้า วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ดี เพราะจะชำระเงินเมื่อเห็นและตรวจสอบสินค้าแล้ว

1.5 ช้อปปิ้งออนไลน์ จะต้องใช้วิจารณญาณและความรอบคอบทุกครั้ง ตรวจสอบสินค้าจากหลายแหล่งร้านค้า ประวัติของร้านค้า คำวิจารณ์ต่างๆ จากหลายแหล่งข้อมูล และรีวิวสินค้านั้นๆ

1.6 ให้สังเกตลิงค์ URL จากเว็บไซต์ที่เราต้องดำเนินการด้านธุรกรรมว่ามีการเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัยหรือไม่ กล่าวคือ มีตัวอักษร https:// (มีตัว s) อยู่ท้าย http ซึ่งหมายถึงความปลอดภัย (s-secure) หากไม่มี https:// เป็น https// อาจเป็นเว็บไซต์ปลอมที่ถูกแอบอ้างขึ้นมา


2. การป้องกันความเสี่ยงในการถูกโจรกรรมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนของเรา

สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟน ควรมีการติดตั้งแอปพลิเคชันแอนตี้ไวรัส (Anti Virus) และแอปพลิเคชันป้องกันสปายแวร์ (Anti Spyware) ซึ่งไวรัสคอมพิวเตอร์หรือสปายแวร์เป็นโปรแกรมย่อยที่แฝงมากับโปรแกรมบางตัวและจะแทรกซึมฝังไว้ในสมาร์ตโฟนหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา โดยแอบดำเนินการหรือแอบทำงานอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว ไวรัสคอมพิวเตอร์หรือสปายแวร์อาจทำให้ข้อมูลของเราเสียหายหรือขโมยข้อมูลส่วนตัวส่งออกไปให้กับแหล่งอื่นๆ เพื่อหาประโยชน์กับข้อมูลส่วนตัวของเรา

2.1 ตรวจสอบอีเมลต้องสงสัย

  • อีเมลบางประเภทมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหลอก และค่าดำเนินการอื่นๆ อีเมลประเภทนี้รวมถึงสลากรางวัลหลอก การจ้างงานหลอก และการโอนเงิน การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหลอก เป็นวิธีการที่เหยื่อจะถูกเชิญชวนให้ชำระเงินจำนวนไม่มาก เพื่อแลกกับผลตอบแทนจำนวนมาก โดยทั่วไปแล้วการหลอกประเภทนี้จะเริ่มต้นจากการส่งอีเมลที่ดูเหมือนจดหมายจากทางการถูกส่งไปยังผู้รับหลายๆ คนบอกว่าคุณเป็นผู้โชคดีได้รับเงินจำนวนมาก เนื้อเรื่องอาจแตกต่างกันไปแต่ใจความหลักคือบุคคล หรือหน่วยงานราชการเป็นผู้ครอบครองเงินหรือทองจำนวนมากด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงเงินนั้นได้โดยตรง เหยื่อจะได้รับคำสัญญาว่าจะได้รับส่วนแบ่งจำนวนมาก หากช่วยบุคคลเหล่านั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินที่ถูกยึดไว้

  • สลากรางวัลหลอก เป็นการหลอกว่าคุณได้รับรางวัล ผู้โชคดีจะได้รับการร้องขอให้ส่งข้อมูลส่วนตัวไปยังอีเมลฟรี หลังจากนั้นผู้ทำการหลอกจะแจ้งให้เหยื่อทราบว่าเพื่อที่จะทำการให้ได้มาซึ่งเงินรางวัล ค่าธรรมเนียมเล็กน้อยจะต้องถูกชำระ (ประกันภัย ค่าลงทะเบียน ค่าขนส่่ง และอื่นๆ) เมื่อค่าธรรมเนียมได้ถูกชำระ ผู้ทำการหลอกจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่อไปอีก

  • การจ้างงานหลอก ส่วนมากจะเป็นอีเมลเสนอโอกาสในการจ้างงาน ซึ่งมีเงื่อนไขการจ้างงานที่น่าสนใจ เป็นปกติหลังจากผู้สมัครได้รับการตอบรับเข้าทำงาน จะได้รับการร้องขอให้จ่ายค่าธรรมเนียม เพื่อการดำเนินการขอหนังสืือเดินทาง หรือเพื่อทำการมัดจำที่พัก โปรดใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อคุณได้รับอีเมลร้องขอข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลรหัสผู้ใช้ หรือนำคุณไปยังเว็บเพจเพื่อให้กรอกข้อมูลเหล่านั้น

  • ฟิชชิง (Phishing) เป็นคำที่ใช้เรียกลักษณะการกระทำผิดกฎหมายโดยการส่งอีเมลไปเพื่อหลอกว่าส่งมาจากบริษัทที่มีตัวตนแท้จริง เช่น ธนาคาร หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อีเมลพยายามจะหลอกให้ลูกค้าของบริษัทเหล่านั้นทำการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนเว็บไซต์ปลอม ซึ่งดำเนินการโดยผู้ไม่หวังดี โดยส่วนมากอีเมลมักจะมีข้อความที่สื่อและอ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องทำการยืนยันหรือปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีลูกค้า และมีการบ่งบอกวิธีการเพื่อให้คลิกบนจุดเชื่อมโยงในอีเมล ซึ่งจะนำพาผู้รับอีเมลไปยังเว็บไซต์ปลอม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่ถูกใส่จะถูกครอบครองโดยผู้ไม่หวังดี ข้อมูลที่ได้รับผ่าน Phishing อาจถูกใช้เพื่อกระทำความผิดทางกฎหมาย เงินของคุณอาจถูกขโมยและใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น ขบวนการค้ามนุษย์ด สารเสพติด และโสเภณี ตัวตนของเราอาจถูกคัดลอกและกระทำความผิดทางกฎหมายอื่นๆ ภายใต้ชื่อของเรา

2.2 ม้าโทรจัน

โทรจันเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ประเภทหนึ่งซึ่งได้รับชื่อ "ม้าโทรจัน" มาจากตำนานกรีก มันสามารถถูกดาวน์โหลดและติดตั้งลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์โดยที่เจ้าของเครื่องไม่ล่วงรู้ โทรจันเหล่านี้มีความสามารถที่จะดำเนินงานที่สลับซับซ้อน บางประเภทสามารถติดตั้งตัวบันทึกการกดคีย์บอร์ด ซึ่งจะทำการบันทึการกดคีย์บอร์ดที่ถูกใช้งานของเครื่องคอมพิวเตอร์ บางประเภทอาจถูกออกแบบมาเพื่อบันทึกข้อมูลท่่ีี่เจาะจงซึ่งถูกใช้งานในเว็บไซต์เจาะจงบางประเภท เช่น ธนาคารหรือร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาจใช้การบันทึกบนคีย์บอร์ด หรือทำการบันทึกหน้าจอ เช่นเดียวกับ Phishing ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปยังอาชญากรผ่านอินเตอร์เน็ต แต่ต่างกันตรงที่คราวนี้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราโดยตรง

✤ โดยทั่วไปอาชญากรจะทำการสุ่มส่งอีเมลซึ่งมีข้อความที่มีลับลมคมใน เพื่อหลอกให้เราคลิกไปยังจุดเชื่อมโยงที่อยู่ในอีเมลในการเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัย เว็บไซต์เหล่านี้อาจจะมีจุดประสงค์เพื่อทำการสืบหาช่องโหว่ของเว็บเบราเซอร์เพื่อทำการดาวน์โหลดและติดตั้งโทรจันที่กำหนดไว้

✤ เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจดจำว่าควรระมัดระวังถ้าคุณได้รับอีเมลที่ไม่คุ้นเคยที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ห้ามทำการคลิกบนจุดเชื่อมโยงในอีเมลเพื่อไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ไม่รู้จัก

👉 ทั้งหมดนี้เป็นความรู้เบื้องต้นด้านความเสี่ยงที่นักเรียนอาจได้รับเมื่อมีการเข้าเว็บไซต์ต่างๆ หรือการกดดูโฆษณาโดยรับโปรแกรมย่อยที่ถูกประมวลผลแล้วฝังตัวในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น นักเรียนควรใช้ความรอบคอมทุกครั้งก่อนเข้าชมหรือกดดโฆษณาที่อาจขึ้นมากลางจอหรือลอยขึ้นมา หากนักเรียนจะสืบค้นข้อมูลหรือสินค้าต่างๆ ควรหาจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือก่อน โดยเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือนั้น โดยปกติจะไม่มีการขึ้นโฆษณามากมายเป็นที่น่ารำคาญ โดยให้ตระหนักว่าเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้นั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยโฆษณา เว็บไซต์ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือส่วนใหญ่จะมีโฆษณาหรือลิงค์ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นั้นๆ เลย นักเรียนจึงควรระวังในการเข้าชมเว็บไซต์ประเภทนี้ให้มาก