ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 8/2559 ประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจเชิงลึก "โรงเรียนคุณธรรม"

วันที่โพสต์: Jan 11, 2016 7:42:49 AM

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ถือเป็นการเริ่มศักราชใหม่ที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นของวันประวัติศาสตร์สำคัญของการสร้างคนดีให้กับบ้านเมือง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินงานตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “สร้างคนดีให้กับบ้านเมือง”

ในปี 2559 นี้ กระทรวงศึกษาธิการจะเดินหน้าผลักดันการสร้างโรงเรียนคุณธรรมอย่างจริงจัง โดยขณะนี้มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนมาก คือ โรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 367 แห่ง, สถาบันอาชีวศึกษา 500 แห่ง และโรงเรียนเอกชน 250 แห่ง จากนั้นจะขยายผลไปยังสถานศึกษาจำนวน 3,000 แห่ง ภายในสิ้นปี 2559 และภายในปี 2560 จะขยายผลให้ครอบคลุมโรงเรียนกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการโรงเรียนคุณธรรมให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยมีสถานศึกษาที่ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 300 แห่ง ซึ่งไม่ใช่การนำร่องแต่ทำจริง นอกจากนี้ โรงเรียนที่นำรูปแบบโรงเรียนคุณธรรมไปปรับใช้ ก็มีคุณภาพการศึกษาดีขึ้นตามลำดับด้วย รูปแบบของโรงเรียนคุณธรรมนั้น เป็นรูปแบบที่ดำเนินการได้ง่าย กล่าวคือ ทุกโรงเรียนสามารถนำรูปแบบโรงเรียนคุณธรรมนี้ไปใช้ได้ และสามารถใช้ได้กับโรงเรียนในทุกศาสนา อีกทั้งยังส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียน โดยเริ่มจากการระดมความคิดเพื่อกำหนดแนวทางไว้ 2 บัญชี คือบัญชี ก. พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งทุกคนต้องการลด ละ เลิก และบัญชี ข. พฤติกรรมที่พึงประสงค์ ซึ่งทุกคนจะร่วมกันส่งเสริมให้เกิดขึ้น แล้วจึงกำหนดคุณธรรมหลัก 3 ประการ เพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมในบัญชี ก. พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมบัญชี ข. จากนั้นจะมีการประเมินผลหลังดำเนินการครบ 1 ปี ซึ่งได้พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นการดำเนินการที่สามารถทำได้และได้ผลดี อีกทั้งยังส่งผลให้องค์กรต่างๆ ที่ไม่ใช่โรงเรียนเกิดความสนใจและนำหลักการของโรงเรียนคุณธรรมไปปรับใช้ เช่น โรงพยาบาลคุณธรรม จังหวัดคุณธรรม อำเภอคุณธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายกำหนดให้โรงเรียนคุณธรรมเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด (Key Performance Indicators: KPI) ในการประกันและการประเมินคุณภาพภายใน (Internal Quality Assessment: IQA) เพื่อเป็นหลักประกันให้กับชุมชนและผู้ปกครองได้มั่นใจว่าโรงเรียนที่บุตรหลานเรียนนั้นมีคุณภาพ โดยสถานศึกษาที่นำรูปแบบนี้ไปใช้ จะถือเป็นหลักประกันพื้นฐานว่าสถานศึกษานั้นสามารถดำเนินการสร้างคนดีให้กับบ้านเมืองได้ ซึ่งต้องดำเนินการตามรูปแบบอย่างจริงจังและเป็นที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนคุณธรรมเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งเท่านั้น หากสถานศึกษาใดมีรูปแบบอื่นในการสร้างคุณธรรมให้กับเด็กก็สามารถดำเนินการได้ และจะได้รับการประกันคุณภาพด้วยเช่นกัน แต่จะต้องมีมาตรฐานที่ทำให้นักเรียนเป็น คนดี

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า การขยายผลโครงการโรงเรียนคุณธรรมให้กับสถานศึกษาทั้ง 30,000 แห่งนั้น สามารถทำได้แน่นอนเพราะสถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถศึกษาวิธีการหรือแนวทางการดำเนินงานได้จากสื่อและหนังสือคู่มือโรงเรียนคุณธรรม หรือศึกษาจาก DVD ก็ได้ ซึ่งจะทำให้โรงเรียนนั้นๆ นำแนวทางไปปฏิบัติได้เอง จึงเชื่อมั่นว่าทุกสถานศึกษาจะเข้าร่วมเป็นโรงเรียนคุณธรรมได้ แม้แต่โรงเรียนที่อยู่หางไกล เช่น บริเวณชายแดน ก็สามารถสร้างโรงเรียนคุณธรรมได้ด้วยการนำคู่มือโรงเรียนคุณธรรมไปประยุกต์ใช้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย กล่าวว่า โรงเรียนคุณธรรมได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 สืบเนื่องมาจากการที่โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม จ.พิจิตร ได้นำหลักคุณธรรมมาใช้แก้ปัญหายาเสพติด นักเรียนมีผลการเรียนต่ำ รวมทั้งการตั้งครรภ์ของเด็กนักเรียนหญิง และเมื่อประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา จึงได้กลายเป็นรูปแบบ (Model) ในการนำไปแก้ไขปัญหาในโรงเรียนอื่นๆ อีก 19 แห่ง

จากนั้นใน พ.ศ.2555 ซึ่งถือเป็นระยะที่ 1 ของการสร้างโรงเรียนคุณธรรม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อตั้งกองทุนการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “สร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง” ในครั้งนั้นมีคณะองคมนตรี ข้าราชการเกษียณ และอาสาสมัครเข้ามาช่วยกันสร้างรูปแบบโรงเรียนคุณธรรม

ต่อมาระยะที่ 2 (ปี พ.ศ.2557) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ก่อตั้งมูลนิธิยุวสถิรคุณ เพื่อดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรมเรื่อยมา

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2559 นี้ ถือเป็นระยะที่ 3 ของการสร้างโรงเรียนคุณธรรม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายขยายแนวทางการสร้างโรงเรียนคุณธรรมให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ

ในส่วนของรูปแบบของโรงเรียนคุณธรรมนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนและทำได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณเพราะลงทุนต่ำแต่ได้กำไรมาก และสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนได้จริง โดยหลักการของโรงเรียนคุณธรรมสามารถนำไปใช้ได้กับโรงเรียนในทุกศาสนา ไม่ผูกขาดกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เปรียบเสมือนเป็นคุณธรรมสากลทั้งนี้ หลังจากดำเนินการโรงเรียนคุณธรรมแล้ว 1 ปี จะต้องทำการวัดผลการดำเนินงานว่าพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในโรงเรียน "ลดลง" หรือไม่ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ "เพิ่มขึ้น" อย่างไร ซึ่งอาจจะจัดให้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียนด้วย และจากการดำเนินงานที่ผ่านมาผลการเรียนและผลการสอบของนักเรียนในโรงเรียนคุณธรรมดีขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์แก่เยาวชน ผู้ปกครอง และชุมชน

นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น โรงเรียนคุณธรรมจะต้องมีคุณภาพด้วย เพื่อให้ทุกคนในโรงเรียนและชุมชนมีความสุขทั้งกายและใจ โดยจะต้องนำระบบธรรมาภิบาล และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ สำหรับกระทรวงศึกษาธิการนั้น ต้องคำนึงถึงระบบการบริหารงานที่เน้นความโปร่งใส (Transparency), ตรวจสอบได้ (Audit), มีการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) และหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เพื่อให้การดำเนินงานก้าวหน้าต่อไปในอนาคตได้

อรพรรณ ฤทธิ์มั่น

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

7/1/2559

ที่มา : http://www.moe.go.th/websm/2016/jan/008.html

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดและมอบนโยบายในการประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงลึกแก่เขตตรวจราชการ เขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารโรงเรียน โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ตามแนวนโยบายการปฏิรูปการศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2559 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานี โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้ตรวจราชการกระทรวง, ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.), ผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-13, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนศึกษานิเทศก์กว่า 1,200 คน เข้าร่วมประชุม