วิธีช่วยชีวิตโทรศัพท์ที่ตกน้ำ หรือเปียกจากน้ำ ด้วยตัวเอง

วันที่โพสต์: Apr 04, 2017 4:22:22 AM

เคยกันบ้างไหมที่อยู่ๆ โทรศัพท์สุดที่รักของคุณได้ลงไปสัมผัสกับผืนน้ำ หรือว่าอาจจะโดนน้ำหกใส่ ถ้าโทรศัพท์คุณไม่ได้มีฟีเจอร์ป้องกันน้ำละก็ โอกาสที่จะเสียโทรศัพท์สุดที่รักไปก็มีสูง วันนี้เราจะดูวิธีการแก้ไขปัญหา โทรศัพท์ตกน้ำ หรือเปียกน้ำกันว่า ถ้าโดนน้ำแล้ว ควรจะทำอะไรเป็นอย่างแรก

วิธีช่วยชีวิตโทรศัพท์ที่ตกน้ำ หรือเปียกจากน้ำ ด้วยตัวเอง

วิธีแก้ไขปัญหา โทรศัพท์ตกน้ำ

    1. ปิดเครื่องทันที หรือถ้าดับไปแล้วก็ไม่ต้องปิดก็ได้นะ ฮาๆ

    2. ตั้งโทรศัพท์ขึ้นตรง

    3. ถอดเคส แบตเตอรี่ (ถ้าถอดได้นะ) microSD และซิมการ์ด

    4. ใช้ผ้าแห้งสะอาดเช็ดภายนอกโทรศัพท์ และระวังอย่าให้น้ำไหลเข้าไปส่วนอื่น

    5. เอาน้ำออกด้วยเครื่องดูดฝุ่น ถ้าไม่มีก็ข้ามไปขั้นตอนต่อไป

    6. ตัวช่วยสำคัญ คือ ข้าวเปลือก ! ข้าวสาร ! เอาโทรศัพท์ไปใส่ในถังข้าวสาร จากหนูตกถังข้าวสาร เป็นโทรศัพท์ตกถังข้าวสารแทน ทิ้งไว้สักประมาณ 2 วัน ข้าวจะช่วยซึมซับความชื้นได้เป็นอย่างดี

    7. ลองเปิดเครื่องดู ถ้ายังเปิดไม่ติดอยู่ ให้เสียบสายชาร์จ และถ้ายังไม่ได้อีก คงต้องไปพึ่งศูนย์ซ่อมแล้วล่ะ (แต่ปกติ แช่ถังข้าวสารก็น่าจะเปิดติดแล้ว)

    8. เช็คเครื่อง ระบบฮาร์ดแวร์ต่างๆ เช็คลำโพงด้วยการเปิดเพลง จอทัชสกรีน และลองโทรหาเพื่อนดู

ข้อห้าม ! ห้ามทำเด็ดขาด

    • อย่าเปิดโทรศัพท์ทันทีหลังเปียกน้ำ เพราะมันอาจจะทำให้ช็อตได้นะเออ

    • ถ้าโทรศัพท์มีปุ่มต่างๆ ก็อย่าไปเผลอกด เช่น ปุ่มเพิ่มลดเสียง เป็นต้น

    • เขย่าโทรศัพท์ อาจจะทำให้น้ำในเครื่องแพร่กระจายเป็นวงกว้างขึ้น

    • แยกชิ้นส่วนโทรศัพท์ (ถอดแบตฯ นี่ทำได้) แต่อย่าถึงขั้นไขน็อต เปลือยเครื่อง

    • เป่าลม อาจจะทำให้น้ำไหลเข้าลึกไปอีกได้

    • ให้ความร้อนกับโทรศัพท์ เช่น เอาเข้าไมโครเวฟ

การซ่อมโทรศัพท์ที่ได้รับความเสียหายจากการทำตกน้ำ หรือเปียกน้ำนั้นง่ายดายเลยทีเดียว แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าตกน้ำนานแค่ไหนกัน และจำให้ดีว่าถ้าโดนน้ำเข้าเมื่อไหร่ แนะนำให้รีบปิดเครื่องให้เร็วที่สุด เพราะน้ำอาจจะเข้าไปทำลายแผงวงจรข้างในได้ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบทำมือถือตกน้ำบ่อยๆ แนะนำว่าให้ซื้อเคสแบบกันน้ำ หรือโทรศัพท์ที่กันน้ำได้มาใช้เลย ปัญหาโทรศัพท์ตกน้ำก็จะหมดไป

แต่สุดท้ายถึงแม้โทรศัพท์จะใช้งานได้แล้ว ก็แนะนำว่าให้ส่งร้านเช็คอีกที เพื่อความปลอดภัย ป้องกันการเกิดสนิม และปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับกล้อง

คัดลอกมาจาก : https://tips.thaiware.com/224.html